การอ่านเป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิต ซึ่งได้รับการยอมรับกันทั่วโลกว่า เป็นความจริง แต่หากจะพูดถึงการอ่านกับคนยุคนี้แล้ว การอ่านกำลังเคลื่อนเข้าไปอยู่ในยุคของการใช้โซเชียลมีเดียอย่างฟีเวอร์ เทรนด์การอ่านถูกใช้ไปกับสื่อสมัยใหม่ออนไลน์เหล่านี้ไปไม่มากก็น้อย ท่ามกลางกระแสโลกที่ผันเปลี่ยนไป ยังมีคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ซึ่งยังลุ่มหลงในรสชาติของการอ่าน ‘เป้’ คุณปิ่นแก้ว กิตติโกวิท คือคนรุ่นใหม่คนนั้น
แม้ปัจจุบันเธอค่อนข้างที่จะเรียนหนัก มุ่งมั่นไปศึกษาด้านดนตรีคลาสสิคอยู่ในต่างประเทศก็ตาม แต่นิสัยรักการอ่านหนังสือก็ยังติดตัวไปเสมออย่างมิยอมแปรเปลี่ยน ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อ่านหนังสืออย่างสนุกและมีความสุข มาคุยกับเธอถึง ‘การอ่าน’ ในฐานะหนอนหนังสือกัน เป้บอกว่า ภูมิหลังครอบครัว คุณพ่อคุณแม่มีส่วนในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของเธอ โดยเล่าตรงนี้อย่างมีความสุขว่า
“ทั้งพ่อทั้งแม่เป็นคนอ่านหนังสือ ก็เลยโตมากับหนังสือตลอด ตอนเด็กๆ พ่อแม่จะอ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอนทุกคืน โตขึ้นมาหน่อยพ่อกับแม่ก็จะผลัดกันเขียนจดหมายใส่สมุดมาวางไว้ให้ข้างหมอนตอนที่หลับ ดังนั้นตอนเช้าตื่นมาสิ่งแรกที่ทำก็คือหยิบมาอ่าน “แล้วความที่เป็นลูกคนเดียว ก็มีหนังสือเป็นเพื่อน และพ่อแม่ไม่ดูพวกละครโทรทัศน์เลย ดูแต่ข่าว เราก็เลยมีแต่หนังสือ ที่บ้านนี่หนังสือจัดเป็นของจำเป็นในการดำรงชีพ ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย ไม่เคยมีคำพูดว่า แพง อย่าเอาเลย หรือจำกัดจำนวนเล่มให้เลือก มีแต่บอกว่า เอาสิ อยากอ่านอะไรก็ซื้อ พ่อแม่ให้หมด” จากพื้นฐานที่มีอิทธิพลจากครอบครัวช่วยซึมซาบในเรื่องรักการอ่าน แต่ในส่วนของตัวเธอเองเริ่มค้นพบตัวเองว่าชอบหนังสือและรักการอ่านหนังสือในเส้นทางของตัวเองอย่างไร? เธอขยายความในส่วนนี้ว่า
“ตั้งแต่จำความได้ก็อ่านหนังสือมาตลอดแล้วค่ะ พ่อแม่เล่าว่าตอนเด็กๆ ที่ยังให้อ่านให้ฟังก็จะทวงตลอด โตขึ้นมาหน่อยขี้เกียจรอก็เลยอ่านเอง หนังสือที่อ่านแรกๆ แม่ก็จะเป็นคนเลือกเป็นคนซื้อมาให้ เริ่มเลือกเองนี่จำไม่ได้แล้วว่าตอนกี่ขวบ จำได้แต่ว่าช่วงประถม ก็คงสักราวๆ เจ็ดแปดขวบ คือหนังสือเริ่มเยอะ แม่จำไม่ได้แล้วว่าเคยซื้อเรื่องไหนให้บ้าง พอซื้อมาซ้ำหลายเรื่องเข้าก็เลยเลิกซื้อมาให้ พาไปร้านหนังสือแล้วให้เลือกเอาเอง”
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือเยอะๆ นำไปสู่การค้นพบอะไรใหม่ๆ ในชีวิต หรือค้นพบทางเดินที่ตัวเองต้องการ เป้ตอบว่า นึกไม่ออก... “มันก็คงมีส่วนนะคะ แต่มันก็บอกยากว่า นี่เป็นเพราะการอ่านหนังสือหรืออะไร การอ่านก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่รวมๆ กันไปกับประสบการณ์อื่นๆ มากกว่า” เธอบอกว่า เพื่อนๆ ของเธอเอง ซึ่งก็คือคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ มีไลฟ์สไตล์การอ่านหนังสือในหลายรูปแบบ
