เย็นๆ วันปลายสัปดาห์ ณ ร้านหนังสือก็องดิด นักเขียน นักคิด อารมณ์ดี นาม ‘ศุ บุญเลี้ยง’ มีนัดมาจิบกาแฟ เลือกซื้อหนังสือ และสัมภาษณ์แบบพิเศษๆ หลังจากได้รับตำแหน่งให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมธุรกิจกรรมร้านหนังสืออิสระ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ผลพวงจากความสำเร็จในการจัดสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ 1 มีจำนวนร้านหนังสืออิสระที่เข้าร่วม 16 ร้าน ซึ่งเป็นกลุ่มของเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก (คสล.) ทำให้มีเครือข่ายที่เกี่ยวโยงเชื่อมกันแน่นแฟ้นขึ้น รวมถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เข้ามาช่วยสนับสนุนน้ำเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกแรงในปี 2557 นี้
สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-29 มิถุนายน 2557 และตั้งเป้าหมายจำนวนร้านหนังสืออิสระที่เข้าร่วม 30 ร้าน ก็มีคุณศุ บุญเลี้ยง พร้อมคณะอนุกรรมการส่งเสริมธุรกิจกรรมร้านหนังสืออิสระ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ซึ่งประกอบด้วย คุณวิวัฒน์ โรจนาวรรณ อนุกรรมการ (ตัวแทนร้านหนังสืออิสระภาคอีสาน) คุณสกุณี ณัฐพูลวัฒน์ อนุกรรมการ (ตัวแทนร้านหนังสืออิสระภาคเหนือ) คุณอำนาจ รัตนมณี อนุกรรมการ (ตัวแทนร้านหนังสืออิสระกรุงเทพฯและปริมณฑล) คุณวุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล อนุกรรมการ (ตัวแทนร้านหนังสืออิสระภาคกลาง) คุณณีรนุช เอี่ยมอารยา อนุกรรมการ (ตัวแทนร้านหนังสืออิสระภาคตะวันออก) คุณอันธิฌา แสงชัย อนุกรรมการ (ตัวแทนร้านหนังสืออิสระภาคใต้) และคุณองอาจ สุวรรณโชติ อนุกรรมการ (ตัวแทนเครือข่ายนักอ่านไทย) คอยช่วยกันรวมพลังขับเคลื่อนผลักดันให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จกว่าปี 2556 ที่ผ่านมา
คราวนี้ คุณศุ บุญเลี้ยง ถือโอกาสดีมาเผยถึงแง่มุมความคิด ความฝัน และความอยากเกี่ยวกับธุรกิจวงการร้านหนังสือไทย โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทยหลายร้อยร้าน ในฐานะของผู้เคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจมาก่อน
คุณมารับตำแหน่งนี้ได้อย่างไร
