A WALK THROUGH SPRING : เมล็ดพันธุ์จากรางวัลชมนาด

A WALK THROUGH SPRING

กว่า 5 ปีแห่งการทุ่มเท อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ทำให้'รอยวสันต์' ของ ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ได้รับรางวัลชมนาด มาครองอย่างเต็มภาคภูมิ และแล้ว "รอยวสันต์" ผลงานของ "ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง"จากงานประกวดรางวัล "ชมนาด" เมื่อปี 2550 ฉบับภาษาอังกฤษก็จัดพิมพ์เสร็จไปเป็นที่เรียบร้อยในชื่อ "A WALK THROUGH SPRING"พร้อมทั้งจัดงานเปิดตัวอย่างอบอุ่นเป็นกันเองในกลุ่มมิตรสหายและพี่น้องนักเขียนในวงวรรณกรรม ณ ชั้น 3 บีทูเอส เซ็นทรัลเวิลด์

 

A WALK THROUGH SPRING

 

ภายในงานมีเวทีสนทนาเชิงสร้างสรรค์ "จากเมล็ดพันธุ์ที่เติบโต แตกดอก ออกช่อรางวัลชมนาด" ระหว่าง ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง เจ้าของผลงาน, ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกนกวลี กันไทยราษฎร์ นักเขียนหญิงมือรางวัลชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ งานนี้ผู้เขียน-ผู้แปลออกตัวว่า จริงๆ แล้วใช้เวลาแปลงานไม่ถึงปี แต่ตลอดช่วงเวลาที่ต้องขัดเกลาภาษา และเลือกใช้คำที่เหมาะสมร่วมกับเพื่อนนักแปล นับเป็นงานที่รู้สึกว่าวันเวลา ณ ตอนนั้นช่างยาวนานเสียเหลือเกิน

เธอย้อนที่มาของ "รอยวสันต์" ว่าเป็นงานซึ่งตกผลึกและมีข้อมูลเข้มข้นสนุกสนานมากมาย ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของคนจีน เมื่อครั้งออกหาข้อมูลจากเพื่อนคนจีนในเยาวราชเพื่อมาเขียนเรื่อง "จากอาสำถึงหยำฉ่า" ที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อวอร์ดส์ ประจำปี 2543 แต่ด้วยขอบเขตของงานเขียนสารคดีที่ไม่สามารถใส่ข้อมูลได้หมด จึงได้แต่จำต้องเก็บเนื้อหาบางส่วนไว้ด้วยความตั้งใจว่าสักวันหนึ่งจะนำไปเขียนนวนิยาย

"บอกตรงๆ ว่าเขียนมา 5 ปี ล้มลุก คลุกคลาน แต่ก็ไม่จบสักที เพราะเขียนไปแล้วมักจะเกิดความรู้สึกว่า 'จะสนุกหรอ' ทั้งเรื่องมีแต่ 'อาสำ' (ภาษากวางตุ้ง) 4 คน ซึ่งภาษาแต้จิ๋วจะรู้จักกันในคำเรียกว่า 'อาซิ้ม' ฉะนั้นเราก็มานั่งนึกว่าใครมันจะอยากอ่านเรื่องอาซิ้มแก่ๆ 4 คนน่ะ ก็เลยเหมือนกับว่าเราไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำให้มันจบ จนในที่สุดมีรางวัลชมนาดขึ้นมา เลยฮึดที่จะเขียนให้จบเพราะอย่างน้อยก็มีกรรมการอ่าน"

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการถอดความเป็นภาษาอังกฤษ ยุวดี เล่าว่า "งานนี้ได้เพื่อนมาร่วมช่วยแปลด้วย 4 คน ตอนเริ่มต้นแปล ปัญหาใหญ่มากๆ ก็คือเรื่องของภาษาจีน วัฒนธรรมประเพณี และตัวพินอิน (การถ่ายทอดเสียงเป็นภาษาจีน) เพราะการเขียนภาษาจีนสมัยนี้ ไม่ใช่ว่าจะถอดเสียงด้วยตัวอะไรก็ได้ แต่มันจะต้องถอดออกมาด้วยตัวพินอินที่ถูกต้อง เป็นสากล และยอมรับได้ เพราะเมื่อฝรั่งเอาไปอ่าน หรือคนจีนในปักกิ่งเอาไปอ่าน เขาจะได้รู้ว่าเราเข้าใจตรงกัน

