หลายครั้งที่แสงสีค่อยๆแทรกซึมจนมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิต ผู้คนหลายคนคุ้นเคยกับการดำรงชีวิตในเมืองใหญ่ แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วยังมีผู้คนอีกมากมายที่ซ่อนตัวอาศัยอยู่ใน “ดินแดนสาบสูญ” วิถีชีวิต ความเชื่อต่างๆ จึงดูคล้าย “ปรากฏการณ์เกิดใหม่” ประสบการณ์ใหม่ของชีวิตที่ผู้คนหลายคนยังไม่มีโอกาสได้สัมผัส
“ปรากฏการณ์เกิดใหม่ในดินแดนสาบสูญ” เป็นผลงานรวมเรื่องสั้น 9 เรื่อง ของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล ผู้เขียนหยิบยกวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยในภูเขาสูงทั้งชนเผ่าทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเป็นโครงหลักของเรื่อง ผ่านมุมมองการเล่าเรื่องของ “ผม” ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกคล้ายอ่านบันทึกประจำวันของผู้เขียนหรือเขียนจากประสบการณ์จริงของผู้เขียนเอง แต่ตัวละครบางตัวกลับมีความแปลกมหัศจรรย์ที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถทำได้ หรือการพรรณนาฉากต่างๆได้เห็นภาพที่ชัดเจน ล้วนแต่ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมในแบบฉบับของเรื่องสั้นอย่างสมบูรณ์
ความโดดเด่นที่ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงอรรถรสในการอ่านก็คือการพรรณาที่เปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆของผู้เขียนที่เห็นภาพตามได้ง่าย เช่น
“พอถึงเมษายน เกิดฝนฟ้าทะมึนดำมากับลมพายุจู่โจมโฉบลงบนผืนราวกับปีกนกยักษ์กระพือปีกแรง หักต้นไม้หอบกิ่งไม้โค่นล้มระนาว พลันทันใดสายฝนก็โปรยสายตามลงมา ตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา เกิดเป็นคลื่นน้ำป่าไหลแรงไปตามซอกสายห้วยลำธารขุ่นข้นส่งเสียงดังระงมทั้งวันทั้งคืน บางพื้นที่เกิดแผ่นดินถล่ม ต้นไม้ใหญ่หักโค่น”(ผีไปแต่งงานบนแหม่วอตู : หน้า 68)
ในด้านภาษามีการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่เรียบเรียงได้อย่างสละสลวย มีการใช้ภาษาชนเผ่าต่างๆ จึงให้ความรู้สึกคล้ายได้สัมผัสกับตัวละครในเรื่องโดยตรง เช่น
“ต่า เก เลอะ เหม่ ต่า จอ เลอะ ที” (ดีงามเป็นไฟ สะอาดบริสุทธิ์เป็บน้ำ) (ผีไปแต่งงานบนแหม่วอตู, หน้า86)
ภาษาชนเผ่าให้ความรู้สึกสมจริงแต่เนื่องจากเป็นภาษาที่เฉพาะเจาะจง มีการใช้เฉพาะกลุ่มจึงต้องอ่านจากบริบทรอบข้างจึงทำให้แปลความหมายได้
ถึงแม้ว่าเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องนั้นจะไม่มีความสอดคล้องหรือเกี่ยวเนื่องกันในแง่ความสัมพันธ์ของตัวละคร แต่จุดเด่นหรือโครงหลักของเรื่องสั้นทั้งหมดที่มีความสัมพันธ์กันก็คือ “การนำเสนอสัจจะของชีวิต” เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคมโดยมีความเห็นแก่ตัว ความดิบเถื่อนของมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อน ได้ถูกนำเสนอผ่านมุมมองการเล่าของตัวละครที่ต่างวาระกัน ไล่ตั้งแต่ชาวบ้านธรรมดา พราน นักการเมืองหรือแม้กระทั่งนักต้มตุ๋น
ยกตัวอย่างเช่น “ผีเสื้อสมิงเชียงดาวตัวสุดท้าย”หนึ่งในเรื่องสั้นที่หยิบยกการล่าผีเสื้อสมิงเชียงดาว ผีเสื้อที่มีรูปร่างของปีกที่เรียวยาว สีน้ำตาล มีลวดลายสีครีมระบายขวางปีกเป็นริ้ว ตามหน้าปกของหนังสือเป็นชนิดย่อยชนิดหนึ่งของผีเสื้อภูฐานที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครอง ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535แต่ภายหลังเกิดการล่าจนสูญพันธุ์
ผู้เขียนเปิดเรื่องมาด้วยการแทรกความคิดเห็นให้ฉุกคิด“ชีวิตมนุษย์เราก็แปลก เป็นอะไรที่มีชีวิตอยู่กับซากหลากชนิด ซากจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน ซากของความคิดที่อยู่ในจินตนาการให้หวนรำลึกถึง บ้างมีอายุเป็นแสนเป็นหมื่นล้านปี บ้างก็ถูกมนุษย์ฆ่าให้ตายซาก แล้วใส่ความเชื่อใหม่ลงไปในซากว่ายังมีลมหายใจอันทรงคุณค่าดำรงอยู่ บ้างก็นำซากมาใช้เป็นสิ่งสมมติที่มีราคา เป็นความฝันแสนหมื่นล้านที่ดูราวจะไม่กลายเป็นซากไปอีกแล้ว สุดท้ายมนุษย์ก็เข่นฆ่ากันเองเพื่อแย่งยึดซากไว้ในครอบครอง”(ผีเสื้อสมิงเชียงดาวตัวสุดท้าย : หน้า 88)
