“รถไฟสายแสงตะวัน” เป็นกวีนิพนธ์ที่ได้รับการเข้ารอบ Long List รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2564 และตีพิมพ์ในนิตยสาร “ทางอีศาน” ปีที่ 10 ฉบับที่ 112 เดือนสิงหาคม 2564 กวีนิพนธ์เรื่องนี้เลือกสรรคำที่เข้าใจง่ายในการสื่อสารทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ทันที ภายใต้ถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่ซุกซ่อนการเสียดสีสังคมได้อย่างลึกซึ้ง แยบยล และสอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงในสังคมที่เกิดขึ้น หากพิจารณาเพียงผิวเผิน กวีนิพนธ์บทนี้คงเป็นเพียงกวีนิพนธ์แนวโรแมนติก พาฝัน ไม่ได้มีถ้อยคำรุนแรง สะเทือนอารมณ์ ดังตอนหนึ่งที่ว่า
“…ขบวนรถไฟสายแสงตะวันส่อง คงเรืองรองสว่างไสวในใจข้า
ดวงแดดร้อนคงเริงรื่นชื่นชีวา ชานชาลาคงกู่ร้องกึกก้องดัง...”
จะเห็นได้ว่าผู้เขียนใช้ถ้อยคำสละสลวย งดงาม สื่อความหมายได้อย่างตรงไปตรงมา มีการเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะหลายตำแหน่งในแต่ละวรรค ทำให้การอ่านรื่นไหลไพเราะตามขนบของการเขียนบทประพันธ์ เช่น “สายแสงตะวันส่อง” “เรืองรองสว่างไสว” “ดวงแดดร้อนคงเริงรื่น” “กู่ร้องกึกก้อง” ความงดงามทางด้านวรรณศิลป์เหล่านี้มีลีลาเฉพาะตัวของผู้เขียนที่กลั่นกรองออกมาอย่างงดงาม ทว่าความงดงามทางด้านวรรณศิลป์ที่ปรากฏกลับตรงกันข้ามกับสารที่สื่อออกมา กล่าวคือกวีนิพนธ์บทนี้มีแนวคิดสำคัญสื่อถึงเรื่องประชาธิปไตยอย่างชัดเจน สังเกตจากคำว่า “รถไฟ” แท้จริงแล้วคำนี้เป็นความหมายโดยนัยที่ผู้แต่งต้องการใช้แทนผู้นำประเทศ และ คำว่า “สายแสงตะวัน” คำนี้ก็เป็นความหมายโดยนัยเช่นกัน ซึ่งผู้แต่งต้องการใช้แทนสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ นั่นคือ การเห็นผู้นำประเทศได้ลงมือพัฒนาด้านต่าง ๆ ภายในประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากชื่อเรื่องจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนในเรื่องของ “ประชาธิปไตย” แต่การเลือกใช้ฉากในการนำเสนอ ผู้วิจารณ์มองเห็นว่ามีการเสียดสีสภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างเจ็บแสบและแนบเนียน ดังตอนหนึ่งที่ว่า
“…คือภาพฝัน ณ ริมรางอันว่างเปล่า สถานีแสนเหงา เศร้า สิ้นหวัง
มีเพียงรถขบวนเก่าร้าวผุพัง ที่นาน ๆ ผ่านมาครั้งยังเหมือนเดิม...”
บทกวีข้างต้นเป็นการบรรยายถึงรถไฟขบวนเก่า ที่มีสภาพผุพัง เพื่อสะท้อนแนวคิดหลักของผู้แต่งคือ “รถไฟ” สื่อถึง “ผู้นำ” ที่จะพาคนในชาติก้าวไปสู่ความหวังครั้งใหม่ แต่การเลือกใช้ฉากรถไฟขบวนเก่าที่ผุพังในการนำเสนอ ผู้วิจารณ์มองว่าเป็นการเสียดสีสังคม กล่าวคือ ในปัจจุบันการขนส่งคมนาคมได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ปรากฏระบบขนส่งหลากหลายรูปแบบที่มีคุณภาพ ทั้งความรวดเร็ว ความปลอดภัย และ ความสะดวกสบาย เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน การที่ผู้แต่งเลือกใช้ “รถไฟ” ที่สื่อถึง “ผู้นำประเทศ” แต่เลือกนำเสนอรถไฟขบวนเก่าผุพัง นั่นหมายถึงการเสียดสีว่า ผู้นำประเทศที่ผ่านมาไม่ได้มีคุณภาพ ไม่สามารถนำพาประชาชนไปสู่จุดสูงสุดของความมุ่งหวังได้ นอกจากนี้วรรคหนึ่งที่ว่า “ที่นานๆ ผ่านมาครั้งยังเหมือนเดิม” ยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักของการเสียดสีอีก เพราะหากมองภาพความเป็นจริง ตามหลักรัฐธรรมนูญ ผู้นำประเทศเมื่อครบกำหนดวาระ 4 ปีจะต้องถูกปรับเปลี่ยนและเลือกตั้งใหม่ “ที่นานๆ ผ่านมาครั้ง” สะท้อนให้เห็นว่าการรับตำแหน่งผู้นำอาจไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงตามหลักการหรือ มีการเลือกตั้งใหม่แต่ได้ผู้นำกลุ่มเดิม ทำให้ประชาชนต้องมีคุณภาพชีวิตแบบเดิม นอกจากนี้ในตอนหนึ่งที่ว่า
“...บนขบวนรถไฟไม่เคยเปลี่ยน ดูผิดเพี้ยนเจียนบ้ามาแต่เริ่ม
หน้าเก่าใหม่หลายหน้ามาเพิ่มเติม ที่นั่งเสริม ที่นั่งเก่า เก้าอี้ดนตรี...”
