บนเส้นทางวรรณศิลป์ ของ กฤษณา อโศกสิน : ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

บนเส้นทางวรรณศิลป์ ของ กฤษณา อโศกสิน

คุณจิตติ : สวัสดีมิตรรักนักอ่านทุกท่าน แฟนๆ หนังสือนวนิยายของคุณกฤษณา อโศกสิน วันนี้เราสามสำนักพิมพ์เจ้าภาพ คือสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สำนักพิมพ์เพื่อนดี และสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์ มีความยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการสัมมนา "บนเส้นทางวรรณศิลป์ ของ กฤษณา อโศกสิน" เมื่อเอ่ยชื่อกฤษณา อโศกสิน ความจริงแทบจะไม่ต้อง

แนะนำ แฟนๆ นักอ่านส่วนใหญ่ย่อมจะทราบว่า ท่านได้รับสมญาว่าเป็นราชินีนักเขียน ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2531 เป็นนักเขียนหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลซีไรท์ จากเรื่อง ปูนปิดทอง เมื่อ พ.ศ.2528 เป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือดีเด่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ได้รับรางวัลดีเด่นถึง 5 ครั้ง จากเรื่อง บุษบกใบไม้, ไฟทะเล, ข้ามสีทันดร, จำหลักไว้ในแผ่นดิน และในปีนี้ปีล่าสุด จากเรื่อง หนึ่งฟ้าดินเดียว รางวัลชมเชยจากรางวัลเดียวกันถึง 15 ครั้ง จากนวนิยายเรื่องต่างๆ คือเรื่อง รากแก้ว, ไม้ผลัดใบ, ลมที่เปลี่ยนทาง, บ้านขนนก, ไฟหนาว, กระเช้าสีดา, ลานลูกไม้, ภมร, ถ่านเก่าไฟใหม่, เพลงบินใบงิ้ว, ชาวกรง, เนื้อใน, พญาไร้ใบ, เวียงแว่นฟ้า และ ตะเกียงแก้ว ได้รับรางวัล สปอ. สองครั้งจากเรื่อง เรือมนุษย์ และ ตะวันตกดิน ผลงานของท่านมีคุณค่าและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดมา ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาประกอบการเรียน ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ สร้าง ความสุขความประทับใจแก่ผู้อ่านและวงวรรณกรรมอย่างสูงยิ่ง ในวันนี้ท่านได้ให้เกียรติกับเราทั้งสามสำนักพิมพ์ และแฟนๆ นักอ่านของท่าน มาบอกเล่าความคิดความรู้สึกต่างๆ ให้เราได้รู้กันอีกครั้ง โอกาสแบบนี้มีไม่บ่อยนัก ก็นับเป็นโอกาสอันดีของพวกเรา ในโอกาสนี้ผมขอเรียนเชิญท่านได้ฟังรายการปาฐกถา "ความสุขของนักเขียน" โดยคุณกฤษณา อโศกสิน ขอเชิญครับ

