ฮ.นิกฮูกี้ : ผู้ประกาศตนสร้างลัทธิพุทธสังคมนิยม

ฮ.นิกฮูกี้

เรารู้จัก ฮ.นิกฮูกี้ เมื่อครั้งที่ผลงานของเขา "กูคือพระเจ้า" เข้ารอบ 7 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรท์เมื่อปี2543 ในฐานะนักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการเขียนเรื่องที่แปลกแหวกแนวต่างไปจากนักเขียนรุ่นใหม่ด้วยกัน แต่สุดท้ายกูคือพระเจ้าก็พ่ายแพ้ให้กับ "อมตะ" ของ วิมล ไทรนิ่มนวล

"ทุกคนจะอยากได้รางวัลทุกคนแหละ เพียงแต่ว่าความอยากได้มันจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ดีหน่อย แล้วก็วิธีการก็ต้องดี เรื่องกูคือพระเจ้า ผมมั่นใจตั้งแต่เขียนเรื่องนี้แล้วว่าเป็นหนังสือที่ดีมาก ผมชอบมาก ๆ ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ ทั้งพล็อตกับแก่นมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็ผมเชื่อมั่นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี หลังจากที่ไม่ได้รางวัลก็เสียใจอยู่ เพราะเราก็ว่าของเราดีแต่คนอื่นอาจจะว่าไม่ดีก็ได้

รางวัลเป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นให้คนในแวดวงการวรรณกรรมได้สร้างสรรค์ผลงาน อะไรก็ตามถ้าเกิดว่าเขาทำด้วยเจตนาที่ดี มันก็ดีหมดแหละ จริง ๆแล้วรางวัลซีไรท์ถือเป็นรางวัลที่มีน้ำใจต่อวงการวรรณกรรม เราควรจะขอบคุณเขาเสียมากกว่าที่จะไปต่อว่าไม่ดี …"

เมื่อไม่ได้รางวัลสำหรับเขาแล้วก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งที่เขามุ่งมั่นเขียนหนังสือก็เพื่อเป้าหมายทางแนวความคิดที่เขาเองปรารถนาในหนทางข้างหน้า หากแม้นสามารถที่จะเป็นไปได้… "หลังจากที่ผมเขียนเรื่องกูคือพระเจ้าเสร็จ ก็เกิดความฮึกเฮิมขึ้นในใจอยากจะเขียนอะไรที่คนอ่านเยอะ ๆ แล้วเกิดความเชื่อถือ ก็คิดว่าน่าจะต้องสร้างหลักคิดหรืออะไรก็ตามให้มารองรับเพื่อให้มนุษย์ทุกคนทำดีตามนั้น ทำให้ผมมีความคิดเรื่องลัทธิพุทธสังคมนิยมขึ้น จึงเขียนหนังสือต่อขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง ชื่อเรื่องรัฐบาลกระหรี่ เป็นการเขียนขึ้นมาเพื่อมาช่วยเสริมแนวคิดของเรื่องกูคือพระเจ้า เป็นการขยายความคิดขึ้นมานั้นเอง

ความรู้สึกของผมคืออยากเขียนหนังสือแนวลัทธิก็เท่านั้นแหละ อยากเขียนสิ่งที่ตนเองคิดออกไป คือเรามีแนวคิดอย่างนี้เราก็อยากนำเสนอให้คนอื่นได้ร่วมคิดด้วยกับเรา เป็นเพียงความปรารถนาที่อยากจะให้โลกนี้ สังคมนี้มีสิ่งที่ดีขึ้น ลัทธิพุทธสังคมนิยมจึงเป็นความคิดแบบสนุก ๆ เปรียบเทียบเหมือนกับคาลมาร์ก ที่เขียนหนังสือแนว ๆ นี้เยอะ ภายหลังคนก็ยกคาลมาร์กเป็นเจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ ถ้าเราเขียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยคนก็จะยกผมเป็นเจ้าลัทธิเหมือนกัน ไหน ๆ คนก็จะยกอยู่แล้วก็ให้ยกตอนนี้เลยจะได้ไม่เสียเวลา(หัวเราะ) แต่ผมไม่ได้คิดว่าจะหาแนว หรือสไตล์ในการเขียนหรอก เพียงแต่ก็คิดและเขียนไปเรื่อย ๆ ตามสิ่งที่ผมชอบ ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการเป็นเจ้าลัทธิอะไรหรอกครับ รอให้คนภายหน้าเขายกให้เอง"

