ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย : ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

ประชุมสัมมนา “วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ ‘อัญชัน’ อัญชลี วิวัธนชัย”

                เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้จัดสัมมนา “วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ ‘อัญชัน’ อัญชลี วิวัธนชัย” เพื่อนำเสนอผลงานใหม่ของ ‘อัญชัน’ จำนวน 2 เล่มด้วยกัน คือ ‘มนุษย์ครึ่งทาง’ (Till the last breath) และ ‘กาลครั้งหนึ่งในความฝัน’ (Once upon a dream) ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยทั้งสองเล่ม

 

ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

 

                ‘อัญชัน’ ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2533 จากผลงานรวมเรื่องสั้นอันเป็นผลงานแจ้งเกิดของเธอ คือ ‘อัญมณีแห่งชีวิต’ โดยชื่อของ ‘อัญชัน’ ได้ปรากฏอยู่ตามคอลัมน์เรื่องสั้นในนิตยสารต่าง ๆ และรายการประกวดรางวัลหลากหลายเวทีมาแล้วก่อนหน้า และได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวงการวรรณกรรมอยู่ระยะหนึ่ง โดยสังเกตได้จากความเห็นของนักวิจารณ์วรรณกรรมหลากหลายท่านด้วย ภายหลัง ‘อัญชัน’ ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ประเทศอเมริกาอย่างถาวร แต่กระนั้นผลงานของเธอยังคงได้รับการตีพิมพ์อยู่เรื่อยมา

 

ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

 

                รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีสัมมนาด้วยหัวข้อ ‘ผมรู้จักอัญชันจากผลงานรวมเรื่องสั้น อัญมณีแห่งชีวิต’ โดยดอกเตอร์สุรเดช ได้เสนอว่าสนใจชื่อของ ‘อัญชัน’ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา และได้หยิบเอา ‘อัญมณีแห่งชีวิต’ มาทำงานวิเคราะห์ตีความ โดยกล่าวว่า ‘อัญชัน’ เป็นนักเขียนที่สามารถนำเสนอกลวิธีประเด็นทางสังคมด้วยกลวิธีการประพันธ์หลากหลายรูปแบบ ใช้มุมมองและสถานการณ์ของตัวละครเข้าไปแตะปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ การกดทับในเพศวิถี โครงสร้างสังคม รวมไปถึงการบรรยายฉากและบริบทให้ผู้อ่านเห็นภาพด้วยสำนวนภาษาที่มีลูกเล่นหลากหลาย

 

ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

 

                นอกจากนี้ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นรุ่นพี่คณะอักษรศาสตร์ของ ‘อัญชัน’ ได้เล่าถึงปรากฏการณ์สั่นสะเทือนวงการวรรณกรรมของ ‘อัญชัน’ เมื่อครั้งได้รับรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2533 ว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดการถล่มผลงานซีไรต์ของกลุ่มนักวิจารณ์ (หลังจากปี 2533 แล้วก็มีการวิจารณ์ถล่มผลงานซีไรต์เรื่อยมา แต่สามารถนับได้ว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับ ‘อัญชัน’ เป็นครั้งแรก) อันแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นทางงานวรรณกรรมของ ‘อัญชัน’ ที่ได้รับการจับตาอย่างสนใจจากนักอ่านและนักวิจารณ์

                นอกเหนือไปจากความสามารถทางวรรณศิลป์แล้ว ชมัยภรยังกล่าวถึง ‘ความโหด’ ในงานเขียนของ ‘อัญชัน’ ซึ่งมักจะทิ้งความรู้สึกที่เกาะกุมใจเมื่ออ่านจบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิตของตัวละครที่เป็นภาพแทนสถานการณ์สังคม หรือบางครั้งก็เป็นภาพปัญหาของปัจเจกชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลากหลายรูปแบบที่มนุษย์ทุกคนอาจต้องพบเจอ รวมไปถึงประเด็นท้าทายศีลธรรมของสังคมที่ ‘อัญชัน’ หยิบยกขึ้นมานำเสนอ

 

ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

 

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ ได้เล่าบรรยายถึงวรรณศิลป์ในผลงานของ ‘อัญชัน’ ว่ามีความโดดเด่นในการวางบทขยายให้เห็นภาพ รวมไปถึงการใช้สัญลักษณ์เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่นผลงานเรื่องสั้น ‘หม้อที่ขูดไม่ออก’ ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงเป็นพิเศษ ซึ่งแสดงถึงสถานภาพผู้หญิงไทยผ่านหม้อก้นไหม้ที่ขูดอย่างไรก็ขูดไม่ออก ราวกับเป็นความผิดบาปของผู้หญิงในฐานะภรรยาที่บกพร่องต่อความคาดหวังของสังคม ก่อให้เกิดความสะเทือนใจต่อผู้อ่านโดยตรง