พี่เรืองเดช จันทรคีรี (หนึ่งในตัวตั้งตัวตีก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก-คสล.) เขาชวนในเฟซบุ๊ก ก็รับไว้ด้วยสปิริต ไม่รู้จะช่วยอะไรได้มากน้อยแค่ไหน พอเข้าที่โดยสปิริตก็ควรจะลาออกด้วย เพื่อให้เขาหาวิธีเลือกที่เหมาะสมกว่านี้ ตอนนี้เขาให้เรารักษาการไปก่อน ซึ่งเมื่อไหร่มีความพร้อม ก็จะให้เขาหาระบบการคัดเลือกว่าจะเป็นอย่างไร
ทิศทางร้านหนังสืออิสระเป็นอย่างไร
มันคือทางเลือกของมนุษย์ ทางเลือกของคนเปิดร้าน เขาอาจจะไม่สามารถที่จะทำร้านหนังสือใหญ่ หรือเขาอาจจะสามารถทำงานในธุรกิจใหญ่ แต่ถึงวันหนึ่งเขาก็เลือกวิถีทางที่จะมีร้านหนังสือที่เป็นอิสระ กับทางเลือกของคนที่ซื้อหนังสือ หาหนังสือ หรือ ไปคุยกับคนขาย ไปกินชากาแฟ เป็นองค์ประกอบ มันก็เป็นทางเลือก ซึ่งผมว่ามนุษย์มันน่าจะมีทางเลือก ส่วนทางเลือกนั้นจะนำมาซึ่งอะไรก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับคนเลือกนั้นจะเดินอย่างไร นำมาซึ่งสติปัญญาก็ได้ นำมาซึ่งทรัพย์สินก็ได้ หรือนำมาซึ่งการหมุนเวียนของวงจรชีวิต ถ่ายเทพลังให้กัน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะวางแนวทางของร้านของตัวเองไปในทิศทางอย่างไร
ตรงนี้เรียกว่าเป็นจุดแข็งของร้านหนังสืออิสระได้หรือไม่
มันไม่สามารถจะเรียกได้หรอก เพียงแต่ร้านแบบนี้มันลดภาระบางอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายที่มันสูง การจ่ายค่าโสหุ้ย การบริหารการจัดการ คือทุกอย่างมันมีต้นทุน แล้วมันมีต้นทุนเรื่องเวลา มีต้นทุนเรื่องอารมณ์ แต่ไม่ใช่จุดแข็ง สมมติผมเป็นนักเขียนแล้วผมเปิดร้านหนังสือ ตรงนี้อาจจะถือว่าผมมีจุดแข็ง เพราะอาจจะอ่านหนังสือเยอะ อาจจะรู้จักคนในแวดวงหนังสือ ตรงนี้เรียกว่าเป็นจุดแข็ง ซึ่งแต่ละร้านก็ต้องไปหาเอง อย่างเช่นร้านที่อุทัยธานีที่ อ้วน ญามิลา (วิรัตน์ โตอารีย์มิตร เจ้าของร้านบุ๊กโทเปีย) เปิดขึ้นมา จุดแข็งก็คือตัวเขา แฟนนักอ่านของเขา แต่ไม่ใช่ทุกคนมีจุดแข็ง บางคนจุดแข็งคือใช้บ้านตัวเองทำ คือไม่เสียค่าเช่า บางคนมีจุดแข็ง คือทำธุรกิจอื่นในอาคารเดียวกันได้ บางคนอาจจะทำกาแฟเก่ง หรือมีแฟนที่ทำขนมเก่ง มันก็กลายเป็นจุดแข็งที่จะบริหารร้านไปได้
พูดง่ายๆ ก็คือต้องหาเอกลักษณ์ของตัวเองถึงจะอยู่ได้
ใช่! แต่ข้อที่พึงระวังก็คือ หนังสือเราซื้อที่ร้านไหน รสชาติการอ่านมันแทบจะเหมือนกัน แต่กาแฟมันไม่เหมือน มันขึ้นอยู่กับคนปรุง ขึ้นอยู่กับแดดลม ขึ้นอยู่กับคนที่นั่งกินอยู่ ขึ้นอยู่กับความร้อนความมันของนมที่ใส่ แล้วกาแฟคุณจะตั้งราคา 25-30-35 บาท ติดแอร์ จ้างพนักงาน คุณก็อัพราคาได้ ขณะที่หนังสือซื้อร้านไหน อ่านแล้วมันใกล้เคียงกัน มีแต่ว่าคุณจ่ายมันในราคาที่ถูกลงหรือเท่าที่เขาติดมา ไม่สามารถอัพมันขึ้นเหมือนกาแฟได้ เพราะตัวสินค้ามันถูกกำหนดราคามาแล้ว
