ผลึกแห่งชีวิตกวี : 64 ปี สถาพร ศรีสัจจัง

ผลึกแห่งชีวิตกวี

หากพูดถึงกวีต้นแบบแห่งยุคสมัย ที่ยังมีอิทธิพลทางความคิด ให้แก่นักคิด นักเขียน ในยุคปัจจุบันได้ศึกษาตัวตน และยังเป็นที่เคารพ ยกย่องให้เป็นพี่ใหญ่แห่งวงการวรรณศิลป์ ก็คงมีไม่กี่คนที่ยังยืนหยัดอยู่บนเส้นทางนี้มา โดยตลอด ออล แมกกาซีน ได้ร่วมสนทนาจากผลึกในห้วงความคิดแห่งชีวิตวัย 64 ปีของสถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2548 เขาเป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องประชาธิปไตยช่วง 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นตัวผลักดันให้ชีวิตเขา เลือกที่นำเสนอข้อเท็จจริงของสังคมผ่านปลายปากกา พนม นันทพฤกษ์

all : ผ่านเหตุการณ์ ผ่านประสบการณ์มากมาย อยากให้อาจารย์ช่วยถอดบทเรียนชีวิต การเป็นนักเขียนแก่คนรุ่นหลังว่าเป็นอย่างไร
สถาพร : ผมคิดว่าคนเขียนหนังสือรุ่นผมมีฐานชีวิตที่ผลักดันให้เลือกมาเล่าเรื่อง ส่วนสำคัญก็คือผมมีชีวิตในช่วง 10 ปีแรกอยู่ในสังคมชนบท ซึ่งก็เป็นข้อมูลชุดหนึ่งของชีวิต หลังจากนั้นก็ย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง วิถีชีวิตก็เปลี่ยนจากเด็กบ้านนอกไม่เคยใส่รองเท้าไปโรงเรียน ต้องมาเป็นคนเมือง จนกระทั่งจบชั้นมัธยม แล้วไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในยุคที่ยังไม่เจริญ ก็ได้เรียนรู้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง และยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง ผมจึงเลือกที่จะเล่าเรื่องโดยวิธีการเขียนที่ต้องไปสัมพันธ์กับกิจกรรมทางการเมืองในคืนวันสุกดิบ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การได้รับอิทธิพลในช่วงที่บ้านเมืองเราตกอยู่ในระบอบเผด็จการที่ค่อนข้างเต็มรูปแบบ ทำให้เราต้องไขว่คว้าศึกษางานต่างประเทศ จึงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักเรียนร่วมสมัย งานของผมในช่วงแรกของชีวิตจึงผูกโยงอยู่กับชีวิตและสังคมมากกว่าเรื่องอื่น ๆ

การเติบโตของนักคิดในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สังคมไทยต้องการสิ่งใหม่ ๆ ต้องการข้อมูลใหม่ ๆ ที่ผ่านงานศิลปะโดยเฉพาะงานวรรณกรรม ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในขบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะฉะนั้นนักเขียนรุ่นนี้จึงเป็นฐานของงานเขียน แต่ก็ยังมีข้อบกพร่อง เปรียบได้ว่าสังคมไทยก็เหมือนทำนบที่กั้นน้ำเอาไว้ เกิดพังทลาย คือทุกอย่างที่กีดกันความคิด จึงแตกกระจายเหมือนน้ำ เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ งานเขียนที่สร้างสรรค์จึงเน้นในเรื่องของสัจนิยมมากไป เหตุการณ์ในช่วงนั้นทำให้ผมได้ตรวจสอบทัศนะของตัวเองในหลาย ๆ เรื่อง จนพบว่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ในเรื่องของรูปแบบ และเนื้อหา ก็เลยเกิดงานของ พนม นันทพฤกษ์ นามปากกาของสถาพร ศรีสัจจัง ก็เขียนหนังสือมาเรื่อย ๆ กล่าวโดยสรุปก็คือ วิธีการของกระบวนทัศน์ในการเขียนหนังสือ การเล่าเรื่อง สำนวนภาษาทางวรรณศิลป์ มันเกิดจากประสบการณ์ที่บูรณาการขึ้นมา มีส่วนเนื้อหาผูกติดอยู่ในเรื่องราวที่เป็นจริง ที่ได้รับรู้ในช่วงต้นของชีวิต ความดีงามของชนบท ซึ่งเราได้อยู่กับสังคมที่พึ่งพาตัวเองได้ และช่วงที่สองได้ไปอยู่ในเมืองก็เรียนรู้ความขัดแย้งของความแตกต่าง

