พงศกร จินดาวัฒนะ : เราตายไปแล้ว แต่งานเขียนของเรายังอยู่

พงศกร  จินดาวัฒนะ

พงศกร หมอนักเขียนหนุ่มจากราชบุรีเป็นนักเขียนที่มีผลงานปรากฏตามหน้านิตยสารอยู่อย่างต่อเนื่องปัจจุบันเขามีนวนิยายปรากฏอยู่ตามหน้านิตยสารถึง 4 ฉบับ นี้ยังไม่ได้นับรวมงานเขียนประเภทอื่นๆ พงศกรเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจากปี2544 ครั้งแรกที่หมอหนุ่มนักฝันจรดปากกาลงบนหน้าแผ่นกระดาษเพื่อรังสรรค์ผลงานเรื่องแรกของเขา เบื้องบรรพ์ รางวัลชมเชย สุภาว์ เทวกุลประจำปีนั้น จนวันนี้ด้วยลีลาการเขียนที่สนุกสนานชวนอ่านทำให้เขาเป็นนักเขียนที่มีแฟนประจำค่อยติดตามงานอยู่อย่างต่อเนื่อง มาดูกันดีกว่าอะไรที่ทำให้หมอหนุ่มอย่างพงศกรมาจับปากกาเขียนหนังสืออย่างจริงๆจังๆ

-ช่วยเล่าประวัติย่อๆ เช่นเป็นคนที่ไหน จบการศึกษาอะไรมา
ชื่อ พงศกร จินดาวัฒนะครับ เป็นคน จ.ราชบุรี จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรียนจบเวชศาสตร์ครอบครัวจาก Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันทำงานเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำโรงพยาบาลราชบุรีครับ

-รู้ตัวตอนไหนว่าอยากเป็นนักเขียน
อยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็กๆแล้วละครับ ชอบอ่านหนังสือมาก ถึงวันหนึ่ง ถึงจุดหนึ่งก็เลยอยากเขียนบ้าง ผมเชื่อว่านักเขียนส่วนมากจะเป็นแบบนี้ เริ่มจากเราอ่านเยอะๆก่อน ต่อมาเราก็เลยอยากเขียน สมัยเด็กๆผมจะเป็นนักล่ารางวัล ส่งเรื่องสั้น แต่งกลอน แต่งเรื่องจากภาพส่งไปที่ สตรีสาร สวิตา ชัยพฤกษ์การ์ตูน ประมาณนี้ ได้ลงบ้าง ไม่ได้ลงบ้าง

-ทำไมถึงเลือกที่จะเป็นคนเขียนหนังสือ
เลือกเขียนหนังสือ เพราะเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขมากครับ เหมือนเป็นโลกใบหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง สร้างคน ตัวละครและฉากต่างๆขึ้นมา และเรารู้จักทุกคนในโลกของเราเป็นอย่างดี อีกอย่างเป็นคนช่างคิดช่างฝันครับ การเขียนหนังสือเป็นทางระบายออกของจินตนาการที่เรามี

-ตอนนี้มีงานเขียนอะไรที่ไหนบ้าง
ตอนนี้ (ปี2549)ผมเขียนที่สกุลไทย พลอยแกมเพชร และหญิงไทย ครับ เพิ่งเริ่มที่Volume เดือนมกราคมนี้อีกหนึ่งเรื่อง

-มีนามปากกากี่นามปากกา
ใช้นามปากกาเดียว คือ ‘พงศกร’ นี่ละครับ มาจากชื่อจริง รู้สึกว่าชื่อนี้เป็นกลางๆดี สามารถใช้กับงานเขียนได้ทุกแนว อีกเหตุผลที่ใช้นามปากกาเดียว เพราะแฟนหนังสือที่ติดตามผลงานกันเป็นประจำจะได้ติดตามได้ถูก ไม่งงครับ -แนวเขียนของหมอพงศกรเป็นแนวไหน
ถนัดที่สุดเลยเป็นแนวลึกลับเหนือจริงครับ ส่วนอีกแนวที่ชอบและคิดว่าเขียนได้ดีพอสมควรคือแนว comedy อ่านแล้วหัวเราะอารมณ์ดีครับ

