พินัยกรรม จาก..ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถึง..เธอที่ยังคงอยู่ : บทวิจารณ์โดย จุฑามาศ กองคิด โครงการ "อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์" ปีที่ 9

พินัยกรรม จาก..ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถึง..เธอที่ยังคงอยู่

วิจารณ์บทกวี พินัยกรรม จาก..ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถึง..เธอที่ยังคงอยู่

     ความตาย คือปลายทางสุดท้ายของชีวิตที่ไม่มีทางเลี่ยงพ้น ไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าคนเราตายแล้วไปไหน หรือใครตายแล้วจะได้ไปอยู่กับใคร บางครั้งความตายก็ทำหน้าที่เป็นสิ่งโรแมนติกให้บทกวี มีทั้งตายเพื่อให้อีกคนได้เติบโต ตายเพื่อเป็นที่จดจำ ตายไปเพื่อเหลือร่องรอยความรักเอาไว้ให้คนที่ยังอยู่ เรื่องโรแมนช์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ปลายปากกาของนักกวีที่จะสรรสร้างให้ความตายทำหน้าที่แบบใด

     หากตายไปแล้วแต่ความปรารถายังอยู่ในดวงจิต จะทำอย่างไร หากตายไปแล้วได้ค้นพบสิ่งที่ดีที่อยากบอกคนที่ยังอยู่ จะทำอย่างไร หากตายไปแล้วอยากจะบอกอะไรบางอย่างกับเธอ จะทำอย่างไร สื่อกลางทำหน้าที่เป็นสารจากคนที่จากไปแล้วในที่นี้ นั่นคือ บทกวีที่เป็นเสมือนพินัยกรรม

      "พินัยกรรม" เป็นบทกวีทำให้ผู้อ่านรู้สึกก่อนคิด รู้สึกว่าที่ไหนจะดีขนาดนั้น ที่ไหนกันที่กวีหมายถึง ที่แบบใดที่จะสมบูรณ์พร้อม ซึ่งพอตกตะกอนความคิดแล้วนั้น ผู้เขียนจึงได้ตีความออกมาว่า ที่แบบนั้นคงมีแค่ในโลกหลังความตาย กวีเลือกใช้ชื่อเรื่องว่า พินัยกรรม เพื่อเป็นตัวแทนส่งสารจากฝั่งคนที่ตายไปแล้ว สื่อถึงเธอผู้เป็นที่รักที่ยังมีชีวิตอยู่ ผ่านการเรียงร้อยถ้อยคำอย่างบรรจง

      ประเด็นที่ 1 การใช้วาทศิลป์ส่งสารจากคนตายถึงคนเป็นบทกวีเรื่อง พินัยกรรม ปรากฏประโยคซ้ำๆในทุกๆ สองบท โดยผู้แต่งใช้ประโยคนี้เพื่อสื่อความหมายของการทำหน้าที่เป็น "พินัยกรรม" พินัยกรรมในที่นี้ น่าจะหมายถึงสารที่คนตายต้องการจะส่งมอบถึงคนเป็นเปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน ความคิดถึง ตั้งตารอด้วยคิดว่า "เธอ" ต้องชอบที่นี่แน่ ผ่านประโยคที่ว่า "ฉันรอเธออยู่ที่นี่นะที่รัก..." ก่อนจะพรรณนาถึงที่ที่เขารออยู่ว่าเป็นอย่างไร

      ประเด็นที่ 2 การพรรณนาถึงการมีอยู่ของพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในอุดมคติขอให้ได้ไปที่ชอบที่ชอบ คือวลีที่คุ้นหูเป็นอย่างดีสำหรับการพูดถึงโลกหลังความตาย ที่ที่ชอบ ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปตามวิถีของแต่ละคน เดิมกวีเป็นคนขอนแก่น เป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวชาวนาและเป็นเจ้าของว่าทกรรม "เกษตรกร เกษตรกรรม ความยากไร้ ผลักเราสู่ที่ทางใหม่ ไกลออกมา" ซึ่งเขียนไว้ในบทกวี "ด้านทั้งสองของโลกเสมือน" ใน "หัวใจห้องที่ห้า" ในบทกวีเรื่องพินัยกรรม กวีก็ได้กล่าวถึงธรรมชาติของชนบทไว้อย่างสวยสดงดงามเสมือนพื้นที่ในอุดมคติ ดังจะเห็นได้จากการที่กวีถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาผ่านการพรรณนาถึงธรรมชาติต่างๆ เช่น "ที่พืชผักบานดอกแย้มแกมดอกหญ้า" "ที่ปลูกปักแปลงดอกไม้แกมไหน่หนาม " "ที่พิงพักฝูงนกกา ร่มหว้าใหญ่" "ที่เพิงพักชานกระท่อมพร้อมเรื่องเล่า" เป็นต้น

    ที่ที่ถูกเอ่ยถึงข้างต้นสะท้อนภาพวิถีชีวิตในชนบทที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ หนึ่งในที่ชอบที่ชอบของกวี คงเป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งทักษะการพรรณนาของกวีทำให้ผู้เขียนคล้อยตามได้ว่าธรรมชาติที่เป็นที่ชอบ ที่ชอบของเขานั้น นำไปดูให้เห็นกับตาสักครั้ง