สรุปแล้ว ร้านหนังสืออิสระไม่ควรจะขายหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องทำอย่างอื่นเสริมไปด้วย
มันก็ไม่จำเป็นต้องขายหนังสืออย่างเดียว ก็เหมือนกับร้านอาหารที่ขายกาแฟได้ แต่ก็ต้องมีจุดยืนของตัวเองพอสมควรนะ ถ้าทำร้านหนังสือแล้วขายข้าวผัดปูด้วย กลิ่นมันจะไม่ไปด้วยกัน แค่ขายขนมโรตีอาจจะได้ แต่หอยทอดไม่ได้แล้ว คือมันจะมีลิมิตของมันระดับหนึ่ง
ร้านหนังสืออิสระมีศักยภาพในการแข่งขันกับร้านใหญ่ได้หรือไม่
ถ้าถามนาทีนี้ยังไม่มี นอกเสียจากว่าร่วมมือกัน ความหมายคือร่วมส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะร้านหนังสือที่มีชื่อมีแบรนด์เขาก็ถูกส่งเสริมจากธุรกิจใหญ่ของเขา ร้านหนังสืออิสระมันก็ควรจะถูกส่งเสริมด้วยพวกเดียวกัน ด้วยความอิสระเหมือนกัน เฮ้ย! ที่อุบลฯ พวกเดียวกันนะ ที่เชียงรายเพื่อนกันนะ ก็ต้องใช้มิตรภาพให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นพลัง แล้วอาจจะต้องถึงขั้นใช้เครื่องมือสื่อสาร ต้องใช้ลูกค้านั่นแหละ เพราะลูกค้าคงจะรู้สึกดีที่ส่วนหนึ่งได้เป็นผู้สนับสนุนร้านที่ตัวเองรัก ขณะที่ร้านใหญ่ ลูกค้าก็จะรู้สึกว่าตัวเองเล็ก
ความร่วมมือที่บอกนี้ คือร้านใหญ่ๆ ควรหันมาสนใจร้านเล็ก
ไม่ควร ถ้าผมเป็นเจ้าของร้านใหญ่ผมก็ว่าไม่ควร ผมก็ต้องให้ความสำคัญกับร้านหนังสือของตัวเอง เพียงแต่ว่าเราไม่ต้องไปทำลายกันก็พอ เราไม่ไปฆ่า ไม่เหยียดหยันกัน เราก็มีจุดแข็งของเรา คุณมาร้านเรา คุณก็เลือกหนังสือได้เพลิดเพลินแอร์เย็น คุณไปร้านเล็ก คุณก็อาจจะเจอหนังสือที่เขาไม่สามารถเอาไปวางกระจายในร้านหนังสือใหญ่ ทุกคนก็มีหน้าที่ไง ร้านหนังสือใหญ่ก็ต้องทำร้านเขาให้ดี
จากที่มองตลาดทุกวันนี้ คิดว่าร้านหนังสืออิสระควรจะต้องมีการปรับตัวอย่างไรบ้าง
เขาเป็นร้านหนังสืออิสระ เพราะฉะนั้นวิธีคิดของเขาก็ต้องอิสระ เขาถึงจะพูดเรื่องความเป็นอิสระได้ ถ้าเราบอกว่า ร้านหนังสืออิสระต้องทำโปรโมชัน ก็ฉันไม่อยากทำโปรโมชัน ให้ฉันทำโปรโมชัน ฉันไปทำอย่างอื่นดีกว่า ไปทำงานโฆษณา ไปทำนู้นทำนี่ แต่ฉันอยากมาขายหนังสือ แค่นี้ก็พอแล้ว หรือจะมาส่งเสริมกิจกรรม ก็กิจกรรมมันมีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่อยู่ดีๆ นักเขียนมันลอยลงในอากาศ ไหนจะค่าไฟ ค่าน้ำ มีค่าบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นร้านหนังสืออิสระ คือร้านที่ทำตามความอิสระ แล้วก็หาตัวเองให้เจอ ก็ทำอย่างที่ตัวเองเชื่อ แล้วหน้าที่ของผม ก็ไม่ใช่การที่ไปบอกให้ใครทำอะไร ผมก็คอยรับใช้ว่างั้นเถอะ “เฮ้ย! ร้านนี้ให้ผมช่วยทำอะไร ให้ผมหานักเขียนมาให้ ให้ผมไปของบสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มาสนับสนุน หรือให้ผมอยู่เฉยๆ อย่ามายุ่ง หรือจะให้ผมไปเยี่ยมร้าน ส่งหนังสือไปให้ ก็ช่วยไปตามความอิสระ ไม่ไปตั้งว่าควรจะเป็นแบบไหน ไม่อย่างนั้น เขาจะไม่เป็นอิสระอย่างที่เขาอยาก แต่ในความเป็นอิสระ ก็อาจจะมีจุดร่วมร่วมกัน เช่น คงไม่มีใครรักสันโดษ ถึงขั้นที่ไม่อยากให้มิตรสหายนักเขียนศิลปินแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนหรอก อย่างน้อยเปิดร้านมาก็คงชอบที่นักเขียนจะแวะเวียนไป หรือครอบครัวคุ้นเคยจะไปแล้วใช้ที่นั่นทำกิจกรรมบางอย่างได้ ตรงนี้ก็อาจจะมีอารมณ์ร่วมอยู่ อะไรที่เป็นบทเรียนที่เคยทำแล้วไม่เวิร์ก เคยจัดกิจกรรมแบบนี้แล้วไม่เวิร์กก็บอกไป คนอื่นจะได้เอาบทเรียนมาใช้ หรือทำแบบนี้มันดี แต่ต้องระวังข้อนี้นะ ก็เอาตรงนี้ส่งต่อไปให้ อีกร้านจะได้มีบทเรียน หรือมีกัลยาณมิตร เพื่อที่จะได้ไม่ทำให้ประวัติศาสตร์มันเสียหายไปโดยไม่ใช้ประโยชน์ไง จะได้มีบทเรียน เอาไปย่อย
พูดง่ายๆ ก็คือ การที่ธุรกิจจะอยู่ได้ต้องหาสมดุลความฝันกับโลกของความจริงให้เหมาะสม
พูดแบบนั้นมันง่ายไป ผมว่าถ้าเขาเป็นนักฝัน เขาต้องยอมรับความจริง ความจริงอย่างเช่นถ้าชอบกระดาษก็ต้องยอมให้กระดาษมันยับ ปลวกมันชอบกิน ดังนั้นคุณก็ต้องมีวิธีจัดการกับความฝัน ไม่ใช่คิดแต่ว่าหนังสือมันสวย โรแมนติก หนังสือมันเปียกน้ำได้นะ คือมันมีปัญหาอีกมากที่จะเกิดขึ้นหลังจากทำร้านหนังสือ ซึ่งต้องยอมรับให้ได้ แม้แต่เรื่องสัญญาเช่า ไปทำสัญญาเช่าปีหนึ่ง แล้วพอปีที่ 2 มาโอดครวญครางว่าเขาไม่ต่อสัญญาเช่า มันก็พูดยาก เพราะความจริงที่ตรงนั้นเป็นสิทธิของเขา เราอยากทำความฝันของเราคือการมีทำร้านหนังสือ ส่วนเจ้าของที่เขามีความฝันของเขาที่อยากได้ค่าเช่าที่มันดีขึ้น สูงขึ้น กิจการดีขึ้น เราก็ต้องเข้าใจความฝันของเจ้าของที่ ไม่ใช่เข้าใจแต่ความฝันของเราเอง มันก็ต้องไปแชร์กัน ดังนั้นถ้าคิดว่ากำไรมันอยู่ที่ปีที่ 3 คุณก็ต้องไปจัดการกับความจริงตรงนั้น
เท่าที่สังเกตมา คนทำร้านหนังสือเขาสามารถจัดการกับความจริงอย่างที่คุณบอกได้ไหม