all : สิ่งที่ทำให้อาจารย์รักในการเขียนหนังสือ นอกจากการอ่านแล้ว อาจารย์มีตัวช่วยอย่างอื่นอีกหรือเปล่า
สถาพร : ผมคิดว่าเป็นเรื่องฐานชีวิตของความเป็นสังคมชนบท สังคมเมือง และวิถีชีวิตที่อยู่กับทุ่งนา ป่าเขา ทำให้ผมได้เรียนรู้ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรม ย่าของผมอ่านหนังสือไม่ออกเขียนก็ไม่ได้ แต่จำบทกลอนในเรื่องรามเกียรติ์ได้สักครึ่งเล่ม ย่าจำเรื่องขุนช้างขุนแผน และเรื่องราวอื่น ๆ ได้มากมาย ในขณะที่สิ่งแวดล้อมของชนบทภาคใต้ก็มีการแสดงหนังตะลุง โนราห์ ต้องอาศัยจังหวะของการร้อง ผมคิดว่าจังหวะของถ้อยคำเหล่านี้อยู่ในกระบวนการของชีวิต ค่อย ๆ หล่อหลอมเราให้เกิดความประทับใจ ภาพทางสังคมที่ดำรงอยู่จริง ค่อย ๆ ซึมซาบเข้าไปกลายเป็นโลกทัศน์ส่วนหนึ่ง ข้อมูลดิบที่เราได้รับทั้งหลาย ที่เราเห็นมาโดยตลอดว่ามีความแตกต่างด้านชนชั้น ด้านเศรษฐกิจ ช่องว่างของโอกาส จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เข้าไปอยู่ในงานเขียน แต่ขณะเดียวกันเราก็อยู่กับความจริง ความดีงามของศิลปะด้วย เพราะความไพเราะของบทกลอน ความสนุกสนานของหนังตะลุง โนราห์ ค่อย ๆ ผสมผสานเป็นฐานให้งานเขียน ก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า แรงบันดาลใจที่อยากจะใช้วิธีนี้เล่าเรื่อง

all : งานเขียนที่ดีต้องเป็นอย่างไร
สถาพร : การเขียนหนังสือไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ทั้งในเรื่องเนื้อหาและรูปแบบ ไม่เคยมีรูปแบบของเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ หรือนวนิยายที่ดีที่สุด แต่คุณต้องรู้ว่าต้นไม้ทุกต้นต้องมีราก ต้องรู้ว่ารากของการเขียนในสังคมนั้นมาได้อย่างไร เขาเขียนร้อยกรอง เรื่องสั้น นวนิยายกันอย่างไร ซึ่งนั่นก็คือข้อมูล เมื่อรักที่จะก้าวเข้ามาในเส้นทางวรรณศิลป์ คุณต้องกลับไปดูเส้นทางสายเก่าว่าเขาศึกษาอะไรไว้บ้าง และต้องหมั่นเติมเต็มข้อมูลเพื่อเป็นรากฐาน และต้องตระหนักเสมอว่า การเขียนหนังสือเพื่อการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมคือ การสร้างนวัตกรรม เพราะคำว่านวัตกรรมคือการสร้างสิ่งใหม่ คุณต้องเชื่อให้ได้ว่าสิ่งใหม่จะเกิดขึ้นได้จากความคิดใหม่ ๆ และการจะเกิดความคิดใหม่ ๆ ได้ต้องมีกระบวนการ มีฐานข้อมูล หรือเนื้อหาที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ คุณต้องเข้าใจว่าในโลกนี้ ไม่มีใครเขียนงานได้เหมือนกัน นักเขียนที่ประสบความสำเร็จต้องพบสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือ อัตลักษณ์ ของเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง เช่น 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็มีชุดภาษาที่แตกต่างจากชุดภาษาของกฤษณา อโศกสิน หรือวินทร์ เลียววาริณ มีรูปแบบในการนำเสนองานที่แตกต่างจากชาติ กอบจิตติ ฐานข้อมูลเหล่านี้จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า รสนิยม คุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งมาสร้างรสนิยมในวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งรสนิยมจะมาสร้างเรื่องที่สำคัญก็คือ สร้างความแตกต่าง และเมื่อถึงห้วงเวลาหนึ่งคุณก็จะเกิดคำว่า ถ้า หรือคำว่า สมมุติ สองคำนี้เรียกว่า การเกิดจินตนาการ สิ่งที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดเสมอว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้มากมาย เพราะจินตนาการทำให้เกิดนวัตกรรม ถ้าไม่มีจิตนาการคุณก็ไม่มีวันสร้างสิ่งใหม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีงานเขียนที่ดีที่สุด และงานเขียนที่ดีอาจจะรออยู่ในยุคสมัยของคุณก็ได้

