นครคนนอก : นครคนนอก เป็นรวมบทกวีของ “ พลัง เพียงพิรุฬห์ ”

นครคนนอก

             

              นครคนนอก เป็นรวมบทกวีของ “ พลัง เพียงพิรุฬห์ ” หรือนามจริง คือ “ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ” ที่มีลักษณะโดดเด่น คือ การใช้ฉันทลักษณ์ต่างๆ ที่ไม่ยึดหรือเคร่งครัดในเรื่องของจำนวนคำและการลงสัมผัสตามตำรับการประพันธ์แบบดั้งเดิม และการพรรณนาเรื่องราวที่สามารถสะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

            นครคนนอก แสดงถึงการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีอาชีพแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋ารถเมล์ ยาม ช่างก่อสร้าง แม่ค้าไข่ปิ้ง เป็นต้น ซึ่งทุกอาชีพล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ชีวิตที่ต้องอาศัยความพยายามในการหาเลี้ยงตัวเองให้มีชีวิตรอดด้วยความยากลำบาก ซึ่งไม่เพียงแค่ชีวิตตัวเองที่ต้องหาเลี้ยง ยังมีสมาชิกในครอบครัวที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงคนในครอบครัว  หาเลี้ยงลูก ด้วยภาระงานที่หนักหนาและยุ่งเหยิง พ่อแม่บางคนจึงไม่มีเวลาใส่ใจลูกเท่าที่ควร ไม่ได้พูดคุย ถามสารทุกข์สุขดิบของลูก  สภาพการเลี้ยงดูลูกเช่นนี้ จะทำให้กลายเป็นปัญหาสังคมได้ ผู้เขียนเองได้สะท้อนปัญหาสังคมหลายๆอย่าง เช่นการมีลูกก่อนวัยอันควร ทั้งพ่อและแม่ยังเด็ก บางคนยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด ผู้ชายไปทำผู้หญิงท้อง ก็ต้องออกจากการเรียน เพื่อไปทำหน้าที่พ่อ ทำหน้าที่สามี หาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงเมื่อตัวเองท้อง ก็ต้องหยุดเรียนเพื่อทำหน้าที่แม่ ทำหน้าที่ภรรยา ร้ายไปกว่านั้น หากเด็กเหล่านั้นเลือกที่จะทำแท้ง ก็จะเป็นอีกปัญหาของสังคม และเป็นตราบาปที่จะติดตัวคนที่ทำแท้ง เป็นต้น

          ในสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น การใส่หน้ากากเข้าหากัน และที่เห็นชัดที่สุด คือ การใช้วัตถุนิยมตามกระแสสังคม สามารถเห็นได้จากพฤติกรรมการแต่งตัว การบริโภค การใช้ชีวิต เป็นต้น ที่มักจะมีการเลียนแบบดารานักแสดง ตามโฆษณาที่พบเห็น พฤติกรรมเช่นนี้แม้จะไม่ส่งผลโดยตรงต่อสังคมให้เห็นเป็นประจักษ์ทันที แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่แฝงตัว โดยมีผลต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิตของพวกเรา และสามารถสะท้อนการใช้ชีวิตของผู้คนได้  สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ คือ มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่มากก็น้อย นั่นหมายถึง พฤติกรรมของบุคคลหนึ่งสามารถส่งผลต่ออีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้พรรณนาผ่านบทกวี ดังนี้

 

      “ วางหาบไข่ปิ้งกับมันเผา          แฝงเงาตึกทอดยอดกอดถนน

                                                                                    เขี่ยถ่านใกล้มอดอยู่วังวน                         ดุจชีวิตมืดหม่นใกล้วางวาย

                     ยายแตยกตั่งนั่งข้างหาบ             ตาพร่าเดี๋ยวเห็นภาพเดี๋ยวเลือนสลาย

       โดดเดี่ยวคอนสาแหรกขอแทรกกาย         เพียงเฝ้าคอยความตายมาคลายปม

   “คนไม่กินไข่ปิ้งกันแล้วหรือ”     ส่งเสียงเครืออออือน้ำลายขม

มันแห้งแข็งบนตะแกรงไม่นิยม                รสชาติคงไม่สมกับเมืองแมน….”

