เมียยากูซ่า : เรียนรู้ที่จะเชื่อในคุณค่าของตัวเอง

เมียยากูซ่า

หากพูดถึงผู้หญิงขายบริการ หลายๆคนอาจร้องยี้ ด้วยความรู้สึกว่า ทำไมพวกเธอถึงต้องเอาร่างกายไปแลกเงิน ขายศักดิ์ศรีของตัวเองไปเพื่ออะไร ทำไมถึงไม่รักตัวเองเอาซะเลย ทั้งไร้คุณค่าในตัวเองและยังเป็นอาชีพที่โดนผู้คนประณามเหยียดหยามต่างๆนานา งานสุจริตมีตั้งมากมาย แต่ทำไมพวกเธอกลับเลือกจะทำงานแบบนี้? แน่นอนว่าเราไม่อาจรู้ได้ถึงเหตุผลในการกระทำของพวกเธอหรอกแต่หนังสือเล่มนี้จะบอกคุณได้ว่า แม้บางคนจะมีอาชีพอันไร้ค่าและต่ำต้อยในสายตาของคนอื่น แต่เขาเองก็สามารถเป็นคนที่มีคุณค่าในแบบของเขาได้เหมือนกัน

“เมียยากูซ่า”เป็นผลงานของ ธนัดดา สว่างเดือน ที่เล่าถึงชีวิตของ “นุ้ก”สาวไทยคนหนึ่งที่ต้องไปค้าประเวณีในประเทศญี่ปุ่น จากเด็กสาววัยแรกแย้มที่ต้องดิ้นรนทำงานหนักเพื่อเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด ผลิกผันสู่การเป็นผู้หญิงขายบริการที่ต้องมาขายเรือนร่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงเพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ และยังต้องผจญชะตากรรมอันน่าหวาดหวั่นและอันตรายในต่างบ้านต่างเมือง แม้เส้นทางชีวิตของเธอไม่อาจเรียกได้ว่าโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ก็เป็นวิถีทางที่เธอเลือกมันด้วยตัวของเธอเอง

ตัวละครเอกของเรื่องมีชื่อว่า “นุ้ก” เป็นเด็กสาวต่างจังหวัดที่ฐานะยากจนและค่อนข้างลำบาก และเพราะความยากจนนี้เองที่ทำให้นุ้กต้องกลายมาเป็นผู้หญิงขายบริการ ก่อนจะถูก ‘ขาย’ ให้มาทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองแห่งแสงสีและความทันสมัย นุ้กเลือกจะทำงานขายบริการเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวที่ขาดเสาหลักอย่างพ่อ เพื่อแม่จะได้ไม่ลำบากและน้องทั้งสองคนได้เรียนหนังสือต่อไป แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองทำผิดแต่อย่างใด สิ่งที่คิดในใจมีเพียงสิ่งเดียว นั่นคือทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด เธอทำงานขายบริการหลายรูปแบบ จนในที่สุดก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับยากูซ่า ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เรียกว่า “ไอ้กอ” จากตัวอย่างประโยคที่ว่า

“เฮียรงค์สอนและเตือนฉันหลายเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือระวังอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับนักเลงยากูซ่า หรือที่คนไทยในญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า ไอ้กอ”

หลังจากที่นุ้กกลายมาเป็น “เมียยากูซ่า” แล้ว เธอก็ได้เลิกขายบริการและผันตัวเองมาเป็นแม่เล้าหรือที่เรียกกันว่า “แม่แท๊ก” แทน ซึ่งนั่นทำให้เธอได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจของยากูซ่า ที่รู้ๆกันว่าอันตรายและเสี่ยงตายมากแค่ไหน แม้เส้นทางชีวิตของนุ้กจะไม่ราบรื่นสวยงาม แต่มุมมองของเธอ ที่มองโลกด้วยความเข้าใจ ยอมรับต่อสิ่งที่ตนเองเลือก ไม่โทษโชคชะตาฟ้าดิน ก็เป็นอาวุธสำคัญอย่างมากที่จะพาตัวเองให้ผ่านช่วงเวลาเลวร้ายเหล่านั้นไปได้ ดังตัวอย่างประโยคนี้

“การที่ฉันต้องเข้ามาเดินอยู่บนเส้นทางขายบริการหรือที่ใครๆเขาเรียกกันว่าถนนของคนค้ากาม ถึงแม้ว่ามันจะดูเลวร้ายไร้ศีลธรรม แต่มันก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกกว้าง ได้เรียนรู้ถึงความเป็นคนที่มีมากมายหลายรูปแบบแตกต่างกันไป”

