อีกไม่นาน ค่ายอ่านเขียนเรียนรู้สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปี 2 ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นก็จะเริ่มขึ้นแล้ว ดังนั้นเราจะมาทำความรู้จักกับงานวิจารณ์แบบง่ายๆกัน งานวรรณกรรมเป็นวรรณศิลป์ เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ศิลปะต้องควบคู่กับการวิจารณ์ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบเนื้อหาว่ามีความดีงามอย่างไรในตัวงานศิลปะนั้น การวิจารณ์ที่ดีจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ดีต่อวงการศิลปะ แต่เมืองไทยนั้นยังไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการวิจารณ์เท่าใดนัก คนไทยมักติดนิสัยเกรงใจ ทำให้บางครั้งเมื่อได้รับมอบหมายให้วิจารณ์งานวรรณกรรมก็จะได้รับบทสรุปใจความงานวรรณกรรมมากกว่าการวิจารณ์โดยตรง ดังที่เราจะได้พบจากค่ายวิจารณ์วรรณกรรมนี้เอง
อันดับแรก ควรรู้ก่อนว่าการสรุปใจความสำคัญกับการวิจารณ์เป็นคนละเรื่องกัน การสรุปใจความคือการบอกเล่าว่ามีเรื่องราวอะไรอยู่ในหนังสือเล่มนั้น แต่การวิจารณ์คือการบอกว่าหนังสือเล่มนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าบอกว่าการสรุปใจความคือการรีวิว การวิจารณ์คือการคอมเม้นท์ อาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่า
การสรุปใจความมีลักษณะเป็นกลาง ไม่บอกถึงความดีไม่ดีในงานนั้นอย่างชัดเจน ขณะที่การวิจารณ์นั้นมีเนื้อหาขึ้นกับมุมมองผสมกับความรู้ความสามารถของผู้วิจารณ์ อาจจะกล่าวโจมตี กล่าวสนับสนุน หรือมีลักษณะเป็นกลางก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่นำมาใช้สนับสนุนเนื้อหาของการวิจารณ์นั้นๆ
สิ่งที่ทำให้การวิจารณ์กับการสรุปใจความต่างกันนั้นมีดังนี้
1.วิเคราะห์ การสรุปใจความจะไม่มีเนื้อหาของการวิเคราะห์ การวิเคราะห์นั้นเป็นการมองหาเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงมีเรื่องราวเกิดขึ้นในงานวรรณกรรม ค้นหาเหตุผลการกระทำของตัวละคร ความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของตัวละครกับเหตุการณ์ว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ในส่วนนี้ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของผู้วิจารณ์เป็นพิเศษ
2.การตีความ คือการค้นหาแก่นของวรรณกรรม สามารถบอกได้ว่างานวรรณกรรมเล่มนี้มีคุณค่าต่อผู้อ่านอย่างไร หรือหนังสือเล่มได้ให้ความคิดอะไรต่อผู้อ่าน ซึ่งบางครั้งสิ่งที่งานวรรณกรรมได้สื่อออกมาอาจจะเป็นสารที่ผู้เขียนบอกเล่าอย่างไม่ตั้งใจ เช่นความโน้มเอียงทางการเมือง สังคม ค่านิยม หรือศาสนา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ผู้วิจารณ์ต้องมองเห็นและชี้แจงออกมา
3.วิพากษ์ คือการตัดสินว่าวรรณกรรมดังกล่าวมีคุณค่ามากน้อยเพียงไร โดยใช้สองข้อแรกเป็นเหตุผลประกอบการตัดสิน
ควรรู้ว่าการวิจารณ์นั้นเกิดจากมุมมองส่วนบุคคลของผู้วิจารณ์เอง บทวิจารณ์ของแต่ละคนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้ของผู้วิจารณ์ แต่การวิจารณ์นั้นต้องใช้หลักทางวิชาการและความรู้ มิเช่นนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นการวิพากษ์ที่มีแค่การตัดสินตามอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้น
ผู้สนใจหลักการวิจารณ์สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากหนังสือวิจารณ์วรรณคดีเบื้องต้น เขียนโดยอาจารย์ดวงกมล จิตร์จำนงค์