การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : บางวรรคตอนจากปาฐกถา เนื่องในงาน วันนักเขียน ปี ๒๕๕๓

การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

“......พื้นที่ส่วนใหญ่ของร้านหนังสือถูกยึดครองด้วยหนังสือประเภทสอนวิธีรวยทางลัด แก้กรรมชั่วโดยไม่ต้องทำความดี หรือไม่ก็เป็นเรื่องราวแฉตัวบุคคล

 

ในขณะที่วรรณกรรมอันงดงามลึกซึ้งระดับโลกจำนวนไม่น้อย กลับไม่มีหิ้งวางจำหน่าย กระทั่งกลายเป็นหนังสือขายเลหลัง ที่เราจะหาพบได้ก็เฉพาะตามแผงแบกะดิน

 

ทั้งหมดนี้ นับเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับการเขียนหนังสือในสมัยแรกๆ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ดังที่ท่านทั้งหลายคงทราบอยู่แล้ว ในยุคก่อนการเขียนหนังสือจะกลายเป็นอาชีพ และหนังสือกลายเป็นสินค้าในท้องตลาด กำเนิดของภาษาเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการแสวงหาทางปัญญา .............

 

และการแสวงหาทางปัญญาก็เกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการแสวงหาทางจิตวิญญาณ

 

การแสวงหาทั้งสองอย่างแท้จริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะมันคือความพยายามของมนุษย์ในการเข้าถึงและเข้าใจโลกส่วนที่มิได้ปรากฎต่อสายตา จากนั้นจึงได้มีการจารึกไว้เพื่อถ่ายทอดสู่กัน

 

ด้วยเหตุนี้ การเขียนหนังสือในสมัยโบราณจึงแทบจะมีฐานะเป็น “งานศักดิ์สิทธิ์” ดังจะเห็นได้จากการใช้ภาษาเขียนบันทึกคัมภีร์และคำสอนทางศาสนาต่างๆ

 

ศิลปะในการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเกิดขึ้นโดยแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณเป็นสำคัญ

 

ผู้ใดที่เขียนหนังสือเป็น ได้ชื่อว่าเป็น “ปราชญ์” และในหลายๆ กรณีคนเขียนหนังสือกับผู้นำทางจิตวิญญาณก็เป็นคนเดียวกัน

 

หากไม่มีการเขียนในลักษณะนี้ไหนเลยโลกจะได้รับมรดกทางอักษรอันยิ่งใหญ่ อย่างเช่น คัมภีร์พระเวท พระไตรปิฎก คัมภีร์ไบเบิ้ล และคัมภีร์กุรอาน ฯลฯ ส่งทอดมาถึงปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบันทึกภูมิปัญญาดังกล่าว นอกจากจะบรรจุสาระทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้งแล้ว ยังมีลักษณะเป็นวรรณกรรมต้นแบบ มีด้านที่งดงาม เป็นศิลปะที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงความเร้นลับของชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

 

ในฐานะผู้เขียนอันต่ำต้อยอยู่ในโลกยุคหลัง ผมเห็นว่าวรรณกรรมโบราณอย่าง “ภควัทคีตา”ที่ประพันธ์โดย “ท่านกฤษณะไทวปายนวยาส” และ“เต๋าเต๋อจิง” ของ “ท่านเล่าจื้อ” เป็นแบบอย่างที่สำคัญยิ่งในการแสดงให้เราเห็นว่า ความจริง ความดี และความงามนั้น สามารถปรากฎขึ้นพร้อมกันได้ โดยผ่านศิลปะการประพันธ์

 

อันที่จริงการเขียนหนังสือในฐานะการสื่อสารทางจิติญญาณนั้น มิได้สิ้นสุดไปพร้อมกับยุคโบราณ แม้ในยามเมื่อมนุษยชาติก้าวล่วงมาถึงสมัยใหม่ การผลิตวรรณกรรมที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจและสร้างเสริมภูมิปัญญาก็ยังคงมีอยู่ กระทั่งมีวิวัฒนาการใหม่ๆ ทั้งในระดับศิลปะและขอบเขตการเผยแพร่

 

มาถึงช่วงนี้เราอาจจำแนกการแสดงออกทางจิตวิญญาณในงานเขียนได้ ๒ ระดับ คือ

 

                จิตวิญญาณของยุคสมัย ซึ่งมุ่งเน้นและสร้างเสริมคุณค่าฐานะความเป็นมนุษย์ในโลกปุถุชน และ..