-ทำไมถึงเลือกเขียนเรื่องแนวลึกลับเหนือจริงครับ
เลือกเขียนแนวลึกลับเหนือจริง เพราะเป็นคนชอบอ่านเรื่องแนวนี้ นักเขียนที่ชอบมากที่สุด คือ คุณจินตวีร์ วิวัธน์ครับ ผมอ่านทุกเรื่อง มีเก็บสะสมทุกเรื่อง ถ้าจำไม่ผิดคุณจินตวีร์ เสียชีวิตไปประมาณปี 2531 หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยมีใครเขียนงานแนวลึกลับออกมาอีก อยากอ่านมาก โหยหา เลยลงมือเขียนเสียเอง

-งานที่เขียนมาทั้งหมดชอบเรื่องไหนมากที่สุด
ตอนนี้ผมมีงานเขียนนวนิยายทั้งหมดที่รวมเล่มแล้วประมาณ 8 เรื่องครับ เลือกยากมากว่าชอบเรื่องไหนที่สุด เพราะที่จริงแล้วชอบทุกเรื่องที่เขียนครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ประทับใจมากคงเป็น ‘เบื้องบรรพ์’ เพราะเป็นเรื่องแรกที่เขียน และเป็นเรื่องที่เปลี่ยนชีวิตผมเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งประกวดและได้รับรางวัลชมเชยของมูลนิธิสุภาว์ เทวกุล ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผมได้มาทำงานเขียนอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา

-มองวรรณกรรมสร้างสรรค์เป็นอย่างไร
ผมอ่านวรรณกรมสร้างสรรค์นะครับ แต่ไม่มากนัก โดยส่วนตัวแล้วชื่นชมนักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์มาก เพราะแต่ละเรื่องนี่เขียนไม่ง่ายเลย ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและประสบการณ์ที่หนักหน่วง คนเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ได้ไม่ธรรมดาครับ ผมมองว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ เป็นวรรณกรรมที่วงวรรณกรรมเราต้องมี ไม่มีไม่ได้ เหมือนกินข้าวแล้วไม่มีน้ำปลา นั่นก็ไม่ครบเครื่อง ครั้งหนึ่งในชีวิต คนไทยทุกคนควรต้องอ่าน อย่างน้อยก็ควรผ่านตาสักเรื่องหรือสองเรื่อง เพราะวรรณกรรมก็คือกระจกสะท้อนส่องสังคมของบ้านเมือง นวนิยายพาฝันส่วนมากจะสะท้อนแต่แง่มุมที่สวยงาม แต่เหรียญมีสองด้านครับ วรรณกรรมสร้างสรรค์ทำหน้าที่สะท้อนสังคมในส่วนที่คนเรามักจะพยายามไม่คิด ไม่พูดถึง สมมติว่ามันไม่มี แต่ที่จริงมันมี และเราต้องรับรู้ครับ

-รู้ว่ามาตอนเด็กๆ คุณหมอทำวารสารกับเพื่อนๆ แถวบ้านด้วย ช่วยเล่ารายละเอียดตรงนั้นให้ฟังนิดนึง
หาข้อมูลได้เก่งมากเลยครับ รู้เรื่องนี้ด้วย ที่จริงไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องนี้เท่าไหร่หรอกครับตอนนั้นอายุประมาณ 10-11 ปี อยู่ ป. 5 ผมทำวารสารเล่นๆกันกับเพื่อนๆที่บ้านอยู่ซอยเดียวกันครับ พวกเราชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนเรื่องส่งไปตามหนังสือเด็ก แต่รู้สึกว่ารอนานเหลือเกินกว่าจะรู้ว่าเรื่องได้ลงไหม ก็เลยทำหนังสือกันเองดีกว่า ชื่อ ‘ละแวกบ้านเรา’ ครับ ทำเดือนละ 2 เล่ม ทำได้24 เล่มก็ปิดตัวไป ผมเป็นบรรณาธิการเอง เพราะแก่สุดในซอย