หนังสือเล่มนี้ ดูเผินๆอาจเป็นเพียงหนังสือสารคดีที่มาเล่าประสบการณ์แปลกใหม่ แค่พอให้ผู้อ่านรู้สึกตื่นเต้นและลุ้นระทึกไปกับชะตากรรมอันโลดโผนของตัวเอก แต่อันที่จริงแล้ว ผู้เขียนได้สอดแทรกแนวคิดที่สำคัญและสะท้อนปัญหาสังคมไทยทุกยุคทุกสมัยออกมาได้เป็นอย่างดี ปัญหาการขายบริการดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก เพราะเป็นงานที่สบาย ไม่ต้องมีความรู้ก็สามารถทำได้ และที่สำคัญคือได้เงินมาอย่างง่ายดาย แม้จะต้องแลกด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นคน แต่พวกเธอเหล่านั้นก็ยินดี เรียกได้ว่าผู้เขียนได้แฝงประเด็นน่าคิดไว้หลายข้อทีเดียว ในส่วนของการดำเนินเรื่องก็เข้าใจง่าย เพราะใช้การดำเนินเรื่องตามปฏิทิน และเขียนเล่าแบบมุมมองของบุรุษที่หนึ่ง ซึ่งมีข้อดีคือได้เห็นความคิดของตัวละครเอกอย่างเด่นชัด สำนวนการบรรยายของผู้เขียนเป็นภาษาระดับปาก ค่อนข้างเป็นกันเอง เสมือนเพื่อนเล่าประสบการณ์ให้เพื่อนฟัง จึงทำให้ผู้อ่านเข้าถึงตัวละครและมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวต่างๆมากขึ้น แต่ก็มีข้อติเล็กน้อย เพราะผู้เขียนมีการใช้คำที่หยาบคายค่อนข้างเยอะ ดังตัวอย่าง

“ส่วนไอ้กอตัวที่ฉันไปด้วยมันดูน่ากลัวเอาการ เพราะนิ้วก้อยมันกุดทั้งข้างซ้ายข้างขวา บ่งบอกว่าเหี้ยแน่นอน แถมที่ขอบตาก็มีรอยสักดำเข้ม ฉันก็นึกอยู่ในใจว่าคืนนี้จะเป็นอย่างไรวะ?”

แม้ภาษาในเรื่องจะไม่สละสลวยมากนัก แต่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวได้น่าสนใจและน่าติดตามตัวละครทุกตัวมีความสมจริง โดยเฉพาะตัวละครเอกอย่างนุ้กซึ่งเป็นตัวละครที่แสดงอารมณ์ออกมามากที่สุด หากแต่ไม่เคยแสดงอารมณ์น้อยใจต่อโชคชะตาออกมาเลยแม้แต่น้อย นุ้กเลือกที่จะทำอาชีพนี้ด้วยตัวเอง เธอจึงยอมรับต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดตามมา ไม่เคยเรียกร้องอะไรทั้งสิ้นจากสังคม แม้ชีวิตของเธอจะตกต่ำและเจ็บปวดแสนสาหัสแค่ไหนก็ตาม แต่เธอก็ยังเลือกจะก้าวเดินต่อไปด้วยสองขาของตัวเอง ดังประโยคนี้

“แค่ใครจะรู้บ้างว่าคนที่ต้องตกอยู่ในอาชีพอย่างนี้มันก็เหมือนเป็นการตกนรกทั้งเป็น มีแต่ความทุกข์ทรมาน เหมือนถูกสาปไปอีกตราบนานเท่านาน แต่ถึงอย่างไรคนที่อยู่ในอาชีพอย่างนี้ก็ไม่เคยไปเรียกร้องอะไรทั้งสิ้นจากสังคมไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือและความเห็นใจจากหน่วยไหนของรัฐ เพราะพวกเรารู้กันอยู่แก่ใจว่าพวกเราทำตัวเองและเลือกที่จะเป็นอย่างนี้”

นอกจากนั้นนุ้กก็ยังมองโลกในด้านดีๆและภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองได้เลือกทำ แม้มันอาจจะดูน่าอับอายสำหรับคนในสังคม แต่เธอก็ยังให้คุณค่ากับสิ่งนี้และไม่คิดจะดูถูกตัวเองเลย ดังตัวอย่าง

“แต่มันก็ยังดีกว่าที่ไม่คิดจะทำมาหากินอะไรเลย พวกเรากลับมีความภาคภูมิใจและมีความสุขที่ได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณพ่อแม่ผู้มีพระคุณต่อพวกเรา และไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ได้ไปก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรง”

ถึงแม้เส้นทางชีวิตที่ตัวละครเอกของเรื่องนี้เลือกเดิน จะไม่ใช่เส้นทางที่ถูกต้องและดีงามสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้เลือกมาแล้ว สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือ ยอมรับมันและก้าวเดินต่อไป หากเปรียบเส้นทางชีวิตที่ราบรื่นของคนอื่นว่าโรยด้วยกลีบกุหลาบ เส้นทางชีวิตของผู้หญิงขายบริการอย่างนุ้กอาจเรียกได้ว่าโรยด้วยหนามกุหลาบแหลมคม เป็นหนามกุหลาบที่เวลาเหยียบย่างลงไป เลือดหลั่งรินไม่หยุด น้ำตาไหลเป็นทาง แต่น่าแปลก ที่มุมปากของเธอยังปรากฎรอยยิ้มจางๆ

 

เบญจวรรณ รอดจันทร์ ( แนน )

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