ภาณุ ตรัยเวช : การประกวดคือปีศาจจำเป็น

ภาณุ ตรัยเวช

นช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาชื่อของภาณุ ตรัยเวชอาจจะยังไม่คุ้นหูมากนักในวงการวรรณกรรม และเมื่อปรากฏว่าหนังสือนวนิยายเล่มแรกของเขา เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์ สามารถเบียดแทรกเข้ามาเป็น 1 ใน 10 สุดท้ายของรางวัลซีไรต์ปีนี้ ก็ยิ่งทำให้เราเกิดความกระหายใคร่รู้ว่านักเขียนหน้าใหม่ผู้นี้เป็นใคร ภาณุ ตรัยเวช เข้าเรียนมัธยมปลายที่ เตรียมอุดมศึกษา และเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งฟิสิกส์โอลิมปิกถึงสามปีซ้อน 3 ปี ปัจจุบันกำลังทำปริญญาอยู่ที่ ucla ในสาขาวิชาอุตุนิยมวิทยา เรามาทำความรู้จักกับนักเขียน(อนาคต)ด๊อกเตอร์ ผู้นี้พร้อมๆกันเลยดีกว่า

-มาเขียนหนังสือได้ยังไง
เขียนหนังสือมาตั้งแต่เรียนมัธยมปลาย แต่ว่าตอนนั้นยังเขียนเล่นๆอยู่ มาเขียนอย่างจริงจังตอน ม.6 ตอนนั้นได้อ่านรวมเรื่องสั้นซอยเดียวกันของคุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ ชอบมากๆถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดบันดาลใจ ทำให้อยากเขียนหนังสือดีๆแบบนั้นบ้าง ก็เลยเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงๆจังๆ ประกอบกับช่วงนั้นต้องสอบเกี่ยวกับการเขียนเรียงความด้วย ก็เลยได้มีโอกาสติววิชาภาษาไทย กับอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมฯ ก็เลยได้ทักษะการเขียนตรงนั้นมา ก็ช่วยเขียนหนังสือให้ดีขึ้น พอเรียนเมืองนอกนอกจากจะต้องเรียนวิชาหลักๆแล้วเขายังเปิดโอกาสให้เราเรียนวิชาเสริมอื่นๆด้วย ก็เลยเลือกเรียน พวกวรรณคดี พวกประวัติศาสตร์ พวกวิชาการเขียน ก็เท่ากับทำให้ได้เขียนหนังสือเรื่อยๆมา

-งานที่ได้ตีพิมพ์ชิ้นแรก
ผลงานชิ้นแรกจริงๆเลยคือ เป็น บทละคร ที่ได้รางวัลชนะเลิศของสดใสอวอร์ดปีสุดท้าย แต่ตอนนั้นไม่ได้ใช้ชื่อตัวเองใช้ชื่อเพื่อน เพราะว่าการส่งประกวดมันต้องมีหลักฐานการเป็นนักศึกษา คือตอนนั้นผมไม่ได้เอามาจากเมืองนอกด้วย ก็เขียนร่วมกับเพื่อนแล้วให้ส่งในนามเพื่อน แต่ที่ตีพิมพ์แล้วเป็นชื่อตัวเองจริงๆ ก็สักประมาณ 2-3 ปีที่แล้วเองครับ ตีพิมพ์กับนิตยสารโอเพ่น เป็นเรื่องสั้นเรื่องวรรณกรรมตกสระนี้แหละครับ พอตีพิมพ์เสร็จนิตยสารโอเพ่นก็ปิดตัวทันที ตอนที่ได้รางวัลจากสดใสไม่นานก็ปิดตัวไปเหมือนกัน จนโดนแซวว่าลงที่ไหน ได้รางวัลที่ไหนที่นั้นเจ๊งหมด

