นิทรรศการ ผี : ความกลัว...จัดการได้ ด้วยจินตนาการสร้างสรรค์ Spirits : Creativities from beyond
TCDC ได้นำเสนอเรื่องราวความเชื่อ ตำนาน จินตนาการของความกลัว ที่นำมาสู่กระบวนการจัดการ และการสร้างผลผลิตของงานสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ...
นิทรรศการ ผี : ความกลัวที่ดูได้ สำหรับทุกเพศทุกวัย เพราะผู้จัดได้นำเสนอไว้ในหลายมิติ ให้ผู้ชมได้สัมผัสตามความสนใจ...เด็กๆและวัยรุ่น ชวนกันปากต่อปาก มาสร้างจินตนาการความกลัวในห้องมืด (Leaning by Doing) หลอกเล่นกันอย่างสนุกสนาน...นักศึกษาและคนวัยทำงาน ไปชมเพื่อกระตุ้นความคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ผ่านธุรกิจแบบผีๆ...และสำหรับผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ถึงสูงวัย ก็จะได้ความรู้ทางวัฒนธรรมความเชื่อ (Culture) ที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน...
ส่วน อะหนึ่ง ยังอยู่ในอารมณ์ของเปิดกรุฯ...จึงสนใจมุมนี้เป็นพิเศษ ! สิ่งสะสมอันมาจาก “วรรณกรรมผี” ที่นำมาจัดแสดงไว้ในนิทรรศการผี (Retro) ย้อนอดีตขนหัวลุก ! คุณผู้อ่านที่อายุ ๓๐-๔๐ Up คงเคยสร้างจินตนาการความกลัว จากการอ่าน การ์ตูนผีเล่มละบาท นวนิยายผีประโลมโลกย์ โลกแห่งวรรณกรรมผี ที่ถ่ายทอดผ่านสื่อกระดาษสิ่งพิมพ์ ยังช่วยบันทึกเชิงสังคมและวัฒนธรรม ที่ผันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และสื่อเทคโนโลยี...เรามาดูความเป็นมาของวรรณกรรมผี กันครับ...
จินตนาการสุดกู่ บนหน้ากระดาษ
ไอเดียน้ำหมึก จากก๊วนน้ำเมา
เมื่อคุ้นเคยกับความกลัว จนก่อเกิดเป็นจินตนาการ การถ่ายทอดเรื่องผี จึงปรากฏออกมาในรูปของภาพ และลายเส้น ประเดิมด้วย เหม เวชกรส่งเรื่องสั้นประกอบภาพ แนวภูติผีปีศาจ มาเขย่าวงการน้ำหมึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตามมาด้วยสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เริ่มหันมาเอาใจตลาดด้วยการ์ตูน ผีประโลมโลกย์ เล่มละบาท นิยายและการ์ตูนผี เริ่มระทึกใจแบบต่างชาติ หลังปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อผีดิบฝรั่งออกอาระวาดแผงกับนิตยสาร ช็อค ของค่ายบรรลือสาส์น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ปัจจุบันมีเรื่องผีหลากรูปแบบ วางจำหน่ายให้เสพตามรสนิยม ตั้งแต่นิตยสารการ์ตูนลายเส้นญี่ปุ่น ประกอบเรื่องผีสางทั้งไทยและเทศ จนถึงการ์ตูนผีบ้านๆก็มีขายในราคาห้าบาทสิบบาท และยังคงสั่นประสาทคนอ่านได้ไม่แพ้อดีต...ฯ
ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐
แจ้งเกิดเรื่องและภาพผีไทย
ยุคเริ่มต้นของการแต่งเรื่องผี ถ้าไม่นับ ผีอีนาก ที่เล่าขานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และ ผีกรุงเก่า ถึงเหตุพระเจ้าตากสินฯ ทรงสุบินว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน ห้ามครองกรุงศรีอยุธยา ที่เล่าลือกัน ภาพผีในยุคแรกจึงเป็นผีประกอบนิยายระทึกขวัญที่ได้รับความนิยม อย่างผลงานของเหม เวชกร อ.อรรถจินดา หรือ ใบหนาด (ณรงค์ จันทร์เรือง) ก่อนสื่อสิ่งพิมพ์จะเสื่อมความนิยมลง หลังการแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม ที่เริ่มในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และช่อง ๗ สนามเป้า ในปีถัดมา...ฯ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๒๕
ยุคโด่งดังของการ์ตูนผีไทย
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ คือช่วงรอยต่อของการ์ตูนผีไทย เริ่มมีการสร้างตัวละคร ผีไร้ชื่อ รุ่นใหม่ไปพร้อมๆกับการปัดฝุ่น ผีเก่า ต้นทุนกระดาษที่สูงขึ้น ทำให้สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น เป็นเจ้าแรกที่ตัดสินใจผลิตการ์ตูนขนาด ๑๖ หน้ายก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ บางสำนักพิมพ์เริ่มใช้เทคนิคการพิมพ์แบบออฟเซท เพื่อให้ปกการ์ตูนผี มีสีสันน่าอ่าน แต่ทว่าความวุ่นวายทางการเมืองในอีก ๔ ปี ต่อมา ทำให้รัฐบาลตรวจสอบเนื้อหาหนังสืออย่างเข้มงวด ส่งผลให้การพิมพ์นิยาย และหนังสือการ์ตูนผีเป็นไปอย่างยากลำบาก ก่อนบรรยากาศจะคลี่คลายลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ การ์ตูนผีแนว อีโรติก เล่มละบาท กลับมาเป็นที่นิยมอย่างยิ่งจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐...ฯ
ปี พ.ศ. ๒๕๒๕-ปัจจุบัน
ภาพผีเมืองร่วมสมัยแบบผสมผสาน
สังคมสมัยใหม่ก่อกำเนิด ผีเมือง ที่ได้รับอิทธิพลจากนานาชาติ ทำให้เนื้อหานิยายและการ์ตูนผี มีความหลากหลาย วิธีการเล่าเรื่องผีจากสิ่งพิมพ์อเมริกัน และเอเชียโดยเฉพาะอย่างญี่ปุ่น ส่งผลให้กลวิธีการเล่าเรื่องผีของไทย ฉีกแนวเป็นสยองขวัญขึ้นกว่าก่อน ปัจจุบันนักเขียนการ์ตูนไทย ยังคงวาดผลงานในแนวที่ตนถนัด ไม่ว่าจะ โต๊ด โกสุมพิสัย ผู้มุ่งให้ความบันเทิงด้วยการ์ตูนผีไทยเนื้อหาแน่น เล่มละ ๕ บาท ธีรวัฒน์ เทียรประสิทธิ์ เจ้าของผลงานนวนิยายภาพลายเส้นสุดหลอน หรือ ปุ๋ย เดวิล (ศุภมิตร จันทร์แจ่ม) เจ้าของงานสดุดีผีของ เหม เวชกร ต้นแบบนักเขียนวรรณกรรมผี...ฯ
ขอบคุณที่มา : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=651966