คุณกฤษณา : สวัสดีค่ะท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้ดิฉันได้รับมอบจากสามสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์เพื่อนดี สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์ ให้มาเล่าถึงความสุขของนักเขียนหรือความสุขที่ได้รับจากการเขียนหนังสือ อาจจะเคยเกริ่นๆ มาบ้างแล้ว ก็เลยจะขอพูดในรายละเอียดว่าความสุขของนักเขียนมีอะไรบ้าง อาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามบุคคลนะคะ นักเขียนแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แต่ว่าสำหรับดิฉันแล้วคงจะต้องไล่เลียงทบทวนถึงตัวเอง คือทุกวันที่เขียนหนังสือไม่ค่อยมีเวลาทบทวนว่าตัวเองเป็นยังไงบ้างจากการเขียนหนังสือ เพราะฉะนั้นเมื่อต้องมาพูดในวันนี้เกี่ยวกับความสุข ก็เลยจะต้องมาลองไล่เลียงดูว่า ความสุขที่เรา ทำงานทุกๆ วัน แล้วบางทีเราก็รู้สึกว่าเรามีความสุขมากเหลือเกิน ความสุขนี้มาจากไหนบ้าง มีต้นน้ำลำธารที่หลั่งไหลเข้ามาถึงหัวใจเรากี่ทิศทาง ดิฉันก็เลยไปไล่ดูก็ได้เห็นว่าเกิดจากสิ่งต่างๆ ที่ไหลเข้ามาในจิตใจถึงห้าทางด้วยกันมีการอ่าน การฟัง การคิด การถาม การเขียน อ่านนั้นต่างหากจาก ฟัง คิด ถาม เขียน คือ สุ จิ ปุ ลิ สุ คือ สุตะ เป็นสิ่งที่เราอยากได้ยิน อยากได้ฟัง หรือได้ใคร่รู้ ส่วนจิตะหรือความคิดคือสิ่งที่จะพาเราไปสู่เหตุผล ปุจฉาคือการถามถึงสิ่งที่ตนเองสงสัย ไม่แน่ใจ แล้วอยากจะขยายความรู้ ความไม่รู้ให้กว้างขวางออกไป ส่วนข้อสุดท้าย ลิขิต คือการเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองพบมาด้วยตัวเอง มีประสบการณ์ด้วยตัวเอง หรือเป็นสิ่งที่เราได้อ่าน ได้ฟัง ได้ยินจากที่ต่างๆ อาจจะเป็นความในใจ ความข้องใจ หรือเป็นความทุกข์เป็นความสุข ความปรีเปรมเกษมสันต์ อะไรต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวของบุคคล หรือส่วนรวมทั่วไปที่น่าใคร่ครวญครุ่นคิด หรือตั้งคำถาม ในส่วนที่เป็นการเขียนนี่ก็สามารถที่จะทำให้แตกดอกออกช่อไปเป็นลายลักษณ์อักษร จนกระทั่งเป็นตัวละครในเรื่องต่างๆ ที่ดิฉันได้ผูกขึ้น และเรียงร้อยถ้อยอักษรจนกระทั่งออกมาเป็นเรื่องราว เป็นรูปเล่ม รวมแล้วตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าจนถึงอายุเจ็ดสิบกว่า รวมเวลาห้าสิบกว่าปี ราวๆ 124 เรื่อง ในระหว่างการอ่านคือการฟัง การคิด การถาม การเขียน หรือทางไปสู่ความเป็นผู้ปรารถนาจะได้ยินได้ฟัง นับเป็นสิ่งที่ประกอบการเขียนให้มั่นคง แน่นอนขึ้น คือตลอดชีวิตที่ดิฉันเป็นอยู่ ส่วนมากดิฉันจะเป็นผู้ฟัง คือฟังพ่อแม่ ครูอาจารย์ ฟังเพื่อน เป็นผู้ฟังโดยตลอดไม่ค่อยได้ถาม เพราะไม่ค่อยมีโอกาสถาม และไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวควรจะถามอะไร เมื่อสมัยที่เป็นเด็กก็จะเป็นคนที่ไม่พูด เป็นคนที่จะนั่งฟังแต่เพื่อนเล่า เวลาเพื่อนไปดูละคร ดิฉันเป็นเด็กนักเรียนประจำ ไม่สามารถออกจากโรงเรียนไปเที่ยวเตร่เหมือนคนอื่นได้ ก็ฟังเพื่อนเล่า ก็ซึมซับ เวลาที่เราได้ยินได้ฟังอะไรก็ซึมซับเข้าไปแล้วเก็บเอาไว้ เมื่อมาทบทวนดูการฟังของเราคิดว่ามีประโยชน์มาก เพราะว่าแม้จะพอใจฟังหรือไม่พอใจฟัง แต่ว่าได้กำไรทุกครั้ง ตกลงเป็นอันว่าดิฉันเติบโตมาจนกระทั่งมาเขียนหนังสือได้นี้ไม่ค่อยเคยเป็นผู้ถาม เป็นผู้ฟังมากกว่าถาม แล้วเป็นผู้ที่ได้กำไรจากการฟังตลอดมา