“เพื่อนๆ ก็มีหลายกลุ่ม ก็มีทั้งที่ต้องอ่านทุกวัน วันละนิดละหน่อยก็ยังดี หรือที่รอวันหยุดว่างๆ แล้วนั่งอ่านทั้งวัน หรือบางคนที่แทบไม่อ่านเลยก็มี” แน่นอน รสนิยมเรื่องการอ่านก็พออนุมานบอกถึง ความสนใจของคนที่อ่านหนังสือแบบนั้นว่าเป็นคนแบบไหน โดยส่วนตัวของเป้มีความสนใจอ่านและศึกษานวนิยายแฟนตาซีทั้งของไทยและต่างประเทศ “ชอบบรรยากาศ ชอบกลิ่นอายของโลกแฟนตาซี กระแสนิยายแฟนตาซีในไทยนี่ยังค่อนข้างใหม่ แต่ในหลายปีมานี้ก็เปิดกว้างขึ้นมาก มีสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์แนวนี้มากขึ้น มีหนังสือแฟนตาซีออกใหม่เยอะ ทั้งเรื่องแปลและเรื่องที่คนไทยเขียน แต่พอมากเข้าก็กลายเป็นเลือกซื้อยาก พอลองอ่านแล้วเจอไม่สนุกหลายเรื่องเข้าก็ชักแหยง ไม่ค่อยกล้าซื้อเรื่องที่ไม่รู้จัก หลายเรื่องก็สนุกดี แต่หาที่อ่านแล้วอิ่มจริงๆ ไม่ค่อยได้ อาจจะเพราะนักเขียนแนวนี้ของไทยส่วนมากก็ยังอายุน้อย มีจินตนาการที่กว้าง แต่ยังขาดความลึก ก็คงจะต้องเติบโตกันต่อไป ทั้งตลาดในภาพรวมและตัวนักเขียนนักอ่านด้วย”
นอกจากนี้ เธอเองยังรับเป็นบรรณาธิการนวนิยายแฟนตาซีเล่มหนึ่ง เป้เล่าประสบการณ์ตรงนี้ว่า “ก็เป็นการอ่านในแบบที่ต่างจากการอ่านปกติ ต้องละเอียดจริงๆ ยากยิ่งกว่าอ่านหนังสือสอบอีก ที่ต้องสอบยังไม่เคยอ่านอะไรละเอียดขนาดนี้เลย แต่โชคดีที่นักเขียนน่ารักมาก งานเลยง่ายและสนุกขึ้นเยอะ ความจริงก่อนจะได้คุยกับนักเขียนนี่ แอบกลัวการติดต่อสื่อสารกันยิ่งกว่าการอีดิตต้นฉบับเสียอีก” จากโลกของการอ่านที่ปูพื้นฐานอย่างแข็งแรงจากวัยเยาว์ เมื่อเติบใหญ่บนเส้นทางการศึกษา เธอเลือกตั้งมั่นที่จะมุ่งหน้าสู่สายดนตรีศึกษา โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิค โลกดนตรีและโลกของหนังสือแตกต่างกันอย่างไร? เป้ได้เฉลยให้ฟังอย่างน่าสนใจ ถึงศิลปะของหนังสือกับศิลปะดนตรีสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้
“คิดว่าแก่นของมันเหมือนกันนะคะ ต่างกันตรงสื่อที่ใช้ ดนตรีสื่อผ่านเสียง หนังสือสื่อผ่านตัวอักษร สะท้อนทั้งสังคม วิถีชีวิต การคิด และจริตของคนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางทีก็แต่งมาแค่เพื่อความบันเทิง บางทีก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือการชักจูงความคิดคน หรืออีกสารพัดจุดประสงค์ แต่พอผ่านไปสักร้อยปี งานบางส่วนที่ยังคงอยู่ก็เลยกลายเป็นงานคลาสสิค ถูกมองเป็นศิลปะชั้นสูง เข้าถึงยากเข้าใจยาก สงสัยเหมือนกันว่าพวกเพลงป๊อปนิยายรักที่เราฮิตๆ กันทุกวันนี้ อีกสักสองสามร้อยปีถ้าคนในยุคนั้นมาอ่านมาฟังแล้วเขาจะมองชีวิตพวกเราอย่างไร”