ด้วยความที่เขาเป็นนักอ่านมาตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือทุกเรื่องและทุกแนว ทำให้เขามีความตั้งใจจริงกับการเขียนหนังสือเป็นอย่างมาก และเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่ก้าวเดินด้วยความขยัน อดทน เขียนหนังสือด้วยความชอบอย่างแท้จริง จนเกิดความสุขขึ้นแก่ตนเองทุกครั้งที่จรดปลายปากกาลงบนกระดาษในทุก ๆวันอย่างมีวินัย

"ผมเริ่มเขียนหนังสือจริง ๆตอนอยู่มัธยมหก เขียนแบบเอาจริงเอาจังมากเขียนเป็นวักเป็นเวรเขียนวันละ 10 หน้ากระดาษ เขียนไปเรื่อย ๆ เรื่องสั้นเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์เมื่ออยู่มหาวิทยาลัยปี 1 มีความฮึกเฮิมอยากจะส่งรวมเล่มและตีพิมพ์ อาจเป็นเพราะตอนนั้นเรายังไม่เก่งพอ ซึ่งไม่แปลกนะ เพราะเราเพิ่งเริ่มเขียนและยังไม่มีใครแนะนำ แล้วก็ยังไม่มีประสบการณ์ ผมส่งไปกี่เรื่อง ๆ ก็ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่ก็ไม่ท้อ จะกลับมาอ่านเรื่องใหม่ เกลาใหม่ และส่งไปใหม่ ทำมันอยู่อย่างนี้ จนผ่านมา 4-5 ปีถึงมาสะอึกตัวเองว่า - ต้องส่งนิตยสารก่อนหรือเปล่า เพราะตอนนั้นผมมุ่งมั่นที่จะทำรวมเล่มอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เราทำผิดพลาดอย่างมาก หลังจากนั้นผมก็ส่งต้นฉบับไปลงนิตยสาร คือมีนิตยสารอยู่เท่าไรบนแผงหนังสือ ผมก็ส่งไปทั่ว ในที่สุดได้ลงตีพิมพ์ คนก็เลยเริ่มติดหูติดตาในนามปากกานี้

หลักสำคัญในการเขียนหนังสือคือทุกคนจะต้องยึดเอาไว้ว่าทำอะไรก็ตามอย่าท้อ ทำให้มันจริง พากเพียร อดทนแล้วจะได้ผล ช้าหรือเร็วมันไม่สำคัญ ผมเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาบ้างก็ตอนที่ส่งเรื่องสั้นไปลงและได้รับการตีพิมพ์ เมื่อเรื่องสั้นได้รับการตีพิมพ์ครั้งหนึ่งก็ดีใจหนหนึ่ง แล้วก็ฮึกเฮิมที่จะเขียนต่อไปเรื่อย ๆ เรื่องผลตอบแทนผมไม่ได้คิด ผมคิดเพียงอย่างเดียวคือขอให้ผลงานได้ลงหนังสือ นักเขียนทุกคนจะเป็นอย่างนี้หมดสำหรับในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อเติบโตแล้วเริ่มมีชื่อเสียงบ้างแล้ว และเมื่อคิดจะเขียนหนังสือเป็นอาชีพจริง ๆ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดถึงเรื่องค่าตอบแทน แต่ก็ยังคงมีความสุขอยู่ที่ได้เขียนหนังสือและผลงานได้รับการตีพิมพ์ คือผลตอบแทนเป็นผลพลอยได้ที่ดีสำหรับการเลี้ยงชีวิต