 

                นี่เป็นตัวอย่างของแม่ค้าไข่ปิ้ง  ที่ต้องฝ่าฟันความตรากตรำและความยากลำบาก เพื่อให้มีชีวิตรอดในแต่ละวัน แม้ผู้คนปัจจุบันจะไม่นิยมซื้อไข่ปิ้งหรืออาหารที่หาบขายกัน เพราะนิยมไปกินอาหารในสรรพสินค้า อาหารต่างประเทศตามร้านอาหารหรูๆ  ร้านอาหารที่ได้รับความนิยม แต่การหาบของขายก็เป็นอาชีพที่แม่ค้าประกอบเพื่อเลี้ยงชีพ จึงยังคงประกอบอาชีพแม่ค้าขายไข่ปิ้งเหมือนเดิม แม้สังคมและพฤติกรรมการเลือกบริโภคอาหารของคนปัจจุบันจะเปลี่ยนไป อาจจะด้วยต้นทุน หรือเหตุผลหลายๆอย่าง ทำให้ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นได้ จึงยังคงหาบขายไข่ปิ้งต่อไป

 

             อีกตัวอย่างที่สามารถสะท้อนสภาพของผู้คนในสมัยปัจจุบันได้ชัดเจน คือผู้สูงอายุที่ต้องใช้ชีวิตตามลำพังที่บ้านของตัวเอง เนื่องจากลูกหลานต่างแยกย้ายไปมีครอบครัว สร้างบ้านเป็นของตัวเอง รวมถึงการประกอบอาชีพของลูก ทำให้ไม่สามารถมาอยู่ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าได้ตลอด ครั้นลูกๆจะให้พ่อแม่ไปอยู่ด้วยหรือไปอยู่บ้านพักคนชรา  เพราะคิดว่าการให้พ่อแม่ที่แก่เฒ่าไปอยู่ด้วยหรือไปอยู่บ้านพักคนชรา จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าให้ท่านอยู่บ้านตามลำพัง อย่างน้อยก็สบายใจ และคลายความกังวลในเรื่องของอุบัติเหตุ ความปลอดภัยไปบ้าง แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต่างก็อยากอยู่บ้านของตัวเอง แม้ต้องอยู่บ้านตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว แต่ก็ดีกว่าการไปอยู่ที่อื่น ซึ่งลักษณะของผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตตามลำพังดังที่กล่าวมาข้างต้น สามารถพบเห็นได้มากในสังคมปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนได้พรรณนาถึงลักษณะของผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพัง ดังนี้

 

            “….รุ่งวันสำรวจทั่วรั้วบ้านว่าง     “มีใครอยู่บ้างค่ะ ช่วยส่งเสียง”

พระภูมิเก่าเก่าเสาเอนเอียง                     เครื่องคาวหวานเซ่นเลี้ยงแห้งเกรอะกรัง

             ถือวิสาสะลากรั้วเลื่อน                 รั้วเคลื่อนวูบเดียวเสียวสันหลัง

กลิ่นเน่าแรงกล้า ละล้าละลัง                  ราวกับบ้านคือผนังขังความตาย

       ไม่เห็นมาก่อนใครซ่อนอยู่             ไม่เคยรู้ข่าวสารการสูญหาย

ชายชราอยู่เดี่ยวแสนเดียวดาย                ทอดร่างครั้งสุดท้ายหลายวันแล้ว”

 

                จากตัวอย่างบทพรรณนาข้างต้น คือตัวอย่างที่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบันของสังคมไทย ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพัง ช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เป็นเรื่องที่น่าสลดใจ และเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสังคม

 