เมื่อฟังมากก็ทำให้เกิดความคิด ความคิดมันจะหลั่งไหลมาในใจของดิฉัน แต่ว่าดิฉันก็ไม่ได้บอกใคร เพราะฉะนั้นความคิดก็กลายมาเป็นความฝัน นี่ดิฉันไม่ได้พูดอย่างที่อยากจะพูดแล้วละค่ะ คือที่เขียนมาอยากจะพูดอีกอย่าง พอเห็นหน้าท่านผู้ฟังก็เลยพูดไปอีกอย่าง เมื่อสักครู่ยังบอกน้องเลยว่า ถ้าพูดแล้วไม่ได้เรื่องขออภัยด้วย สิ่งที่ดิฉันเขียนก็เป็นสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ มีความในใจ มีความข้องใจ มีความสุข มีความทุกข์ มีความเบิกบานยินดี แต่ส่วนใหญ่ดิฉันจะเขียนเรื่องของบุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวดิฉัน แต่ว่าความรู้สึกนึกคิดหรือว่าอารมณ์ที่ลึกลงไปดิฉันถ่ายทอดจากประสบการณ์ที่ตัวเองเป็น ความมั่นใจในตัวเองแทบจะไม่มีเลยในสมัยเด็กๆ เป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองก็เลยไม่กล้าถาม แม้แต่ตอนที่ดิฉันได้รางวัลอะไรต่างๆ มีคนมาเชิญไปพูด ไปออกโทรทัศน์ ดิฉันก็ปฏิเสธทุกรายการ จนกระทั่งเขาแปลกใจมากว่าทำไมไม่ตอบรับ ดิฉันก็เลยบอกว่ากลัวไปทำความเสียหายแก่เวทีที่เขาพูดจากันอยู่ ต่อมาก็เลยไม่ค่อยมีใครมาเชิญดิฉันไปพูด จนกระทั่งมาเมื่อเร็วๆ นี้คุณไพลินมาขอร้องให้ไปพูดให้ผู้ที่มาฝึกวรรณกรรมฟังหน่อย ก็เลยลองไปพูดดู พูดแล้วก็รู้สึกสนุก แต่สนุกกว่าวันนี้ค่ะ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร วันนี้ตั้งใจมาพูด โน้ตมาเลยนะคะ แต่พอเอาเข้าจริงดิฉันไม่ได้พูดตามที่โน้ตไว้เลย แปลกใจมาก ก็จะพูดว่าสิ่งที่ดิฉันเขียนได้มาจากการอ่านและการฟัง การคิด และการถาม แต่การถามนี่น้อยมาก ไม่เคยถามใครเลย บางทีอยากถามเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่าจะตั้งต้นคำถามว่ากระไร เพราะความที่ไม่เคยมีโอกาสพูดเลย เวลาที่คุยกับเพื่อน เพื่อนก็จะเป็นฝ่ายคุย พอกดโทรศัพท์ไปหาเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าดีใจจังแกโทรมาพอดีเลย ฉันกำลังคิดถึงแกอยู่เลย พอเริ่มต้นเพื่อนก็พูดตลอดเกือบชั่วโมง เราก็รู้สึกเหนื่อยมาก ขนาดที่ไม่ได้พูดเลยนี่นะ เป็นอย่างนี้ทุกที ดิฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ไม่เคยได้พูดเลย ดิฉันเพิ่งมาปริปากพูดเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง เพิ่งมาพูดคุยกับเพื่อนฝูงและพวกรุ่นน้องเมื่อไม่ กี่ปี และที่มาพูดต่อหน้าสาธารณะนี่น้อยครั้งมาก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่เป็นครั้งใหญ่ที่มาพูด แล้วก็พูดไม่ได้เรื่องอีกตามเคย ที่จะพูดให้ฟังก็ไม่มีประเด็นอะไรมาก นอกจากว่า การเขียนมันมาจากแหล่งไหนบ้าง คือจากแหล่งที่ดิฉันอ่านหนังสือมาก อาจจะอ่านมากแต่ไม่มากกว่าคนอื่น แต่ว่ามากสำหรับดิฉัน เพียงแต่ว่าเป็นหนังสือที่ดิฉันไม่มีสิทธิ์เลือก อย่างเวลาที่ฉันเป็นเด็ก ดิฉันเป็นนักเรียนประจำตั้งแต่ 8-9 ขวบ เพื่อนก็จะเอาหนังสือส่วนมากเป็นนวนิยายใส่ตะกร้ามา ตะกร้าเต็ม ใหญ่มากเลย แล้วในนั้นมีนักเขียนนามปากกาสารพัด แต่บางนามปากกาก็ไม่มี เพราะฉะนั้นดิฉันไม่มีสิทธิ์เลือกนามปากกาเลย มี ดอกไม้สด, ดวงดาว, พ เนตรรังษี, ร. จันทพิมพระ, ศรีบูรพา, น. ประภาสถิตย์ ตอนนั้น ก สุรางคนางค์ ยังไม่ค่อยได้เขียนหนังสือมาก สมัยนั้นก็มี สันต์ เทวรักษ์ แล้วก็มีหนังสือแปลของ อมราวดี, พิมพา, อ สนิทวงศ์, แม่อนงค์, สด กูรมโรหิต