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึงมีความคิดที่จะเขียนหนังสือมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม อาจเป็นเพราะใจรัก และอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กมาก ๆ พอเขียนแล้วมีความสุข ได้ถ่ายทอด ได้ระบาย เขียนแล้วมีคนอ่านเราก็ยิ่งมีความสุข ผมไม่ได้คิดอยากทำอาชีพอื่น คิดอยากแต่จะเขียนหนังสือ โดยที่ผมไม่ได้คิดว่าสักวันหนึ่งจะมีคนยอมรับผลงานของผมในเวลาต่อมา เพียงแต่รู้สึกมีความสุขที่ได้เขียน มันมีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่าคุณต้องมีความจริงใจต่อตนเอง และจริงใจต่อสิ่งที่คุณทำ รวมไปถึงความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วย เมื่อคุณเขียนหนังสือ ใจคุณรักที่จะเขียนหนังสือ นั้นคือจุดมุ่งหมายของคนรักการเขียนหนังสือทุกคน

คนเราจะต้องมีเป้าหมายให้กับตัวเอง หลักสำคัญที่จะเขียนหนังสือได้ คืออะไรก็ตามที่ทำสม่ำเสมอเป็นกิจวัตรมันจะทำได้เอง ไอ้ประเภทอาศัยอารมณ์พวกนั้นจะตายหยั่งเขียด อาศัยอารมณ์แล้วเมื่อไรจะมาละ แต่ถ้าคุณมีวินัยในตนเอง เขียนหนังสือทุกวันอารมณ์จะมาเองเหมือนกับไม่ต้องใช้อารมณ์เลย ต้องมีวินัยในตนเองไม่ว่าคุณจะอยู่ในอาชีพใดก็ตาม หนังสือหลายเล่มผมเขียนวันเดียวจบนะ วัน ๆ หนึ่งผมเขียนหนังสือวันละสามถึงสี่ชั่วโมง การเขียนหนังสือของผมก็คือการพักผ่อน ผมมีความสุขกับการเขียน "

สุดท้าย ฮ.นิกฮูกี้ได้ฝากเคล็ดลับสำหรับคนที่คิดอยากเป็นหนังเขียนในอนาคต เพื่อการฝึกฝนให้เป็นนักเขียนที่ทำงานเขียนด้วยความรักและความจริงใจต่อตนเองและผู้อ่าน

"เคล็ดลับในการเขียนหนังสือ ให้คุณตั้งใจให้มั่นว่าคุณจะเขียนหนังสือให้ได้วันละกี่หน้า และต้องทำให้ได้ ถ้าคุณตั้งเป้าว่าจะเขียนให้ได้วันละ 5 หน้ากระดาษ คุณห้ามขี่เกียจในบางวันวันนี้ 4 หน้าเดี๋ยวค่อยยกยอดไปวันต่อไป ห้ามทำอย่างนั้นเด็ดขาด ถ้าเริ่มขี่เกียจสักวันมันจะขี่เกียจไปเรื่อย ๆ ใจคุนก็จะอ่อนแอ ถ้าตั้งเป้าเขียนให้ได้ 5 หน้ากระดาษคุณต้องเขียนบวกให้ได้มากกว่านั้น พอคุณทำได้อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในวัน ๆ หนึ่ง คุณจะมีความมั่นใจในตนเองและมีความภูมิใจในตนเอง ตามหลักจิตวิทยาแล้วเมื่อคุณทำแล้วมีความสุขคุณก็จะทำต่อไปอีก พอคุณทำได้อย่างนี้คุณจะมีกำลังขึ้นอีกเยอะ ทำมันสม่ำเสมอแล้วคุณจะทำได้ทุกครั้งไป เขียนไป ใส่เข้าไปให้แหลก แล้วค่อยกลับมาเกลา เขียนให้มันได้เสียก่อน ถ้าคนเราเอาชนะใจตนเองได้ก็จะมีความสุข เป็นความสุขที่ได้จากการเขียนหนังสือ เมื่อสนุกกับการได้เขียนแล้วก็จะเขียนต่อไป เรื่อย ๆ เอง

มีหลักของการเขียนอยู่อย่างหนึ่งคือ เขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน เขียนในสิ่งที่คนอ่านอยากอ่าน เขียนในสิ่งที่ตัวเองควรจะเขียน และคนอ่านควรจะได้อ่าน ถ้าคุณสามารถรวมสามอย่างนี้เป็นหนังสือเล่มเดียวกันได้ก็จะเป็นหนังสือที่ดี เขียนแล้วมีความสุข แล้วขายดี"

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