สัมภาษณ์พิเศษที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของนักเขียนหนุ่มจากภาคใต้ที่มีชื่อว่า สุวิชานนท์ รัตนภิมล เขาเป็นนักเขียนเพียงไม่กี่คนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนบนเส้นพรมแดนตะวันตกมาตลอดเวลาหลายสิบปี บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้บุกเบิกตำนานเพลงคนรักป่าเมื่อสิบปีที่แล้ว บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะนักเขียน เจ้าของนามปากกา “คำ พอวา” และ“หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง” และบางคนอาจเข้าใจว่าเขาเป็นชนเผ่าหนึ่งบนเส้นพรมแดนตะวันตก เนื่องจากเขาคลุกคลีกับชนเผ่าต่าง ๆ บนเส้นพรมแดนแห่งนี้มายาวนาน
เพราะเหตุใดชายผู้นี้จึงมุ่งมั่นถ่ายทอดชีวิตของผู้คนบนเส้นพรมแดนตะวันตกโดยไม่เคยเปลี่ยน เขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเดินทางกว่าสิบปีที่ผ่านมา ติดตามคำตอบได้ในบทสัมภาษณ์ที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้
ช่วยเล่าประวัติให้ฟังหน่อยว่าพื้นเพเป็นคนที่ไหน
พื้นเพเป็นคนพัทลุง คนฝั่งทะเลสาบสงขลา เรียนโรงเรียนในหมู่บ้าน จบปริญญาตรีจากมอ.ปัตตานี(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี)และมาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางด้านปรัชญา แต่ว่าเรียนไม่จบ เรียนได้แค่เทอมเดียว
เริ่มสนใจเรื่องราวของคนบนพรมแดนตะวันตกตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอนผมเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รู้จักน้องจากชมรมดนตรีไทยซึ่งเขาไปช่วยงานโครงการหลวง อบรมเรื่องเยาวชน ผมก็เข้าไปร่วมกิจกรรมกับเขาด้วยความอยากรู้ เขาถามว่าทำอะไรได้บ้าง พอดีตอนเรียนปริญญาตรีที่ มอ. ปัตตานี ผมตั้งกลุ่มเลโคลน(ทะเลโคลน) ออกหนังสือรายสะดวก โดยการเรี่ยไรทุน และการบริจาคจากเพื่อน ๆ และอาจารย์ ก็เลยพอเขียนหนังสือได้ แล้วก็เล่นกีตาร์เป็น เลยบอกเค้าว่าเขียนหนังสือและเล่นกีตาร์ได้ ก็เลยได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ จำได้ว่าหมู่บ้านที่ไปชื่อว่า หมู่บ้านขุนแปะ อ.จอมทอง ทางมันยากมาก ต้องนั่งรถโฟร์วีล ตะลุยไปตามทางเดิน ลองนึก ถึง 10 ปีก่อน ถนนยังไม่มี ต้องเดินทางเข้าป่า ข้ามลำห้วยใหญ่ แล้วอยู่ ๆ ก็ไปเจอหมู่บ้านกลางป่า มันตื่นเต้นมาก ความรู้สึกของเรามาเจอภาพทุ่งนาอยู่ระหว่างช่วงปลูกข้าว ข้าวกำลังสุกและมีแปลงข้าวโพด หมู่บ้านอยู่ข้างล่าง ระบบน้ำดีมาก เดินไปไหนจะได้ยินเสียงน้ำไหลตลอด สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความสงบและความเงียบ เดินไปตามคันนาเราได้ยินเสียงไก่ในหมู่บ้านร้อง เสียงคนคุยกันแว่วมา แม้แต่เสียงตั๊กแตนตีปีกยังได้ยิน มันเงียบ มันน่าอยู่ แล้วเราก็ลงไปในหมู่บ้านกับเยาวชน เขาพาไปกินกล้วยตาก เราก็นอนเล่นอยู่ในบ้านมุงใบตองตึง หลังจากนั้น มีที่ไหนพี่ก็อาสาไปกับเขาด้วย ไปแบบเพื่อเรียนรู้ว่าชุมชนนั้นเป็นอย่างไร แล้วเวลาพาตัวเองไปตรงนั้นมันสัมผัสได้ถึงความสงบสุข และมีเรื่องราว ที่น่าจะรู้เยอะ
ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเดินทางเหล่านี้
ช่วงนั้นผมอายุประมาณ 23-24 ปี เป็นช่วงแสวงหาความหมาย ของชีวิต การเดินทางเหล่านี้มันก่อให้เกิดคำถามแรง ๆ กับชีวิตหลายอย่างว่าเราจะเอาอย่างไรกันแน่ ระหว่างเรียนต่อให้จบ ปริญญาโทกับการเรียนรู้โลกข้างนอกหรือความฝันของตัวเอง ผมตัดสินใจออกจากเชียงใหม่ กลับไปบ้าน ไปกรีดยางที่ภาคใต้ 1 ปี แล้วก็เริ่มเก็บข้อมูลเพื่อเขียนหนังสือ ผมไม่ได้กลับไปเรียนปริญญาโทต่อให้จบ เพิ่งเรียนได้แค่ 5 เดือนเท่านั้น
ตอนนั้นเขียนเกี่ยวกับอะไร
เขียนไปทั่ว ยังจับอะไรไม่ได้ แต่เราสนใจว่าเราอยากเขียนเรื่องยาว เรื่องสั้น สารคดี คือมันอยากเขียนไปหมดเลย
เหมือนกับอยู่ในช่วงของการแสวงหาใช่ไหม
ใช่ แล้วหลังจากนั้นเราก็บอกตัวเองว่า นับแต่นี้ไปเราจะเขียนหนังสือ เราทิ้งทุกอย่าง เราจะไม่กลับไปห้องเรียนอีกแล้ว กลางคืนกรีดยาง กลางวันก็เก็บข้อมูลได้มาชุดใหญ่ พออยู่บ้านมาได้หนึ่งปีก็เดินทางต่อไป ไปอยู่บนเกาะใน จังหวัดระนอง อยู่หลายเดือนเพื่อเขียนหนังสือ แล้วก็ไปกรุงเทพฯ ไปอีสาน ไปช่วยทำค่ายเด็ก ทำงานจุลสารเล็กๆ ทำเพลงเด็กอยู่บ้าง หมุนเวียนอยู่อย่างนี้แล้วก็ขึ้นมาที่เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
กลับมาเชียงใหม่อีกครั้งช่วงปีไหน
ประมาณปี 2533 ผมเห็นหนังสือเสียงภูเขาเล่มแรก เป็นแค่กระดาษไม่กี่เผ่นเย็บเป็นเล่มเล็ก ๆ เท่านั้นเอง พอเห็นแล้วทำให้เราอยากจะช่วยทำให้ดีกว่านี้ แล้วก็เหมือนกับเราพยายามหาเรื่องเพื่อจะได้เดินทางบนภูเขา หลังจากนั้นก็เริ่มติดต่อมายังหนังสือเล่มนี้ เขาก็บอกว่าให้มาคุยกัน ตอนนั้นก็ตัดสินใจเดินทางจากสุรินทร์ทันทีเลย มาถึงก็คุยกับเขา ที่นี่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาของชาวเขา ตอนนั้นเราไม่รู้จักใครเลย งานพัฒนาก็ไม่รู้จักหรอก รู้จักแต่ว่าที่นี่ทำหนังสือ ทำให้เรามีโอกาสได้เขียน ได้เดินทาง อยากหาโอกาสอยู่เมืองนี้ แล้วก็คิดว่า ถ้ามีรายได้สักหน่อยก็อยู่ได้ ตั้งแต่นั้นมาก็เลยได้เดินทาง ได้รู้จักเผ่าต่างๆ จากที่ไม่เคยรู้จักเลย ต้องมาแยกแยะว่าเผ่าอะไรอยู่ไหนบ้าง
ทำหนังสือเสียงภูเขาอยู่กี่ปีได้เดินทางไปไหนบ้าง
