หลายคนเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ นพดล เวชสวัสดิ์ แม้เขาจะปฏิเสธว่าไม่ใช่นักแปลมืออาชีพ แต่ผลงานแปลหนังสือหลากหลายแนวและคุณภาพของงานอาจบอกได้ว่ายิ่งกว่ามืออาชีพ เสียอีก และถ้าจะบอกว่าเป็นนักแปลที่มีผลงานมากที่สุดในประเทศไทยในยุคปัจจุบันนี้ก็ ย่อมได้
ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมของ มูราคามิ จำนวน 10 เล่ม เขียนนิยายให้ขายดี (On Writing) ของ สตีเฟน คิงก์, เลือดอาชาไนย (Whip Hand) ผลงานของ Dick Francis รางวัลเอ็ดการ์จากสมาคมนักเขียนนิยายซ่อนเงื่อนอเมริกา และรางวัลกริชทองจากสมาคมนักเขียนนิยายซ่อนเงื่อนภาคพื้นยุโรป ปี 1980 ฯลฯ และต้นเดือนมีนาคมเขาจะมีผลงานออกมา 3 เล่ม คือ 7 อุปนิสัยสำหรับครอบครัวที่ทรงประสิทธิผลยิ่ง (The 7 Habits of Highly Effective Families) ของ ดร.สตีเฟน อาร์ โควีย์ ผลงานของสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ ของ ฮารูกิ มูราคามิ (Kafka on the Shore) สำนักพิมพ์มติชน และกลับชาติมาเกิด ของ สเตลลา เทรเวซ (I'm 44 Years Old BUT My Son is 53!!!) คนรู้ใจสำนักพิมพ์ ฯลฯ
ปัจจุบันเขากำลังแปลหนังสือเล่มที่ 266 ซึ่งจัดว่ามากที่สุดในประเทศไทย เขาบอกว่า ประเทศอื่นไม่มีการแปลหนังสือมากมายเหมือนเมืองไทย เพราะส่วนใหญ่อ่านจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ และที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ หนังสือที่เขาแปล ไม่ได้จำกัดเฉพาะนิยายวิทยาศาสตร์ ยังมีทั้งวรรณกรรมสืบสวน จิตวิทยา จิตวิเคราะห์ และวรรณกรรมชีวิต ฯลฯ อีกด้วย
แรงบันดาลใจอะไรทำให้ 'นพดล' ทำงานแปลได้มากมายขนาดนี้ เราได้คำตอบแน่ชัดว่า ไม่ใช่เพราะเงิน แต่เขารักในสิ่งที่ทำ อยากให้คนไทยได้อ่านหนังสือดีๆ และไม่จำกัดตัวเองว่าต้องเป็นหนังสือยอดฮิต เพราะปัจจุบันเขาทำงานให้หลายสำนักพิมพ์ และยังทำหน้าที่อ่านวิเคราะห์เพื่อคัดสรรหนังสือต่างประเทศดีๆ ให้สำนักพิมพ์เพื่อศึกษาว่ามีคุณค่าควรแก่การแปลออกมาให้คนอ่านไหม
คนส่วนใหญ่รู้จักแต่ผลงานแปล แต่ไม่ค่อยรู้จักเรื่องราวของคุณ พอจะเล่าเรื่องตัวเองบ้างได้ไหม?
ตอนผมเรียนปี 1 คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผมตกต้นไม้ ก็เลยเดินไม่ได้ จึงไปเรียนนิติศาสตร์ รามคำแหง จากนั้นไปสอนหนังสือคือ ภาษาอังกฤษ ที่บ้านเกิดอุบลราชธานี
ชีวิตพลิกผันตอนตกต้นไม้?