ไม่รู้ คือร้านที่อยู่ในเครือข่ายมันไม่ได้มีกติกาว่าคุณต้องมีหนังสือกี่เล่ม กี่คูหา ทำร้านมีกี่วัน คุณถึงจะเป็นสมาชิกได้ มันยังไม่มีระบบอะไรคัดกรอง เพราะฉะนั้นคงจะมีทุกแบบ แล้วคงจะมีร้านหนังสือที่เจ๋งไม่เข้ามาร่วม และที่เจ๊งแต่เราไม่รู้ด้วย แต่โดยนโยบายหลัก เขาอยากให้มีเยอะขึ้น เพราะเขาเชื่อว่ามันจะกลายเป็นช่องทางในการไปวางหนังสือของนักเขียนอิสระ หรือสำนักพิมพ์ที่เล็ก เป็นลักษณะน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ไอ้นี่ก็เป็นร้านหนังสืออิสระ ส่วนไอ้นี่ก็เป็นนักเขียนอิสระ ถือเป็นช่องทางหนึ่ง
เรื่องหนึ่งที่คนชอบพูดว่าร้านหนังสืออิสระเป็นแหล่งรวมหนังสือคุณภาพ ถือเป็นตัวช่วยให้ร้านหนังสืออิสระได้หรือไหม
มันไม่มีขนาดนั้นหรอก เพราะใครจะวัดคุณภาพของหนังสือ หนังสือเป็นเรื่องของรสนิยมซะค่อนข้างเยอะ มันมีคุณภาพของนิยาย มีคุณภาพของการจัดรูปเล่ม ซึ่งถ้าพูดไปเยอะเราจะหาหนังสือไม่ได้ แต่เราขายหนังสือที่เราชอบได้ เช่น เจ้าของร้านชอบหนังสือแนวนี้ ก็สั่งหนังสือแนวนี้มาเยอะหน่อย วางหนังสือแนวนี้ให้เด่นหน่อย แต่เราก็พูดกันเป็นเองนะ เรื่องคุณภาพ แต่มันไม่น่าจะใช้วิธีพูดที่ถูก เราไม่ได้ทำห้องสมุดซึ่งทำหนังสือที่เหมาะกับนักเรียน เราไม่ได้ทำห้องสมุดที่คัดหนังสือสำหรับนักคิดหรือสถาปนิก เราก็ต้องคัดหนังสือที่คนอ่านในละแวกนั้นสนใจ และเราเองก็รู้สึกดีที่ได้ขาย
คุณมีวิธีแนะนำการเลือกหนังสือเข้าร้านหนังสืออย่างไรบ้าง
ผมว่าคนขายนั่นแหละที่ต้องอ่านหนังสือเยอะ ต้องอ่านมากเป็นพิเศษ ถึงจะรู้ว่า เล่มไหนควรจะแนะนำเขา เล่มไหนถึงจะเหมาะ Mood & Tone ของฤดูนี้ หรือสภาวะสิ่งแวดล้อม ร้านหนังสืออยู่ใกล้มหาวิทยาลัย นักเรียนเรียนอะไรกันบ้าง รัฐศาสตร์เรียนอะไร สังคมเรียนอะไร นิเทศเรียนอะไร ถ้าคุณไม่รู้จักหนังสือที่เหมาะกับเด็กรัฐศาสตร์ ไม่รู้หนังสีอที่เหมาะกับเด็กนิเทศ มันก็ไม่ได้ใช่ไหม ตรงนี้ก็เป็นการบ้านที่คนทำร้านต้องทำ ต้องรู้จักหนังสือให้มาก เห็นมิติของมัน แนะนำได้ จัดวางได้
เข้าร้านหนังสืออิสระมาแล้วหลายร้าน มีจุดไหนบ้างที่ชอบและไม่ค่อยชอบ