-เด็กประถมทำวารสารรายปักษ์ได้ ถึง 24 ฉบับแสดงว่าชอบจริงเพราะปกติเด็กๆพอมีของเล่นใหม่ก็มักจะผละไปหาอย่างอื่น
ชอบมากครับ พวกเราทำแล้วรู้สึกสนุก....ที่จริงไม่ได้ทำแต่หนังสือนะครับ ก็มีเล่นอย่างอื่นกันด้วย เช่นเตะบอล เล่นไล่จับแบบเด็กๆ อะไรแบบนี้ แต่หนังสือนี่จะมานั่งทำกันช่วงบ่ายวันเสาร์เป็นประจำ ที่หยุดไปก็มีหลายคนเสียดาย แต่ไม่มีเวลาทำต่อเพราะเริ่มโตกัน เพื่อนหลายคนย้ายไปเรียนกรุงเทพ เหลือกันไม่กี่คนก็เลยรู้สึกว่าไม่สนุกแล้ว เลยตัดสินใจว่าหยุดดีกว่า

-ทำวารสารทำมือละแวกบ้านเรา...ไม่ทราบว่าอยากมีนิตยสารเป็นของตัวเองจริงๆจังๆไหม
ตอบจริงๆเลยนะครับ อยากทำมาก แต่ดูความสามารถของตัวเองแล้ว ผมว่าผมทำไม่ได้หรอก ปัจจุบันการทำนิตยสารเล่มหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องรู้ทุกอย่างตั้งแต่ขั้นตอนการพิมพ์ไปจนถึงการตลาด เพราะปัจจัยที่นิตยสารเล่มหนึ่งจะอยู่ได้หรือไม่ ผมว่ามีเยอะมากๆ และคนเป็นบรรณาธิการต้องเก่ง และกล้าตัดสินใจ ถ้ามีโอกาสจริงๆ ผมอยากทำนิตยสารสำหรับเด็กช่วงก่อนวัยรุ่น ผมว่าเด็กวัยนี้เป็นช่วงวัยที่สำคัญมากๆ รอให้ถึงวัยรุ่นก็สายไปแล้ว เขาจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ยังไงก็อยู่ที่ช่วงนี้ละครับ และเท่าที่ดู ผมว่าเมืองไทยยังขาดนิตยสารสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ที่มีก็เป็นการ์ตูนเสียมากกว่า ไม่มีเรื่องอะไรให้เขาอ่านจริงๆจังๆ หรือเป็นเวทีให้เขาเขียนหรือแสดงออก

-แล้วทำไมไม่เลือกเรียนทางด้านวารสารหรือว่านิเทศศาสตร์
ที่จริงก็อยากเรียนนะครับ แต่ผมอยากเรียนโบราณคดีมากกว่า เพราะชอบประวัติศาสตร์มากผมมีความฝันสองอย่างครับ อยากเรียนโบราณคดี กับอยากเป็นหมอ ทีนี้พอมานั่งดูแล้ว ถ้าเราเป็นนักโบราณคดี เราเป็นหมอไม่ได้ แต่ถ้าเราเรียนหมอ เรายังสามารถเป็นนักโบราณคดีไปด้วยได้ เลยเลือกเรียนหมอครับ

-เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ด้วยต้องหาข้อมูลเยอะไหม
ค้นเยอะมากครับเราไม่ได้เกิดในยุคสมัยนั้น ไม่เคยเห็นว่าคนในยุคนั้น กิน อยู่ หลับ นอน อย่างไร คิดอย่างไร มีค่านิยม ภาษาพูดและวัฒนธรรมอย่างไร ก็ต้องอ่านให้เยอะที่สุดผมถือคติว่า ถ้าเรายังหลับตาแล้วนึกภาพไม่ออกว่าสมัยนั้นเป็นอย่างไร ก็ยังไม่ควรเขียนออกมาครับ เพราะถ้าคนเขียนยังนึกภาพไม่ออกเลย คนอ่านเขาก็นึกไม่ออกหรอกครับสาวหลงยุคนี่ ผมอ่านเก็บข้อมูลอยู่สองปีเต็มๆ ถึงจะเริ่มลงมือเขียนบทแรกที่จริงไม่อยากเรียกว่านวนิยายอิงประวัติศาสตร์นะครับ เพราะเรื่อง ‘สาวหลงยุค’ ที่ผมเขียน เพียงแต่เล่าประวัติศาสตร์ช่วงปลายรัชกาลที่ ๖ เป็นฉากหลังเท่านั้น