คุณจิตติ : มีเรื่องไหนที่ตอนนั้นยังประทับใจถึงตอนนี้บ้างไหมครับ หรือตอนนั้นอาจจะประทับใจมากแต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว

คุณกฤษณา : ประทับใจทุกเรื่อง เพียงแต่ไม่ได้ย้อนกลับไปอ่าน และมีความรู้สึกว่าถ้ามีเวลาและไม่ต้องเขียนหนังสืออีกแล้วก็จะกลับไปอ่านนักประพันธ์ที่ดิฉันติดใจและประทับใจในอดีตทั้งหมดทุกท่าน มีอีกหลายท่านที่ดิฉันไม่ได้อ่านเลย เพราะไม่มีอยู่ในกระเป๋าของเพื่อน เมื่อไม่มีอยู่ในกระเป๋าของเพื่อนดิฉันก็ไม่มีสิทธิ์อ่าน เพราะว่าสตางค์ที่จะไปซื้อหนังสืออ่านเองก็ไม่มี มีที่ดิฉันไม่ได้อ่านเลยก็ มนัส จรรยงค์ ไม้มืองเดิม แต่ ยาขอบ ดิฉันอ่านเพราะว่าดิฉันติดผู้ชนะสิบทิศมาก และก็มีอยู่ในกระเป๋าเพื่อน เริ่มแรกจากการอ่านก็มาถึงการฟัง ที่เรียนแล้วว่าดิฉันเป็นผู้ฟังตลอดชีวิต ไม่เคยเป็นผู้พูดเลย แล้วก็ไม่เคยเป็นผู้ถาม สงสัยอะไร อย่างไร หรือหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ไม่เคยถาม แต่ว่าใจจะค่อยๆ ถามและตอบตัวเอง ไม่เคยถามผู้อื่น ความคิดก็เลยไม่ค่อยจะกว้างขวางเท่าไหร่ เพราะการที่เราไม่ถามมันเหมือนการปิดประตูที่ควรจะมีทางออก อีกอย่างหนึ่งตอนเด็กๆ ดิฉันเป็นลูกสาวคนโต คุณพ่อหวงมาก ไม่ให้ไปไหน

หลังจากที่ดิฉันจบ ม.6 แล้ว คืออยู่ โรงเรียนประจำถึง ม.6 ออกมาเป็นนักเรียนไป-กลับ ม.7-8 ดิฉันยังข้ามถนนไม่ได้เลย ความที่เราไม่เคยออกมาสู่โลกกว้าง ข้ามถนนแทบไม่ได้ กว่าจะได้ก็ตอนไปอยู่ธรรมศาสตร์ แต่ก็ยังรู้สึกว่าโลกยังน่ากลัวสำหรับดิฉันมากในตอนนั้น พอมาทำงานคุณพ่อก็กักอีก คือเช้าไปทำงานเย็นต้องกลับบ้าน เวลาที่เขามีรัฐประหารหรืออะไรที่ยุ่งๆ ทางการเมือง ดิฉันกลับมาถึงบ้านก่อนจะได้ยินคุณพ่อถามว่ายายหนูกลับบ้านหรือยัง คือไม่ถามถึงคนอื่นจะถามถึงแต่ดิฉัน เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็นผู้ที่เหมือนถูกจำกัดขอบเขต ทั้งความคิด ทั้งอาณาเขต ทั้งชีวิตที่จะก้าวออกไป ที่จะเป็นอิสระนี่ไม่มี

