คุยนอกรอบกับ กัณวีร์ สืบแสง : จากนักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนสู่บทบาทคนการเมือง

คุยนอกรอบกับ กัณวีร์ สืบแสง

       กัณวีร์ สืบแสง ถือเป็นนักสิทธิมนุษยชนตัวยงคนหนึ่ง กว่าสิบปีที่เขาลงพื้นที่ภาคสนามอย่างหนักหน่วงเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ลุยทำงานในพื้นที่สงครามอันตรายหลายประเทศและเฉียดตายมาหลายครั้ง วันนี้แม้จะเปลี่ยนหัวโขนจากบทบาทนักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนของ UNHCR มาเป็นนักการเมือง แต่ปณิธานแรงกล้าที่อยากจะผลักดันให้ ‘คนเป็นคนเท่าเทียมกัน’ ก็ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม ตลอดเส้นทางการทำงานในชีวิตเขาต้องเจอกับอะไรมาบ้าง แผนการทำงานและชีวิตต่อจากนี้จะไปในทิศทางไหน และประเทศไทยในฝันของผู้ชายชื่อกัณวีร์เป็นอย่างไร วันนี้เขาจะมาเล่าให้เราฟัง

 

มาเริ่มต้นทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้ยังไง

      “คือมันเริ่มจากการศึกษาครับ ผมเรียนปริญญาโทอยู่ที่ออริกอน สหรัฐอเมริกา มันเป็น Interdisciplinary program หรือสหวิทยาการ เขาให้เราเลือกเรียนได้สามสาขา ผมก็เลือกกฎหมายระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และก็มานุษยวิทยา พอเรียนกฎหมายระหว่างประเทศผมไปเน้นเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนแล้วก็กฎหมายทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งตอนทำวิทยานิพนธ์ผมก็ทำ fieldwork ทำภาคสนามกัน ก็ไปทำในค่ายพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยการสู้รบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับการทำงานทางด้านมนุษยธรรมและก็สิทธิมนุษยชนด้วย พอเรียนจบผมก็กลับมาทำงานที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นข้าราชการครับ โต๊ะแรกที่ผมเข้าทำงานก็เป็นโต๊ะเกี่ยวกับผู้หนีภัยการสู้รบ ก็ทำเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยต่างๆ แล้วได้ก็ย้ายไปโต๊ะความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การเตรียมความพร้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้

       แต่ตอนหลังผมเริ่มเบื่อหน่ายกับการทำงานราชการ เพราะตอนแรกที่อยากทำงานเพราะว่านโยบายความมั่นคงของชาติเขาเน้นเรื่องนโยบายความมั่นคงของมนุษย์ แต่พอเวลาทำงานจริงๆ แล้วไม่ได้เน้นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงเกี่ยวกับมนุษย์เลย ไปมองเรื่องความมั่นคงของรัฐซะมากกว่า ลืมเรื่องเกี่ยวกับประชาชนเรื่องเกี่ยวกับคน แถมไปเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารซึ่งเอาอำนาจของประชาชนไปในการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ ผมเบื่อหน่ายก็เลยออก ก็พอดีตอนนั้นมีพี่ๆ ที่ UNHCR มาชวนให้ลองสมัครที่นี่ดู ผมก็ไปสอบทั้งข้อเขียนทั้งสัมภาษณ์ ก็เผอิญได้ จังหวะดีครับ ได้ไปเริ่มทำงานอยู่ที่ UNHCR จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นก็ได้ไปทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยอีกหลายที่ 12 ปีก็เดินทางไป 8 ประเทศครับ”

 

 

 

งานด้านมนุษยธรรมมีอีกหลายอย่างที่ต้องการการสนับสนุน ทำไมถึงเลือกทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