ผลึกแห่งชีวิตกวี 64 ปี สถาพร ศรีสัจจัง all : เคยตกอยู่ในภาวะตีบตันในการสร้างสรรค์งานหรือไม่ และผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร
สถาพร : ก็ต้องถือว่าเป็นช่วง ๆ เช่นช่วงแรก ๆ จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถือว่ามีความพวยพุ่งของความรู้สึกอยากเขียน กลายเป็นวรรณกรรมสำเร็จรูปที่มีแต่เรื่องราวทางการเมือง ผมมีรากฐานชอบอ่านหนังสือ เช่น หนังสือวรรณคดีไทย เพราะฉะนั้นในการเขียนกวีนิพนธ์จึงเขียนได้หลากหลายรูปแบบ และค่อยข้างสนใจในกลวิธีของกวีนิพนธ์ไทยโบราณ จนพบทางของตัวเองอยู่ในบางระดับหนึ่ง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมได้สำรวจตัวเองว่าการเขียนร้อยกรองที่ดีควรเป็นอย่างไร และพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นก็เริ่มเขียนเรื่องสั้นบ้าง เริ่มเขียนนวนิยายบ้าง วิธีที่จะช่วยหล่อเลี้ยงความคิด คือช่วงไหนที่ผมรู้สึกว่ายังข้ามตัวเองไม่ได้ ผมก็จะใช้วิธีการดูแลตัวเอง โดยการอาสาสมัครไปเขียนคอลัมน์บ้าง เพราะการเขียนนวนิยาย หรือเรื่องสั้นต้องใช้พลังงาน ต้องเอาจริงอย่างต่อเนื่อง

all : จะเขียนหนังสืออย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
สถาพร : คนในยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งสูตรสำเร็จ ผมว่าต้องเลือกทำในแบบที่ชอบ เช่น กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย แต่ต้องทำให้ดีกว่าเรื่องที่เราชอบอ่าน คำว่าดีกว่านั้น คิดเอาเอง เมื่อสังเคราะห์ฐานข้อมูลดิบ โดยเลือกองค์ความรู้ที่ได้มา เริ่มจินตนาการจากฐานข้อมูลเก่า จึงจะเกิดการสร้างสิ่งใหม่ ผมว่านี่คือคำแนะนำที่ไม่น่าจะเป็นสูตรสำเร็จ แต่ว่าตัวชี้ขาดก็อยู่ที่การลงมือทำ และต้องฟังเสียงที่เขาวิพากษ์วิจารณ์อยู่เรื่อย ๆ เขียนแล้วลองให้เพื่อนอ่านดู หลายคนไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีอะไรอยู่ข้างใน งานเขียนจึงเป็นงานที่โดดเดี่ยว ต้องทำคนเดียว เพราะคุณต้องมีสมาธิ คนรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่กับตัวเองไม่เป็น ซึ่งการอ่านหนังสือ และอยู่กับงานเขียนเป็นการฝึกสมาธิ เป็นการเรียนรู้ความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง พวกเรามักไม่รู้แล้วว่าความสุขที่ได้อยู่กับตัวเองนั้นเป็นอย่างไร