ประมาณ 6 ปีได้ เดินทางเลาะป่าแถบตะวันตก เทือกเขา ถนนธงชัยตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงกาญจนบุรี เรียกได้ว่าถ้าจะ เดินทางไปแม่ฮ่องสอนก็มองเห็นทางในหัวเลย จะไปวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม ตัดป่าเส้นไหนบ้าง ไปน่านเลียบเลาะแม่น้ำโขงมาออกเชียงราย ไปเชียงรายมาสุดชายแดนรัฐฉาน คือเห็นภาพ หมดเลย ถ้าให้ไล่มาตามชายแดนตะวันตก
เวลาเดินทางแต่ละช่วงยาวนานแค่ไหนทำอะไรบ้าง
การเดินทางยาวนานที่สุด 2 สัปดาห์ ไปดูว่าเขาอยู่กันอย่างไร เขาไปไร่เราก็ไป ไปเก็บผักเราก็ไปด้วย ไปเรียนรู้ไปอยู่ร่วมมากกว่า
มีปัญหาเรื่องภาษาบ้างไหม
เวลาไปไหนต้องใช้คนนำทาง ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่ก็คือคนที่ทำงาน บางทีก็เป็นเอ็นจีโอบ้าง แล้วเขาก็ต่อคนที่คุยได้บ้าง เหมือนมีคนส่งให้ ไม่ใช่ตะลุยเอาดาบหน้าเลย คือจะมีคนส่งให้ไปถึงที่หมู่บ้านแล้วพอสนิทสนมก็ตามหลังไปด้วย
ช่วงห้าหกปีที่ตระเวนอยู่บริเวณชายแดนตะวันตกเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง
ช่วงมานอปลอว์ (ฐานที่มั่นของกองทัพกะเหรี่ยงเคเอ็นยูถูกทหารพม่าตีแตกเมื่อปี 2538) แตก ผมไปกับพี่ยอด(วีระศักดิ์ ยอดระบำ) ช่วงที่เข้าไปเป็นช่วงที่คนอพยพเข้ามาฝั่งไทยกันมาพอได้เห็นบรรยากาศคนหนี เอาของเข้ามาไว้ข้างทาง เตรียมหนี หรือไม่ก็คนเดินเป็นกลุ่ม ๆ พอเห็นพวกเราก็หลบหนีเข้าป่าเพราะไม่รู้ว่าเราเป็นกลุ่มไหน หลังจากนั้นเราเข้าไปอีกก็ได้ยินเสียงปืนทั้งปืนกลปืนใหญ่ระดมยิงกัน เราก็อยู่แถบตะเข็บแถวนั้น พอเราเข้าไปนอนที่แคมป์โซโกร (ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ก็ได้พบกับนักรบที่เพิ่งหนีภัยสงครามมาบ้าง
ความรู้สึกและบรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร
สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความหดหู่ความสิ้นหวัง บางทีเราไปนอนด้วยกันเขาก็ร้องห่มร้องไห้ บางคนบ้านแตกก็เล่าเรื่องราวของการพลัดพราก บ้างลูกก็ตาย เล่าถึงเพื่อนที่โดนยิง มีอยู่คืนหนึ่ง นอนบ้านของคนที่เขาพลัดถิ่นมาด้วย เขาพลัดถิ่นมาซึ่งเป็นคน ระดับหัวหน้า เขาละเมอทั้งคืนเลยเป็นเสียงภาษาของเขา แต่เรา รู้สึกได้ว่าความรู้สึกของเขาเหมือนอารมณ์กำลังหนีอยู่ เหมือนมีอารมณ์ของการสู้รบอยู่ พอมาถึงข้างล่างเราก็เจอเขาจับกลุ่ม เล่าเรื่องสู่กันฟังว่าไม่รู้จะอยู่กันอย่างไร ก็ถ้าเราเจอกลางทางคนกลุ่มนี้เขาจะไม่อยากคุยด้วยคือเขาจะวิ่งหนี ขอหนีก่อน