        “อยากทำให้คนเป็นคนครับ ให้คนเป็นคนเท่าเทียมกัน ผู้ลี้ภัยก็คือคนที่หนีการประหัตประหารจากบ้านเกิดเมืองนอนแล้วข้ามเขตแดนไปอยู่ประเทศอื่น ส่วนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศก็คือคนที่หนีการประหัตประหารเหมือนกันแต่ยังไม่สามารถข้ามเขตแดนได้ อย่างเช่นใกล้บ้านเราก็ประเทศพม่า ตั้งแต่การรัฐประหารเกิดขึ้นก็มีประชาชนรุกเข้าไปเพื่อทวงอำนาจคืน แต่ก็ถูกทหารพม่าใช้กำลังเข้าปราบปราม เขาก็ต้องหนีตาย คือเหมือนกับเขาหมดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเขา บางคนลูกเมียหายไป ผู้หญิงบางคนโดนข่มขืนโดนกระทำต่างๆ นานา ผมรู้สึกว่าทำยังไงก็ได้ที่อยากให้คนเป็นคนเท่าเทียมกัน งานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจึงเป็นงานท้าทายสำหรับผม ตอนนี้เวลานี้ปี 2566 มีผู้พลัดถิ่นอยู่ 100 ล้านคนทั่วโลก ถือว่าเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาล

       ยังมีคนอีกเป็นร้อยล้านคนที่ต้องการได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นผมคนเดียวคงทำไม่ได้หรอกครับ จำเป็นต้องมีคนที่มีความคิดอย่างเดียวกัน รัฐบาลที่มีความคิดอย่างเดียวกัน เอาเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เอาเรื่องมนุษยธรรมเข้ามาทำเป็นตัวนโยบายของรัฐให้ได้ หลายครั้งงานมนุษยธรรมเราชอบเอาของไปให้ เป็นการบริจาค แต่ว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา การที่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เขามีมากขึ้นหลังจากที่เขาหนีการประหัตประหารหรือว่าหนีความตายมาแล้วเนี่ย ไม่ใช่แค่เอาของไปให้เขา เราจะต้องช่วยเหลือเขาให้เขาสามารถยืนด้วยขาตัวเองได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นความท้าทายมากนะฮะ เพราะหลายครั้งพวกเราที่ทำงานมนุษยธรรมตกหลุมพรางตัวเอง เราแค่บอกว่าเอาอาหารให้ก็พอแล้ว เอายารักษาโรคให้ก็พอแล้ว แต่จริงๆ ไม่พอครับ ต้องทำให้เขากลับคืนมาสู่สังคม ต้องทำให้เขาสามารถยืนด้วยขาตัวเองได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายของงานมนุษยธรรมทางด้านผู้ลี้ภัยที่ผมอยากทำครับ”

 

 

เคสไหนที่ทำให้รู้สึกหดหู่ใจที่สุด

      “ปี 2011 เป็นปีที่ประเทศซูดานใต้มีเอกราชเกิดขึ้น สามารถแบ่งออกมาจากซูดานเหนือได้ หลังจากที่มีการแบ่งประเทศเกิดขึ้นก็มีผู้ลี้ภัยจากซูดานเหนือลงมาซูดานใต้เพราะว่าตอนนั้นเขาสู้รบกัน มีการใช้ความรุนแรง ยิงบ้าง ระเบิดบ้าง เอาเครื่องบินมาถล่มบ้าง ผมก็ถูก deploy ไปเป็นหัวหน้าชุด ERT (Emergency Roster Team) เข้าไปดูแลความคุ้มครอง ตอนที่ไปถึงมีผู้ลี้ภัยจำนวน 25,000 คน พอไปถึงหน้าที่แรกของการให้ความคุ้มครองคือลงทะเบียน แต่ละวันจะมีผู้ลี้ภัยมาขอลงทะเบียนตั้งแต่เช้าจนถึงเกือบเที่ยงๆ ประมาณ 200-500 คน คิวมันยาวมาก แล้วผมมองไปเห็นมีคนหนึ่งขาขาด เราเห็นเขาพันขาด้วยผ้า เห็นเลือดโชกเลย ผมก็เข้าไปถามเขาว่าคุณมายืนต่อแถวทำไม ทำไมไม่ไปห้องปฐมพยาบาลก่อนค่อยมาลงทะเบียน เขาบอกถ้าเขาไม่ลงทะเบียนลูกเมียเขาจะไม่มียา ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร คือเขาเป็นพี่น้องมุสลิมครับ มีได้หลายครอบครัว แล้วเขาเป็นหัวหน้าครอบครัวคนเดียว ตามกฎกติกาก็คือถ้าหัวหน้าครอบครัวไม่ลงทะเบียน ครอบครัวเขาก็จะไม่สามารถลงทะเบียนได้ ผมเลยตัดสินใจอุ้มเขา ผมอุ้มวิ่งไปถึงที่ปฐมพยาบาล พอวางเขาลงเขาก็ถามผมว่าลงทะเบียนให้เขารึยัง ผมบอกว่าลงแล้ว แล้วเขาก็เสียชีวิตในมือเลย คือตายในมือ

