ดนต์ รัตนทัศนีย์ : นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยยุคหนึ่ง

ดนต์ รัตนทัศนีย์

เรื่องแปล หรือบทความในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ในบ้านเราเมื่อสัก 20-30 ปีที่ผ่านมาที่เขียนโดยคนไทยค่อนข้างจะมีน้อยมาก และหนึ่งในจำนวนน้อยนิดนั้น ชื่อของคุณดนต์ รัตนทัศนีย์ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่บุกเบิกคนแรก ๆก็ว่าได้

"ผมเริ่มแปลหนังสือหลังจากที่กลับมาจากอเมริกาได้ประมาณ 5-6 ปี เนื่องจากผมชอบอ่านหนังสือ สมัยที่อยู่อเมริกา ผมจะอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์เต็มไปหมด พอกลับมาเมืองไทย หนังสือแนวนี้ไม่ค่อยมีให้อ่าน มีบ้างเหมือนกันก็จะเป็นหนังสือสำหรับเด็กนักเรียน หนังสือไทยโดยทั่ว ๆไปจะมีแต่ประเภทชวนหัว ขายหัวเราะ ซึ่งมันไม่มีอะไร แต่อ่านแล้วก็สนุกดี

เมื่อเห็นตลาดหนังสือบ้านเราไม่มีเรื่องแนวนี้สักเท่าไร ทำให้ผมอยากเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ให้ชาวบ้านอ่าน ผมจึงอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ผมซื้อกลับ ผมซื้อหนังสือภาษาอังกฤษมาเป็นลัง ๆเลย อ่าน แล้วก็ลองเริ่มเขียนดู พอเขียนเสร็จผมก็นำต้นฉบับไปเสนอที่สำนักพิมพ์ซีเอ็ด เพราะหนังสือของซีเอ็ดจะมีแนววิทยาศาสตร์ปนอยู่เยอะ แต่หนังสือแนววิทยาศาสตร์ของเขาจะเป็นระดับที่ให้เด็ก ๆอ่าน ผมก็ไปเสนอ ปรากฎว่าเขารับ เขาบอกว่าดีมากเลย เพราะตอนนั้นบทความทางด้านวิทยาศาสตร์ยังมีน้อย

จากนั้นเขาก็สั่งหนังสือมาจากเมืองนอกเลยนะมาให้ผมอ่านแล้วก็แปล ผมก็เขียนประจำให้กับซีเอ็ดจากนั้นเป็นต้นมา พอเขียนไปนาน ๆทางสำนักพิมพ์ก็นำมารวมเป็นเล่ม สมัยนั้นก็มีเรื่องผ่าโลกเร้นลับ เปิดโลกเร้นลับ สมัยโน้นผมได้ค่าเรื่องดีมากเลยนะผมได้ตกบันทัดละยี่สิบบาท"

เมื่อบทความในแนววิทยาศาสตร์ของคุณดนต์ ได้รับการตีพิมพ์ และเผยแพร่ออกไปมาก ๆกลุ่มคนอ่านที่ติดตามผลงานก็เริ่มเป็นแฟนประจำ ค่อยติดตามอ่านไปพร้อม ๆ ข้อสงสัยต่าง ๆนานา จึงมีทั้งจดหมายและโทรศัพท์มาหาคุณดนต์อย่างไม่ขาด

"ผมไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมากหรอกช่วงนั้น ออกจะหลบ ๆคนอ่านด้วยซ้ำไป เพราะไม่ค่อยอยากตอบคำถามสักเท่าไร ใครเขียนจดหมายมา หรือโทรศัพท์มาผมก็ให้บรรณาธิการเขาเป็นคนออกรับหน้าแทน เพราะมันเยอะมาก เยอะจนปวดหัว จนผมไม่มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำถามเกี่ยวกับขอท้าพิสูจน์บ้างหละ เกี่ยวกับเรื่องผี จิตวิญญาณ UFO เพราะข้อเขียนของผมส่วนใหญ่ผมจะนำเรื่องฟิสิกส์เข้าจับหมดเลย

พอมาเขียนให้กับหนังสือ "มิติที่สี่" ผมใช้นามปากกาแทนชื่อจริง ก็ใช่นามปากกาว่า "คอสมอส", "คอสมิค" , "โนเวล", "ดาวแดง" แต่ละชื่อก็แล้วแต่เรื่องนะ ถ้ามันเป็นเรื่องชนิดที่เราแต่งเอง ผมก็ใช้นามปากกา แต่ถ้าเป็นเรื่องที่แปลหรือถอดความผมก็ให้เกียรติ ผู้แต่ง เช่นเรื่องคอสมอส ของคาร์ล ซาแกน ผมจะใช้ชื่อจริงของตัวเแองว่าเป็นผู้ถอดความ