คุณจิตติ : ชีวิตการเป็นนักศึกษาในธรรมศาสตร์มีความสุขไหมครับ

คุณกฤษณา : มีความสุขมาก ดิฉันมีความผิดพลาดในชีวิตหลายอย่างมาก คือผิดตั้งแต่เด็ก คือดิฉันชอบอักษรศาสตร์ แต่เพื่อนรักที่สนิทกันจะเรียนวิทยาศาสตร์ ดิฉันก็ตามไปเรียนวิทยาศาสตร์กับเขา ทั้งๆ ที่วิชาเลข หรือพีชคณิต หรือแมกคานิก ดิฉันไม่เป็นเลย เปอร์เซ็นต์ก็จะได้แค่ห้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ความที่ติดเพื่อนก็ตามไปเรียนวิทยาศาสตร์ แต่มันก็ร่อแร่เพราะจำสูตรเคมีก็ไม่ได้ แถมจิตใจยังอยากจะเป็นนักเขียนอีก ถึงเวลาที่จะสอบก็ยังคิดแต่งเรื่องอยู่เลย เขียนไว้หลังสมุดจดงาน เขียนอยู่ตลอดเลย จนกระทั่งครูย่องเข้ามาข้างๆ บอกว่า สุกัญญาเธอเจ๊งแน่เลยปีนี้ คือเป็นคำที่อมตะมากในชีวิตของดิฉัน จะจำคำนี้ได้ เป็นครูผู้ชายสอนวิทยาศาสตร์ คือท่านคงจะเอือมมาก เพราะเข็นไม่ขึ้น แต่ก็ยังโชคดีนะคะที่เกือบตก ไม่ใช่เกือบได้ ก็ผ่านชั้น ม.8 สมัยนั้นชั้นเตรียมเรียกว่า ม.8 ก็ผจญมรสุมอย่างหนักมาก เพราะคุณพ่อเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี และตอนนั้นก็มีการยุบสภา คุณพ่อก็เลยถูกจับเป็นนักโทษการเมือง ก็เข้าไปอยู่บางขวาง แต่ตอนนั้นก็เป็นเวลาที่ดิฉันจบการศึกษาจากโรงเรียนราชินีพอดี ก็เลยเคว้ง เพราะสตางค์ที่จะไปกวดวิชาก็ไม่มี เมื่อก่อนจะมีโรงเรียนกวดวิชาชื่อชาญวิทย์ กับ สหบัณฑิต ท่านที่อายุไล่ๆ กับดิฉันคงจะจำได้ แต่ในที่นี้เห็นแล้วว่าไม่มี อ้อ! มีชูวงศ์อยู่คนหนึ่ง เขาจะต้องเสียเงิน ดิฉันก็ไม่มีเงินจะเสีย แล้วจะไปเรียนจุฬาเหรอคะ เป็นไปไม่ได้เลย ก็เลยต้องไปเข้าธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ตอนนั้นก็ไม่ต้องเสียสตางค์ เพราะการที่จะลงทะเบียนสอบหรืออะไรก็อาจจะเสียบ้าง ห้าบาทสิบบาทก็ไม่มาก ก็เลยไปเข้า ก็ตามเพื่อนไปอีก เห็นเพื่อนเรียนบัญชีก็ไปเรียนบัญชี เรียนบัญชีก็เรียนได้แต่ภาษาอังกฤษ ดิฉันชอบภาษาอังกฤษ ชอบวิชาเลขานุการ มารยาทในการสมาคม พวกนี้ดิฉันสอบได้ดี แต่วิชาหลักทำไม่ได้เลย คือดิฉันคิดเลขไม่เป็น เดบิตเครดิตพยายามคิดเท่าไหร่สองข้างก็ไม่เคยเท่ากัน อนาคตมืดน่ะค่ะ แต่ก็มีความสุข ใน ม.ธรรมศาสตร์เป็นที่ๆ มีความสุขมากตอนนั้นดิฉันอายุ 18

คุณจิตติ : สุขตรงไหนครับ

คุณกฤษณา : ก็มีเพื่อนจากโรงเรียนราชินี เพื่อนที่ไปพบใหม่ ก็มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย กลุ่มหนึ่งตั้ง 7-8 คน เดินไปก็ไปกันเป็นกลุ่ม พอบ่ายๆ ก็ดูเขาซ้อมรักบี้ นักรักบี้ของธรรมศาสตร์ตอนนั้นก็แข็งมาก พอถึงฤดูที่เขาแข่งรักบี้กัน ดิฉันก็เก็บสตางค์จากค่าขนมที่ได้สองบาท คือไปทานเกี๊ยวน้ำบาทหนึ่ง อีกบาทเก็บไว้เป็นค่ารถไปกลับ บางทีเพื่อนก็ออกค่าดูกีฬาให้ คือไปเชียร์รักบี้ ก็กลับค่ำ ตอนนั้นคุณพ่อก็ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นนักโทษการเมือง คือไปติดอยู่เก้าเดือน เป็นเก้าเดือนที่ยากลำบากมากสำหรับครอบครัวดิฉัน ก็ทุกข์ยากมาก แต่ก็มีญาติ คือป้า ซึ่งเป็นป้าไม่แท้ ลูกพี่ลูกน้องของคุณพ่อซึ่งเลี้ยงดิฉัน เหมือนคุณแม่คนที่สองก็จะออกไปขายของแล้วเอาเงินมาเลี้ยงหลานหกคน พอคุณพ่อออกมาก็ไม่มีงานทำ ก็ไปเป็นทนายความ คุณพ่อของดิฉันจบเนติบัณฑิตสยามสมัยนั้น ก็เลยไปฝึกงานเป็นทนาย ตอนแรกไม่ได้เป็น เป็นข้าราชการที่กรมสหกรณ์ เป็นหัวหน้ากองสหกรณ์ธนกิจ นี่จะเล่าถึงว่าสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ดิฉันเขียนหนังสือมาเรื่อยๆ มันมีอยู่หลายทาง จากการอ่าน จากการฟัง จากการคิด คิดจากชีวิตที่เรายากลำบาก ทำให้เราคิดมาก หน้าตาก็ไม่สุขสบายเหมือนเพื่อน เพื่อนฝูงมีแฟนทุกคนแต่ดิฉันไม่มี เพราะว่าหนึ่งกลัวคุณพ่อ แล้วคุณพ่อก็แปลกอยู่อย่าง คือไปเดินกันนอกบ้านก็ไม่ได้ พาเข้ามาในบ้านก็ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งสองอย่าง ดิฉันก็เลยตัดสินใจไม่คบใครเลย