     นี่คือครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าชีวิตคนมันอยู่ที่การลงทะเบียนเหรอ ผมก็เลยบอกในทีมว่าพวกเราไม่ใช่พระเจ้านะ ที่จะมากำหนดให้ชะตาชีวิตคนนี้ตายหรือไม่ตายเพราะว่าเขาต้องลงทะเบียน เราเป็นคนมารับใช้ประชาชน บุคคลในความห่วงใยเราคือผู้ลี้ภัย เราจำเป็นต้องมองให้ออกว่าความคุ้มครองมันมี gap มันมี need อะไรตรงไหน เราต้องวิ่งสิ เห็นคนต่อแถวยาวๆ เนี่ย เราต้องอำนวยความสะดวกให้เขา คนขาขาดจะตายคุณให้มายืนอยู่ได้ไง อันนี้เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าความคิดผมเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยนตรงที่อยากให้ชีวิตคนมันดีกว่านี้ มันจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ในการทำงาน เพราะทุกวินาทีมันหมายถึงชีวิตคน นี่ก็เลยเป็นสิ่งที่ทั้งหดหู่ทั้งเตือนใจผมทุกครั้งเวลาลงภาคสนามในทุกๆ ประเทศ ไม่ว่าซูดานเหนือ ซูดานใต้ ชาด ยูกันดา ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และประเทศไทย เมียนมาด้วย ทำให้ผมเอาตรงนี้เป็นบทเรียนของผมในการที่ว่า เราจะไม่ leave someone behind เราต้องเอาทุกคนมาอยู่ตรงหน้าเรา จัดลำดับความสำคัญให้ได้ครับ”

 

 

 

เหตุการณ์ไหนเฉียดตายมากที่สุด

      “หลายเหตุการณ์เลยครับ ที่ซูดานนี่แหละ เขาสู้รบกันอยู่ เราขึ้นฮอไปเพื่อเอาอาหารไปให้ผู้ลี้ภัย ทีนี้เสียงฮอมันดัง มันเลยกลายเป็นการบอกพิกัด ทำให้รัฐบาลซูดานเหนือเห็นว่าค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ตรงไหน เขาก็เอาเครื่องบินลงเลย Antonov ของสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วกลิ้งระเบิดตู้มๆ เขาเห็นว่าฮอเราอยู่ตรงนั้นเขาก็ทิ้งระเบิดลงมาตู้มๆ เลย แต่ผมก็ไม่ตายนะ อาจจะเป็นโชค อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการยิงครับ ตอนนั้นนั่งอยู่บนรถ เรากำลังเข้าไปช่วยผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่เลกเสตทของซูดานใต้ คือมันเป็นป่า พุ่มไม้สูงๆ รถเราขนาดมีธงยูเอ็น เขามองไม่เห็น แต่พวกนั้นเขาได้ยินเสียงว่ารถมา ในช่วงสงครามเขาไม่รู้ใครเป็นใคร พอรถมาเขายิงก่อน ผมนั่งหน้ากับคนขับ ผมได้ยินเสียงฟิ้วมา ผ่านผมไป เห็นเป็นรูเลย แต่ก็ไม่โดน รอดแล้ว แต่คนขับโดนยิงที่ขา ตอนหลังพอเขาเห็นธงยูเอ็นเขาก็วิ่งหนีไป คนที่วิ่งหนีไปคือตำรวจของซูดานใต้ เขาบอกเขาไม่รู้ว่าเป็นใคร เขาต้องยิงไว้ก่อน