                นอกจากนี้ ดอกเตอร์ธเนศยังได้แสดงให้เห็นว่าวรรณศิลป์ในงานเขียนของ ‘อัญชัน’ ได้รับอิทธิพลจากงานวรรณคดีไทย โดยนำเอาเทคนิคการเล่าเรื่องที่ใช้ในวรรณคดีที่เน้นบทขยายเข้ามาใช้ เมื่อบวกกับจินตภาพในแบบของ ‘อัญชัน’ ก็ได้ทำให้เกิดการระบายภาพในงานวรรณกรรมที่มีผัสสะและความสวิงสวายถ่วงอารมณ์ให้ผู้อ่านเกิดความดื่มด่ำ

 

ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

 

             และหัวข้อหลักของงานสัมมนา กล่าวโดยรองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ตรีศิลป์ บุญขจร ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา ได้กล่าวถึงผลงานล่าสุดของ ‘อัญชัน’ คือ ‘มนุษย์ครึ่งทาง’ โดยนำผลงานดิสโทเปียระดับโลกเปรียบเทียบกับ ‘มนุษย์ครึ่งทาง’ ได้แก่ ‘1984’ ของจอร์จ ออร์เวล, ‘The hunger game’ ของซูซานน์ คอลลินส์ และ ‘The handmaid’s tale’ ของมาร์กาเร็ต แอตวูด ซึ่งเป็นลักษณะงานวรรณกรรมดิสโทเปีย ซึ่งกล่าวถึงสภาวะสังคมที่ไม่พึงปรารถนา ท่ามกลางการล่มสลายทางสังคมของมนุษยชาติ

                นอกจากนี้ ‘มนุษย์ครึ่งทาง’ ยังมีลักษณะของ Eco dystopia หรือดิสโทเปียแนวนิเวศ ซึ่งกล่าวถึงสภาวะของโลกที่มนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ อันเกิดจากฝุ่นพิษจากกัมมันตภาพรังสีของนิวเคลียร์ล้างโลก ทำให้มนุษย์ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจอีกต่อไป ต้องพึ่งพาอาศัยออกซิเจนที่แจกจ่ายโดยรัฐเท่านั้น โดยดอกเตอร์ตรีศิลป์ได้หยิบยกงาน Eco dystopia ต่างชาติขึ้นมาเปรียบเทียบ ได้แก่ ภาพยนตร์ ‘The day after tomorrow’ และ ‘Breathe’ ของซาราห์ ครอสซาน และกล่าวว่างานเหล่านี้ รวมถึง ‘มนุษย์ครึ่งทาง’ มีลักษณะ Post humanism ซึ่งเป็นการวิพากษ์และตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ในโลกที่ใกล้ล่มสลาย

                และปิดท้ายรายการด้วยกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนมุมมองจากผลงานเรื่องสั้นของ ‘อัญชัน’ โดยมีนักศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอภิปรายผลงานภาคภาษาอังกฤษของ ‘อัญชัน’ หลากหลายเรื่องด้วยกัน โดยดอกเตอร์ตรีศิลป์กล่าวสรุปจากข้อคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษาว่าผลงานของ ‘อัญชัน’ มีความร่วมสมัย มีความเรียบง่าย มีรูปแบบหลากหลาย บางเรื่องมีความซับซ้อนและปล่อยให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อยอดเอาเอง หรือบางเรื่องก็มีลักษณะไดอาเลกติกส์ที่รวบยอดความคิดของผู้เขียนโดยตรง

                กล่าวได้ว่า ‘อัญชัน’ เป็นนักเขียนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้ในวัยล่วงเลยถึงอายุ 71 ปีแล้ว ปัจจุบันยังคงมีผลงานออกมาต่อเนื่อง ทั้งนิยายและเรื่องสั้น และผลงานระยะหลังยังเป็นภาคภาษาอังกฤษอีกด้วย สมดังคำที่เธอกล่าวว่า “ไม่รู้ชีวิตจะอยู่อย่างไรหากไม่เขียน”

 

ประชุมสัมมนา วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย

 

 

ประชุมสัมมนาผลงานตลอดช่วงชีวิตของ 'อัญชัน' อัญชลี วิวัธนชัย by Praphansarn

 

Writer

หนึ่ง หนึ่ง

พ่อแมวอันดับหนึ่งในปฐพี เขียน/คุยได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องมีสาระ