-แล้วถ้าเกิดได้รางวัลซีไรต์ขึ้นมาไม่กลัวซีไรต์ปิดตัวไปด้วยเหรอ
(คำถามนี้มีแต่เสียงหัวเราะจากนักเขียนหนุ่มอนาคตด๊อกเตอร์เท่านั้น)

-ผลงานในปัจจุบัน
ตอนนี้ที่กำลังจะออกมาจะเป็นบทละครที่เคยได้รางวัลจากสดใส แต่ว่าครั้งนี้จะตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มอย่างจริงๆจัง แล้วก็มีนิยายที่เขียนค้างอยู่เรื่องหนึ่งเหมือนกัน เรื่องสั้นก็ตั้งใจว่าจะเขียนออกมาเรื่อย งานแปลกำลังทำอยู่ 3 เล่ม เล่มแรกจะเป้นชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีแบบฝึกหัดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ซึ่งไม่เกี่ยวกับวรรณกรรมเลยส่วนอีกเล่มจะเป้นรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ อาเธอร์ ซี.คร้ากซึ่งเป็นนักเขียนแนววิทยาศาสตร์ที่โด่งดังมาก งานแปลที่ตีพิมพ์แล้วก็มีเคหาสน์แมงป่อง

-เขียนต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ
คงยังอีกนานตอนนี้ยังไม่คิด แต่จริงๆก็เคยเขียนมาบ้างเหมือนกัน ตอนเรียนปริญญาตรีเกี่ยวกับการเขียนเรื่องสั้น แล้วในรวมเรื่องสั้นเรื่องแรก วรรณกรรมตกสระ หลายๆเรื่องตอนแรกก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาก่อนแล้วค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษที่หลัง แต่ถ้าถามว่าคิดจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วตีพิมพ์ที่เมืองนอกเลย ยังไม่ได้คิดถึงขนาดนั้นครับ

-ชอบอะไรในงานเขียนจึงหันมาจับปากกเขียนหนังสือ
เป็นคนที่ชอบเล่าเรื่อง แล้วอีกอย่างคือชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก พออ่านเยอะๆเลยอยากเขียนอยากเล่าเรื่องราวของตัวเองบ้าง จริงๆแล้วงานอย่างอื่นเช่นพวกภาพยนตร์ก็ชอบเหมือนกัน รู้สึกว่างานเขียนมันอิสระที่สุด มีความเป็นตัวเองมาที่สุด คือถ้าทำภาพยนต์ จะต้องมีทุนต้องร่วมมือกับคนอื่นเขา แต่งานเขียนถ้าเราอยากจะเล่าเรื่องอะไรก็จะมีสิทธิเล่าอย่างเต็มที่กว่า

-งานประกวดในปัจจุบันเป็นช่องทางทำคลอดให้กับนักเขียนใหม่เห็นด้วยไหม
ก็จริงนะครับ เดี๋ยวนี้งานประกวดวรรณกรรมจะมีเยอะมาก ถ้าประกวดเป็นเล่มนอกจากซีไรต์แล้วยังมี 7บุ๊คอวอร์ด ประกวดของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ถ้าเป็นต้นฉบับก็มีนายอินอวอร์ดเป็นต้น คือมันจะมีงานประกวดเยอะ ซึ่งมันก็ทำให้วงการคึกคักขึ้น แล้วก็เป็นการสกรีนหนังสือให้กับคนอ่านในระดับหนึ่ง ว่าหนังสือเล่มไหนเป็นที่น่าสนใจ แต่ต้องยอมรับเหมือนกันว่าการประกวดก็เป็นการตัดสินของกรรมการกลุ่มหนึ่งไม่ใช่คนทั้งหมด มันพูดยากว่าจะให้คนกลุ่มหนึ่งมาชี้ว่าหนังสือเล่มไหนควรอ่าน มันเป็นลักษณะคล้ายๆปีศาจจำเป็นคือ ถ้าไม่มีมันก็ไม่ได้ ในประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมการอ่านแบบนี้ ถ้าไม่มีปิศาจตัวนี้อยู่ผมเชื่อว่าการอ่านในบ้านเราจะยิ่งแย่กว่านี้อีก