เนื้อเรื่องถูกแบ่งย่อยภายในเรื่องอีก อาทิเช่น หมื่นแสน… , มหัศจรรย์ในซาก , ความจริงอันสูญเปล่า , บุญยืน,ฝูงลิงก้นแดงกับชะตากรรมบุญยืนเป็นต้น ถึงแม้ว่าแบ่งเป็นตอนย่อยๆนั้นจะทำให้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจนขึ้น แต่ก็ทำให้ขาดอรรถรสในการอ่านลงไปบ้างเนื่องจากผู้อ่านคาดเดาเนื้อเรื่องในตอนนั้นได้
ตัวละครหลักที่โดดเด่นในเรื่องคือหมื่นแสนผู้ที่ล่าผีเสื้อสมิงเชียงดาวตัวสุดท้ายและบุญยืนบุตรชายของหมื่นแสน ตัวละครของหมื่นแสนสะท้อนการความละโมบของมนุษย์ ความไม่พอใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนสังเกตจากเมื่อพ่อค้าชาวญี่ปุ่นตามหาซื้อผีเสื้อเขาก็ยินดีที่จะยอมเสี่ยงชีวิตขึ้นไปยังยอดดอยที่มีความอันตรายเพื่อให้ได้มาซึ่งคำว่า “เงิน”
ถึงแม้ว่าหมื่นแสนจะเห็นมูลค่าของเงินมากกว่าชีวิตของผีเสื้อ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนศีลธรรมที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนถึงแม้ว่าจะได้กระทำผิดไปแล้วแต่ก็ต้องการโอกาสในการแก้ไขในสิ่งผิดพลาดต่างๆ การแก้ไขของหมื่นแสนนั้นคือการที่นำซากผีเสื้อไปไว้ในถ้ำของภูเขาลูกนั้น ดังปรากฏ
“พ่อมาคิดดูแล้วผีเสื้อใหญ่โตขนาดนี้มันควรจะเป็นสมบัติของภูเขาลูกนี้ มันควรไปอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” (ผีเสื้อสมิงเชียงดาวตัวสุดท้าย : หน้า 106)
บุญยืนจึงออกตามหาซากผีเสื้อที่พ่อของเขาเก็บไว้ในถ้ำตามคำบอกเล่าของพ่อ ในตอนท้ายของเรื่องแสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของบุญยืนที่จบลงด้วยการเข้าใจผิดว่าเป็นพวกปลูกฝิ่นค้าฝิ่น จากการยิงผิดตัวของ ตชด.
“สำนึกสุดท้ายของบุญยืนแว่วยินเสียงดังกล่าวกระจ่างชัดเจนเหมือนมีคนมาพูดกระซิบข้างหู ขณะสมองของเขาย้อนกลับไปนึกถึงเสียงของหมื่นแสนผู้เป็นพ่อที่เล่าเหตุการณ์วันจับผีเสื้อสมิงยักษ์ เขามองเห็นภาพเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นสลับกับภาพผีเสื้อสมิงยักษ์ เห็นภาพคองกับวิฑูรย์ที่ตาเหลือกถลนด้วยความเจ็บปวด หายใจดิ้นกระแด่วเพียงไม่กี่ครั้งก่อนที่จะนิ่งสนิท สลับภาพฝูงผีเสื้อที่พร้อมใจกันร่วงหล่นลงพื้นที่หมื่นแสนผู้พ่อเล่าให้บุญยืนฟัง บุญยืนรู้ดีว่า คอง วิฑูรย์และตัวเอง กำลังกลายเป็นซากที่ไร้ค่า ไร้ความหมาย ไร้ซึ่งคนที่จะคิดคำนึกถึง เพราะข่าวที่ปรากฏบนสื่อต่างๆก็คือตำรวจตระเวณชายแดนวิสามัญฆาตกรรมผู้ร้ายลักลอบปลูกฝิ่น อันเป็นพืชต้องห้ามผิดกฏหมาย เป็นต้นกำเนิดของยาเสพติดร้ายแรง หลังจากเกิดยิงปะทะกันนั่นเอง” (ผีเสื้อสมิงเชียงดาวตัวสุดท้าย : หน้า 119)
จากข้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ท้ายที่สุดคนที่ได้รับผลของชะตากรรมไม่ใช่หมื่นแสนแต่เป็นบุญยืนที่เปรียบให้เห็นถึงการล่าผีเสื้อสมิงเชียงดาวจนสูญพันธุ์หรือการใช้ทรัพยากรอื่นจนหมด คนรุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสได้เห็นได้ศึกษาหรือใช้ทรัพยากรต่างๆ
นอกจากนี้ยังเห็นถึงปัญหาการปลูกฝิ่นในชายแดนไทยการไม่เข้าใจของผู้คนว่าฝิ่นมีฤทธิ์ร้ายแรงเพียงใดทั้งที่เมื่อก่อนฝิ่นเคยสามารถปลูกและสามารถนำมารักษาโรคได้อีกทั้งการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจที่ปิดปังความผิดของตัวเองอย่างฉาบฉววยและมักง่ายไร้ความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำข้อคิดที่ได้แฝงไว้ก็คือการเป็นซากที่ไร้ค่า ไร้ความหมายของบุญยืนนั้นเปรียบเสมือนการสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่พึงระลึกในการกระทำความดีอยู่เสมอ
หากกล่าวโดยภาพรวม “ปรากฏการณ์เกิดใหม่ในดินแดนสาบสูญ” ทรงคุณค่าในการนำเสนอสัจจะของชีวิตในหลากหลายรูปแบบความจริงที่สังคมจะเพิกเฉยหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น “ดินแดนสาบสูญ”ก็สามารถ “เปิดปรากฏการณ์ใหม่” ของผู้อ่านประสบการณ์ที่สัมผัสได้ผ่านตัวหนังสือ
ณัฏฐ์นรา วัฒนเศรษฐ