ก็พลิกผันหมด ผมก็เลยดูว่าจะหาอะไรทำได้ ที่ทำได้คือ การดูแลหลาน จึงหันมาสอนภาษาอังกฤษที่บ้านในอุบลฯ ปกติผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จากอ่านก็แปลให้เพื่อนอ่าน ก่อนหน้านี้ก็แปลบทความลงวารสาร 'มิติที่สี่ทักษะ' อยู่ 7 ปี ปิดตัวไปแล้ว ตอนนั้นเป็นแนววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำไปประมาณ 300 เรื่อง เป็นบทความสั้นๆ 4-8 หน้า พอมีหนังสือให้แปลก็สนุกแปลมา 100 เรื่อง เรื่องละประมาณ 8-12 หน้า ไม่ต่างจากแปลนิยายนักสืบอีกประมาณ 100 กว่าเรื่องสั้นๆ
ถ้าไม่ตกต้นไม้คุณจะสนใจหนังสือขนาดนี้ไหม?
คงไม่ คงไปแข่งรถมากกว่า
เคยรู้สึกท้อแท้ไหมที่ไม่สามารถเดินได้?
ตอนนั้นก็ท้อแท้อยู่ประมาณสองปี คิดอยู่อย่างนั้นเช้าจรดเย็น จนกระทั่งมันเบื่อ เลิกคิดถึงเรื่องตัวเอง มันดูไร้สาระ คิดซ้ำๆ หาคำตอบไม่ได้ ไม่รู้จะคิดไปทำไม ก็หันมาอ่านหนังสือ แล้วก็ฟังเพลง ตอนป่วยก็สติแตกอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนั้นเรียนกฎหมายที่รามคำแหง ก็เครียด เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่เคยคิดสั้น เพราะเรามีครอบครัวดูแล อย่างตอนกลางคืนก็อ่านหนังสือ หนังสือจีนกำลังภายในเซียวฮือยี่ อ่านได้คืนละแปดเล่ม เพราะเรื่องพวกนี้อ่านแล้ววางไม่ลง ถ้าเป็นเรื่องธรรมดาคืนละเล่ม ก็ยืมมาจากห้องสมุด ตอนนั้นเพื่อนๆ ยืมหนังสือให้ อ่านพวกพอคเก็ตบุ๊คประมาณ 100-200 เล่ม อย่างวรรณกรรมของ 'ทมยันตี' อ่านหมด
ทำไมวรรณกรรมต่างชาติที่แปลออกมาจึงได้รับความนิยมมากกว่าวรรณกรรมไทย?
คนไทยใจกว้าง รับภาษาจากทุกแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นบาลี สันสกฤต ภาษาจีน หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษที่เป็นศัพท์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ใช้กันแพร่หลายจนรู้สึกว่าเป็นคำไทยไปหมดแล้ว อีกจุดหนึ่งก็คือภาษาไทยมีศักดิ์ของคำ จะหยาบคายหรือสุภาพ จะภาษาปากหรือภาษาเป็นทางการ จะร้อยแก้วหรือร้อยกรอง รวมไปถึงกลภาษา ภาษาไทยถ่ายทอดได้เกือบทั้งหมด งานแปลออกมาเป็นภาษาไทยถ่ายทอดได้ทั้งเนื้อหาและถอดอารมณ์ออกมาได้ เราสนใจงานเขียนต่างประเทศอย่างในญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปมากกว่าวรรณกรรมไทย อาจเป็นเพราะอยากรู้ว่าพวกเขาเสพอะไรอยู่
นี่เป็นแรงกระตุ้นให้หันมาเอาดีทางการแปลหนังสือ?
เริ่มแปลหนังสือจริงจังตอนอายุ 33 ปี ถึงวันนี้ก็แปลมานานกว่า 23 ปี เราทำเพราะสนุก อย่างเรื่อง Sense of wonder พออ่านแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ ถ้าเด็กได้อ่านคงได้ความสนุกหรือความบันเทิง ปัจจุบันก็ไม่ได้คิดว่างานแปลเป็นอาชีพ เราทำเพราะว่าสนุก เวลาใครถามว่าทำไมหันมาแปลหนังสือ เราก็บอกว่า ใช้มือแปลไม่ได้ใช้เท้าแปล เพราะคนถามเดินไปเดินมา เรานั่งอยู่กับที่
ถ้ามันยังร้อนยังหนาวอยู่ ทำไม่เสร็จหรอก อย่างคนอื่นเขาซื้อหนังสือไปอ่านรอบเดียวเสร็จ แล้วเก็บขึ้นหิ้ง แต่กว่าเราจะแปลก็ต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ ประมาณ 5 รอบ เราทำแบบนี้กับหนังสือทุกเล่ม สมัยก่อนจะฉีกหนังสือออกเป็นบทๆ แล้วอ่านเพื่อแปล จากนั้นค่อยเย็บเล่ม อ่านจนกระทั่งหนังสือบวม แต่เดี๋ยวนี้ถ่ายเอกสารแล้วแปล เราก็สนใจว่าแปลตกไหม หลุดไหม บางอย่างเป็นสำนวน ก็ต้องดูให้ดี
ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดจะยึดงานแปลหนังสือเป็นอาชีพ?