บางทีก็ไม่เป็นระเบียบ คือบ้านที่เป็นอิสระบางทีก็ไม่จำเป็นต้องมีระเบียบ แต่ถ้าร้านหนังสือมันยังต้องคงความระเบียบ เพราะมันไม่ได้เป็นโลกส่วนตัวของเจ้าของร้าน เช่นถ้าสมมติ ผมเข้าไปในห้องนักเขียนแล้วรก มันก็เป็นธรรมชาติของเขา เพราะว่ามันเป็นห้องเขา เขาชอบรกๆ รกแล้วเกิดจินตนาการ หรือเขาไม่มีเวลาจัด แต่ถ้าร้านหนังสือ ผมรู้สึกว่า เขายอมให้โลกของเขาเป็นโลกของเราร่วมกัน ดังนั้นผมก็จะรู้สึกว่า ถ้าร้านมันมีความเป็นระเบียบอยู่ ก็จะทำให้เราเชื่อมโลกเข้ากันง่ายมากขึ้น แต่ถ้าชอบก็คงเป็นความเฉพาะของมัน มีกลิ่นเฉพาะ มีพนักงานเฉพาะ มีเรื่องราวเฉพาะ แล้วก็หนังสือเฉพาะ ซึ่งก็เป็นจังหวะโอกาสที่เราจะได้สัมผัส แล้วยิ่งทำงานแบบเรา จำต้องใช้หนังสือที่หลากหลาย ก็ตอบโจทย์เราบางครั้ง เวลาเดินทางไปต่างจังหวัด
ณ วันนี้มีร้านหนังสือเกิดใหม่ขึ้นเยอะมาก ถือว่าเป็นกระแสไหม
เป็นกระแสก็ไม่เห็นแปลก โลกมันก็อยู่ด้วยกระแสน้ำ กระแสลม กระแสเพลง กระแสเกาหลี กระแสกาแฟ กระแสร้านหนังสืออิสระ กระแสนักเขียน ก็เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ไม่เสียหายอะไร ก็เป็นกระแสทางความคิด ทางสติปัญญา มีบ้างก็ดี เป็นกระแสที่ดี ถือว่าเป็นกระแสน้ำอุ่น
แล้วถ้ามองในเรื่องของความอยู่รอดหรือความยั่งยืนล่ะ
ผมไม่ค่อยได้มองนะ อาจจะเพราะผมไม่ได้เป็นคนลงไปคลุก ลงไปทำ และไม่ใช่ความฝันของผม ผมจึงมองแบบคนให้กำลังใจและสนับสนุน พร้อมที่จะช่วยเหลือ ไม่ได้วางหรือมองมันแบบรายละเอียด
ถามจริงๆ โดยส่วนตัวคิดว่า ร้านหนังสืออิสระจำเป็นต่อสังคมไทยไหม
จำเป็นไหม มันยังอยู่ในระดับที่ว่ามีก็ดี มีเยอะก็ยิ่งดี เหมือนร้านกาแฟจำเป็นกับคน มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ไม่มีก็กินที่บ้านได้ แต่มันมีแล้วดีไง
มองแบบนี้ได้ไหมว่า พวกหนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กๆ หรือนักเขียนอิสระก็มีช่องทางเยอะในการจัดจำหน่าย
ใช่ เอื้อต่อการงอกงามของนักเขียนอิสระ
ถ้าเช่นนั้น ในฐานะที่ต้องมารักษาการตรงนี้ อะไรคือสิ่งอยากจะลงมือทำหรือเข้ามามีช่วยเป็นพิเศษ
คือเวลาเขาอบรม อะไรที่มันน่าเบื่อ ผมบอกเขาว่าอยากทำให้การอบรมมันไม่น่าเบื่อ เขาถือว่าคนทำร้านหนังสือเป็นผู้ประกอบการในทางสังคมด้วย ซึ่งคนเหล่านี้เขาอาจจะมีจุดอ่อน จุดแข็ง หรือต้องการการพัฒนาบางด้าน อาจจะเป็นเรื่องระบบบัญชี เรื่องการวางแผน สร้างกลยุทธ์หรืออะไร หรือแม้แต่การทำการตลาดของร้านหนังสืออิสระต่างๆ แต่จะอบรมอะไรก็ตาม ถ้าผมมีส่วน ผมก็จะไม่ให้มันน่าเบื่อ เปิดมามีประธานมากล่าว มีคนมาพูด มีประธาน รองประธานมาพูด ล่าสุดเขาเชิญผมไปพูด ผมบอกเลย ไม่ไป พูดอะไรกันนักหนา เพราะฉะนั้นถ้าได้มีโอกาสร่วม ก็จะไปดูกระบวนการตรงนี้แหละ เช่น