เรื่องที่ผมเขียนแองจะออกแนวเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่มันแปลกประหลาด คืออ่านแล้วขนหัวรุก เช่น ผมแต่งเรื่องปีศาจ โดยนำเอาหลักฟิสิกส์มาจับจะสามารถเป็นไปได้ไหม ปรากฎว่าเมื่อเขียนออกไป ก็มีคนโทรหาเต็มไปหมด มีจดหมายเขียนมาหาเป็น กระบุงเลยนะครับ สิ่งที่คนอ่านสงสัยคือเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผมเพียงแต่ตั้งทฤษฎีขึ้นมา บอกหลังการว่าเป็นอย่างนี้ ๆแล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็เท่านั้นเอง

เรื่องของ UFO จานบิน รู้สึกว่าผมเป็นคนแรกที่เขียนเรื่องนี้ในประเทศไทย ตอนหลัง ๆผมก็เลิกเขียน เพราะรู้สึกคนจะเชื่อเยอะเกินไป เพราะผมเขียนโดยใช้หลักวิเคราะห์ แบบวิทยาศาสตร์หมดเลย เขียนวิเคราะห์เรื่องดาวเคราะห์ต่าง ๆ วิเคราะห์เรื่องมนุษย์ ต่างดาวว่ามีจริงไหม ผมเขียนจนมิติที่สี่ปิดตัวไป แล้วก็มาเขียนให้หนังสือโนวา เป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องน่ารู้ต่าง ๆ "

เมื่อคนอ่านไม่สามารถแยกแยะระหว่างความจริงกับจินตนาการไม่ได้จึงทำให้นักเขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์ที่ลี้ลับต้องปิดฉากการเขียนไปอย่างน่าเสียดาย "เรื่องในแนว ๆนี้ผมเขียนเยอะมาก พอเขียน ๆไปรู้สึกว่าคนไม่ค่อยเข้าใจ ทำให้ผมไม่ค่อยอยากจะเขียน จึงไม่เขียนเลย ถึงณ ปัจจุบันนี้ผมก็ไม่เขียนแล้ว"

ซึ่งคุณดนย์มองว่าสังคมบ้านเรายังไม่เปิดกว้างพอเกี่ยวกับเรื่องแนวนี้ "ผมว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจคำว่านิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งนิยายแนววิทยาศาสตร์เป็นเพียงแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาทางวิทยาศาสตร์นำมาใช้เพื่อเขียนเป็นนิยายซึ่งมันยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่อาจจะจริงก็ได้ แต่ที่ผมเขียนไม่ถือเป็นนิยายวิทยาศาสตร์นะ เพราะผมเขียนในลักษณะที่ว่าเมื่อเรื่องราวความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ๆ หากถ้าเรานำหลักวิทยาศาสตร์เข้าไปจับมันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเกิดขึ้นได้ไหม ซึ่งผมสามารถบอกได้ จึงทำให้คนอ่านค่อนข้างที่จะเชื่อ แล้วเกิดความอยากรู้ ผมก็คิดว่าเขาน่าจะไปค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะที่ผมเขียนนำเสนอไปนั้นล้วนแต่เป็นองค์ความรู้ที่ผมได้จากการอ่านหนังสือทั้งนั้น ผมมีประสบการณ์ ที่สำคัญผมไม่ได้อ่านเล่มเดียว ผมอ่านหนังสือเป็นตั้ง ๆ เยอะมาก แล้วผมก็รวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดมาเขียนนำเสนอซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมบ้านเรายังไม่เปิดกว้างพอ เขายังไม่เห็นสัจธรรมความเป็นจริง"

แม้คุณดนต์ ร้างลาจากการเขียนไปนานแล้วแต่สิ่งที่คุณดนต์ได้ทิ้งไว้เป็นมรดกทางการอ่านคือเรื่องราวแนววิทยาศาสตร์ ที่สามารถสะท้อนคนอ่านเกิดได้จินตนาการและข้อสงสัย เพื่อที่นำพาไปสู่การค้นพบเรื่อง ใหม่ ๆ เพียงแต่อย่างมง่ายโดยไม่มีหลักของความเป็นเหตุ และผล

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