-ส่งประกวดบ่อยไหม
ช่วงปีสองปีที่แล้วจะประกวดเกือบทุกงาน แต่ว่าตั้งใจไว้ว่างานไหนที่เคยเข้าชิงแล้วจะไม่ส่งซ้ำ หลังๆเลยเริ่มประกวดน้อยลง พอเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ก็คงจะละๆงานประกวดเล็กๆลง

-คิดไหมว่าเด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์จะเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์
ไม่ได้คิดไว้ว่าจะเข้ารอบแต่คิดไว้ว่าเล่มนี้จะส่งชิงซีไรต์เพราะแนวหนังสือจะค่อนข้างหนักนิดหนึ่ง หนังสือแนวนี้จะขายยาก ถ้าทำแล้วให้คนหาซื้ออ่านเอาเอง อาจจะลำบาก ก็คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเล่มนี้จะส่งชิงซีไรต์แต่ก็ไม่คิดถึงขนาดว่าจะได้หรือไม่ได้

- เข้ารอบสุดท้ายครั้งนี้คิดว่าไวไปไหม....ในขณะทีคนอื่นเขาส่งซีไรต์มาหลายครั้งแล้วยังไม่ได้เข้า
ตอบเป็นสองประเด็นแล้วกัน อย่างแรกเรื่องอายุก็อดคิดไม่ได้เหมือนกัน ตอนแรกว่าจะยังไม่ส่งปีนี้ด้วยซ้ำ คือหนังสือที่เขียนมา เรื่องนี้เขียนเสร็จประมาณเดือนสิงหาปีที่แล้ว ตอนที่คุยกับนานมีว่าจะพิมพ์นี้ประมาณเดือนธันวาปีที่แล้ว ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะรีบพิมพ์ให้ทันซีไรต์ปีนี้ดีไหม หรือว่า ควรจะรออีกสักปีหนึ่ง ปล่อยออกมาแล้วระหว่างนั้นก็สร้างสมชื่อเสียงไป ก็ต้องยอมรับแหละครับว่า ซีไรต์ถ้าเกิดส่งไปแบบโนเนมนี้บ้างทีมันก็ยาก แต่ก็ต้องเห็นใจกรรมการเหมือนกัน เพราะเขาต้องอ่านตั้ง 50 -60 เล่ม คือถ้าเรามีชื่อเสียงหน่อย มันก็จะดีกว่า

ตอนแรกเลยคิดว่ารอก่อนดีกว่ารออีก 3 ปีแล้วค่อยส่งเล่มนี้ พอดีตอนนั้นมีเพื่อนคนหนึ่งเขาจะสมัครเรียนเมืองนอกเป็นเพื่อนสนิทกัน เขาก็สงสัยว่าจะสมัครปีนี้หรือรอปีหน้าดี เพราะเขารู้สึกว้าปีนี้เขาไม่พร้อม ผมก็ยุส่งว่าสมัครเลย สมัครเลย เขาก็เลยตั้งเงื่อนไขขึ้นมาว่าสมัครเลยก็ได้แต่ผมก็ส่งซีไรต์ปีนี้เหมือนกัน คือตอนนั้นอยู่ในสถาณการณ์คล้ายๆกัน ตอนหลังก็ไปได้ดีด้วยกันทั้งคู่เขาก็สอบเข้าเรียนได้ผมก็ได้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ... ในแง่ของอายุนี้อาจจะเร็วไปนิดหนึ่ง อีกแง่หนึ่งที่ว่าคนอื่นส่งมาหลายปีแล้วคิดว่าของตัวเองไวไปไหม อันนี้คิดว่าไม่นะครับ คืออ่านหนังสือมาเยอะ ถึงแม้เราจะเป็นนักเขียนใหม่ แต่คิดว่าเล่มนี้ก็เป็นเล่มที่มีศักยภาพที่น่าจะได้ชิง