     ประเด็นที่ 3 การเล่าเรื่องที่แฝงด้วยสัญญะเกี่ยวกับโลกหลังความตายกวีนิพนธ์เรื่อง พินัยกรรม กวีใช้สัญญะแฝงอยู่ในเนื้อความท้าทายให้ผู้อ่านหาความหมายที่ซุกซ่อนอยู่อันแสดงให้เห็นถึงลีลาและชั้นเชิงทางภาษาของกวีได้เป็นอย่างดี การใช้สัญญะจะช่วยให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพในมุมมองที่ลึกซึ้ง โดยแต่ละคนที่ได้อ่านอาจตีความได้แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ และทักษะการตีความ ผู้เขียนมองว่าเรื่องนี้ เมื่อได้อ่านและวิเคราะห์นัยยะที่แฝงอยู่แล้ว บทกวีกล่าวถึงโลกที่ไม่มีอยู่จริง ดังนี้

ที่ "คุณค่า" ค้ำคูน "มูลค่า"

ที่เธอว่าจะหลอมรวมความแตกต่าง

ที่ดวงตาเราเห็นเป็นไทเป็นทาง

ที่กรอบเกณฑ์จะเปิดกว้างให้ย่างเท้า

     จากบทข้างต้นกล่าวถึงที่ที่พอเราตายแล้ว ก็จะเหลือไว้แค่เพียงคุณความดีที่สร้าง ที่จะส่งเสริมมูลค่าอะไรที่เคยถูกอยู่กำหนดห้ามก็ได้ลองได้รู้

ฉันรอเธออยู่ที่นี่นะที่รัก...

ที่เพิงพักซานกระท่อมพร้อมเรื่องเล่า ที่

ตำนาน นิทานปรัมปรา พร่าพรายเงา

ที่เรื่องเก่า เรื่องใหม่ ใกล้ชิดกัน

      บทข้างต้นกล่าวถึงเวลาที่ไม่ดำเนินไปอีกแล้ว เพราะเมื่อเราตาย นาฬิกาชีวิตก็หยุดลงเพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเรื่องที่เกิดขึ้นสมัยเด็ก หรือเรื่องที่เกิดขึ้นตอนไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า ก็สรุปได้แค่เพียงว่าทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนตายทั้งสิ้น

ที่เฉพาะรำพึงถึงโลกกว้าง

ที่เธอบอกบางรุ่งสางช่างแสนสั้น

ที่สนธยาฉันเห็นก็เช่นนั้น

ที่เที่ยงวันเป็นเพื่อนเคียงกับเที่ยงคืน

      จากบทนี้สะท้อนให้เห็นทั้งการคิดถึงคำพูดของเธอ "ที่เธอบอก" และ "ที่สนธยา" ยังหมายความได้ถึง ที่ลึกลับ หรือโลกแห่งวิญญาณ ที่เวลาวนเวียนไปไม่รู้แน่นอน

ที่ดอกผลยังอยู่กับผู้สร้าง

ที่เคียงข้างคนทุกข์ยาก ปวงรากหญ้า

ที่มือเราวาดสีทองของขอบฟ้า

ที่สูงส่งรักศรัทธา แต่สามัญ!

      บทสุดท้ายของกวี ตีความได้ถึงที่ที่ใครทำอะไรไว้ก็ได้สิ่งนั้น ที่ที่ไม่มีคำว่ารวยหรือจน ที่ที่เวลาไม่มีอยู่จริง ที่สูงส่งรักศรัทธา แต่สามัญ! ผู้เขียนใช้เวลานานพอสมควรในการตีความประโยคทิ้งท้าย และเครื่องหมาย "!" ของผู้แต่ง น่าจะหมายถึงที่ที่ผู้คนคิดว่าเป็นที่วิเศษ ทว่าเป็นที่ธรรมดาที่ใครๆ ก็ต้องไปถึงในสักวัน

    บทกวีเรื่องพินัยกรรมให้แนวคิดในเรื่องของการแสวงหาความหมายเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย เป็นการพร่ำถึงเธอผู้เป็นที่รักของผู้ที่ล่วงลับไปก่อน อ่านรอบแรกอาจตีความได้ว่าเป็นกวีที่ใช้คำง่ายๆ มีสัมผัสสวยงาม พรรณนาถึงธรรมชาติ ทว่าเมื่ออ่านหลายรอบก็ได้ตกตะกอนถึงนัยยะบางอย่างที่เสมือน พินัยกรรมจากคนหนึ่งถึงอีกคน ซึ่งด้วยความลึกซึ้งของกวีบทนี้แล้ว ก็ถือได้ว่า "สมมง" กับรางวัลชนะเลิศ ประเภทบทกวีระดับประชาชน รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี 2566 เลยทีเดียว

 

บทวิจารณ์โดย จุฑามาศ กองคิด
โครงการ "อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์" ปีที่ 9

 

Writer

The Reader by Praphansarn