ถึงวันนี้ ผมก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าเป็นเรื่องสนุก การแปลหนังสือถ้าไปคิดเรื่องค่าตอบแทน มันแปลไม่จบเล่ม จะกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เวลาแปลหนังสือต้องไม่กังวลเรื่องอื่น ใครจะชอบหรือไม่ชอบ เราจะถอดเนื้อความให้ดีที่สุด ตอนแรกๆ จะแปลนวนิยายวิทยาศาสตร์และนักสืบ แต่แนวการบริหารก็ทำ เคยแปลให้เครือซีเอ็ดเป็นตำราวิทยาศาสตร์ เพราะแนววิทยาศาสตร์ก็มีอะไรแปลกๆ ข้อมูลพวกนี้เด็กๆ จะได้ความรู้ มันมีเหตุและผล และตอนทำตำราวิทยาศาสตร์ เราคุยกันว่า หนังสือที่เราทำ ข้อมูลในเล่มต้องเอาไปใช้ในห้องเรียนได้ คือ อ่านง่าย เราทำหนังสือแปลวิชาการวิทยาศาสตร์ประมาณ 170 เล่ม
ทำไมคนไทยสนใจอ่านนิยายวิทยาศาสตร์น้อย?
คนทั่วไปไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่ค่อยอยากอ่าน แต่อยากบอกว่า ลองอ่านดูสิ แล้วที่เราตีตราว่าเป็นประเภทนั้น ประเภทนี้ มันเป็นแค่ฉาก เหมือนมิติอวกาศ จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง สังคมการอ่านของเรา ใครๆ ก็อยากอ่านเรื่องง่าย แต่ถ้าเราอ่านมาระดับหนึ่งแล้ว เรื่องง่ายๆ ที่เราเดาได้ มันก็หมดเสน่ห์ เราอยากอ่านเรื่องที่ท้าสมองบ้าง และเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้สนใจเรื่องลึกลับนักสืบมากขึ้น
คุณมีหลักการเลือกวรรณกรรมต่างแดนอย่างไร?
ผมเคยอ่านหนังสือรายเดือนประมาณ 120 เรื่อง แล้วคัดมาแปลแค่ 3 เรื่อง เพราะเรื่องอื่นๆ ยังไม่เข้มพอจะแปลออกมา ผมจะอ่านเล่มละห้ารอบ
คุณสนใจนักเขียนคนไหนเป็นพิเศษ?
ตอนหลังผมช่วยคัดหนังสือให้สำนักพิมพ์ พออ่านเสร็จแล้ว ผมจะเขียนรายงานให้ เพื่อบอกว่าเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร เท่าที่อ่านมามีนักเขียนหน้าใหม่น่าสนใจหลายคน อย่างนักเขียนหญิงชาวอเมริกันชื่อ Lori Armstrong คนยังไม่ค่อยรู้จัก เธอเขียนเรื่อง Bloodtie แนวอาชญากรรม เวลาคัดหนังสือเราจะดูที่เนื้อหาและจังหวะการเขียน ผมจะดูว่า เรื่องนั้นๆ มีความเข้มข้นพอจะเสียเวลาอ่านไหม เราคิดถึงจุดบั้นปลายว่า ถ้าแปลออกมาแล้ว คนอ่านได้ประโยชน์ไหม ถ้าไม่มีประโยชน์กับคนอ่าน เราก็ไม่ทำ อ่านแล้วน่าจะคุ้มค่า เราคิดแค่ว่า คนอ่านต้องไม่เสียเวลาเปล่าๆ
เอาพลังจากไหนมาแปลหนังสือได้มากมายขนาดนี้(266 เล่ม)?