-งานชิ้นต่อไปจะมีอาการเกร็งไหม
ก็มีควมรู้สึกแบบนั้นอยู่เหมือนกัน อย่างนิยายที่เขียนค้างไว้จะเป็นอีกแนวหนึ่งเลย ออกจะเป็นนิยายในเชิงสนุกสนานเสียด้วยซ้ำ เป็นนิยายแนวสืบสวนสอบสวน อ่านง่ายๆอ่านสนุก ตอนนั้นที่เขียนคือรู้สึกว่าอยากทำอะไรมันส์ๆดู ถ้าได้อ่านวรรณกรรมตกสระจะพบเลยว่าเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่อง จะต่างแนวกันหมด บางเรื่อง ธีมอาจจะคล้ายๆกันแต่ลักษณะการเขียนจะผิดกัน ตอนนี้ยังอยากจะลองเลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ เพราะตัวเองเป็นคนที่อ่านหนังสือหลากหลายอยู่แล้ว ทั้งแฟนตาซี เพื่อชีวิต นิยายจีน มีความฝันเหมือนกันว่าสักวันอยากจะลองเขียนนิยายจีนกำลังภายในสักเล่ม ก็ยอมรับครับว่าการที่เราเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้วมีแฟน มีคนติดตาม เขาอาจจะคาดหวังอะไรจากเรา ซึ่งถ้าเราเขียนผิดจากเดิมออกไปเขาจะรับได้ไหม ก็ยังกังวลอยู่แต่ก็ยังอยากทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากกว่า

-ภาษากับพล๊อตเรื่อง
ภาษาผมอยากจะเขียนให้อ่านง่าย ต้องยอมรับว่าเรื่องภาษาคงสู้คนรุ่นเก่าที่เขามีความละเมียดทางภาษามากกว่า เขาเติบโตมากับวรรณคดี ส่วนพล๊อตของผมอาจจะซับซ้อนนิดหนึ่งเน้นตรงนี้มากกว่าครับ

-อ่านหนังสือต่างประเทศเยอะๆมีประโยชน์ต่อการเขียนของเราไหม
มีมากๆเลยครับ มีคำอยู่คำหนึ่งจากร่างพระร่วงนี้แหละ อาจารย์เทพศิริเขียน ไว้ดีมากเลย อาจารย์บอกว่า ใครก็ตามที่เดินทางไปตามที่ต่างๆ เขาก็จะพบเห็นอะไรหลายๆอย่างพอเขากลับเอามาเล่าให้คนที่บ้านฟัง คนก็จะเริ่มไม่เชื่อว่าสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นจริง เขาจะมองต่างออกไป ผมคิดว่าตัวเองก็คล้ายๆกับชายในเรื่อง ไปอยู่เมืองนอกก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือต่างมากมาย คิดว่าตรงนี้เป็นต้นทุนที่ค่อนข้างจะได้เปรียบคนอื่นมาก ยอมรับว่าเรื่องการเขียนเรายังเก่งสู้คนอื่นๆเขาไม่ได้ เรื่องหลายเรื่องเรายังเก่งสู้คนอื่นไม่ได้ แต่เรื่องการอ่านนี้ได้อ่านมาเยอะเหมือนกัน