      แต่ผมเคยโดนจ่อด้วยนะ เอาปืนจ่อหัวเลย อยู่อีกพื้นที่หนึ่ง อยู่ที่รุมเบค เขาเอาปืนมาจ่อ เพราะตอนนั้นมันไม่มีน้ำ การที่จะกินน้ำได้เราต้องขุดดินเอาน้ำบาดาล แล้วน้ำบาดาลของที่โน่นมันแดง ผมก็เอาน้ำบาดาลใส่ถุงแล้วก็ตากแดดไว้ทั้งวัน ก็ประมาณสามลิตร พอตากแดดเสร็จตอนกลางคืนผมก็ต้องมาต้ม ต้มเสร็จมันจะมีตะกอนขึ้นมาข้างบนผมก็ต้องใส่ tablet ฆ่าแบคทีเรีย แล้วเราก็ต้องช้อนตะกอนออก น้ำที่ได้จริงๆ ประมาณ 2 ลิตร วันนึงผมสามารถทำน้ำได้ประมาณ 2 ลิตร ผมจะเก็บน้ำไว้ในเต็นท์ผม ตกกลางคืนวันหนึ่งก็มีคนมาดึงเต็นท์ผมเปิด เอาปืนมาจ่อหัว ผมคิดว่าตายแน่ ยังไงก็ตาย ผมบอกจะเอาอะไรเอาไปให้หมดเลย อยากจะได้โทรศัพท์ดาวเทียมอะไรเอาไป แต่สุดท้ายเขาเอาแค่น้ำครับ”

 

 

งานดูอันตรายมากๆ เคยรู้สึกถอดใจบ้างไหม

     “เคยมีตอนที่ไป ERT ครั้งแรก แต่ตอนนั้นไม่ได้ถึงกับอยากกลับบ้านนะครับ แต่แค่อยากกลับไปพัก อยากจะกลับไปอาบน้ำ เพราะที่โน่นทุกวันเราอาบน้ำได้แค่ถังเดียว เป็นถังใบไม่ใหญ่ครับ คืออยากจะกลับไปพักสักสองสามวันแล้วกลับมาใหม่ แต่ไม่เคยท้อว่าจะเลิกนะ ยิ่งทำผมยิ่งอยากไป ตอนแรกอยู่ซูดานใต้ ผมก็สมัครไปซูดานเหนือ พอจากซูดานเหนือเสร็จปั๊บผมก็ไปอัฟกานิสถาน ผมสมัครไปซีเรีย แต่เผอิญมาได้บังกลาเทศ แล้วก็ย้ายไปยูกันดา อยากจะไปให้มันหนักๆ เลย ให้เต็มที่เลย ให้สุดเลย

     ตอนนั้นก็มีความรู้สึกว่าเราช่วยคนแล้วมันมีความสุข มันนอนหลับ ถึงแม้มันจะเหนื่อยหน่อยแต่มันนอนหลับตอนกลางคืนนะ การช่วยเหลือคนแต่ละครั้งมันทำให้ผมรู้สึกมีพลัง มันเกิดพลังขึ้นมา ก็มีหลายๆ คนที่ผมเคยช่วยเหลือเขาติดต่อกลับมานะ เขาบอกผมว่าตอนนี้ชีวิตเขาดีแล้วนะ ใช้ชีวิตได้ แล้วก็มีมาเยี่ยมผมบ้าง มาเจอผม มานั่งคุยกัน เป็นเพื่อนกัน มันก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ เนอะ”