คุณจิตติ : คุณพ่อหวงพี่คนเดียวหรือว่าน้องๆ ด้วย

คุณกฤษณา : ไม่หวงน้องเลย มีน้องสาวอีกตั้งสามคนแต่คุณพ่อไม่หวงเลย หวงแต่ดิฉัน เพราะเป็นลูกคนโต และตอนที่คลอดดิฉันคุณหมอถามว่าจะเอาลูกหรือจะเอาแม่ คือคลอดยาก ดิฉันทุกข์ยากตั้งแต่คลอดแล้วนะคะ ไม่ใช่ทุกข์ยากตอนที่เป็นเด็กๆ วัยรุ่น ทุกข์ยากมาตั้งแต่คลอด จะตายมิตายแหล่ทั้งแม่ทั้งลูกเลย หมอถึงกับถามว่าจะเอาแม่หรือเอาลูก คุณพ่อก็บอกเอาแม่ ทีนี้พอรอดมาได้ทั้งแม่ทั้งลูก เขาใช้คีมคีบออกมา ทีนี้คีมมันกดศีรษะจนเป็นหนอง ดิฉันก็ร้องอยู่สามวัน คุณพ่อตอนแรกไม่ดูดำดูดีเลย พอวันที่สามคุณพ่อก็เลยไปพบว่ามีหนองที่ศีรษะ แต่ผมมันปิดอยู่ ตั้งแต่วันนั้นคุณพ่อก็เลยรักมาก รักสุดสวาทขาดใจเลย หวงมาก ความหวงก็อาจจะดีและไม่ดีสำหรับดิฉัน คือหนึ่ง ดีที่ว่าดิฉันก็เป็นที่ปรึกษาของคุณพ่อในเวลาต่อมา แต่ว่าไม่ดีตรงที่ทำให้ชีวิตของดิฉันมันเหมือนไม่มีประตู หน้าต่างสำหรับจะออกไปไหน ก็เหมือนถูกกักอยู่ จนกระทั่งกลายเป็นคนเฉยๆ ไม่อยากพูดกับใคร ไม่ตั้งคำถาม แต่คิด คิดอย่างเดียว ต่อมาดิฉันรู้สึกว่าพออ่านมาก ฟังมาก คิดมาก แต่ไม่ได้ถามเลย ดิฉันก็เลยรู้สึกว่าอยากเขียนหนังสือที่จะระบายความคิดอ่านของดิฉันออกมาเป็นตัวหนังสือ ฟังแล้วท่านอาจจะไม่เศร้านะ แต่คนเล่านี่เศร้าแล้ว ต่อมาพอเป็นนักศึกษาปีแรก คือดิฉันเขียนเรื่อง เมื่อฉันเสียดวงตา ไปประกวดที่สตรีสาร ก่อนหน้าที่จะเข้าธรรมศาสตร์ แล้วก็เขียนเรื่อง ของขวัญปีใหม่ ไปลงที่ไทยใหม่วันจันทร์ และยังเขียนกลอนหกไปลงที่ไทยใหม่วันจันทร์เหมือนกัน ก็ได้ลงหมด ไม่มีงานชิ้นไหนเลยที่ไม่ได้ลง แต่ดิฉันไม่ทราบเพราะเป็นนักเรียน ประจำ และไม่มีเงินจะไปซื้อหนังสือ เพื่อนก็คงไม่ได้อ่าน ต่อมาจนเป็นนักเขียน เขียนเรื่องเยอะแล้ว คุณลำจวนถึงได้บอก…ซึ่งดิฉันก็ไม่ได้อันนั้นมา ไม่รู้ว่ารวมอยู่ที่ไหนเหมือนกัน นี่คือเท้าความให้ทราบว่าดิฉันเขียนหนังสือตั้งแต่ ม.5 ที่เล่าว่าเขียนอยู่ข้างหลังสมุดจดงาน ที่ว่าเป็นงูดิน ที่เคยพูดหลายครั้งแล้วเรื่องงูดิน นางเอกโผเข้าหา พระเอก เพราะว่าหนีงูดิน เพื่อนก็หัวเราะเฮฮา แล้วก็อยากจะอ่านอีก ดิฉันก็ชอบกวีนิพนธ์เหมือนกัน โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ก็เขียนได้ บางทีก็ส่งประกวดในงานประกวดหนังสือของโรงเรียน คือโรงเรียนจะมีงานประจำปี ให้นักเรียนส่งบทร้อยกรองเข้าประกวด ดิฉันก็ส่งประกวดได้ที่เท่าไหร่ไม่ทราบ เพื่อนดิฉันจำได้ว่าได้ที่สองที่สาม แต่ดิฉันจำไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่างานชิ้นนั้นไปตกหล่นอยู่ที่ไหน คือมันเด็กมากเกินไป แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่าเราจะต้องเก็บสิ่งที่เราทำไว้ คือเราไม่ทราบอนาคตว่าเราจะมาอยู่ตรงนี้วันนี้ ไม่งั้นเราก็จะเก็บทุกอย่างที่เราเขียนเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชีวิตเรา ดิฉันก็เขียนไว้ตามสมุดบันทึกบ้าง อะไรบ้าง ทีนี้ย้ายบ้านหลายครั้งก็หายหกตกหล่นไป เรื่องหลายชิ้นก็ยังเสียดายอยู่ เพราะมีหลายชิ้นที่รู้สึกว่าทำไมเราเขียนได้ถึงขนาดนี้ นี่คือช่วงแรกที่เข้าเรียนธรรมศาสตร์แล้วมีความรู้สึกว่ามีความสุข เพราะว่ามีเพื่อนทั้งผู้หญิงผู้ชาย แล้วก็เฮฮากันดี ไปดูรักบี้ถูกคุณพ่อเอ็ดบ้างก็ไม่เป็นไร ต่อมาก็ได้เงินเดือน เพราะไปเป็นข้าราชการ เป็นเสมียน ได้เงินเดือน 450 บาท ดิฉันก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ที่จะมีเงินไปโรงเรียนแค่สองบาท แล้วเราก็ไม่ได้อยากจะเรียนบัญชี เราไม่ชอบตัวเลข แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้เห็นตัวเลขก็ยังรู้สึกหน้ามืดตาลายแล้ว ไม่มีหัวทางคิดเลขเอาเลย พอดีทางกรมประมงเขาประกาศรับสมัครเสมียน ดิฉันก็ไปสอบ เผอิญได้ที่หนึ่ง ก็เข้าไปทำงานอยู่ห้องสมุด ก็ทำงานมาจนกระทั่ง 17 ปี ได้เป็นบรรณารักษ์ตรี กว่าจะได้เป็นบรรณารักษ์ตรีก็หืดขึ้นนะคะ เพราะได้ที่หนึ่งทุกครั้งที่เขามีการสอบเลื่อนขั้น แต่จะมีคนมาตัดหน้าชิงเอาตำแหน่งไปตลอด ราชการมันมีสายสนกลใน ดิฉันเข้าใจมากเรื่องข้าราชการ