-คิดว่าข้อมูลจำเป็นสำหรับนักเขียนหรือเปล่า
จำเป็นมากครับคนอ่านเดี๋ยวนี้เก่ง มีความรู้เยอะมาก เขียนโดยที่เราข้อมูลไม่แน่นนี่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะอาจผิดพลาดได้ง่าย สร้างความเข้าใจผิดได้ง่ายที่สำคัญที่สุด ผมมองไปไกลถึงขนาดอีกห้าสิบปี ร้อยปีข้างหน้าตอนที่เราตายไปแล้ว แต่งานเขียนของเรายังอยู่ และถ้าเราเขียนมั่ว คนรุ่นหลังมาอ่านแล้วเกิดเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง อันนี้อันตรายมากครับ ผมไม่อยากเป็นคนบิดเบือนประวัติศาสตร์ของประเทศผ่านงานเขียนของตนเอง

-เขียนทะเลราตรี กับมาลีสีเลือดซึ่งออกจะเป็นแนวสืบสวนสอบสวนไม่ทราบว่า มีโครงการจะเขียนเรื่องแนวสืบสอบสวนจริงๆจังๆไหม
ตอนเริ่มเขียนเรื่องนักสืบชุดแมวมาเลศ ผมตั้งใจจะให้เป็นงานเขียนสืบสวนแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Cozy Mystery คือ เป็นงานสืบสวนแนวเบาๆ อ่านสนุกๆ ไม่เครียดมาก ก็คงจะเขียนเป็นแนวนี้ไปเรื่อยๆครับ ที่จะเขียนเป็นสืบสวนหนักๆ เรื่องซีเรียสนั้นคงไม่ครับ เพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยถนัดแบบนั้น

-มองเป้าหมายของการเป็นนักเขียนของตัวเองไว้ที่ตรงไหน
ทุกครั้งก่อนจะเขียนเรื่องใหม่ ผมจะถามตัวเองเสมอว่าคนอ่าน อ่านเรื่องนี้ของเราแล้วเขาจะได้อะไร ผมจะสื่ออะไรกับเขา ถ้าเรื่องนั้นของผมสามารถสื่อสิ่งที่ผมคิดกับคนอ่านได้ จุดประกายความคิดบางอย่างให้กับผู้อ่าน เท่านี้ผมก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้วครับ

-เขียนตำราวิชาการด้วยหรือเปล่า
เขียนครับตอนนี้ นอกจากให้บริการคนไข้ในพื้นที่แล้ว โรงพยาบาลราชบุรียังเป็นสถาบันผลิตแพทย์ด้วย แพทย์ทุกคนที่นี่มีหน้าที่เป็นอาจารย์แพทย์อีกอย่างหนึ่ง เรามีนักศึกษาแพทย์ของตัวเอง ผมรับผิดชอบสอนวิชา Family Medicine หรือ เวชศาสตร์ครอบครัวครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในเวลานี้ ไม่ค่อยมีตำราภาษาไทยให้นักศึกษาอ่าน ก็ต้องเขียนตำราขึ้นมาเพื่อสอนนักศึกษาด้วยครับ

-มีนักเขียนต้นแบบไหม
อย่าเรียกว่านักเขียนต้นแบบเลยนะครับเพราะถ้าแบบนั้นมันจะเหมือนกับว่า ผมไปลอกเลียนแบบงานของท่านผมว่านักเขียนทุกคนมีแนวและ Style เป็นของตัวเอง สำหรับผมแล้ว นักเขียนที่ผมถือเป็นแบบอย่าง ถือเป็นครูที่จะต้องระลึกถึงทุกครั้งเวลาจะเริ่มเขียนเรื่องใหม่มีสองท่านครับ คือ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล, แก้วเก้า) และคุณจินตวีร์ วิวัธน์ และสำหรับบรรณาธิการที่เป็นครูของผม คือ คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์

- อดีตบรรณาธิการอาวุโสของนิตยสารสกุลไทยครับ
ท่านเป็นผู้ที่เปิดโอกาสให้ผมได้ทำงานเขียนที่รัก กรุณาให้คำแนะนำที่มีประโยชน์มากมาย ถ้าไม่มีท่าน ผมคงไม่มีวันนี้หรอกครับ

-งานเขียนที่ดีในมุมมองของคุณหมอคืออะไร
ในความคิดของผม งานเขียนที่ดี ก็คือ งานเขียนที่สามารถจุดประกายความคิดให้กับคนอ่านได้นำไปคิดต่อ หรือมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาหลังจากที่อ่านจบ ไม่ใช่อ่านแล้วก็แล้วกัน อ่านจบแล้วก็เอ้อ สนุกดีเนอะ แล้วก็วางทิ้ง อะไรทำนองนั้น

-กระแสตอบรับของแฟนนิยายของคุณหมอเป็นอย่างไรบ้างครับ
ก็ดีนะครับ มีกลุ่มนักอ่านกลุ่มหนึ่งที่เป็นแฟนประจำ ชอบงานของเรา ไม่ว่าผมจะเขียนอะไร เขียนที่ไหน เขาก็จะตามไปอ่าน ผมจะลากไปขึ้นเขาลงห้วยอย่างไรก็ยังตามอ่าน ไม่ดุว่า ไม่บ่นให้คนเขียนช้ำใจ กับจะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบอ่านเฉพาะแนวลึกลับ พอผมเปลี่ยนไปเขียน comedy แบบนั้นจะไม่อ่าน อะไรทำนองนี้ครับ ส่วนมากแล้วแฟนหนังสือของผมเป็นกลุ่มวัยทำงาน หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยมากกว่าครับ ไม่ค่อยมีเด็กๆ หนูๆพวกนั้นเขาจะอ่านนิยายเกาหลี ไม่อ่านแบบที่ผมเขียนหรอกครับ แต่ก็อบอุ่นครับ เวลาไปงานหนังสือ บางครั้งจะมีคนที่จำได้มาทัก มาคุยถึงนวนิยายที่กำลังลงอยู่ในนิตยสารว่าเป็นอย่างไรบ้าง

-เวลาเขียนหนังสือเอาบุคลิกของตัวละครมาจากไหน
ก็จะเอามาจากบุคคลจริงๆที่เรารู้จักบ้าง แต่ไม่ได้เอามาทั้งหมด เอาคนนั้นผสมคนนี้ บางครั้งก็จินตนาการขึ้นมาเลย โดยอาศัยเรื่องของเวชศาสตร์ครอบครัวที่เราเรียน เอามาช่วยตรงนี้

-เวลาเขียนงานไม่ออก มีวิธีการยังไงถึงกลับมาเขียนได้ต่อ
เวลาเขียนไม่ออกไม่ค่อยมีนะครับ มีแต่อยากเขียนแล้วไม่มีเวลาจะเขียน แต่บางครั้งก็เป็นครับ ถ้าเขียนไม่ออก ผมจะฟังเพลง ผมชอบเพลงคลาสสิกครับ ฟังเพลงแล้วนอนพักผ่อน หรือไปทำอะไรอย่างอื่น แล้วค่อยกลับมาเขียนต่อ ก็มักจะเขียนต่อได้ครับ

-ตอนนี้มีผลงานเขียนเรื่องไหนที่กำลังจะเป็นละครโทรทัศน์ไหม
มีเรื่องเดียวที่ตกลงเซ็นสัญญากันเรียบร้อยแล้วครับ คือ ‘สร้อยแสงจันทร์’ เป็นของบางกอกดราม่า ทางช่องสามครับ เท่าที่ทราบคงจะเปิดกล้องปี 2549 นี้ สำหรับเรื่องอื่นๆ ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญากันครับ

-อยากฝากอะไรถึงคนอ่านไหมครับ
อยากฝากว่า ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ฝันอยากเขียนหนังสือ คุณหญิงวินิตาท่านเคยให้ข้อคิดกับผมเอาไว้ว่า ถ้าอยากเขียนหนังสือ ให้เขียนเลย อย่ามัวแต่อยาก ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ลงมือเขียนสักที ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซนต์ครับ ถ้าอยากเขียน เขียนเลยครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะดีหรือไม่ดี เขียนออกมาก่อน เขียนให้จบ แล้วคุณจะภูมิใจมาก เมื่องานเขียนชิ้นแรกของคุณสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างและสำหรับท่านที่อยากพูดคุยกันกับผมอีก ขอเชิญแวะไปเยี่ยมที่ website ของผมได้นะครับ www.oatbook.com ครับ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