หลังจากประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 ซึ่งในปีนี้พิเศษกว่าทุกปี โดยรางวัลที่ 2 มีผลงานที่ได้รับรางวัล 2 เล่มด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” เขียนโดย คุณอภิญญา เคนนาสิงห์ เจ้าของนามปากกา "กานติมา"
ประพันธ์สาส์นจึงขอพาไปพูดคุยกับเจ้าของรางวัลถึงเรื่องราวชีวิตและงานเขียนของเธอ ซึ่งอาจมีหลายท่านรู้จักกันดีผ่านผลงานที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ขอเจาะลึกแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
อยากให้เล่าถึงประวัติส่วนตัวคร่าว ๆ เส้นทางชีวิตก่อนเริ่มต้นงานเขียนค่ะ
อภิญญา เคนนาสิงห์ จบการการศึกษา ศิลปศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ ม.รามคำแหง และ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ภาษาไทยกับการสื่อสารสมัยใหม่ ม.เกษมบัณฑิต
นามปากกา : วัตตรา และ กานติมา
ตอนอยู่ ป.5 เริ่มอ่านหนังสือแตกฉานขึ้นก็ อ่านนิยายจากนิตยสารหลายๆฉบับที่ผู้ปกครองอ่าน แล้วก็เริ่มมีความคิดอยากจะเขียนบ้าง แต่ยามนั้นยังไม่ได้ลงมือทำอะไร นอกจากเขียนบันทึกประจำวัน พอโตขึ้นมาหน่อยก็เขียนกลอนส่งไปทางรายการวิทยุ ส่งไปตามนิตยสาร การได้ค่าขนม50บาทบ้าง 150บาทบ้าง เป็นแรงกระตุ้นให้อยากเป็นนักเขียนมากขึ้นตามลำดับ ตอนเรียนมัธยมปลายเรียนสายวิทย์ อยู่หอกับเพื่อนที่ชอบอ่านนิยายเหมือนกันก็จะไปเช่านิยายมาอ่าน ความฝักใฝ่ที่อยากจะเป็นนักเขียนก็เริ่มด้วยการหัดเขียนเรื่องสั้น แต่ยังไม่กล้าส่งไปเสนอที่ไหน พอตอนเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนมนุษยศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ โทสื่อสารมวลชน ชอบไปขลุกอยู่ชมรมภาษาไทยและภาษาตะวันออก ซึ่งชมรมมักจะมีกิจกรรมเชิญนักเขียน มาเสวนา มาบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาเอกภาษาไทยในวิชาต่างๆ ตัวเองก็จะตามกรรมการชมรมไปเชิญนักเขียน การได้พบ ได้ฟังนักเขียน ได้อ่านงานหลากหลายมากขึ้นทำให้ขยับจากการเขียนกลอน มาเป็นเรื่องสั้นส่งไปลงตามนิตยสารต่างๆ และขยับมาเขียนนิยายขนาดสั้นเล่มละ10บาทเดือนละหลายเรื่อง เรียนจบเอกภาษาอังกฤษแต่ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาเพราะมุ่งหน้าเข้าวงการสื่อสารมวลชน เป็นกองบรรณาธิการนิตยสารหลายเล่ม หลายแนว ขณะเดียวกันก็มีงานอดิเรกคือการเขียนนิยายขนาดสั้น ได้ค่างานเป็นกอบเป็นกำ ได้สะสมประสบการณ์การเขียนจากการคิดพล็อตเรื่องเดือนละหลายเรื่องได้เป็นคนคัดเลือกเรื่องสั้นให้ลงนิตยสาร