เป้ได้เล่าถึงประสบการณ์ในต่างประเทศ เกี่ยวกับวัฒนธรรมการอ่านของคนในเมืองนอกว่า ก็มีทั้งเหมือนและไม่เหมือนกัน “ที่เหมือนกันคือ มีทั้งคนที่ชอบอ่านหนังสือและคนที่ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ แต่อย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือ ในเมืองที่เรียนอยู่นี่ร้านหนังสือเยอะมาก ทั้งหนังสือใหม่และหนังสือเก่า มีทั้งร้านใหญ่โตไปจนถึงร้านเล็กๆ แต่สังเกตเพื่อนๆ หรือนักศึกษาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยลัยก็ไม่ค่อยเห็นคนอ่านหนังสือ”
เมื่อย้อนกลับมามองถึงวัฒนธรรมการอ่านในเมืองไทย เป้มองลึกลงไปว่า ในสังคมไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมของการอ่านเพื่อความบันเทิง “สำหรับคนที่ไม่อ่านหนังสือก็ยังติดภาพลักษณ์ว่าหนังสือ คือสาระ คือความรู้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่นั้น ชีวิตคนเราไม่ได้ต้องการสาระตลอดเวลาหรอก พอมองการอ่านเป็นแบบนั้น เวลาว่าง เวลาพักผ่อน มันก็ไม่รู้สึกอยากอ่านหนังสือแล้ว ถ้าจะรณรงค์ก็อยากให้รณรงค์ว่าการอ่านเป็นเรื่องสนุก แล้วก็อยากให้พ่อแม่อย่าไปจำกัดการอ่านของลูกหลาน คือเวลาเห็นเด็กในร้านหนังสือขอพ่อแม่ซื้อแล้วโดนปฏิเสธว่า ไร้สาระ การอ่านคือควรจะอ่านตำราอ่านหนังสือเรียนเท่านั้น มันปวดใจนะ คิดว่าถ้าจะรณรงค์ให้คนรักการอ่าน สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องได้อ่านอะไรก็ได้ที่อยากอ่าน ไม่งั้นพอไม่สนุกมันก็จะกลายเป็นไม่อยากอ่านไปเลย
“อีกอย่างที่ไม่รู้ว่าดีไหมก็คือพวกโครงการรักการอ่านตามโรงเรียน ที่บังคับให้เด็กอ่านแล้วต้องทำงานส่ง โชคดีที่ตัวเองไม่เคยเจอ คือเราชอบอ่านอยู่แล้วแต่ถ้าโดนบังคับแถมต้องทำรายงานอีกนี่จะเกลียดมากเลย เลยคิดว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างอันตราย มันอาจทำให้หลายคนบังเอิญได้อ่านเรื่องที่สนุก แล้วก็เลยหันมารักการอ่านได้จริง แต่ก็กลัวว่าจะทำให้อีกหลายคนกลายเป็นว่าเกลียดการอ่านไปเลย”
งานบุ๊กแฟร์ของเมืองไทยในแต่ละปี ที่มีด้วยกัน 3 งานใหญ่ในกรุงเทพฯ คือ 1-งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ 2-งานหนังสือเด็กและครอบครัวหรือเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน และ3-งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ในฐานะคนรุ่นใหม่ เป้มองบุ๊กแฟร์ทั้ง 3 งานที่จัดขึ้นว่า