ผมไม่ได้คิดว่าหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ต้องขายแล้วรวย หนังสือดังๆ ก็มีคนอื่นแปลออกมาแล้ว เราก็หาเล่มอื่นมาแปล เราต้องอ่านก่อนว่า หนังสือเล่มนี้ดีพอไหม ถ้าเรื่องไม่สนุก เราก็ส่งคืนคนที่อยากให้แปล อย่างนักเขียนชื่อ ไอแซก อาสิมอฟ คนไทยจะคุ้นหู หรือนักเขียนอย่าง อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก จะเขียนสไตล์อังกฤษ จะมีอารมณ์ขันและเขียนได้ลึกซึ้งกว่า ผมแปลเรื่องไอแซกไม่มากเท่าไร เขาเป็นสุดยอดของนักเขียนแนววิทยาศาสตร์
แสดงว่านักเขียนต่างชาติคิดพล็อตเรื่องได้ลึกซึ้งกว่าคนไทย?
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวต่างชาติเขียนได้ลึกกว่าคนไทย เพราะประชากรเยอะกว่า คนไทยที่เขียนออกมาได้ดีก็มี บางทีพล็อตเรื่องลึกเกินไป คนอ่านตามไม่ทันก็มีเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เด็กไทยก็เขียนแนวแฟนตาซีได้ดี แต่บางครั้งคนอ่านก็จำกัดตัวเองว่า ต้องอ่านแนวนี้ ทั้งๆ ที่หนังสือแต่ละเล่มมีเรื่องน่าค้นหาคนละแบบ
ในทัศนะของคุณ งานเขียนของ 'ฮารูกิ มูราคามิ' ที่คุณแปลทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้าง?
จริงๆ แล้วหนังสือของ 'มูราคามิ' มีคนด่ามาก คนที่ด่าอาจไม่ชอบ เพราะไม่เหมือนที่เขาคิด หลายคนคิดว่า แนวโรแมนติกต้องบรรยายไว้สวยงาม แต่เวลาอ่านงานนักเขียนคนนี้ ตัวละครเด่นๆ จะเหงาท่ามกลางสังคมใหญ่ คือ คนๆนั้น ต้องเพี้ยนถึงอยู่ได้ คนเขียนไม่ได้คิดเหมือนคนทั่วไป สำนวนก็ไม่เหมือนคนอื่น ผมแปลมูราคามิให้ทางมติชนประมาณ 10 เล่ม (สดับลมขับขาน, เกาะรอยเกาะดาว ฯลฯ) เราเสนอว่านักเขียนคนนี้น่าอ่าน ทางสำนักพิมพ์ก็เลยหยิบมาพิมพ์ทั้งชุด
ผลงานของนักเขียนคนนี้เป็นที่รู้จัก เพราะว่าสังคมไทยกำลังเป็นแบบนั้น เพียงแต่ไม่มีใครชี้ให้เห็น อย่างหนังสือเล่มนี้สะกดให้เราคิดว่า ที่เราทำงานมาห้าปีสิบปี เราได้อะไร มูราคามิจะเขียนเรื่องความเหงา โดยไม่ใช้คำว่า 'เหงา' เรื่องของมูราคามิดังที่สุดในรัสเซีย เพราะคนรัสเซียเข้าใจความเหงาที่ไม่ได้เจอใครกลางฤดูหนาว เหมือนไม่มีเพื่อนหรือเจอใครที่คุยกันรู้เรื่อง
นี่คือจุดเด่นมูราคามิ?