การทำงานครั้งนี้เราเปิดเมล์คุยงานกันทุกวัน คุยกันถึงขนาดว่าวิธีการเคี่ยวหมูเขาทำกันยังไง เพราะคนจีนมีการทำอาหารหลายวิธี ทั้งเคี่ยว ตุ๋น ต้ม นึ่ง ฯลฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้แปลเป็นคนละเอียดมาก ทั้งยังเป็นคนที่กัดไม่ปล่อย ไม่ใช่แบบว่านึกอะไรไม่ออกแล้วช่างมันเถอะ จะใส่คำไหนก็ใส่ไป บางทีคิดกันไม่ออก ก็ทิ้งตอนนั้นกันไปก่อนเป็นเดือน แล้วค่อยกลับมาทำใหม่จนกระทั่ง เจอแล้ว! ใช้คำนี้ไง จุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานแปลถึงไม่ได้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์มากทีเดียว (ยิ้ม)" กว่าผลงานจะสำเร็จออกมาได้ นักเขียน-นักแปลหญิงคนนี้เผยว่า "ต้องได้คนแปลที่เขายอมรับเรา และเรายอมรับเขา ไม่ใช่ว่าพอเขาแปลมาแล้วเราก็ต้องก้มหน้าก้มตายอมรับ ไม่กล้าติติง แต่ควรจะต้องได้ผู้แปลที่เราสามารถเถียงกันได้ ในที่สุดมันจึงจะได้ผลงานที่ถูกต้องและถูกใจ"

ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธุ์ หนึ่งในคณะกรรมการที่ตัดสินให้ 'รอยวสันต์' ได้รับรางวัลชมนาดในครั้งนั้น กล่าวถึงความประทับใจในนิยายเล่มนี้ว่า เป็นนวนิยายที่ไม่มีตัวเอก ตัวโกง ตัวร้าย หรือตัวตลก แต่มีการทำงานในการเดินเรื่องของเนื้อหาที่ชัดเจน ข้อมูลแน่น ภาษาสวยไพเราะ แต่แฝงใจความซับซ้อนไว้อย่างแยบยลเป็นธรรมชาติ

"รอยวสันต์โดดเด่นตรงที่อ่านแล้วได้ความรู้ไปด้วย แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังอ่านตำรา ขณะเดียวกันทุกคนก็จะใจจดใจจ่อกับชีวิตของอาสำทั้ง 4 คน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรก่อนมาอยู่เมืองไทย เห็นชีวิตว่าต่างคนต่างมีพฤติกรรมอย่างนั้นเพราะอะไร ตัวละครมีเหตุผลอะไร ซึ่งก็อาจเป็นมิติใหม่ของวรรณกรรมไทย ที่อาจไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องไปตามพล็อตของตัวละคร (น้ำเน่า) ที่เคยมีมาอีกต่อไป หรืออาจเป็นไปได้หรือไม่ว่านักเขียนของเราจะทำงานกันมากขึ้น ไปค้นหาข้อมูลแล้วมาเขียน มาถ่ายทอดให้เห็นถึงอารมณ์ของมนุษย์ที่มันมีอยู่อย่างซับซ้อน"