              สิ่งที่ผู้เขียนได้สร้างสรรค์ความแปลกใหม่ และเป็นลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของ นครคนนอก คือ ลักษณะของการใช้ฉันทลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์ของการไล่สัมผัสกับการผสมผสานสำเนียงภาษาต่างถิ่นของดนตรี Hip Hop ซึ่งมีความทันสมัย เป็นการต่อยอดบทกวีของไทย ให้แผ่กิ่งก้านออกไป  ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจที่อาจส่งผลต่อการก่อสงครามและความรุนแรงได้ ที่มีการใช้เนื้อเพลง ‘แร็พ แบทเทิล’ ระหว่าง เอ็มซี อวตาร กับ วิทยาธร เอ็นวีเอ็น  คือ การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจ ซึ่งจะนำพาชีวิตให้พบเจอกับเรื่องร้ายๆ ผู้เขียนได้เปรียบเทียบอำนาจกับสายป่าน เปรียบชีวิตกับตัวว่าว เมื่อสายป่านขาด ว่าวก็จะหลุดลอยไปอย่างไม่มีทิศทางที่แน่นอน เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตที่เหลิงอยู่ในอำนาจ วันหนึ่งเมื่ออำนาจหมดไป ชีวิตก็จะร่วงหล่นลงมา  เส้นทางของชีวิตก็จะไร้เป้าหมาย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถมั่นคงอยู่ได้ตลอดไป เมื่อมันเกิดขึ้นได้ มันก็ย่อมดับลงได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วก็เท่านั้น  ดังนี้

 

 “ โย่ … วอทซับวิทยาธร  เอ็นวีเอ็น    นี่คือสิ่งที่กูเห็น นั่นคือสิ่งที่มึงเป็น

โย่…อา…อา…อำนาจ มันคือความ     วิปลาส มันไม่ใช่ญาติมันไม่ใช่โยด

   อย่าเพึ่งโอดครวญและอย่าเพิ่ง           เสียขบวน  โย่…อย่าได้เข้าไปยุ่งกับ

อำนาจเลยน่ะพวกมึง รับรองจะ         เท่งทึง ชีวิตจะขาดผึง มึงเคยเห็น

ว่าวป่ะวะ  เวลาสายป่านมันขาด         หลุดล่วงล่องลอยไม่เป็นท่า มึงจะ

เป็นอย่างนั้นแหล่ะ  รับรองว่าจะ        ซึ้ง ไม่ใช่จะที่หนึ่งหรอกรับรองว่า

        มึงน่ะไม่ใช่นัมเบอร์วัน อำนาจจะ        ลงทัณฑ์ เถลิงมันแล้วก็คงต้องมี….”

 

           จากตัวอย่างบทกวีข้างต้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตัวอำนาจนี้เอง ที่จะเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองได้ทุกเมื่อ แม้ตัวอำนาจนี้ วันหนึ่งมันจะทำให้เราประสบความสุข ความสำเร็จในชีวิต หรืออาจจะก้าวไปสู่ความรุ่งโรจน์ได้ถึงจุดสูงสุดของชีวิต แต่วันหนึ่ง ความรุ่งโรจน์เหล่านั้นก็จะหมดไปกับอำนาจที่เรามี และที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ตัวอำนาจนี้เอง ที่อาจส่งผลให้เกิดสงครามน้อยใหญ่  เมื่ออำนาจอยู่ในการควบคุม อยู่ในมือของคนเขลาที่คิดว่าตนฉลาด เมื่อคนเขลาใช้อำนาจอย่างไม่ยั้งคิด ไม่คำนึงถึงผลกระทบในภายภาคหน้า แน่นอนปัญหาจะตามมา และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงแค่ส่งผลต่อ ผู้กุมอำนาจ แต่จะส่งผลไปถึงชีวิตอีกมากมาย เช่น เด็กๆ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหลบหนีสงคราม ผู้คนอีกมากมายที่ต้องมารับเคราะห์ และต้อง ตายท่ามกลางสงครามที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจโดยไม่ยั้งคิดของผู้ที่หลงใหลในอำนาจ

 