-อ่านหนังสือต่างประเทศมาเยอะพอจะมองออกไหมว่าทำไมวรรณกรรมไทยยังไม่โกอินเตอร์สักที
มีหลายปัจจัยเลย อย่างแรกคืองานเขียนแบบนี้เราเอามาจากฝรั่งเขาเมื่อไม่นานเท่าไหร่ สักร้อยปีได้มั่ง อายุของงานเขียนนิยาย เรื่องสั้นนี้แทบจะพอๆกับประชาธิปไตยเลยเพราะฉะนั้นมันก็ยากที่เราจะไปเทียบกับเขา ที่พัฒนามานานแล้ว อีกอย่างคือวัฒนธรรมการวิจารณ์ ในเมืองนอกไม่ว่าจะเป็นนักเขียนดังแค่ไหนถ้าเกิดเขียนหนังสือขึ้นมา มันก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ของเมืองไทยอ่านจบแล้วก็จบกันไป เราไม่มีสนามให้วิพากษ์วิจารณ์ เดี๋ยวนี้มันจะมีเว็บบอร์ดเยอะ แต่ถ้าลองไปเข้าไปคุยๆดูถ้าใครมาเสนอความคิด ในเชิงติก็จะถูกว่า

ถ้ามองว่าทำไมภาพยนตร์ก็เพิ่งเข้ามาในบ้านเราไม่นานแต่อย่างต้มยำกุ้งก็ไปเป็นหนังขายดีในเมืองนอกมาแล้ว ก็อย่างที่บอกมันเป็นคงพื้นฐานทางวัฒนธรรมในเรื่องวิจารณ์ อีกอย่างหนึ่งคือตัวนักเขียนเมืองนอกมักจะเป็นกึ่งปัญญาชน เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จบสูงๆ มีความรู้เยอะๆใช้เวลาว่างมาเขียนหนังสือ คนพวกนี้เขาจะอ่านปรัญชา จะอ่านจิตวิทยา อ่านประวัติศาตร์ ซึ่งทำให้งานเขียนของพวกเขานี้มีมุมมองที่กว้างกว่า แต่การเขียนของเมืองไทยมันจะออกไปในเชิงลูกทุ่งๆหน่อยๆ มันเป็นการเขียนด้วยใจเสียมากกว่า อาจจะเป็นปรัชญาแต่เป็นปรัชญาใจ คือใช้ใจตีแผ่เสียมากกว่า ปรัชญาใจ มันอาจจะเป็นจริงสำหรับคนๆหนึ่งแต่ไม่แน่ใจว่าจะจริงกับคนอื่นเสมอไปหรือเปล่า ในขณะที่ปรัชญาอิงความรู้ อิงอยู่กับวิชาการมันเป็นสิ่งที่จริงกว่า เป็นสากลมากกว่า

-พรสวรรค์กับพรแสวง
พรแสวงแน่ๆ คือทุกอย่างไม่เฉพาะกับการเขียน งานเขียนนี้สำคัญมากคือต้องอ่านหนังสือเยอะๆ คือแต่ก่อนเราชอบพูดกันว่าอยากเป็นนักเขียนก็ต้องเขียนเยอะๆ มานั่งลงเลยตั้งหน้าตั้งตาเขียนเลย แต่ผมรู้สึกว่าคำพูดแบบนั้นมันใช้ไม่ได้แล้ว คือสมัยนี้เป็นยุคอินเตอร์เนต ทุกคนเขียนกันหมด ต่อให้เด็กที่ไม่เคยคิดอยากเป็นนักเขียนเลยก็ต้องเคยตอบอีเมล์ แทบทุกคนจะมีเว็บบล็อก มีเว็บไดอารี่ มีเว็บบอร์ค ทุกคนเขียนกันหมดแล้ว ที่บอกว่าใครอยากเป็นนักเขียนก็ให้ไปเริ่มเขียน เขาพูดแบบนั้นเพราะอยากให้เราเคยชินกับการเขียนหนังสือ ผมว่าทักษะตรงนี้กับสมัยนี้มันไม่ค่อยจำเป็นแล้ว ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการอ่าน ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่อยากเป็นนักเขียนในสมัยนี้คือไม่ชอบอ่านหนังสือ เจอเยอะมากตามเว้บบอร์ดต่างๆ ถ้าคนเราเขียนอย่างเดียวโดยไม่อ่านมันตลกมาก เขียนแต่น้อยก็ได้ คิดหนักๆ ได้เรื่องสั้นดีๆปีละ2-3 เรื่องก็พอแล้ว