 

                จิตวิญญาณที่อยู่เหนือกาลเวลา ซึ่งมองเห็นด้านมืดของชีวิตสมัยใหม่ และมุ่งเน้นการนำพามนุษย์ให้ก้าวพ้นความจำกัดของชีวิตในทางโลก

 

ตัวอย่างนักเขียนประเภทแรกนั้นมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น รุสโซ วิคเตอร์ ฮูโก เอมิล โซล่า เซคอฟ แมกซิม กอร์กี้ หลู่ซิ่น มาจนถึง เฮมิงเวย์ และสไตน์เบค เป็นต้น

 

สำหรับนักเขียนประเภทหลังก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่น ดอสโตเยฟสกี้ คาลิล ยิบราน รพินทรนาถ ฐากูร เฮอร์แมน เฮสเส และ อีกหลายๆ ท่าน

 

แน่ล่ะ... ผู้สร้างงานเขียนเหล่านี้อาจจะไม่ได้อิงคำสอนทางศาสนาแบบที่เคยมีมาแต่เดิม แต่ก็ตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่ และเรียกร้องโลกที่ดีกว่า จริงกว่า หรือถูกต้องกว่า

 

นักเขียนบางคนเขียนแทนมนุษย์ที่ไม่มีปากเสียง ซึ่งเป็นการยกระดับทางจิตวิญญาณของตัวผู้เขียนเอง

 

นักเขียนบางคนเขียนถึงมิติชีวิตที่โลกหลงลืม

 

บ้างก็ใช้เรื่องราวรูปธรรมของความจริงเฉพาะส่วน เพื่อนำพาผู้อ่านไปสู่ความเข้าใจในความจริงอันสูงสุดของการเกิดมาเป็นคน

 

ไม่ว่าจะมีความหลากหลายสักแค่ไหน ผลงานโดยรวมของท่านเหล่านี้ต่างก็มีส่วนช่วยเชิญชวนมนุษยชาติให้สลัดทิ้งจิตใจที่หยาบกระด้างและเห็นแก่ตัว มาสู่จิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อนและวัฒนธรรมที่ใช้สติปัญญา

 

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่า  โลกที่เราหมุนไปสู่ความเจริญได้ ก็เพราะหนังสือมีส่วนสร้าง เพราะฉะนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเขียนหนังสือในความหมายนี้เป็นการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญ แม้จะไม่ปรากฎชัดหรือเห็นผลทันตาเหมือนพลังอื่นๆ

 

แต่ถ้าขาดหายไปเสียแล้ว สังคมก็อาจจะเติบโตแบบแคระแกร็น หรือพิกลพิการ

 

แต่...สำหรับคนที่เติบโตมากับวรรณกรรมที่เชิดชูคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือ วรรณกรรมที่มุ่งสู่อิสรภาพทางจิตวิญญาณ การใช้ชีวิตอย่างมักง่าย เอาแต่ได้และโง่เขลาเบาปัญญา หรือปราศจากมโนธรรมสำนึก คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเต็มที

 

ให้นึกถึงความรู้สึกเมื่อได้อ่านบางวรรคตอนของ The Prophet”  ซึ่งเขียนโดย คาลิล ยิบราน หรือเมื่อได้อ่าน “สาธนา” ของ รพินทรนาถ ฐากูร

 

ใช่หรือไม่ว่างานเขียนแบบนี้ทำให้เราต้องมอบหัวใจให้กับผู้อื่นและสิ่งอื่นที่สูงส่ง โดยข้ามพ้นผลประโยชน์อันคับแคบของตัวเอง

 

และเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว ก็ยิ่งค้นพบความลึกในจิตใจของตัวเรา....”

 

..........................................................................

 

ปาฐกถาเนื่องในงาน “วันนักเขียน”  เรื่อง “การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ”

โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓

cr.http://oknation.nationtv.tv/blog/nn1234/2010/07/16/entry-1

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