 

 

ดูมีความสุขกับงานมาก ทำไมถึงตัดสินใจลาออกจาก UNHCR

      “คือตอนนั้นผมเป็น Southeast Coordinator เป็นผู้ประสานงานในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่าร่วมกับ UNDP เราพยายามจะให้ความช่วยเหลือหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศประมาณ 2 แสนกว่าคน แต่ยูเอ็นไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ประเทศมหาอำนาจก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เพราะว่าในพื้นที่ตรงนั้นจะมีกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธอยู่ เขาก็จะดูแลในพื้นที่ของเขา ก็ยังรบต่อสู้กับทหารพม่าอยู่ ผมจะเอาของเข้าไปช่วยเหลือแต่เขาไม่ยอม เขาบอกว่าถ้าผมไปบอกทหารพม่าก่อนว่าจะเอาของเข้าไปให้ผู้พลัดถิ่นแสดงว่าผมมีเอี่ยวกับทหารพม่า เขาไม่อยากได้ แต่ถ้าผมไม่แจ้งทหารพม่าก่อนผมก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป เขาจะยึดรถ บางทีเราจะโดนยิง มันก็เลยกลายเป็นว่าคนที่ติดอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่าสองแสนสามแสนคนตอนนั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเลย แต่ผมก็คิดว่าอย่างเดียวที่จะช่วยได้คือ cross-border intervention คือการข้ามแดนจากประเทศไทยเอาของไปให้เขา

      พอผมเสนอไปที่ยูเอ็นเขาก็บอกว่าการที่จะทำ cross-border intervention ได้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ผมยังบอกเรื่องมันใหญ่ขนาดนั้นเลยเหรอ แค่เอาของที่เมืองไทยขนข้ามแดนไปให้ผู้พลัดถิ่นที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ไม่ได้เหรอ เพราะว่าพวกนี้เขาลี้ภัยมาเมืองไทยก็โดนผลักดันกลับ แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นกฎของทางยูเอ็น ผมเลยรู้สึกว่ายูเอ็นบางทีคุณก็เยอะไปนะ คนจะตายสองแสนกว่าคนคุณทำไม่ได้ ผมเลยตัดสินใจลาออก แล้วก็ตั้งมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ชื่อ Peace Rights Foundation ตอนนั้นแบบใจจะทำงานอย่างเดียวครับ ไม่สนอะไร ก็มีคนท้วงว่ายูเอ็นเงินดีนะ แล้วตำแหน่งผมก็กำลังขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นผมเป็น Southeast Coordinator เป็น Head of Operations แต่ผมบอกว่าถ้าคนยังจะตายอย่างนี้อยู่ ผมไปเปิดมูลนิธิของผมดีกว่า อย่างน้อยผมก็ยังสามารถช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ได้”

 

 