คนเขียนลูกเล่นเยอะ มีเทคนิคการเล่าเรื่อง เหมือนเขาเขียนบันทึกประจำวัน แต่ทุกอย่างที่เขาเขียน แปลเป็นความเหงาได้ คนทั่วไปเวลาเหงาไปถึงจุดหนึ่งจะเริ่มท้อ แต่คนเขียนพอเหงาไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ใกล้จะถึงจุดแตกหักก็จะหันไปจุดอื่น เพราะเขาไม่ได้สนใจตัวเอง
ทำไมคุณเน้นว่าสังคมไทยกำลังเหงาเหมือนวรรณกรรมของมูราคามิ?
สังคมไทยเริ่มเห็นตัวตนที่แท้จริงของเขา แต่ก็มีคนไม่ชอบสำนวน งานของมูราคามิบางคนบอกว่า อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง คนญี่ปุ่นจะนำเรื่องความตายมาเกี่ยวข้อง ซึ่งความคิดแบบนี้ลึกซึ้งมาก เพราะคนญี่ปุ่นมองความตายเป็นเรื่องธรรมดา ผมคิดว่า มูราคามิเอาปรัชญามาล้อเลียน แต่ไม่เขียนปรัชญาตรงๆ ยกตัวอย่าง แม่น้ำที่มองเห็น ไม่ใช่แม่น้ำสายเก่า
นอกจากแนววิทยาศาสตร์หรือวรรณกรรมชีวิตแล้ว คุณยังสนใจแปลเรื่องแนวเพศศึกษาด้วย?
ผลงานของ ดร.รูธ เค.เวสต์ไฮเมอร์ ที่ปรึกษาเรื่องทางเพศอันดับต้นๆ ของโลก เขียนเรื่อง Sex for Dummies เรื่องพวกนี้รวบรวมมาจากคนที่มาปรึกษาปัญหากับเธอ เธอพยายามแก้ความเข้าใจผิดหลายๆ เรื่อง เธอเขียนให้ความรู้และยกตัวอย่าง ต่างจากสังคมไทยชอบคิดว่าเด็กโตมาก็จะรู้เรื่องนี้เอง จริงๆ เราไม่มีพื้นความรู้เรื่องพวกนี้ ไม่มีใครแจกแจงความรู้พวกนี้ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นฐานในชีวิต
ตอนนี้กำลังแปลหนังสือเรื่องอะไร?
ผมกำลังทำเล่มต่อของ '7 อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง' (The 7 habits of highly effective people) หนังสือยอดเยี่ยมที่สามารถเปลี่ยนชีวิตคุณได้ มียอดจำหน่าย 15 ล้านเล่ม เขียนโดย ดร.สตีเฟน อาร์ โควีย์ เป็น How to เหมือนนำพุทธศาสนามาย่อไว้ในเล่ม ถึงจะเป็นมุสลิมก็มีคำสอนอยู่ด้วย หลักความจริงถ้าถูกต้องแล้วจะพิสูจน์ได้ แต่เล่มนี้คือ '7 อุปนิสัยสำหรับครอบครัวที่ทรงประสิทธิผลยิ่ง' (The 7 Habits of Highly Effective Families) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า บางคนลืมไปว่า ชัยชนะส่วนบุคคลคือการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ สังคมไทยยังขาดเรื่องพวกนี้ ถึงเราจะพึ่งตัวเองได้ มือสองข้างก็ทำงานได้ชิ้นหนึ่ง แต่เวลาเราร่วมงานกับคนอื่นจะทำได้มากกว่านั้น ผมคิดว่าเล่มนี้ต่างจาก How to ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีหลักการเป็นข้อๆ ว่าควรทำอย่างไรบ้าง แต่เล่มนี้บอกว่า คุณมีนิสัยที่เป็นอุปสรรคกับตัวเองอย่างไร เขาให้โอกาสแก้ไข ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกลายเป็นอุปนิสัยใหม่ เล่มนี้ไม่ใช่หนังสือ How to สูตรสำเร็จ แต่เป็น How to ที่ให้กำลังใจหรือจะเป็นหนังสือธรรมะก็ได้ ผู้เขียนรวบรวมประสบการณ์มานานกว่า 25 ปี
คุณทำงานแปลวันละกี่ชั่วโมง?
