“ราคาหนังสือมาตรฐาน (Fixed Book Price)”
บทความของ ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ
ในเพจ มูลนิธิวิชาหนังสือ
ในการเสวนาเรื่อง “อนาคตวงจรชีวิตหนังสือในประเทศไทย” ซึ่ง วิชาบรรณาธิการศึกษา ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีการอภิปรายเรื่อง “ราคาหนังสือมาตรฐาน (Fixed Book Price)” ผู้อภิปรายได้ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ตรากฎหมายราคาหนังสือมาตรฐานขึ้นเพื่อห้ามลดราคาหนังสือ
ขอเสนอข้อมูลเพิ่มว่า กฎหมายฝรั่งเศสอนุญาตให้ผู้จำหน่ายลดราคาหนังสือ (ใหม่) ได้ไม่เกิน ๕% ของราคาปก แต่เมื่อกลางปี ๒๕๕๗ รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายบังคับให้ผู้จำหน่ายหนังสือด้วยระบบ “ออนไลน์” กำหนดราคาหนังสือสูงกว่าราคาขายในร้านหนังสือ ๕ % และต้องคิดค่าส่งแก่ผู้ซื้ออีกด้วย
พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ และรัฐบาลก็สนับสนุน แม้ผู้จำหน่ายหนังสือระบบออนไลน์รายใหญ่ในฝรั่งเศสอย่าง Amazon หรือ FNAC จะเลี่ยงกฎหมายด้วยการคิดค่าส่งหนังสือให้ลูกค้าในประเทศต่ำสุดเท่าที่จะต่ำได้ คือ ๑ ซองตีม (๑๐๐ ซองตีมเป็นหนึ่งยูโร) แต่ก็ต้องขายหนังสือในราคาไม่ต่ำกว่าที่สำนักพิมพ์กำหนด หมายความว่า แพงกว่าราคาในร้านหนังสือซึ่งลดราคาได้ ๕%
เห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้คือสนับสนุนให้ร้านหนังสือแข่งขันกับระบบขายหนังสือออนไลน์ได้ คนฝรั่งเศสจึงเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่ากฎหมาย anti-Amazon การตรากฎหมายฉบับนี้มิใช่เพื่อเอาใจประชาชน เพราะนักอ่านจำนวนมากไม่ชอบใจ ด้วยเหตุว่า ถึงซื้อหนังสือในร้านจะได้ราคาที่ย่อมเยากว่า ก็ต้องคอยนานกว่าหนังสือออกใหม่จะวางขายในร้านใกล้บ้าน
แต่สำหรับรัฐ ร้านหนังสือมีความสำคัญในวงจรชีวิตหนังสือ และเป็นเครื่องหมายทางวัฒนธรรมของชาติ จึงต้องหาวิธีบำรุงรักษาไว้ให้ได้
(คัดจากเฟซบุ๊กคุณมกุฏ อรฤดี / ๒๒ พ.ค. ๕๘)