มูลนิธิ Peace Rights Foundation ทำอะไรบ้าง

      “มูลนิธินี้เป็นมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ จะทำเรื่องสิทธิมนุษยชนและการสร้างสันติภาพด้วย อย่างเช่นเรื่องพี่น้องอุยกูที่มาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2014 จนวันนี้ 9 ปีแล้ว พี่น้องอุยกูสี่สิบกว่าชีวิตยังอยู่ในห้องกักขัง ยังไม่สามารถออกจากห้องกักได้ ตายไปแล้วห้าคน คือห้องกักของ ตม. เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตอยู่เป็นระยะเวลานาน เขาจะอยู่แค่สองสามวันเต็มที่อาทิตย์นึงแล้วก็โดนผลักดันกลับ แต่พี่น้องอุยกูเนื่องจากมันเป็นสุญญากาศทางด้านกฎหมาย รัฐบาลไทยก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะว่าไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ผมไม่ได้โทษ ตม. นะ ไม่ได้โทษหน่วยงานราชการ เพราะว่าหน้าที่เขามีแค่นั้น หน้าที่เขาคือใช้ พรบ. ตรวจคนเข้าเมือง เขาแค่จับ คุมขัง ส่งศาล ถ้าศาลบอกขังเจ็ดวัน พอหมดเจ็ดวันก็ปล่อยตัว แต่พี่น้องอุยกูนี่ไม่รู้จะปล่อยไปไหน กลับประเทศต้นกำเนิดไม่ได้ กลับประเทศจีนก็ไม่ได้ เลยถูกขังไว้ 9 ปี ผมก็ใช้มูลนิธิตรงนี้ไปร้องขอทางคณะกรรมาธิการในรัฐสภา บอกว่าให้ช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนให้กับพี่น้องอุยกูสี่สิบกว่าชีวิตนี้หน่อยได้ไหม เพราะไม่งั้นคุณขังเขาไว้จนเขาตายไปมันจะจบเคสเหรอ ก็พยายามทำตรงนี้ แต่เรื่องนี้ตอนนี้ก็ยังติดค้างอยู่

      แล้วก็เรื่องการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเคยทำงานในภาคใต้นะ สมัยก่อนอยู่ สมช. ก็เห็นว่าในพื้นที่มันน่าจะมีการสร้างสันติภาพ น่าจะใช้ซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ นานา ผมก็เริ่มงานด้วยการปั่นจักรยานเข้าพื้นที่เสี่ยง อย่างที่ดุซงญอ เขาบอกว่าเป็นพื้นที่อันตรายสีแดงแจ๋ๆ เลย ผมก็ปั่นเข้าไป ก็ไปดูพวกอาหารการกิน ไปบอกว่าซอฟต์พาวเวอร์อย่างนี้มันเป็นพลังนะ พลังของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ถึงแม้คุณจะยิงกัน รบกัน ความไม่สงบต่างๆ ผมใช้ทูต เรียกว่าทูตสันติภาพปั่นจักรยาน เข้าไปคุยกับพี่น้องประชาชน แล้วก็ออกสกู๊ป ใช้พื้นที่สื่อท้องถิ่น ใช้พื้นที่สื่อส่วนกลางด้วย ในการที่จะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้มันมีความสละสลวยของวิถีชีวิต ของวิถีการดำรงชีวิตอยู่ ทำไมเราไม่เอาตรงนี้มาเป็นจุดแข็ง ทำไมเราถึงมองในเรื่องปัญหาความไม่สงบอย่างเดียว นี่คืออีกขาหนึ่งที่ผมพยายามทำอยู่ มูลนิธินี้ก็เลยพยายามทำเรื่องนี้ครับ”

 

 

ตอนนี้ได้เป็น สส. แล้วตั้งใจจะผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่เลยไหม

      “ใช่ครับ เรื่องสิทธิมนุษยชน งานมนุษยธรรม ผมว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการ แต่ว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ ตั้งแต่ผมเกิดและโตมาผมยังไม่เห็นรัฐบาลชุดไหนมาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ไม่พูดเรื่องมนุษยธรรมเป็นวาระแห่งชาติ ตอนนี้เราเห็นพี่น้องชาวเมียนมาที่ผมเล่าให้ฟังแล้วที่เขายังติดอยู่ฝั่งนู้น ก็ยังไม่เห็นประเทศไทยบอกว่าเราควรจะเปิดฝั่งนี้ให้เป็น Humanitarian Corridors เป็นประตูสู่มนุษยธรรมเลย ผมไม่เคยเห็น พอเรื่องสิทธิมนุษยชนเราค่อนข้างให้ความสำคัญต่ำมาก