              เนื้อหาอีกประเด็นที่มีความครอบคลุมเนื้อหาของบทกวี “นครคนนอก”  ที่ผู้เขียนเองได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของมนุษย์เรา เทคโนโลยีต่างๆสามารถอำนวยความสะดวกในหลายๆด้าน ทั้งการผ่อนแรง การประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นต้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกฎเกณฑ์ มาตรการต่างๆที่เราต้องปฏิบัติตาม ตามลำดับขั้นตอน ตัวอย่างที่เราพบเห็นได้ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน คือ การสื่อสารผ่านระบบ Social Media ไม่ว่าจะเป็นการเล่น Facebook, line, Instagram เป็นต้น ช่องทางการสื่อสารหรือการติดตามข่าวสารตามที่กล่าวมานี้ จะมีปัจจัยจำกัดในเรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หากไม่มีอินเทอร์เน็ต ระบบการสื่อสารก็จะล้มเหลว ผู้เขียนได้พรรณนาผ่านบทกวีที่ชื่อ “มนุษย์ต่างดาว” ซึ่งนำเอาสภาวะของสิ่งมีชีวิตนอกโลกมาเปรียบเทียบกับพวกเราที่เป็นมนุษย์โลก ดังนี้

 

        “… ดาวของผมนะ                                         ไม่มีภาระให้ต้องบ่น

                                                                                           ไม่มีเขตแดนให้เดินชน                           ไม่ต้องค้นเลขบัตรประจำตัว

                                                                                           ไม่มีสงคราม ไม่จำเป็น                            ยังไม่เคยเห็นใครทำชั่ว

                                                                                           ยิ่งทำงานจมปลักหนักเหมือนวัว               คุณไม่ต้องกลัว สบายสบาย

                                                                                           ไม่ต้องใช้โทรศัพท์หรอกสักนิด                ใช้แต่โทรจิตเป็นเครือข่าย

                                                                                           ไม่ต้องเติมเงินให้วุ่นวาย                          ไม่ต้องย้ายค่ายให้เรื่องยาว…”

 

                จากตัวอย่างบทกวีข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนได้พรรณนาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ต่างดาว ที่มีความแตกต่างกับการใช้ชีวิตบนโลกมนุษย์ของเรา ที่ไม่ต้องมีการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ลำบากตรากตรำในการเอาชีวิตรอด ไม่มีการแบ่งเขตแดน ซึ่งสังคมเราปัจจุบัน เราจะเดินไปมุมไหน ก็มีการจับจองพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำโฉนดที่ดิน แสดงความเป็นเจ้าของ ว่าสถานที่นี้เป็นของตน  แม้แต่ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ก็ยังมีการจับจองพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจับจองเพื่อการค้าขาย เลี้ยงชีพ หรือทำการใดก็ตาม รวมไปถึงการใช้ เครื่องมือสื่อสารเพื่อความสะดวกสบายในการทำงาน แต่ก็มีข้อจำกัด เช่น เครื่องมือในการสื่อสาร การเติมเงินโทรศัพท์ เป็นต้น หากไม่มีเครื่องมือ  การส่งข้อมูลข่าวสาร ก็จะเป็นไปได้ยาก ผู้เขียนเองได้พรรณนาถึงการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ต่างดาวที่ไม่ต้องมีเครื่องมือสื่อสารใด แต่จะติดต่อสื่อสารกันผ่านจิต ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวก ไม่มีความวุ่นวายและซับซ้อนอย่างการสื่อสารของมนุษย์เรา

 

               นครคนนอก รวมบทกวีที่สะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันออกมาได้เป็นอย่างดี เป็นการสร้างสรรค์บท กวีให้มีความหนักแน่นทั้งเนื้อหาที่ร่วมสมัยและรูปแบบการประพันธ์  มีสาระใกล้ตัว อ่านเข้าใจง่ายในทุกวัย เป็นหนังสืออีกเล่มที่ส่งเสริมคุณค่าทางวรรณกรรม บทกวีไทย ที่ควรได้รับการถ่ายทอด และสืบสานต่อไป

 

บทวิจารณ์โดย ดารัญญฎา  น้ำใจงามพร้อม

 

Writer

The Reader by Praphansarn