ก่อนหน้านี้เคยรับรู้เรื่องราวจากคนฝั่งพม่าอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นก็ได้อ่านจากข่าว ประมาณว่า ถึงหน้าแล้งทุกทีก็มีกองกำลังมาลุยกัน และอีกงานที่เราตามอยู่ช่วงนั้นก็คืองานของพ้อเลป่าได้พิมพ์ในฟ้าเมืองทอง หนังสือเล่มนั้นทำให้เราเห็นวิธีคิดและการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เราอยากรู้ มันน่าสนใจ มันเหมือนมีสองภาพนะ ภาพหนึ่งเป็นภาพของการสู้รบ อีกภาพเป็นภาพการใช้ชีวิตของคนกะเหรี่ยงที่ผูกพันกับธรรมชาติ
ชายแดนบริเวณไหนที่ชอบไปหลายครั้ง และทำไมถึงชอบไป
แถวท่าเรือแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (เป็นท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำสาละวินซึ่งกั้นพรมแดนไทยกับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า) เพราะบรรยากาศที่นั่นมันหลากหลาย บางทีว่าง ๆ ขับรถขึ้นไป เพื่อนมาก็ต้องพาเขาไปที่นั้น คือเราไม่ต้องทำอะไร ไปนั่ง ดูบรรยากาศเคลื่อนไหว บางทีเรานั่งอยู่เห็นนักรบกำลังจะออกรบ พระกำลังจะออกบิณฑบาตร คนกำลังขนของขึ้นรถลงเรือ คนค้าไม้ ก็กำลังเจรจาธุรกิจค้าไม้ รถจอดกันเต็ม คนอยู่กันเต็มเพื่อจะเอาไม้ขึ้น แพลอยมาตามน้ำ คนกำลังจะเอาแพเลียบแม่น้ำ ควายจาก พม่าก็กำลังขึ้นมา บรรยากาศแบบเคลื่อนไหว แบบขัดแย้ง เต็มไปด้วย ผลประโยชน์ แบบมิตรก็ไม่ใช่ บางครั้งมีความรู้สึกว่าคนข้างนอกเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากที่นี่เยอะ เราไม่รู้จักใครเลย แต่เราสามารถนั่งอยู่ได้ท่ามกลางความหลากหลาย นั่นก็คือว่า เราไม่ต้องกลัวไม่ต้องกังวล
อยากให้ช่วยเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่สามแลบที่เห็นมาตลอดตั้งแต่แรกที่มาจนถึงตอนนี้
ไปครั้งแรกเมื่อประมาณปี 35 – 36 จำได้ว่าไปถึงหลังเที่ยงคืน แม่น้ำสาละวินปริ่มและก็ยังจำติดตาได้ถึงตอนนี้เลย ดวงจันทร์มันค่อนดวง แล้วแสงมันทำแสงกับแม่น้ำ มันกว้างใหญ่มาก ไปครั้งแรกกับพี่ยอด ไปกับรถของแก ตอนนั้นรถไปทางห้วยแม่สามแลบ พอรถวิ่งมาถนนช่วงหนึ่ง จากนั้นก็วิ่งตามน้ำลงไป รถวิ่งอยู่ในน้ำ ความรู้สึกรถมันวิ่งอยู่ในลำห้วย ถนนคือห้วย ห้วยคือถนน ตื่นขึ้นมาก็ไปอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เห็นเรือข้ามฟาก เต็มไปหมดเลย เป็นท่าเรือที่ใหญ่มาก
เหมือนทุกวันนี้ไหม
ไม่เหมือน ตอนนั้นมีเรือวิ่งเข้าวิ่งออกตลอดเวลาเต็มไปด้วย คนเดินทาง มันเต็มไปด้วยเรือทั้งขึ้นทั้งลง ตอนนั้นกองกำลังกะเหรี่ยง เคเอ็นยูคุมบริเวณชายแดนฝั่งโน้นทั้งหมด ทำให้การค้าดีมาก สินค้าจากฝั่งโน้นนำมาขายฝั่งไทยคือพริก แล้วก็ซื้อพวกเกลือ เสื้อผ้า น้ำปลา จากฝั่งไทยกลับไปขายฝั่งโน้น บรรยากาศการขนแบกของเป็นเรื่องเห็นอยู่ทั่วไป อารมณ์ของผู้คนไม่ค่อยยิ้มแย้ม เป็นบรรยากาศการขนย้ายและรอคอยการเดินทาง คอยแล้วก็ไปแล้วก็คอย บางทีกระสอบข้าวสารมารอเรืออยู่ เรามีความรู้สึกว่าเป็นบรรยากาศที่คนมานั่งคอยอะไรสักอย่าง เป็นอย่างนี้ตลอดเวลายิ่งตอนเช้าคนจะเยอะมาก สักประมาณ 6 โมง พอสว่างพระเริ่มบิณฑบาตร พระต้องนั่งเรือลำเล็กๆ จะมีคนคอยรับส่งท่านข้ามฟากแม่น้ำปากน้ำแม่สามแลบ แค่เรา นั่งอยู่กับที่ เราก็เห็นคนส่งไปส่งมา เรือก็คอยรับส่ง เรือเยอะมาก คนก็โกลาหลเดินไปเดินมา เดินเข้าร้านกาแฟบ้าง ส่วนเพลงตามแนวชายแดนซึ่งอัดเป็นเทปก็เปิดกันดังเป็นภาษาพม่าบ้างภาษากะเหรี่ยงบ้าง
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
ตั้งแต่มานอปลอว์แตกชายแดนเริ่มไม่สงบ คนเริ่มน้อยลง ถนนเริ่มสร้างมาถึงแม่สามแลบ ภาพชีวิตริมแม่น้ำเป็นคนละเรื่องกับเมื่อก่อน เมื่อก่อนการเคลื่อนไหวของคนที่โน่นจะมีความหลากหลาย และลึกลับแต่เดี๋ยวนี้สิ่งเหล่านั้นหายไป คือเรารู้สึกว่าเมื่อก่อนคนๆ หนึ่งจะไปไหน จะบอกไม่ได้เลยว่าคนนี้จะไปไหน ไม่มีใครอยากที่จะถามใคร หรือถ้ามีคนอยากจะถามก็ไม่มีใครอยากจะบอกใคร คือว่าจะถามทำไมอะไรอย่างนี้ เหมือนว่าทุกคนเต็มไปด้วยความลับ ในความรู้สึกของเราที่ได้เฝ้ามอง
มีเสียงปืนสู้รบกันตลอดเวลา รู้สึกว่ากลัวบ้างไหม
บางทีก็คิดอยู่ว่าเวลานอน ๆ อยู่ถ้ามีกองกำลังฝ่ายไหนยิงมาจะทำอย่างไร บางทีก่อนนอนก็เล็ง ๆ ดูว่า ถ้าคืนนี้เกิดอะไรขึ้นมีซอกมุมไหนที่จะไปได้บ้าง
เคยได้มีโอกาสข้ามไปหมู่บ้านฝั่งพม่าบ้างไหม
ไม่ได้เข้าไปลึก มีอยู่ช่วงหนึ่งช่วงเป็นแพริมแม่น้ำ เป็นหมู่บ้านแม่น้ำสาละวินฝั่งพม่าเคยแวะเข้าไปอยู่หลายชั่วโมงไม่ได้อยู่ตอนกลางค่ำกลางคืน คือเราไปแบบไม่มีใครที่ไหนรับรองเรื่องความปลอดภัยให้เลย
ในความรู้สึก เมื่อคิดถึงชายแดนฝั่งตะวันตกนึกถึงอะไรบ้าง
ไม่ว่าเราจะเจาะลึกไปที่ชีวิตใคร พวกเขาจะเต็มไปด้วยเรื่องราว ของบาดแผลแห่งชีวิต เรื่องที่บาดเจ็บ ถ้าไม่จากครอบครัว จากสายเลือด ก็จากคนข้างตัว มันไม่ใช่แค่กายซึ่งมันยากที่จะเยียวยา แล้วก็หาใครที่จะเยียวยาไม่ได้ จนบางครั้งพอเราเข้าไปถามเด็กว่าเขาเป็นลูกใครความเศร้าก็เข้ามาจู่โจมทันที ไม่มีแม่ พ่อไม่อยู่นี่ อยู่กับปู่ ปู่เอามาเลี้ยง หนูเป็นใครก็ไม่รู้เขาเอามาเลี้ยง คือทุกคน ก็จะอยู่ในสภาพนี้ ไม่ว่าจะถามเด็กหรือผู้ใหญ่ มันมีเรื่องราวของความเจ็บปวดอยู่ในคนทุกคน หาได้น้อยคนมากที่จะอยู่พร้อมหน้า ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่พร้อมหน้า แต่ในคนๆ หนึ่งเขาอาจจะมีญาติพี่น้องของเขาที่สูญเสีย แล้วเราจะรู้รายละเอียดชีวิตเขาน้อยถ้าเขาไม่อยากบอก ด้วยเพราะถูกกระทำมาเยอะ แล้วเราเป็นใครก็ไม่รู้มาถาม จะทำให้เขาเดือดร้อนอีกหรือเปล่า เพราะมันไม่ใช่วันเดียวแต่มันเป็นปี ๆ ที่เขาหนีมา หนีแล้วไม่รู้ว่าอยู่ไหน หนีจาก การถูกกระทำซ้ำซาก พูดง่าย ๆ คือว่าคนที่จะมายื่นดอกไม้งามๆ สักดอกในชีวิตของเขามันยากมาก
ในฐานะที่ได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้มาตลอดมีความรู้สึกอย่างไร
อย่างน้อยด้านหนึ่งของเรา เวลาฟังแล้วแบบอึ้งไปกับเขาก็มี อย่างที่บอกว่าคือไปเจอน้องที่เป็นกะเหรี่ยง เขาบอกว่าพ่อเขาโดนยิงต่อหน้าต่อตา แล้วอยู่ๆ กองกำลังเข้ามาเผาบ้าน เขาก็ต้องหนีแล้วแม่ก็หายไป เขาหนีมาได้ด้วยการหลบซ่อนในภาชนะอะไรสักอย่าง เราเห็นบรรยากาศอย่างนั้นแล้ว…คือโดยการมีชีวิตอยู่ก็มีความเจ็บปวดความสะเทือนใจอยู่บ้างแล้ว แต่ในช่วงชีวิตมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน ในความสัมพันธ์ พ่อ แม่ ลูก แบบสิ่งที่อยู่ภายนอกจู่โจมเข้ามาอย่างรวดเร็วทันทีทันใด มันเป็นความสะเทือนใจที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ในโลกนี้อย่างไร แล้วถามคนโน้นคนนี้ก็เหมือนกัน บางคนโดนไล่มาถึงพรมแดนแล้วก็มีคนคว้าข้อมือเขาเข้ามาสู่ฝั่งไทยจึงหนีเข้ามาได้ ไม่อย่างนั้นก็คงตายในฟากโน้น
เคยรู้สึกไหมว่าเรื่องราวชีวิตหลาย ๆคนยิ่งกว่านิยายมันไม่น่าเชื่อเลยเวลาที่ฟัง
ชีวิตจริงของเขา มันมากมายกว่านิยาย เต็มไปด้วยเรื่องราวการถูกกระทำย่ำยี
เคยรู้สึกไหมว่าทำไมคนไทยถึงรับรู้เรื่องราวเหล่านี้น้อยเหลือเกินทั้ง ๆ ที่เราเป็นเพื่อนบ้านกัน
บางทีผมรู้สึกว่าการที่ผมเข้าไปรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เหมือนผมมีความผิดด้วยซ้ำ เราเข้าไปรับรู้เรื่องราวของคนหนีตายมา เราโผล่หน้าเข้าไปให้เขาได้บอกความรวดร้าวของชีวิตหลาย ๆ ด้าน เรื่องราวเหล่านี้เหมือนมีใครพยายามเก็บเอาไว้ไม่อยากให้โลกรับรู้ พยายามปิดบังเอาไว้ เรื่องราวของพรมแดนมีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่โผล่ไปรับรู้ พอเราไปรับรู้และนำมาบอกคนอื่น มันดูเป็นเรื่องราวที่รุนแรงซึ่งบางคนเขาก็ไม่เชื่อนะ
แล้วทำอย่างไรเมื่อเขาไม่เชื่อ
เราก็บอกว่าเดี๋ยวจะพูดเรื่องที่สอง
ทำไมเราถึงได้ถูกเก็บงำอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งที่ไม่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างยาวนานทั้งๆ ที่มีคนที่เจ็บปวดมากเต็มไปหมด
เหมือนกับว่าเขาไม่อยากให้พลเมืองไทยได้รับรู้ ที่นี่มันเหมือนเป็นแดนอโคจร แดนสนธยา คุณอย่าเข้าไปนะ คนที่เข้าไป รับรู้แล้วเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเผยแพร่ต่อ เหมือนกับเรารับเชื้อโรคอะไรมาปล่อย มีคนบอกว่าไม่มีเรื่องอื่นจะเขียนอีกแล้วหรือ ทำไมต้องมาจับเรื่องน่าหดหู่น่าเศร้าหมองขนาดนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำไม่ถึงกับเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจ แต่เป็นเพียงแค่สิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยให้มดสามารถไต่ข้ามมาบอกเรื่องราวกับคนอื่นได้เท่านั้น จริง ๆแล้วเรื่องราวแบบนี้มีเป็นแสนเป็นหมื่น เยอะแยะเลย สิ่งที่ผมได้รับรู้มาบ่อย ๆ คือบางคนมีความรู้สึกว่าอย่าไปช่วยคนเหล่านี้เลยเพราะไม่ใชคนไทย
เคยได้ยินคนพูดว่าคนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นพวกขี้เกียจ นั่งๆ นอนๆรอคนเอาข้าวสารมาบริจาคไหมรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้
การที่คนมีชีวิตอยู่เพื่อรอรับของบริจาคสำหรับกินอิ่มในแต่ละวัน แค่นั้นมันไม่เพียงพอหรอก ผมเคยถามคนในค่ายว่าเขาอยากกลับไหม เขาบอกว่าเขาอยากกลับแต่กลับแบบมีสันติสุขในหมู่บ้าน เขาอยากมีที่ทำกิน มีชีวิตปกติ แล้วก็มีบ้านที่มีพ่อมีแม่และครอบครัว
คิดอย่างไรกับศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้ลี้ภัย
ในส่วนตัวของเขาคือเขาต้องอยู่ให้ได้ ทำยังไงเขาถึงไม่อดตาย ก็เหมือนกับเศร้าไปวัน ๆ เขาไปบุกเบิกที่ทำกินก็ไม่ได้จะไปรับจ้างก็ต้องรีบกลับ ใครที่มีแรงเยอะจะไปรับจ้างตรงนั้นตรงนี้ เขาไม่มีสิทธิ์วางแผนเลยว่าวันนี้จะเริ่มต้นอย่างไร ตอนเช้าตื่นขึ้นมา เลือกที่จะทำหรือเลือกที่จะอยู่ ไม่มีโอกาสสักอย่าง แค่เอาตัวรอดให้ได้เท่านั้น ถ้าบ้านของเขาสงบสุขไม่มีทางหรอกที่เขาจะมาอยู่ที่นี่ คือไม่ใช่ที่ที่เขาจะมาอยู่ ไม่มีใครอยากอยู่ เขาอยากกลับทั้งนั้นเลยนะ เขาอุดอู้มาอยู่ในบริเวณที่จะปลูกอะไรสักต้นก็ลำบาก จะเอาน้ำสักหยด มันเสียระบบไปหมด คือเวลาที่เขาอยู่หมู่บ้านเขาจะมีระบบของหมู่บ้าน มีระบบการอยู่ การเพาะปลูก ระบบน้ำ ระบบเมล็ดพันธุ์ คือเขาจะอยู่ในป่าเป็นเรื่องยากนะ เขาต้องสะสมเมล็ดพันธุ์อย่างไร ต้องแจกอย่างไร จะอยู่อย่างไร จะรอน้ำฝนอย่างไร จะจัดระบบน้ำอย่างไร จะทำบ้านอย่างไร มันเป็นเรื่องใหญ่ การอยู่ในค่ายอพยพนาน ๆ จะทำให้เขาสูญเสียองค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะเขาไม่มีสิทธิ์คิด เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้รับการถ่ายทอดไม่ได้รับการฝึกฝนแบบที่จะอยู่อย่างถาวร มันไม่เห็นข้างหน้าไม่เห็นข้างหลัง มีแต่เรื่องปัจจุบันที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ แล้วก็ซ้ำซาก มันถูกทำลายเป็น 10 ปี