       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จริงๆ แล้วต้องเป็นองค์กรอิสระที่สามารถพูดอะไรก็ได้ในเรื่องที่มันกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของคนไทยและไม่ใช่คนไทยที่อยู่ในประเทศไทย แต่องค์กร กสม. ก็ยังถูกการเมืองครอบงำ จริงๆ ผมก็อยากจะยกระดับ กสม. อยากจะเห็นว่า กสม. ทุกท่านอยู่เหนือการเมือง สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการเมือง เพราะเป็นสิทธิของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องถูกกดทับโดยแค่ปัญหาทางด้านการเมือง คุณต้องกล้าพูด คุณต้องกล้าทำ การเมืองต้องออกจากสิทธิมนุษยชนให้ได้ ไม่มีบทบาท ไม่มีอิทธิพลเหนือในเรื่องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน”

 

 

ประเทศไทยในฝันของกัณวีร์เป็นแบบไหน

     “เดินไปไหนแล้วมันรู้สึกอิ่มเอมครับ อย่างภาคใต้เนี่ย เวลาผมอยู่ปาตานีผมเดินไปไหนยิ้มแย้มแจ่มใสนะ คือผมนั่งคุยกับคนในพื้นที่ ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส คือรู้สึกปลอดภัย ต้องเป็นพื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัย ประชาชนสามารถยืนด้วยขาตัวเองได้ อยากทำอะไรต้องมีอิสระในการทำถ้าไม่ไปกระทบสิทธิของคนอื่น อยากจะทำงานตรงไหนก็ทำไป อยากจะเรียนอะไรก็เรียนไป ไม่ต้องถูกกำหนดกฎเกณฑ์ว่าคุณต้องเป็นหมอ คุณต้องเป็นวิศวะ คือความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคนมันจะสามารถสร้างความหลากหลาย

      ผมยังมองว่าความหลากหลายมันจะสร้างเอกภาพได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยที่ผมฝันไว้คือเดินไปไหนแบบสบายใจ เราได้กินอิ่มและนอนหลับ ผมอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่สันติภาพนั้นเป็นสันติภาพที่กินได้ ผมพูดคำว่าสันติภาพที่กินได้เพราะว่าประชาชนกินอิ่มและนอนหลับ อันนี้คือสันติภาพที่แท้จริง ถ้าตราบใดก็ตามเรายังกินก็ไม่อิ่ม เงินก็ไม่มี นอนก็ไม่หลับ กังวลว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร จะทำงานให้ลูกให้ภรรยาให้สามียังไงได้ มันก็ไม่ใช่สันติภาพ ผมอยากให้เกิดสันติภาพที่กินได้ในประเทศไทยครับ”

 

 

ดูเป็นคนทำงานเยอะมาก มีกิจกรรมวันว่างบ้างไหม

      “ก็มีครับ ผมชอบวิ่ง กับชอบปั่นจักรยาน ผมชอบวิ่งลู่ สมัยก่อนผมอยู่พื้นที่สงครามใช่ไหมครับ ผมชอบวิ่งอยู่แล้ว แต่ว่าพอออกมาวิ่งข้างนอกมีแต่คนบอกอย่าวิ่ง เดี๋ยวโดนยิง (หัวเราะ) ผมก็เลยต้องไปหาลู่วิ่งไฟฟ้าลู่เล็กๆ มาวิ่ง ปกติผมจะวิ่งวันละสิบกว่ากิโลบนลู่ วันที่ไม่ทำอะไรก็จะฟังเพลงแล้ววิ่ง แล้วก็ปั่นจักรยาน เป็นสิ่งที่ผมชอบ แล้วก็พวก Hiking เนี่ยชอบ การขึ้นปีนเขาอะไรอย่างนี้ ชอบแต่ว่าไม่มีเวลา อยากไปแต่ตอนนี้หาทางไปไม่ได้ ตอนนี้ไม่ได้ทำเลย สมัยก่อนตอนอยู่ในออฟฟิศของ UNHCR อย่างน้อยจะมีเวลาว่าง เพราะบางทีผมทำงานที่บ้าน ก็จะมีลู่วิ่งในบ้าน มีเวลาว่างชั่วโมงนึงก็วิ่ง แต่ตอนนี้เวลาไม่มีเลย อย่างเมื่อคืนกว่าจะเสร็จงานก็ห้าทุ่ม กลับบ้านก็สลบไสล ตื่นมาก็ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนตอนนี้ เดี๋ยวตอนเย็นมีงานอีก มีงานเรื่อยๆ แต่ก็สนุกครับ สนุกดี”

