การนำนวนิยายมาสร้างเป็นละครนั้น นับว่าดีตรงที่ไม่ต้องสร้างพล็อตขึ้นมาใหม่ สามารถเลือกได้จากนิยายที่ติดตลาดเชื่อมั่นว่ามีคนคอยชมอยู่แล้ว ทำให้ทำการตลาดได้ง่าย เพราะเพียงรู้ว่านวนิยายที่ตนชื่นชอบกำลังจะถูกสร้างเป็นละคร แฟนนิยายก็เริ่มติดตามข่าวและรอชมอยู่แล้ว
การนำนิยายมาสร้างเป็นละคร นับเป็นความหวังของทั้งผู้เขียนและผู้อ่านที่เป็นแฟน อยากเห็นจินตนาการที่เคยเขียน เคยอ่าน ตัวละครที่ตนรักขึ้นมาโลดแล่นบนหน้าจอ แน่นอนว่า ภาระเหล่านั้นจึงตกอยู่กับผู้สร้างว่าจะสามารถทำฝันของผู้เขียนและผู้อ่านให้เป็นจริงได้หรือไม่
แต่ด้วยนวนิยายและละครเป็นศาสตร์ที่ต่างกัน การเสพต่างกันจึงมีเงื่อนไขรายละเอียดที่แตกต่าง ในความเป็นจริงเราจึงพบว่า บ่อยครั้งที่บทละครจำเป็นต้องแตกต่างจากนิยายเพื่อให้สร้างเป็นละครได้ หาจุดดึงดูดให้คนนั่งหน้าจอไม่หนีไม่ไหนได้ อีกทั้งเงื่อนไขของฝ่ายผลิตที่ต้องพยายามทำให้ละครมีเรตติ้งดีเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้จากการโฆษณา ตลอดจนสร้างชื่อในแง่ของคนทำละครให้ประสบความสำเร็จ แต่เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย บทละคร การกำกับ นักแสดง ช่วงเวลาฉาย สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องตัดสินว่า เมื่อนิยายถูกนำมาเป็นละครแล้ว จะสามารถสะกดผู้ชมให้หลงรักและติดตามได้หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่กฎตายตัวว่า นิยายขายดีจะเป็นละครที่ติดตลาด หรือละครที่มีเรตติ้งดีจะเป็นนิยายขายดีมาก่อน
บ่อยครั้งที่ละครยอดนิยมทำให้มีการตีพิมพ์นวนิยายเพิ่ม แต่ก็มีที่นิยายยอดนิยมถูกคนดูเบือนหน้าหนีเมื่อเป็นละคร
บทความโดย ณิชกมล เตชะงามสุวรรณ