ได้อ่านต้นฉบับของนักเขียนผู้ใหญ่ นักเขียนดังๆ ที่เป็นลายมือบ้าง พิมพ์ดีดบ้าง และได้เก็บเกี่ยวข้อมูลในเรื่องต่างๆจากการไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวหลายระดับมาเป็นวัตถุดิบ ทำงานในสายสื่อมวลชนตั้งแต่2531 จนกระทั่ง2544 จึงตั้งใจหันหลังจากงานอาชีพสื่อ มาเขียน “นวนิยาย” อย่างจริงจังและอย่างเต็มตัว ซึ่งในช่วงที่เป็นทั้งสื่อมวลชนและเป็นคนเขียนนิยายเล่มเล็กนั้น ก็มีข้อมูลที่ดีมากมายที่สะสมไว้และอยากถ่ายทอด จึงแบ่งเวลามาเขียน “นวนิยาย” เล่มใหญ่ เขียนในแบบที่ตนเองอยากนำเสนอ คือเป็นนวนิยายที่สะท้อนเรื่องราวในสังคม ไม่ใช่นวนิยายในอุดมคติ ที่ตัวละครพระ-นางต้องดีงาม และเนื้อเรื่องต้องจบลงแบบHappy ending แต่เขียนสะท้อนความจริงของ “คน” และจบลงตามครรลองของชีวิตที่ควรจะเป็น ซึ่งบางเรื่องไม่สวยงาม บางเรื่องไม่ได้จบแบบมีความสุขเสมอไป นวนิยาย ในช่วงนั้นเช่นเรื่อง “ก้าวที่กล้า” / “จัตุรัสรัก” / “ม่านรักไฟเสน่หา” โดยใช้นามปากกา “วัสตรา”
แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้
สำหรับเรื่อง “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” นี้ ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้พูดคุยกับคนที่ใช้ชีวิตอยู่พัทยาหลายระดับฐานะและอาชีพ มีทั้งจากคนต่างถิ่น และจากคนพื้นเพเอง ทำให้ผู้เขียนต้องประมวลข้อมูลให้ตนเองไว้เป็นเชิงบวก และเชิงลบ แล้วตั้งคำถามกับตนเองว่า จะเอาอะไร จากสิ่งที่ได้ มาใช้ทำอะไรบ้าง จากที่ฟังเรื่องเล่าแบบสนุกสนานบ้าง แบบชวนตื่นเต้นบ้าง และแบบชวนพิศวงบ้าง ก็เริ่มตั้งเป้าหมายให้ตนเองว่า เราจะเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้นมาถ่ายทอดอย่างไร ในฐานะที่เป็นคนเขียนนวนิยาย ทั้งแนวโรแมนติกคอมเมดี้ และแนวดราม่า ตามความนิยมของตลาด ได้ตระหนักว่า เรื่องเล่าที่ฟังๆมาถ้าจะให้สนุกด้วยตัวหนังสือ และคาดหวังจะได้ยินเสียงหัวเราะจากผู้อ่าน ผู้เขียนสรุปว่าเรื่องราวมันคือ “ตลกเสียง” ผู้เขียนจึงวางงานชิ้นนี้เอาไว้ ปีแล้วปีเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งมีญาติมาเล่าว่า “จำอีแป้งได้มั้ย...ลูกมันได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่เมืองจีนเชียวนะ” เรื่องราวเก่าๆไหลกลับมาสู่สมองนึกถึงหญิงวัยใกล้เคียงกันที่ได้พบปะพูดคุยกันเพราะน้ำหอมกลิ่น “กูพาซอม” ที่เธอเอามาเสนอขาย ดูจะเป็นคนอารมณ์ดี เล่าเรื่องอะไรก็ชวนขัน แต่ที่สะดุดใจผู้เขียนมากที่สุดคือ เธอเป็นคนต่างถิ่น ถูกทางบ้านหลอกให้มาอยู่กับญาติ คาดหวังจะได้เรียนหนังสือ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ส่งลูกสาวเรียนจบมหาวิทยาลัย แถมลูกยังได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศอีก...อยู่พัทยา เมืองที่ผู้เขียนเองแอบคิดว่ามันไม่สวยงามต่อชีวิตคนที่อพยพพาลูกหลานมาขุดทอง...กระทั่งผู้เขียนได้พบแหล่งข้อมูลคนนี้อีกครั้ง ชื่อ “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” ก็ผุดขึ้นมา ผู้หญิงเปรียบได้เช่นดอกไม้ เมื่ออยู่ในเมืองท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อระดับโลก เมืองนี้เปรียบเหมือนแจกันใบใหญ่ หากเป็นแจกันชนิดอื่นดอกไม้ใดที่เปราะบางอายุสั้นไม่นานก็ร่วงโรยราตามธรรมชาติ แต่จะยิ่งร่วงโรยเร็วขึ้นเมื่ออยู่ในแจกันเหล็ก ซึ่งเนื้อสนิมจะกัดกร่อนให้ก้านไม่สามารถนำน้ำไปเลี้ยงดอกได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนดอกไม้ชนิดที่คงทนต่อสภาวะต่างๆได้ดีก็จะยืนหยัดได้นาน หรือยังมีประโยชน์หากถูกย้ายแจกัน เรื่องราวของ “เธอ” ในแจกันเหล็กทั้งหลายเป็นแรงบันดาลใจ ในการสร้างผลงาน
คิดว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรในสังคมปัจจุบัน
ปัญหาความยากจนในหลายพื้นที่ในประเทศนี้ยังคงมีอยู่ทุกยุคสมัย ปัญหาเรื่องการศึกษาในหลายพื้นที่ในประเทศนี้ยังได้รับการแก้ไขไม่เพียงพอ ปัญหาการว่างงาน การอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ยังคงเป็นวัฒนธรรมของคนในชนบท ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงมีอยู่ และไม่มีอะไรที่จะลดทอนลงได้
ส่วนปัญหาเรื่องทัศนคติของคนเรานั้น ย้อนกลับไปที่ปัญหาเรื่องการศึกษาที่บางครอบครัวไม่ส่งเสริม และบางครอบครัวมองไม่เห็นความสำคัญ จึงจมอยู่กับค่านิยมเก่าๆอยู่ร่ำไป
ในส่วนที่สะท้อนชัดเจนที่สุด จะเห็นได้ว่าค่านิยมที่พ่อแม่เห็นลูกเป็นสมบัติส่วนตัวที่จะทำกับลูกอย่างไรก็ได้ไม่เคยเปลี่ยนไป แต่กลับเปลี่ยนรูปแบบที่ดูเลวร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง ดังที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันที่พ่อหรือแม่พาลูกชาย และลูกสาวไปเร่ขายบริการ
เรื่องราวไม่ได้เกี่ยวกับแค่การสู้ชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอย่างเดียว แต่มันมีการสะท้อนให้เห็นของค่านิยมที่พ่อแม่เห็นลูกเป็นสมบัติส่วนตัวที่จะทำกับลูกอย่างไรก็ได้ อยากให้เล่าขยายว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไรและทำไมถึงนำค่านิยมด้านนี้เขามาจับในเรื่อง