การเลือกวิทยากร การหาเวลาจังหวะ สถานที่ ที่ๆ ควรจะอบรม เวลาที่ควรจะอบรม จำนวนคน สิ่งเหล่านี้ ผมสนใจ แล้วถ้าเขาจะให้เราช่วยประเมินความสำเร็จของกิจกรรม หรือกลยุทธ์บางอย่างที่คิดว่าจะใช้ ซึ่งไม่ใช่ว่าคุณเปิดร้านกาแฟมา กิน 10 แก้วได้ฟรี 1 แก้ว หรือเปิดร้านนวด นวด 10 ครั้ง นวดฟรี 1 ชั่วโมง คือมันไม่ใช่กลยุทธ์ที่ซ้ำซาก และไม่ใช่การตลาดแบบลงท้ายด้วยเลข 9 วันนี้ขายได้ 99 199 299 โธ่เอ๊ย! พวกคุณเอ๋ย! มันต้องประเมินกันใหม่ ไม่ใช่ไปคิดว่านักเขียนดังๆ จะมาช่วยให้ร้านตัวเองขายดี หรือสนใจจะเอาแต่นักเขียนรางวัลซีไรต์ มาร้าน เขามีจังหวะของเขา ฤดูของเขา ถ้าเราไปเล่นตามฤดูของเขา เราก็จะเหนื่อย คือเราก็ต้องรู้ว่า โลกของการจัดกิจกรรมมันเป็นแบบไหน และจะประเมินความเสี่ยงได้จากอะไร บางทีเราดูจากกระดาษร่างความคิด ก็สามารถประเมินได้แล้วว่า อันนี้มีแนวโน้มว่าจะดี อันนี้มีแนวโน้มว่าจะแย่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูก เพราะมันมีคนที่ลองผิดลองถูกมาก่อนเป็นร้อยแล้ว คนที่ร้อยหนึ่งต้องหัดใช้บทเรียนจากคนอื่นๆ บ้าง
ถ้าอย่างนั้น การอบรมของคุณจะเริ่มจากจุดไหน
วิธีคิดของคนทำอบรมต้องคิดก่อนว่า มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้ผ่านการเอานายอะไรมาพูด แล้วทุกคนจะมีเรียนรู้ แต่มันมีกระบวนการเรียนรู้ผ่านการไม่พูด หรือผ่านการพูดคุยกันเองในกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องมีคนมาสาธยายเยอะก็ได้ แล้วเป็นประธาน เป็นรองประธานไม่ต้องพูดก็ได้ แล้วพูดก็พูดซ้ำกันอยู่นั่นแหละ บางทีคนที่เชิญมาก็ไม่ได้เตรียมการสักแต่จะเล่าประสบการณ์ ดังนั้นคนพูดก็ต้องทำการบ้าน คนมาฟังก็ต้องทำการบ้าน คนจัดอบรมเองก็ต้องทำการบ้าน เพื่อให้เวลาอันจำกัดและงบประมาณมันได้ผลที่คุ้มค่า ไม่ใช่คิดแค่ว่าคงจะได้ผลไม่มากก็น้อย ถ้ามันน้อยเกินกว่าที่ฉันต้องนั่งรถไฟมาล่ะจะทำยังไง
เรื่องการวางแผนอะไรต่างๆ ในการอบรมจำเป็นต้องพูดถึงไหม
การวางแผนก็สำคัญ แต่การที่มันไม่ได้เป็นไปตามแผนต่างหากสำคัญกว่า หรือการมีแผนสอง ต่างหากที่สำคัญมากกว่า เพราะเวลาเราวางแผน เราก็ไม่สามารถเห็นปัญหาที่เกิดได้ คือเอาอย่างนี้ดีกว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่เราชอบพูดกันนี่ บ้านผมอยู่ใกล้ทะเล ผมรู้ว่าเวลาที่น้ำทะเลมันอยู่แค่คอมันยังไม่ท่วมปากหรอก มันก็อยู่ได้ แต่เราไม่รู้นี่ว่า เมื่อไหร่มันจะมีคลื่นลม