 

 

 

ถึงตอนนี้มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำอีกไหม

      “จริงๆ ผมอยากอยู่ยูเอ็นต่อนะ ผมยังมีความใฝ่ฝันตอนนั้นคือผมก็อยากเป็น Sec-Gen นะ ผมก็อยากเป็นเลขาธิการยูเอ็น เพราะผมมองว่าเลขาธิการยูเอ็นมีบทบาทในการสร้างอะไรต่างๆ เรื่องการพัฒนา เรื่องสันติภาพ เรื่องงานมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ในเวทีโลก ไม่ใช่มีอิทธิพลแต่ว่ามีโอกาสในการเปิดพื้นที่ที่จะสร้างเรื่องต่างๆ ให้มันมีประสิทธิภาพได้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำครับ เพราะว่าอาจจะยังไม่ถึง ที่ลาออกมาก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย เพราะผมทราบว่าคนที่จะเป็น Sec-Gen ได้ส่วนใหญ่ต้องเป็นอดีตนักการเมือง อดีตผู้นำประเทศ แล้วเขาจะมีการเชิญต่างๆ นานาครับ นั่นแหละผมก็เลยมาบิวด์แคเรียของผม บิวด์แคเรียมาเป็นนักการเมือง เผอิญได้พอดี คราวนี้ก็ต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ”

 

 

วางแผนชีวิตตัวเองในบั้นปลายไว้ยังไงบ้าง

      “ผมอยากมีสวน อยากทำไร่นาสวนผสม มีบ้านหลังหนึ่งใกล้กับโรงพยาบาลหน่อย เพราะพอแก่แล้วอาจต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย (หัวเราะ) ผมอยากอยู่เงียบๆ เพราะว่าใช้ชีวิตโลดโผนมายาวนานครับ นานจริงๆ สิบสองปีผมว่าผมใช้ชีวิตคุ้ม ขึ้นกระโดดฮอเป็นว่าเล่น แล้วก็ลงไปช่วยคนอีก พอตอนนี้มาทำงานการเมืองก็แผลเหวอะหวะเลย คือตอนนี้เรื่องต่างๆ ที่ผมจำไม่ได้แล้วก็ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจนผมจำได้แล้ว ก็เลยอยากไปอยู่เงียบๆ

     ถ้าผมบรรลุในส่วนหนึ่ง คืออาจไม่ต้องถึงเป็นเลขาธิการยูเอ็น ขอแค่ให้ผมได้ทำงานเกี่ยวกับการต่างประเทศ แล้วก็ไปผลักดันเรื่องประเทศไทยในเวทีโลก ทำให้คนไทยรู้สึกว่าเรามีบทบาทในเวทีโลกแห่งนี้ ให้รู้สึกว่ามีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจแค่เป็นรอยยิ้มแห่งสยาม แต่ต้องเป็นผู้นำ ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศให้ได้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้าผมสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตรงนั้นแล้ว ผมก็อยากจะไปมีบ้านเล็กๆ อยู่ในสวนแต่ว่าใกล้โรงพยาบาลครับ”

 

 

ขอบคุณรูปภาพจากเฟซบุ๊ก กัณวีร์ สืบแสง

ขอบคุณสถานที่ Lively Machine Coffee

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว