STRANGER’S BOOK : สำนักพิมพ์ของคนแปลกหน้า

STRANGER’S BOOK

หากพูดถึงสำนักพิมพ์น้องใหม่ไฟแรง อีกสำนักพิมพ์หนึ่ง คงต้องนึกถึงชื่อ สำนักพิมพ์สเตรนเจอส์ บุ๊ค ซึ่งหลายคนอาจยังไม่คุ้นหู เพราะเพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน แต่ความแรงไม่แพ้สำนักพิมพ์รุ่นเก๋า ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของผลงาน ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นคนรู้จัก ผ่านปลายปากกาของพวกเขา สเตรนเจอส์ บุ๊ค สำนักพิมพ์ของคนแปลกหน้า

เมื่อสอบถามถึงจุดเริ่มต้น ของการก่อตั้งสำนักพิมพ์ คุณสต็อป บรรณาธิการสำนักพิมพ์ เล่าให้เราฟังว่า " ถ้าจะให้เริ่มจริงๆมันมีที่มาที่เรียกว่าได้ว่าเกือบจะเป็น มหากาฬ ก็ว่าได้เลยนะครับ (แอบแซวคนสัมภาษณ์ ) จุดเริ่มต้นของ สนพ.STRANGER’S BOOK (สเตรนเจอส์ บุ๊ค) มาจากความตั้งใจที่จะสร้างเป็นสนพ.ที่มีพื้นที่ของ นักเขียนหน้าใหม่ หรือใครก็ตามที่ต้องการมีงานเขียนของตัวเองออกมาให้คนอื่นๆได้อ่าน ผ่านตัวอักษร บ้างก็เป็นภาพลายเส้นมีสีสันหรือหม่นหมองแล้วแต่เจตนาของเจ้าของผลงาน นิยามที่เรามักแนะนำตัวเวลาเราได้พบกับผู้คนต่างๆที่สนใจในสิ่งที่เรากำลังทำ เรามักบอกเสมอว่า เราทุกคนล้วนเป็นคนแปลกหน้า...คุณจะต้องไปกังวลอะไร มันจะเป็นระยะห่างของความสัมพันธ์ที่มีระยะซึ่งทำให้เกิดการเริ่มทำความรู้จัก เราเริ่มทำความรู้จักคนแปลกหน้าที่เข้ามาแชร์ผลงาน เป็นทั้งเพื่อน พี่ โค้ท และผู้แสดงความคิดเห็นทั้งในเชิงสุดติ่ง และมุมมองแบบมุมกลับ วันนี้เราถือว่าสนามเด็กเล่นขนาดเล็กของคนแปลกหน้าได้เสร็จไปบางส่วน เรามีพื้นที่ให้ขีดเขียน และคิดว่าในสนามเด็กเล่นแห่งนี้เราคงได้มีเวทีเล็กๆเพื่อให้ เหล่าคนแปลกหน้าได้มีโอกาสทำความรู้จักกันมากขึ้น..

ที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้คือ เราได้รับแรงบันดาลใจและมีต้นแบบจากผู้ใหญ่ในวงการหนังสือทั้งใหม่และเก่าเป็นต้นฉบับในการสร้างทางเดินขึ้นมา ที่มีเอกลักษณ์ของการทำงานทางด้านหนังสือให้เราตามศึกษาและเรียนรู้จากผลงานที่ผลิตขออกมา พี่โหน่ง วงศ์ทะนง หรือ แม้แต่พี่เอ๋ นิ้วกลม และอีกคนที่เรียกว่าได้วิชาชีวิตมาเยอะพอสมควรคือ พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง สิ่งนี้แหละครับเราเรียกได้ว่า เป็นเหมือนเจตจํานงค์ ของคนในวงการหนังสือเลยก็ว่าได้ สิ่งที่พี่ได้ทำไปทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิต การสร้างสรรค์ การรังสรรค์ มันถูกส่งต่อให้กับรุ่นใหม่ที่สนใจจะเข้ามาในสายนี้....STRANGER’S BOOK จึงได้เกิดขึ้น "

 

 

ตั้งใจทำหนังสือส่วนใหญ่ออกมาเป็นแนวไหน เป็นคำถามที่เราถูกถามบ่อยในช่วงแรก เมื่อใครๆได้เห็น โลโก้ของ สนพ.STRANGER’S BOOK ในเรื่อง Character หรือ แนวหนังสือ อันดับแรกเลย ตัวผลงานต้องมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนระดับไหนสิ่งที่ต้องมีคือความเป็นตัวของตัวเอง อย่างที่มีประโยคหนึ่งซึ่งเรายังใช้เป็นแนวทาง กับคำกล่าวที่ว่า เมื่อคนแปลกหน้ารู้จักความเป็นตัวเอง จะพบเจอคนที่ใช่ ก็ต่อเมื่อเราเป็นตัวของเราเองจริงๆ มันจะเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดคนที่มีตัวตนใกล้เคียงกับเรา ชอบแบบเรา แต่ก็อาจจะจริงที่การเสแสร้งแกล้งเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น เพราะสามารถดึงดูดคนให้หลงเสน่ห์ได้ แต่เชื่อเถอะว่า เสน่ห์แบบนั้นมันจะอยู่ไม่ได้นาน ผลงานของสำนักพิมพ์เราคงบอกได้พียงว่ามันจะมีความแปลกใหม่และสื่อให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะตัวของหนังสือหรือสินค้าอื่นๆที่มาจากเราหลังจากนี้

กลุ่มนักอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่อยากให้เป็นกลุ่มที่รักในเรื่องของจิตนาการ สิ่งลึกลับและการผจญภัย คงจะเป็นตั้งแต่เด็ก ไปจนถึง นักเรียน นักศึกษา คนทำงานเลยหละ เหมารวมพวกกลุ่ม GEN X , GEN Y ก็ได้อยู่นะ จริง ๆ หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ที่ได้วางขายทั่วไป มีชื่อว่า CALL ME MONSTER อันนี้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งตั้งแนวของมันให้ว่าเป็น แนวทริลเลอร์ ไซไฟ ซึ่งเราฟังแล้วชอบนะ สำหรับหนังสือเล่มแรกของเรา แต่ถ้าให้เจาะจงจริงๆ เราคงบอกว่ามันอยู่ที่จิตสัมผัส มั้งครับ หนังสือของเรามีความลับและความคลุมเครือในส่วนของรูปแบบการนำเสนอมากทีเดียว ได้อิทธิพลมาจากสื่อของอเมริกันมากหน่อย

 

 

เป็นที่ทราบกันดีว่ารายได้ของวงการหนังสือลดลง ทางสำนักพิมพ์ก็ได้มีการกระตุ้นยอดขาย โดยการออกโปรโมชั่น จัดกิจกรรมร่วมกับผู้อ่าน และการทำสินค้าพรีเมี่ยมของหนังสือ เพื่อเป็นการดึงดูดผู้อ่านให้เข้ามาแวะชมสินค้ารวมทั้งหนังสือของเรา แค่ผู้อ่านให้ความสนใจหนังสือความเป็นไปได้ที่เราจะขายหนังสือก็เพิ่มขึ้น การสร้างจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ให้กับตัวหนังสือจะเป็นการส่งเสริมให้หนังสือน่าอ่านและน่าค้นหา รวมทั้งการใช้สื่อโฆษณาผ่านทางโซเชียล คือ facebook ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้อ่านได้ทุกเพศ ทุกวัย และรวดเร็ว ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลของหนังสือและสามารถสั่งซื้อหนังสือกับทางสำนักพิมพ์ได้โดยตรง เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สะดวกและจะกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้

ในยุคที่มีทั้ง E-book และโลก Social เข้ามา ทางสำนักพิมพ์ก็มีการปรับตัวโดย สนุกกับมันให้มากเพราะเรียกได้ว่าเราสามารถนำเสนอข้อความหรือ สารที่อยากจะเผยแพร่ให้กับผู้คนได้ง่ายและสั้นขึ้น บทบาทของ E-book ยังไม่มีอิทธิพลกับเรามากนะ การปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคที่ social และ e-book เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนโดยส่วนใหญ่ เราจึงสามารถนำประโยชน์ของโซเชียลเข้ามาสร้างมูลค่า โดยอาศัยช่องทางของโซเชียล เช่น facebook twitter หรือ website เข้ามาเป็นช่องทางในการนำเสนอสินค้าให้กับผู้อ่านแต่สื่อโซลเชี่ยนคือสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้และนำข้อดีของมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อยากให้ฝากอะไรถึงนักอ่านคุณสต็อปกล่าวว่า " อืม.....เป็นคำถามที่ ถ้าเอาจริงๆนี่ตอบยากนะครับ คงขอฝากไว้สั้นๆครับ “อย่าหยุดที่จะอ่านนะครับ” มันเป็นทักษะหนึ่งที่มีผลทำให้ชีวิตและจิตใจของคุณเติบโตขึ้น... (นิ่งคิดนิดนึง) ครับ เติบโต เป็นคำที่เหมาะสมที่สุดแล้ว "

 

 

Publisher Corner : กองบก.สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