ผู้เขียนใคร่ขอออกตัวว่าก่อนที่จะเลือกเอา “ค่านิยมที่พ่อแม่เห็นลูกเป็นสมบัติส่วนตัวที่จะทำกับลูกอย่างไรก็ได้” ผู้เขียนไม่ได้ศึกษา หรือค้นคว้างานวิจัยทางสังคมของหน่วยงานใด หากแต่ได้ใช้ข้อมูลจากการเป็นสื่อมวลชนในอดีต ผนวกกับข้อมูลที่ได้รับฟังเองโดยตรงจากคนสนิทชิดใกล้ หรือจากตัวผู้ประสบกับเรื่องราวค่านิยมนี้จากพ่อแม่ โดยมิได้เต็มใจ รวมถึงคนที่มีประสบการณ์ ที่เลือกที่จะออกจากบ้าน เพื่อทำงานหาเงินมาจุนเจือคนในครอบครัว และแต่คนก็มีวิถีการสู้ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่หลายๆคนได้รับนั้นคือความเจ็บปวดในชีวิต บางคนหันไปเยียวยาชีวิตตนเองด้วยยาเสพติด เข้าสู่วงจรอุบาทว์ เป็นปัญหาสังคมในอีกระดับหนึ่ง
ในส่วนที่ผู้เขียนใช้ค่านิยมนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง ก็ด้วยเพราะแหล่งข้อมูลหลักมีจุดเริ่มต้นเป็นเช่นนั้น มีเส้นทางชีวิต และการสู้ชีวิตที่น่าสนใจ น่าชื่นชม น่าลุ้น และปลายทางชีวิต ก็งดงามเพียงพอที่จะให้เธอเป็น “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” ของผู้เขียน ที่สนิมเหล็กมิอาจทำให้กลีบดอกร่วงโรยได้ง่ายๆ
การที่เลือกให้ตัวนางเอกหนีไปเริ่มชีวิตใหม่ที่พัทยาคืออยากบอกอะไร ตั้งใจให้เป็นอย่างไร
ถ้าจะตอบตามความจริงว่าตัวละครเอกตัวนี้เป็นการรวมตัวของผู้หญิงที่ผู้เขียนได้คุยด้วยถึงสามคน ชีวิตของคนทั้งสามเมื่อเชื่อมต่อกันแล้ว เป็นชะตาชีวิตที่น่านำเสนอ เมื่อคนหนึ่งโชคชะตาผลักดันให้เธอต้องย้ายไปเป็นคนขายรองเท้าที่พัทยาตามสัญญาจ้าง เพื่อให้ผู้อ่านได้ติดตามว่าชีวิตผู้หญิงคนนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไรในขณะที่มีลูกสาวสองคน ไร้ญาติ ขาดมิตรที่ดี ทุกอย่างต้องใช้เงิน ใช้ไหวพริบ เป็นการต่อสู้ชีวิต กับปัจจัยภายนอกรอบตัว และต่อสู้กับความรู้สึกนึกคิดของตนเอง กับเสียงเชียร์ให้หาผัวมาช่วยทำมาหากินมาช่วยเลี้ยงลูก หรือยอมขายบริการในยามที่ขัดสน หรือให้หาผัวฝรั่งไปเลย ซึ่งมันมีเหตุให้ตัวละครตัวนี้หวิดจะทำทุกสิ่งทุกอย่าง ตามแรงยุ หากไม่มีความยับยั้งชั่งใจ หากไม่เห็นแก่ลูกที่กำลังเป็นดอกไม้แรกแย้ม
ระยะเวลา อุปสรรค และวิธีแก้ปัญหาในการสร้างสรรค์ผลงานเล่มนี้
ความจริงคือมีความตั้งใจมานานว่าสักวันหนึ่งจะทำงานเขียนสักชิ้นที่เป็นงานประกวด แต่เวลาก็ล่วงเลยมาเป็นสิบปีเพราะก่อนหน้านี้มีงานเขียนที่เป็นงานตลาดที่ต้องทำเพราะใฝ่ฝันมาตลอดว่าจะมีงานเขียนลงนิตยสารและเมื่อมีโอกาสก็มุ่งมั่นทำไป กับอีกประการหนึ่งที่ผลงานของผู้เขียนหลายชิ้นเดินทางไปได้ไกลเกินฝัน คือผลงานเป็นที่ถูกใจของค่ายละคร แต่ลึกๆก็รู้สึกมาตลอดว่าฝีมือเรายังไม่ถึงขั้นที่จะทำงานประกวด ยิ่งได้อ่านงานที่ได้รางวัลมาบ้าง ก็คิดว่า งานที่เราทำมายังขาดคุณสมบัติ...จนเมื่อต้นปี2565นี้มีอุบัติเหตุต้องเข้าเฝือกขา ก็ต้องนั่งๆนอนๆอยู่เป็นเดือน งานเขียนที่เขียนค้างอยู่ก็ไม่ได้ทำต่อ ก็เลยมีเวลาหันไปติดตามข่าวสารการประกวด พอเห็นกำหนดการแล้วก็คิดว่า เราจะทำทันมั้ย แล้วก็นึกถึงเมื่อก่อนที่ทำงานได้เร็วเดือนละเรื่อง หรือเรื่องละเดือนครึ่ง นี่มีเวลาอีกเกือบสามเดือน จะทำได้หรือไม่ ก็บอกตัวเองว่าถ้าไม่ทำสักที เมื่อไหร่จะได้ทำ พอคิดว่าจะทำ “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” ก็เลยทำไทม์ไลน์ขึ้นมา แล้วก็หาข้อมูลเพิ่มเติม โดยการถามบรรยากาศของพัทยาในช่วงเวลาต่างๆ จากแหล่งข้อมูล เหตุการณ์สำคัญของปีต่างๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตของดอกไม้ในแจกันเหล็กทั้งหลาย
อุปสรรคระหว่างทำงานที่เกิดขึ้นคือความฟุ้งของตัวเองที่ให้ตัวละครเอกได้อยู่ในบรรยากาศของช่วงเวลาต่างๆของกรุงเทพฯ เช่น ปีที่รำเพย (ตัวละครเอก) มาอยู่กรุงเทพฯเป็นปีที่ฉลองกรุงเทพฯสองร้อยปีพอดี ก็ให้รำเพยมีโอกาสได้ไปชมบรรยากาศ สมัยนั้นมีเพลงอะไรบ้าง ด้วยความที่รำเพยเป็นคนหัวไว ใฝ่รู้ ชอบฟังวิทยุ ข่าวสารต่างๆ เราก็อยากให้คนอ่านเชื่อว่า เด็กคนนี้ฉลาด หัวไว จึงต้องค้นคว้าหาเหตุการณ์สำคัญต่างๆ แต่พอสาระมีมากขึ้น การดำเนินเรื่องก็จะช้า ความยาวของเรื่องก็จะยาวเกินกำหนด ก็จะมีเสียงเชียร์จากคนรอบตัวว่า อยากเขียนอะไรเขียนไปให้หมดให้เต็มอิ่ม แล้วค่อยมาหั่น ถ้าเขียนไปด้วย กลับไปหั่นช่วงที่เขียนยาวไว้แล้วด้วย มันจะไม่จบ ในที่สุดก็เลยต้องตัดเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมืองไปบ้าง ตัดอารมณ์รันทดบางช่วงของตัวละครไปบ้าง เมื่อเสร็จแล้วก็บอกตัวเองว่า...งานประกวดครั้งแรกในชีวิต ทำงานระหว่างเจ็บป่วยด้วย ให้ถือว่านี่คือ “ก้าวที่กล้า” ของตัวเอง
ปกติส่วนตัวอ่านหรือเขียนงานแนวไหนบ้าง
หนังสือที่อ่านส่วนใหญ่คืออ่านเพื่อศึกษาข้อมูล ทั้งงานฮาวทู งานนวนิยายหลายๆ แนว อ่านเพื่อที่เราจะได้รู้และเลี่ยง เมื่อเราทำงานของตัวเอง ต้องให้เกียรติงานของคนอื่น ไม่ให้ซ้ำคนอื่น งานที่เขียนก็มีทั้งแนวโรแมนติกคอมเมดี้ งานดราม่าเข้มข้น ชิงรักหักสวาท แฟนตาซีเหนือจริงบ้าง
แนวอื่น ๆ ที่เคยเขียนก่อนหน้านี้