all : เรื่องสั้น ‘คลื่นหัวเดิ่ง’ นวนิยาย ‘เด็กชายชาวเล’ ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น มุมมองของอาจารย์การแปลช่วยส่งเสริมงานวรรณกรรมอย่างไร
สถาพร : ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่จริง ๆ แล้ว เนื่องจากกระบวนการสร้างวรรณศิลป์มันเป็นอัตลักษณ์ทางภาษาที่ซึมซาบอยู่ในจิตวิญญาณของประชาชาติ เพราะฉะนั้นการแปลงานทางวรรณศิลป์ จากภาษาหนึ่งมาอีกภาษาหนึ่งน่าจะทำให้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหา รูปแบบ และภาษา มีนัยยะซ่อนอยู่ จึงยากที่คนอีกชาติ อีกภาษาจะรู้และเข้าใจ เช่น คนภาคใต้ยากที่จะเข้าใจภาษาอีสาน ภาษาถือเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม แต่ว่าอย่างไรก็ตามเครื่องมือในการสื่อสารก็คือภาษา เพราะภาษาทำให้คนต่างชาติพันธุ์สามารถจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ ถ้าหากคนแปล เป็นนักวรรณศิลป์ที่มีองค์รวมของความสมบูรณ์ที่เข้าอกเข้าใจเรื่องของรากเหง้าของวัฒนธรรมของอีกชาติหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ก็จะมีส่วนช่วย จากประสบการณ์ส่วนตัวผมพบว่าหลายครั้งที่งานของผมได้รับคัดเลือกไปแปล บังเอิญผมพอใช้ภาษาอังกฤษได้ อ่านแล้วก็ผิดหวังอยู่บ้าง แต่เห็นบางครั้งเขาสื่อสารความรู้สึกได้ตรง เพราะเรื่องใหญ่ของงานวรรณศิลป์ก็คือความรู้สึก ที่นี่ความรู้สึกมันแปลไม่ได้ มันต้องเป็นองค์รวมของภาษานั้น ๆ งานแปลที่ดีในเมืองไทยตามทัศนะของผม งานของคาลิล ยิบราน มาแปลเป็นภาษาไทยโดยท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล เรื่องปรัชญาชีวิต ถือเป็นต้นแบบงานแปลที่สมบูรณ์ เนื่องจากว่าผู้แปลใช้ความรู้สึกเข้าไป งานแปลในปัจจุบันมักจะทำแบบหยาบ ๆ หลายครั้งทำให้งานที่เป็นศิลปะกลายเป็นสิ่งที่สามานย์ไป งานศิลปะเป็นที่อยู่ของความจริง และความดีที่อยู่ในความงาม จะสื่อตรงที่ความรู้สึกคน การแปลงานถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ช่วยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประชาชาติ ในขณะเดียวกันอาจจะเป็นการทำลายภาษาได้ด้วยเช่นกัน แต่ว่าการแปลก็ควรได้รับการชมเชยให้มากยิ่งขึ้น ผลึกแห่งชีวิตกวี 64 ปี สถาพร ศรีสัจจัง

 

 