- เขียนได้หลายแนวทั้งทางวิชาการทั้งแปลงาน สักวันจะหยุดเขียนวรรณกรรมไหม
ก็คงจะเขียนไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังมีเรื่องอยากเล่าอยู่ แต่อาจจะไปทำแนวอื่นบ้างเช่น อยากจะลองเขียนบทภาพยนต์ดู หรืออยากจะลองเขียนเนื้อเพลงอะไรแบบนี้ อยากลองไปเรื่อย ๆที่อยากทำสุดคืออยากทำบทละคร ตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่งถ้ามีชื่อเสียงขึ้นมาก็อยากจะเขียนบทละครขึ้นมาให้ได้ ที่เป็นรูปเป็นร่างก็เรื่องที่ได้รางวัลจากสดใสอวอร์ดซึ่งกำลังจะพิมพ์ออกมา และหลังจากนั้นก็เขียนอีก 2 เรื่องเอาไปเสนอให้ที่ต่างๆแต่ก็ไม่เวิร์ค คนเขียนบทละครก็เหมือนคนเขียนเรื่องสั้นนั้นแหละครับ มือใหม่เอาไปเสนอที่ไหนก็ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ แต่บทละครจะยากกว่าเพราะไม่ใช่แค่พิมพ์เฉยๆแต่จะมีการลงทุนต่างๆเยอะแยะมาก ถ้าตัวเองมีเครดิตมีต้นทุนทางสังคมเยอะขึ้นก็คิดว่าอาจจะช่วยให้ง่ายขึ้น

-เป้าหมายสูงสุดของการเป็นคนเขียนหนังสือ
คงจะไม่มีเป้าหมายสูงสุดแต่จะมองเป็นสเต๊ปๆมากกว่า คือมีขั้นหนึ่งก็จะมองไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าถามตอนนี้ก็คงจะเขียนหนังสือให้ได้ดีๆต่อไป อยากจะทำบทละครออกมาให้ได้ อยากจะเขียนนิยายที่ค้างไว้ให้เสร็จ ถ้าถามว่าอยากจะได้ซีไรต์สักครั้งหนึ่งไหมก็คงไม่ถึงขนาดนั้น มองซีไรต์เป็นขั้นบันไดมากกว่าคือถ้าได้มาก็จะทำให้คนหันมาสนใจงานของเรามากขึ้น

- ใช้ชีวิตด้วยการเขียนหนังสืออย่างเดียว?
คงไม่ครับ คงทำงานอุตุนิยมไปด้วย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่สับสนว่าจะเรียนอะไรดีพอดีกลับมาเยี่ยมบ้านก็ได้มีโอกาสฟังพระราชดำรัสของในหลวงท่านก็พูดถึงว่างานอุตุนิยมกำลังเป็นที่ต้องการของสังคมไทยเราเพราะบ้านเรามีพื้นฐานอยู่ที่เกษตรกร ก็เป็นแรงบันดาลใจ ยังไงก็คงไม่ทิ้งงานด้านนี้แน่ ก็คงทำควบคู่ไปด้วยมากกว่า ก่อนจบการสนทนาในวันนั้น ภาณุ ตรัยเวชทิ้งท้ายไว้ได้อย่างน่าฟัง “ก็อยากจะให้อ่านหนังสือกันเยอะๆ แล้วมาแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา เช่นว่าวันหนึ่งเดินอยู่บนถนนแล้วมีคนเข้ามาบกว่าอ่านเด็กกำพร้าแห่งสรวงสรรค์แล้ว หนังสืออะไรไม่ได้เรื่องเลย ผมจะดีใจมาก คือจะรู้สึกว่าเขาอ่านหนังสือของเรา มีคนด่าหนังสือเรามันก็ยังดีกว่าไม่มีคนอ่านเสียเลย”

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