นักข่าวจากดอกเบี้ยธุรกิจ : จริงๆ แล้วอยากเป็นนักเขียนมาก ปัจจุบันเป็นนักข่าวอยู่ดอกเบี้ยธุรกิจ มีชีวิตตอนอายุ 18 อยู่ที่ธรรมศาสตร์ก็มีความสุขมากเหมือนคุณกฤษณา จะเรียกว่าคุณกฤษณาเป็นรุ่นพี่ก็ได้ แต่หนูรู้สึกว่าหนูไม่มีความสุขเลยกับคณะนิติศาสตร์ ถึงแม้ว่าหนูจะรักความยุติธรรม แต่หนูก็ไม่ขยันที่จะอ่านหนังสือกฎหมาย อาจจะไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้จบการศึกษาจากธรรมศาสตร์เหมือนคุณเนาวรัตน์หรือคุณทมยันตี แต่ว่าที่นั่นก็ได้หล่อหลอมอะไรบางอย่าง วันนี้หนูเป็นนักข่าวก็ได้ใช้ความสามารถในเรื่องของการเขียน แต่เราเขียนงานภายใต้กรอบของคนอื่น หนูค่อนข้างมีปัญหาในการเรียบเรียง จะนำเสนอเรื่องราวของเราออกมาอย่างไรให้น่าอ่าน เพราะเรื่องราวของหนูมันน่าสนใจที่สุดสำหรับตัวเองแต่ไม่ใช่สำหรับคนอ่าน ไม่ใช่สำหรับตลาด แล้วหนูจะดึงสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นงานเขียนถึง 124 เรื่องได้อย่างไร อยากจะรู้ อยากจะถามเคล็ดลับตรงนี้ค่ะ