เมื่อผันตัวเองออกจากงานสายสื่อ แต่ก็ไม่ละทิ้งที่จะติดตามข่าวสารต่างๆ เพราะหลายเหตุการณ์ หลายภาพ และหลายประโยคที่ผ่านหูผ่านตา มันสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างงานได้ทั้งนั้น เกิดจากตอนที่เขียนนิยายเล่มเล็กที่เดือนๆหนึ่งต้องเขียนถึง4เรื่อง ดังนั้นอะไรที่แวบเข้ามาก็จะกลายเป็นพล็อต แต่ก็ไม่ทั้งหมด บางทีมันก็แค่จุดประกาย ดังนั้นเมื่อผันตัวเองมาเป็นนักเขียนเต็มตัว ก็เลยต้องศึกษาความต้องการของผู้อ่าน ลึกๆก็อยากเป็นนักเขียนที่มีงานตีพิมพ์ในนิตยสาร ก็ทำการศึกษาว่างานในแบบของตนเองนั้นจะเหมาะกับที่ไหน เมื่อตั้งเป้าหมายแบบนี้ จึงจัดแบ่งนามปากกา และลักษณะงานเป็น งานแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ใช้นามปากกา “วัตตรา” เพื่อให้แตกต่างจาก “วัสตรา” ที่เขียนงานแนวสะท้อนสังคม และเขียนงานแนวตลาดดราม่าเข้มข้น โดยใช้นามปากกา “กานติมา” นับแต่ปี2544 เป็นต้นมา
ผลงานที่เขียนทั้งในนามปากกา “วัตตรา” และ “กานติมา” นั้นรวมแล้วกว่า 60 เรื่อง ที่เป็นที่รู้จักน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นละครโทรทัศน์เช่น พระจันทร์สีรุ้ง / ลูกไม้เปลี่ยนสี / คุณหนูฉันทนา /ก๊วนคานทองกับแก๊งพ่อปลาไหล / แม่ยายคงกระพัน / นางร้ายซัมเมอร์ / ฉันทนาสามช่า / มาดามทุ่งอีแร้ง / โบตั๋นกลีบสุดท้าย / ร่ายริษยา / บัลลังก์หงส์ / ตะวันอาบดาว ฯลฯ เรียกว่ากว่าครึ่งหนึ่งของงานเขียนเคยผ่านสายตาคอละครไปแล้ว
ความคาดหวัง และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการชมนาดในครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไป
ได้ความกล้าไปแล้วเมื่อได้ทำงานส่ง และในระหว่างเก็บตัว(เหมือนนางงามเลยเนอะ) เราก็คงได้อยู่ในสายตาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกท่านคงได้เห็นส่วนที่เว้าแหว่ง ส่วนที่เกินของงานที่ขึ้นเวทีแต่ละชิ้น รวมถึงของตัวเองด้วย ผู้เขียนอาจได้รับคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อเสริมความมั่นใจที่จะสร้างงานประกวดในโอกาสต่อไป
ในฐานะที่ได้ทราบวัตถุประสงค์ของผู้จัดการประกวดมาตั้งแต่การจัดงานครั้งแรก กลวิธีในการคัดเลือกเรื่องและการตัดสินก็ดูแยบยลอยู่แล้ว เมื่อจัดตัวเองไว้ว่า เรายังไม่ถึงขั้นที่จะทำงานเข้าสู่เวทีนี้ ก็ติดตามดูผลงานที่ได้รับรางวัลมาบ้าง ได้อ่านบ้างเป็นบางเรื่อง ผู้จัดทำให้เราเชื่อว่าโลกนี้ยังมีกลิ่นกระดาษและกลิ่นหมึกให้เราได้ดอมดมในฐานะคนเสพงาน และบอกตัวเองว่าถ้าอยากจะให้มีกลิ่นอันคลาสสิคนี้ติดตัวไปเป็นการการันตีว่าเป็นคนในวงการน้ำหมึกอย่างแท้จริง ก็ต้องกระโดดขึ้นเวทีพร้อมงานที่คู่ควรบ้างสักครั้งในชีวิต