การแปล โดยตามหลักทฤษฎีแล้ว ไม่สามารถจะแปลสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะทำอย่างไรให้คงใจความและอรรถรสในการอ่านของต้นฉบับเดิมไว้ให้มากที่สุด "ตอนที่ผมอ่านเล่มแปลเนี่ย ผมมีความรู้สึกว่ามันอ่านง่าย ทั้งๆ ที่เวลาเราอ่านฉบับภาษาไทยก็จะมีในเรื่องของศัพท์กวางตุ้งเข้ามาเกี่ยวข้องพอสมควร แต่ในการแปลนี้เห็นว่าคงจะหลีกเลี่ยงไปบ้างเพื่อให้ผู้อ่านอ่านได้ง่ายขึ้น มีการลดโครงสร้างประโยคที่ซับซ้อนลงมา ในแง่หนึ่งนั้นก็ช่วยถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ ได้ เลยทำให้เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษนี้มีรูปเล่มหนากว่าฉบับภาษาไทย ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะถ่ายทอดให้เกิดอรรถรสที่ครบถ้วนออกมา

อีกข้อสำคัญคือ ผมไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ หากโรงเรียนนานาชาติจะลองบรรจุให้เล่มนี้เป็นสื่อให้นักเรียนอ่านเสริม (subtext) ให้เด็กๆ ได้อ่านและรู้จักชีวิตของบรรพบุรุษคนจีนบ้าง เพราะปัจจุบันนี้ ผมคิดว่าเด็กบางคนมองไม่เห็นกันแล้ว เนื่องจากติดแบล็คเบอร์รี่บ้าง หรือไม่ก็เล่นเฟซบุ๊คบ้าง แต่ไม่ได้มองหรอกว่าอากง-อาม่าที่อยู่ที่บ้าน เขาเคยมีชีวิต มีความเป็นมา และอยู่กันอย่างไร..."

นอกจากนี้อาจารย์จากภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบคนนี้ ยังให้ความเห็นถึงการผลักดัน "A WALK THROUGH SPRING" สู่ตลาดสากลว่าเป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าจับตามองในแวดวงวรรณกรรมเพราะถ้าพูดถึงในวงวิชาการแล้ว อาจเกิดวิทยานิพนธ์หรือเรื่องราวการเปรียบเทียบลักษณะทั้งการตั้งถิ่นฐานของคนจีนโพ้นทะเล วัฒนธรรม และประเพณีที่กระจายไปอยู่คนละซีกโลก

"มันน่าจะเป็นไปได้ที่อาจเกิดการเปรียบเทียบ หรือมีการศึกษางานเขียนของนักเขียนหญิงอย่างกัน เอมี่ ตัน (Amy Tan) นักเขียนหญิงเชื้อสายจีนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ทางซานฟรานซิสโก และอีกคนที่อยู่สยามว่า ลักษณะการเรียนรู้ การสร้างชุมชน ในสองพื้นที่นี้ของคนจีนที่เดินทางออกจากประเทศตอนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร"

ถ้าไม่เอ่ยนับวรรณกรรมคุณภาพหลายต่อหลายเรื่องที่ก้าวเข้าไปอยู่บนเวทีสากลเป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่าง ลูกอีสาน, จดหมายจากเมืองไทย, อยู่กับก๋ง, พันธุ์หมาบ้า ฯลฯ ขณะนี้ "รอยวสันต์" น่าจะเป็นวรรณกรรมไทยเล่มล่าสุดที่ย้ำให้เห็นว่า เมื่อข้อจำกัดทางด้านภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างประเทศมีน้อยลง และงานคุณภาพของนักเขียนไทยได้รับการผลักดันสู่ตลาดหนังสือนานาชาติ สิ่งสำคัญที่วรรณกรรมเล่มหนึ่งๆ จะทำได้ นอกจากจะสะท้อนพัฒนาการของกระบวนการทำหนังสือในบ้านเราแล้ว

หนังสือแต่ละเล่มยังจะเป็นทูตทางวัฒนธรรม อันบ่งบอกวิถีชีวิต ความคิดอ่าน และประเพณีสู่โลกภายนอกได้อย่างมีคุณค่าด้วยตัวของมันเอง...

 

ขอบคุณที่มา : http://www.bangkokbiznews.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