“ดีตรงที่เป็นโอกาสของทั้งสำนักพิมพ์และผู้ซื้อ สำนักพิมพ์ก็ได้ประชาสัมพันธ์ ได้ขายหนังสือ คนอ่านก็ได้ซื้อหนังสือที่ลดราคา และบางเรื่องที่หาซื้อยากตามร้านหนังสือก็ต้องมาหาซื้อในงาน รวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น พวกเสวนาต่างๆ ด้วย เราเป็นคนอ่านหนังสือก็ชอบอยู่แล้ว การอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็สังเกตได้ว่า พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น จุดขายอาหารที่มากขึ้น หรืออย่างบูธของไปรษณีย์ไทยที่มีบริการส่งหนังสือ ที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมก็นึกไม่ออกนะ แต่ที่สังเกตอย่างหนึ่งก็คืองานขยายตัวขึ้นมาก เดี๋ยวนี้มีขยายโซน D ออกไปข้างนอกแล้ว มันก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะต้องขยายขึ้นอีก เรื่องสถานที่ก็คงเป็นเรื่องที่ทางผู้จัดงานต้องคิดกันต่อไป”
กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลก ในสายตาของเธอ เป้บอกว่า ก็ไม่ได้คิดหรือจินตนาการคาดหวังว่า จะเป็นอย่างไร “ยังไงก็ได้ ไม่คิดว่าจะมีผลอะไรกับการอ่านในสังคมไทยทั่วไปเท่าไหร่ ถ้าจะมีการทำอะไรที่ยั่งยืนอย่างสร้างห้องสมุดก็ดี แต่ไม่หวังหรอก เท่าที่เคยเห็นก็เห็นมีโฆษณาที่ไม่รู้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์จริงๆ หรือว่าใครทำล้อ ที่ประมาณว่าแค่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านก็ดูดีดูฉลาด พอดีเห็นแต่ในเน็ต เพราะอยู่ต่างประเทศ แต่ถ้านั่นเป็นของจริงก็...นะ ไม่พูดดีกว่า”
กับกระแสอีบุ๊กที่กำลังขยายตัวในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งหันมาอ่านหนังสือดิจิตอลมากขึ้นกว่ากระดาษ เธอวิเคราะห์ว่า “เดี๋ยวนี้ก็เห็นมีหนังสือไทยเป็นอีบุ๊กมากขึ้น ถ้าตลาดกว้างขึ้นก็น่าจะทำให้มีการพัฒนาทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่รองรับการอ่านหนังสือไทยมากขึ้น อยากให้หนังสือไทยมีอย่างคินเดิลของอเมซอนบ้าง”
อนาคตหนอนหนังสืออย่าง เป้ที่กำลังคร่ำเคร่งศึกษาด้านดนตรีคลาสสิคในต่างประเทศ เธอก็บอกว่า ตอนนี้ก็เรียนให้จบก่อน แล้วก็กลับไทย “อยากจะเรียนภาษาเพิ่มเติม คือตอนนี้ได้เรียนภาษาจีนกับฝรั่งเศส แต่ได้แค่พื้นฐานเบื้องต้น ก็อยากกลับมาเรียนต่อในขั้นที่สูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่ใช้งานได้จริง แล้วก็อยากเรียนภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ที่ตั้งใจไว้ว่าอยากเรียนก็มีญี่ปุ่น”
ปิดท้าย เป้ได้แนะนำทริกการอ่านหรือกลเม็ดเด็ดในการอ่านหนังสือให้เพื่อนๆ และคนที่สนใจว่า “ก็อ่านอะไรที่ชอบ อ่านที่อยากอ่าน ถ้าอ่านเพื่อความสนุกคงไม่ต้องมีทริกมีกลเม็ดอะไรให้มันยุ่งยากวุ่นวาย ส่วนที่จำเป็นต้องอ่าน เช่น หาข้อมูลหรือเตรียมสอบ พวกนี้ก็คงต้องหาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง ใช้สีช่วย ทำสรุปย่อ อะไรก็ว่าไป แต่ที่สำคัญสำหรับการอ่านพวกนี้คงเป็นการจับประเด็น แยกว่าอะไรคือใจความสำคัญ แล้วพยายามเชื่อมโยงใจความหลักๆ ให้ได้”