all : ในมุมมองของอาจารย์ การอ่านของสังคมไทยเป็นอย่างไร มีข้อเสนอแนะอย่างไร
สถาพร : ผมว่าประเทศเราโชคร้ายในหลายเรื่อง เราเพิ่งมีวัฒนธรรมในการอ่านที่สั้นมาก แล้วโลกก็เข้าสู่ ยุคดิจิตอล หรือยุคการสื่อสารใหม่ซึ่งรวดเร็วมาก และมีข้อมูลที่เข้ามาหลายทาง หนังสือจึงไม่มีความจำเป็น เพราะเราสื่อสารกันด้วยสัญลักษณ์อื่นมากมาย ลองกลับไปนึกภาพดูว่า เราผ่านการอ่านจริง ๆ มาประมาณ 4 – 5 ทศวรรษ พอผ่านมาโลกก็เข้าสู่ยุคใหม่แล้ว ในขณะที่รัสเซีย สเปน ฯลฯ เขาสั่งสมตัววัฒนธรรมการอ่านมายาวนานมาก เพราะฉะนั้นการจะทำให้คนตระหนักในการรับข้อมูลข่าวสารผ่านกระบวนการอ่าน จึงเป็นความไม่คุ้นชินของคนในสังคมนี้ ซึ่งถือเป็นความโชคร้าย ชาติไทยได้สั่งสมวัฒนธรรมไว้มหาศาล แต่เราไม่มีวัฒนธรรมในการบันทึก สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมถึงเกิดปัญหาการอ่าน คุณลองไปดูตัวเลขของการให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ ที่จะให้กับกิจกรรมเหล่านี้ แล้วศักยภาพของคนที่จะเข้าไปทำกิจกรรมเหล่านี้ หรือเลือกที่จะเสียสละนั้นมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ คนที่เก่งไปเป็นหมอเป็นอะไรหลายอย่างไปหมด องค์ประกอบหลายเรื่องมาผสมผสานกันทำให้วัฒนธรรมการอ่านของเราอ่อนแอ แต่ผมเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยเรา เมื่อวัฒนธรรมการอ่านของเราอ่อนแอ การรับข้อมูลข่าวสารก็อ่อนแอตามไปด้วย เพราะการอ่านหนังสือมันได้มากกว่าข้อมูล มันเป็นวัฒนธรรมของชีวิตและจิตวิญญาณของการรับรู้ศิลปะชนิดหนึ่งซึ่งสำคัญมาก มันมีช่องไฟของตัวหนังสือ มันมีกลิ่นอายของศิลปะที่แตกต่างจากพวกสัญลักษณ์อื่น ๆ เพราะฉะนั้นชีวิตมันจึงหยาบกระด้าง ไม่ค่อยได้อยู่กับความสงบในแบบวิถีของตะวันออกเรา โดยเฉพาะ 5 ทศวรรษแห่งการพัฒนา เราพัฒนาไปสู่หายนะ ทุนนิยมทำให้เราคิดเหมือนกัน และทุกอย่างกลายเป็นสินค้า ต้องตอบคำถามเป็นมูลค่าได้ สิ่งที่เป็นคุณค่าเฉย ๆ อย่างงานศิลปะจึงค่อยลดคุณค่าลง ระบบพยายามตีให้เป็นมูลค่า เช่น งานศิลปะที่ดีต้องราคาแพง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเมื่อก่อนอยู่ในวัด คือความเชื่อ ความศรัทธา และพลัง

all : ส่วนลึก ๆ ของสถาพร ศรีสัจจัง ปรารถนาอะไร และอยากเห็นแวดวงวรรณกรรมเป็นอย่างไรในอนาคต
สถาพร : ผมคิดว่า เรื่องของวรรณกรรมเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ ที่เป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความเป็นอารยชน เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติธรรม งานศิลปะจริง ๆ ต้องเป็นที่อยู่ของความดี ความงาม ความจริง คนที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้เป็นคนที่มีอารยะ ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้หันกลับมาให้ความสนใจกับเรื่องราวเหล่านี้ และน่าจะเป็นภาระเร่งด่วน ที่จะทำให้เกิดความสม่ำเสมอ ให้เท่ากับด้านอื่น ๆ อย่างเช่น ด้านเศรษฐกิจ ถ้าคุณหันกลับมาเติมเต็มทางด้านนามธรรมหรือทางด้านของสุนทรียภาพให้กับสังคมบ้าง ให้ได้รับการผลักดันส่งเสริมจากส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ก็เป็นภาพที่ผมอยากเห็น ถึงแม้ว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะจะเป็นเรื่องของอัตวิสัย เป็นเรื่องของแต่ละคนไป แต่ถ้ามีการกระตุ้น ส่งเสริม ความเติบโตงดงามในเรื่องเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น แล้วก็น่าจะสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงให้กับชาติบ้านเมือง ผมคิดว่าทุกฝ่ายน่าจะต้องช่วยกัน ส่งเสริมให้เกิดสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเขียน การอ่าน การฟัง ให้ครบวงจรมากกว่านี้ แล้วก็น่าจะได้รับส่วนแบ่งปัน จากงบประมาณให้เป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่านี้ และนี่คือสิ่งที่ฝากกับทุกภาคส่วน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมคาดหวัง

การอ่านหนังสือ และการอยู่กับงานเขียนเป็นการฝึกสมาธิ เป็นการเรียนรู้ความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง พวกเรามักไม่รู้แล้วว่าความสุขที่ได้อยู่กับตัวเองนั้นเป็นอย่างไร

 

ขอบคุณที่มาจาก all magazine

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