จะเห็นได้ว่าบทกวีดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดการเสียดสีสังคมยิ่งกว่าเดิม กล่าวคือ “...บนขบวนรถไฟไม่เคยเปลี่ยน ดูผิดเพี้ยนเจียนบ้ามาแต่เริ่ม” เสียดสีให้เห็นว่าไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาขึ้น และดูผิดแปลกมาตั้งแต่เริ่มต้นขึ้น อีกทั้ง “เก้าอี้ดนตรี” เสียดสีว่ามีการยื้อแย่ง ชิงดีชิงเด่นกัน เพราะเก้าอี้ดนตรีมีลักษณะการเล่นที่ผู้เล่นต้องยื้อแย่งเก้าอี้ที่เป็นสัญลักษณ์แทนตำแหน่ง ซึ่งการยื้อแย่งในเกมเก้าอี้ดนตรีที่คนทั่วไปคุ้นชินกันคือการใช้กลอุบายเพื่อหลอกล่อ หรือการใช้ร่างกายและพละกำลังเข้าปะทะ สะท้อนให้เห็นว่าการจะเข้าไปมีตำแหน่งในคณะผู้นำประเทศมีการแย่งชิงกันด้วยกลอุบาย และพละกำลัง และจากตอนหนึ่งที่ว่า
“...บ้างกีดกัน ดันดึง ถอง ทึ้ง ผลัก บ้างทายทัก ถุยคำด่า หันหน้าหนี
เล่นตามบท ตามใบสั่ง กันทั้งปี เมื่อวานดี วันนี้ร้าย เข้าใส่กัน...”
จะเห็นได้ว่าผู้แต่งอธิบายให้เห็นภาพการเล่นเก้าอี้ดนตรี การใช้กำลัง การเหยียดหยาม และยังมี การกล่าวถึง “เล่นตามบท ตามใบสั่ง กันทั้งปี” ยังเผยให้เห็นถึงการเล่นตามบทบาท หรือตามใบสั่ง ซึ่งสะท้อนถึงการเล่นละครตบตา เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง รวมถึง “เมื่อวานดี วันนี้ร้าย เข้าใส่กัน” แสดงถึงการทะเลาะหรือไม่ลงรอยกัน แสดงถึงความขัดแย้ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาพที่ผู้แต่งนำเสนอภาพบนรถไฟขบวนเก่า นั่นหมายถึง คณะผู้นำประเทศ การที่รถไฟขบวนนี้มีทั้งความเก่าผุพัง คนหน้าเก่าหน้าใหม่ที่ยื้อแย่งเก้าอี้กันอย่างกับเล่นเกมเก้าอี้ดนตรี และยังมีภาพความขัดแย้งกัน สะท้อนให้เห็นว่าชายชราซึ่งยืนรอความหวังอยู่ที่ชานชาลาจะมีหวังได้อย่างไรกัน
หากกล่าวถึง “ชายชรา” ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน การที่ผู้แต่งเลือกใช้ชายชราที่ร่างกายโรยราอ่อนแรง ก็เป็นการเสียดสีสังคม กล่าวคือ ชายชรา เปรียบเสมือนประชาชนที่ผ่านการมีชีวิตมาจนถึงบั้นปลายชีวิต ซึ่งในบั้นปลายชีวิตควรที่จะมีความสุขกับสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่กลับต้องมายืนพยุงร่างกายที่โรยรารอความหวัง เหมือนประชาชนที่ใช้ชีวิตผ่านมาเนิ่นนานแล้วแต่ก็ยังคงมีคุณภาพชีวิตตกต่ำเช่นเดิมไม่สามารถที่จะลืมตาอ้าปากได้
ภาพการเสียดสีสังคมเหล่านี้ถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้ตัวอักษรและคำอ่านที่ง่าย งดงาม และกินใจ และในตอนจบของกวีนิพนธ์บทนี้ยังลงเอยแบบมีความสุข ดังตอนหนึ่งว่า
“…ภาพเด็กน้อยคอยรถไฟด้วยใจหวัง เติมพลังชีวิตดวงจิตข้า
ย้ำเตือนตน อีกหนนะ ไอ้เพื่อนยา ชายชรากลับกล้าแกร่งเพราะแรงใจ…”
จึงกล่าวได้ว่ากวีนิพนธ์ “รถไฟสายแสงตะวัน” เป็นบทกวีแนวโรแมนติกพาฝัน ที่พาผู้อ่านไปสู่ความมุ่งมั่น อ่านแล้วก่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหา และเชื่อมั่นในปณิธานให้ตั้งตารอคอยความหวังต่อไป ทว่าการเลือกใช้ฉากในการเปรียบเทียบและสะท้อนภาพสังคมยุคปัจจุบันได้แฝงไปด้วยการเสียดสีสังคมอย่าง แยบยล และเจ็บแสบจนสะท้าน ซึ่งหากจะกล่าวว่าเป็น “โรแมนติกกวีเสียดสีสังคม” คงไม่เกินจริง
รถไฟสายแสงตะวัน : โรแมนติกกวีเสียดสีสังคม
บทวิจารณ์โดย ขจรเจษ ห่วงจริง
โครงการ "อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์" ปีที่ 8