เคยถามและคุยเรื่องความฝันของเด็กๆที่นั่นบ้างไหม
ทุกคนเลยคิดว่าสักวันหนึ่งเขาต้องมีแผ่นดินอยู่
คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้าใจเรื่องราวของคนชายแดนตะวันตก
บางทีเราไปเห็นเรามีอารมณ์ร่วมมาก เราก็คิดว่าคนอื่นเขาน่าจะรู้สึกเหมือนกับเรา แต่มันเป็นเรื่องที่ขบเคี้ยวยากอยู่ ดูเป็นเรื่องไกลตัว ไม่น่าสนใจ ไม่เกี่ยวกับชีวิตเขา อ่านแล้วไม่ค่อยประเทืองอารมณ์เท่าไหร่ หดหู่มากเกินไปหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าถ้าเขาได้รับรู้เรื่องจริง สัมผัสด้วยตนเองจริง ๆ เขาจะมีความเห็นใจมากขึ้น คือความสัมพันธ์ระหว่างคนบนพรมแดนกับคนไทยส่วนใหญ่เหมือนไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือมนุษย์ไม่รับรู้ความทุกข์ยากของมนุษย์ แต่มันเป็นมุมเรื่องชาตินิยมมากเกินไป มีการแบ่งแยกความเป็นเชื้อชาติ มากกว่ามองที่ความเป็นมนุษย์ แล้วอีกอย่างถ้าคนบนพรมแดนของทั้งสองฝั่งมีชีวิตอย่างปกติสุขก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่นี่มันเป็นพรมแดนที่ไม่ปกติ คนตายเท่าไรต่อมิเท่าไหร่ ตั้ง 40-50 ปีแล้วยังยิงกันอยู่
คำถามสุดท้ายถ้าขอได้สิ่งที่อยากเห็นบนเส้นพรมแดนตะวันตกคืออะไร
สิ่งแรกที่อยากเห็นก่อนคืออยากให้เสียงปืนสงบ แล้วคุณเอานักรบทั้งหลายทุก ๆ กลุ่มออกมาให้หมด เอาชาวบ้านของคุณไปตั้งหมู่บ้าน ปลูกข้าว ถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็เอามากินให้เต็มอิ่ม แล้วก็เตรียมสู่ฤดูกาลใหม่ เข้าไปสู่วิถีชีวิตปกติ อีกอย่างก็คือว่าควรทิ้งปืนทั้งหมด ถ้าหากคุณทิ้งปืนทั้งหมด จะยุติได้จริงๆ ก็ต้องหยุดอาฆาตพยาบาทกัน การอาฆาตพยาบาทเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์เป็นเรื่องที่แรงมาก ถ้าหากทุกกลุ่มยังคิดที่จะอาฆาตพยาบาทกันอยู่ก็ไม่ต้องหยุด แต่ถ้าคนหยุดกันหมดเลย แล้วจัดการให้ประชาชนของคุณกลับมาอยู่บ้าน ปล่อยให้พ่อแม่ ลูกหลานของเขากลับมาอย่างเดิม คิดว่านั่นแหละคือความสงบสุขจะเข้ามา แต่ถ้าหากคุณคิดว่าไม่แพ้ จะต้องเอาชนะให้ได้ ความสงบสุขก็จะไม่เกิดเลย แล้วก็ความเป็นรัฐใหญ่อย่าง ประเทศไทยพูดได้ว่าเรื่องราวของคนชายขอบไม่มีในนโยบายของรัฐบาลใดที่เป็นนโยบายแบบมีส่วนร่วม ที่ผ่านมามีเพียงการจัดแบ่งผลประโยชน์กันอย่างเดียว ไม่ได้มองความสาหัสสากรรจ์ของคนที่ได้รับผลกระทบตรงนั้น ไม่ได้คิดว่าไม่ควรไปซ้ำเติม เราควรกลับมาสู่ภาวะปกติ คนข้างนอกก็ควรเปิดการรับรู้และเห็นอกเห็นใจมากขึ้น และมองในทางบวกบ้างก็พอ.
จากสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 22 (วันที่ 1เม.ย. – 15 .พค. 48)