พอมันมีคลื่นปุ๊บ จากคอมันสูงเข้าปากเลย จบเลย เพราะฉะนั้นเราอาจจะพอเพียงให้มันอยู่แค่อก เผื่อเวลามันมีคลื่นเรายังคงหายใจได้ หรือดีไม่ดี เราก็ต้องมีห่วงยางสำรองไว้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ว่าจะอยู่แบบดิบๆ แล้วพอเกิดอะไรเปลี่ยนแปลงนิดเดียว น้ำเข้าปากเลย สำลักตาย แบบนี้เราก็ต้องชี้ว่าอะไรที่เราอยากให้เขาอยู่แบบพอเพียงได้จริงๆ
เท่าที่สัมผัสหรือพูดคุยมา คนเปิดร้านไม่ค่อยมีแผนสอง
ไม่รู้ ผมไม่ได้เป็นคนเปิดร้าน (หัวเราะ)
ถ้าสมมติคุณจะเปิดร้านเอง คุณจะทำอย่างไร
ถ้าเปิด ผมก็ต้องมีอิสระจริงๆ ไม่ใช่ว่าเปิดแล้ว แม่ไม่ค่อยสบายก็เลยเปิดไม่ได้ พอดีต้องเลี้ยงแมว พอดีน้าเขยให้ไปรับหลานสาว คืออิสระมันไม่ได้แปลว่าอะไรก็ได้นะ แต่มันคือการทำให้ร้านนี้เอื้อให้ชีวิตเราไม่ถูกพันธนาการ ซึ่งต้องมีวิธีการจัดการด้วย ไม่ใช่ป่วยคนนึงแล้วร้านต้องปิด แบบนี้ก็ไม่อิสระ แต่ถ้าร้านจะปิด โดยพื้นฐานว่า ปิดแล้วเราพออยู่ได้หรือมิวิธีสื่อสารกับคนอ่านว่า ช่วงนี้ปิด 2 เดือนครึ่ง ไปเที่ยวร้านคนอื่น แบบนี้เป็นอิสระ เราวางแผนไว้แล้วว่าร้านเราจะปิดเท่าไหร่
แล้วถ้าเป็นเรื่องทุน อย่างกำไร-ขาดทุน คุณมองประเด็นอย่างไร
คุณทำธุรกิจต้องมีโอกาสขาดทุนหรือกำไร ถ้าทำธุรกิจแล้วมีแต่กำไร คงไม่มีใครไปเป็นลูกจ้าง ไม่มีใครขับแท็กซี่ หรืออยากทำอย่างอื่น การที่คุณอยากเป็นเจ้าของกิจการก็ต้องยอมรับความเสี่ยง แม้จะขาดทุนก็โอดครวญได้ระดับหนึ่ง แต่โลกมันจะไม่ยุติธรรมเลยถ้าทุกคนทำแล้วได้กำไรหมด แต่เราก็ต้องดูว่า เราทำดีพอหรือยัง เราวางแผนดีหรือยัง เราจัดการแก้ปัญหาเป็นระบบหรือยัง ไม่ใช่เราจะกำไรอย่างเดียว แล้วเราก็ไม่เข้าใจการขาดทุนเลย มันเป็นโลกของธุรกิจ มันเป็นเรื่องปกติ
นอกจากเรื่องอบรมแล้ว คุณอยากทำอะไรอีก
ผมยังไม่ค่อยคิดจะทำอะไรเท่าไหร่ เป็นเพียงประธานรักษาการ อยู่ในสภาพที่พอจะช่วยได้ รับได้ แต่ไม่ได้มีนโยบายจะมาหาเสียง ว่าให้เลือกผมนะ แล้วผมจะทำให้คุณ 1-2-3-4 หรือจะทำสิ่งนี้ คือมันไม่ได้อยู่ในนโยบายของชีวิต และโดยเฉพาะยิ่งไม่ควรมีมาก เพราะเขาเป็นร้านหนังสืออิสระ มันจึงไม่ควรเป็นนโยบายที่ออกจากเรา เพียงแต่ผมพร้อมที่จะรับฟังเขาได้ เช่น ร้านผมอยากจัดกิจกรรม ฟังได้ ร้านผมอยากได้นักเขียน เข้าใจได้ ไม่อยากทำกิจกรรมอะไรเลย เข้าใจได้ ร้านผมอยากเปิดร้านกาแฟ แต่มีปัญหาเรื่องเครื่องชงกาแฟ น้ำรั่ว เออ...สิ่งเหล่านี้เข้าใจ เราเคยผ่านมาแล้ว