ย่านถนนโรงพิมพ์และอดีตของตะกั่วตัวเรียงพิมพ์ : ย่านถนนนครสวรรค์ต่อเนื่องไปถึงผ่านฟ้าเคยมีกิจการโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ดังๆ

ย่านถนนโรงพิมพ์และอดีตของตะกั่วตัวเรียงพิมพ์

ย่านถนนโรงพิมพ์และอดีตของตะกั่วตัวเรียงพิมพ์

 

เดินไปเดินมาแถวถนนจัรพรรดิพงษ์ตัดกับถนนนครสวรรค์ ก็พบห้องแถวโรงพิมพ์ที่หนึ่ง พี่ชายคนหนึ่งกำลังนั่งหลอมโลหะ เดินเข้าไปใกล้ๆ ก็พบว่ากำลังทยอยเอาแท่นตัวเรียงพิมพ์ตะกั่วแกะออกจากบล็อคไม้ แล้วต้มหลอมตะกั่วอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง

ย่านถนนนครสวรรค์ต่อเนื่องไปถึงผ่านฟ้าเคยมีกิจการโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ดังๆ เช่น บรรลือสาส์น สำนักพิมพ์เพลินจิต ร้านกาแฟที่ถนนจักรพรรดิพงษ์ตัดกับหลานหลวงก็เคยเป็นที่รับรองนักเขียนดังๆ ช่วงเช้าๆ ก่อนเข้าสำนักพิมพ์ เช่น ว ณ เมืองลุง สละ ลิขิตกุล ที่อยู่สยามรัฐไปทางถนนราชดำเนิน และ ฯลฯ

ทุกวันนี้ หากเราเดินย่านเก่าตามถนนต่างๆ ก็มักจะพบโรงพิมพ์ห้องแถวซ่อนอยู่ รับพิมพ์สิ่งพิมพ์ทั่วไปไปจนถึงใบฎีกา และเปลี่ยนมาใช้บล็อคยางแทนการใช้แท่นตะกั่วแบบเก่าหากร้านใดมีลูกหลานหรือพัฒนาไปตามยุคสมัยก็เปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ตามเครื่องมือทันได้บ้าง

บล็อคตะกั่วคือการนำตะกั่วมาหล่อเป็นแท่งเล็กๆ มีตัวอักษรนูนขึ้นมาแต่เป็นตัวอักษรแบบกลับซ้ายขวาด้านข้างมีร่องเล็กๆ สำหรับเป็นเครื่องหมายด้านหน้าหรือด้านหลัง ช่างเรียงพิมพ์จะนำตัวอักษรเรียงกันเป็นข้อความมัดรวมกันและบรรจุในกรอบโลหะที่มีขนาดเท่าที่ต้องการ เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่ เริ่มสูญหายไปจากกระบวนการสิ่งพิมพ์แล้ว การเรียงพิมพ์ด้วยตะกั่วสำหรับเมืองไทย เฟื่องฟูมากสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงราวๆ ทศวรรษที่ ๒๕๒๐ ร้านที่รับหล่อตะกั่วเรียงพิมพ์ที่เคยมีชื่อเสียงและปัจจุบันก็ปรับตัวและพัฒนาไปกับงานสิ่งพิมพ์สมัยใหม่คือ หจก.อรุณการพิมพ์ ที่อยู่บนถนนพระสุเมรุและซอยพระศุลีใกล้ๆ กันนั่นเอง

 

ย่านถนนโรงพิมพ์และอดีตของตะกั่วตัวเรียงพิมพ์

 

บล็อคตะกั่วกลายเป็นเรื่องเก่าเก็บในทุกวันนี้ไปแล้ว ย่านละแวกนี้ควรมีนิทรรศการแสดงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของสิ่งพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ แม้กระทั่งการเป็นย่านนักเขียนและโรงพิมพ์อยู่หลายแห่งที่สืบเนื่องมาจนถึงการค้าส่งค้าปลีกหนังสือต่างๆ ในปัจจุบัน แต่ตะกั่วเรียงพิมพ์ตามรูปนั่น ซึ่งเป็นพวกหัวจดหมายหรือกระดาษใบสั่งของที่เคยใช้สำหรับร้านค้าปลีกสลายตัวไปแล้ว (ร้านค้าปลีกก็แทบไม่มีที่ยืนในสังคมไทยเหมือนกัน) เจ้าของบอกว่ามันหนักบ้านไม้ น้ำหนักไม่น้อยเลยที่จะเก็บไว้ และยังไม่มีใครดำริในการเริ่มเก็บงำสิ่งของพ้นสมัยเหล่านี้

 

ย่านถนนโรงพิมพ์และอดีตของตะกั่วตัวเรียงพิมพ์

 

ขอบคุณที่มา : สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