ตอนอายุ 40 กว่า แปลได้วันละ 8 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้วันละ 3 ชั่วโมงก็ตาลายแล้ว อาจเป็นเพราะสมาธิสั้น เมื่อก่อนทำงานจะเปิดเพลง แต่เวลาแปลก็จะไม่ค่อยได้ยิน
ในชีวิตนี้ตั้งความหวังว่าจะแปลหนังสือสักกี่เล่ม?
ผมตั้งเป้าไว้ครับ ถ้าไปถึงตรงนั้น ก็จะเป็นนักแปล 500 เล่ม ตอนนี้แปลหนังสือออก 266 เล่ม เราก็แปลออกมาเรื่อยๆ ถ้าถึง 500 เล่มก็เป็นเรื่องดี ไม่มีใครแปลหนังสือได้มากขนาดนี้ เราจะเป็นคนที่แปลหนังสือได้มากที่สุดในโลก ในญี่ปุ่นก็ไม่มีนักแปลแบบนี้ เขาจะแจกให้นักแปลหลายๆ คน นั่นไม่สามารถสร้างนักแปลออกมาได้ แต่การแปลแบบนั้น ต้องมีบรรณาธิการเก่งๆ เพราะหนังสือเล่มหนึ่งที่เราอ่านแล้วหัวเราะและร้องไห้ ต้องมีสำนวนและอารมณ์ของเรื่อง ถ้าแปลแบบนั้นอารมณ์จะไม่ได้
ก่อนหน้านี้เคยแปลหนังสือนิทานสำหรับเด็กด้วยใช่ไหม?
ผมเคยแปลนิทานเด็กให้เครือซีเอ็ดประมาณ 51 เล่ม เล่มหนึ่ง 30-40 หน้า แต่ตอนหลังเขาให้มา 300 หน้า ตอนนี้ผมมีงานของเครือมติชนและดีเอ็มจี สำนักพิมพ์อื่นๆ ก็ติดต่อเข้ามา ก็ยังทำให้ไม่ได้ บางเล่มที่น่าสนใจเราก็ซื้อลิขสิทธิ์มาแปล อย่างเรื่อง (Mission Earth 1) ตอน แผนยึดครองโลก เล่ม 1 ของ L.Ron Hubbard Mission Earth มีทั้งหมด 11 เล่ม ตอนนี้แปลไปสองเล่ม ยังต้องทำอีกเก้าเล่ม เล่มนี้เป็นแนววิทยาศาสตร์ยึดโลกครองจักรวาล จะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่อ่าน เพราะจะมีความยอกย้อนมาก เป็นเรื่องอ่านเพลินๆ
คุณมีความสุขกับอะไรมากที่สุด?
ทีวีผมไม่ได้ดูมาสิบปี ผมก็มีความสุขกับการแปลหนังสือและดูแลหลานๆ สมัยก่อนอาจมีปัญหาบ้าง ต้องไปยืมหนังสือจากห้องสมุด แต่ตอนนี้มีอินเทอร์เน็ต
เคยคุยกับนักเขียนที่คุณแปลหนังสือของเขาบ้างไหม?
มีครับ คนเขียนเรื่อง Minor wife เมียน้อย ของ คริสโตเฟอร์ จีมัวร์ เขียนเก่งมาก เอาฉากเมืองไทย ผู้หญิง บาร์ ไก่ชน มาใส่ในนิยายฆาตกรรม เป็นแนวสืบสวนฆาตกรรมยุคใหม่ เวลาเราอ่านงานเขียน เราก็จะเห็นซอกเล็กๆ บางมุมที่เขาเขียนออกมา
มีเรื่องไหนที่อยากแปลเป็นพิเศษแต่ยังไม่ได้ทำ?
อีกสัก 200 เรื่อง ดูเหมือนเราแปลหนังสืออย่างเดียว แต่ไม่ใช่ เพราะแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ผมนั่งอยู่กับบ้านนี่แหละ แต่เหมือนกับว่าผมไปดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ในขณะที่คนอื่นไม่มีโอกาส
เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ : บทสัมภาษณ์
จากจุดประกาย วรรณกรรม
ปีที่ 16 ฉบับที่ 6267
วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549