คุณกฤษณา : เรื่องนี้ก็คงต้องพูดกันนาน เพราะนี่เพิ่งเริ่มอารัมบท มีน้องๆ ที่คล่องการเขียนลองสอบถามดูก็ได้ว่ามันยาวนานแค่ไหนกว่าเราจะเขียนได้ คือคุณต้องพยายามเขียนออกมาให้จบให้ได้ก่อนหนึ่งเรื่อง เพราะดิฉันเคยเขียนไม่จบมาตลอดตั้งแต่อายุ 15 หลังจากที่เขียนเรื่องงูดินแล้วก็พยายามเขียนใหม่ เขียนเท่าไหร่ก็ไม่จบ มาจบเอาตอนที่เขียนเรื่องของขวัญปีใหม่ แต่อ่านดูแล้วมันแย่ นางเอกก็อยู่บนต้นไม้อะไรอย่างนี้ เรายังไม่มีประสบการณ์ มีแต่จินตนาการยังไม่พอ มีการใช้ภาษาที่ยังไม่สันทัดจัดเจนนัก การใช้ภาษานี่ก็เรียกว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญของนักเขียนมาก เพราะถ้าเราเขียนไม่จบเรื่อง แต่การใช้ภาษาของเราใช้ได้มันก็จะค่อยๆ ดีไปเอง แต่ถ้าการใช้ภาษาก็ไม่ได้อีก คือมีจินตนาการแต่การใช้ภาษาไม่เข้าขั้น ก็จะทำให้เรารู้สึกท้อ ทำอย่างไรไม่ให้รู้สึกท้อ เพราะมันจะมีความท้อเข้ามาขัดขวางเสียก่อนที่เราจะประสบความสำเร็จ ก็ขอเรียนว่าไม่ต้องท้อ คือดิฉันผจญมาหมดแล้วทุกอย่าง ตั้งแต่มีแต่จินตนาการไม่มีประสบการณ์ การใช้ภาษาก็ยังไม่ดี เพราะเมื่อตอนเด็กดิฉันอ่านเรื่องแปล สำนวนแปลไม่เหมือนสำนวนเขียน ส่วนใหญ่แล้วจะไปติดสำนวนแปลมาเป็นสำนวนเขียนนวนิยายของเราเอง ตอนหลังอ่านดู แล้วรู้สึกประดักประเดิด ต้องมาขัดเกลาอีกเยอะเหมือนกัน การใช้ภาษาก็ต้องใช้เวลาอีก ตกลงเราก็มีแต่จินตนาการใช่ไหมคะ ประสบการณ์ก็ต้องใช้เวลา การใช้ภาษาก็ต้องใช้เวลาขัดเกลา ถ้านานเกินไปจะรู้สึกท้อ แต่ไม่ต้องท้อ ปีแล้วปีเล่าเราก็ทำอย่างนั้น เขียนให้ได้จบหนึ่งเรื่อง แล้วก็พยายามจบเรื่อยๆ ไป พอจบได้หนึ่งเรื่อง เรื่องต่อไปก็จะรู้สึกง่ายขึ้น มันเหมือนการเจริญเติบโตของคนเรา จากเด็กก็เป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่ เหมือนกับการขึ้นบันได เพราะการขึ้นบันไดเราก็ต้องค่อยๆ ขึ้น อย่าพรวดพราดขึ้น อย่าก้าวทีละสองสามขั้นเพราะมันจะหล่นลงมาได้ง่าย คือมันมีความยากลำบากมาก แต่เราต้องไม่ท้อแล้วค่อยๆ ทำไป เพราะเป็นงานที่ใช้เวลาทั้งชีวิต ไม่ใช่เวลาน้อยๆ ที่ดิฉันมานั่งตรงนี้ แล้วรู้สึกว่าเขียนเรื่องตั้งร้อยยี่สิบกว่าเรื่องก็จริง แต่ดิฉันก็ไม่เคยมั่นใจว่าดิฉันเก่ง คือจะ นับหนึ่งใหม่เสมอ พอเวลาขึ้นเรื่องใหม่มันจะไม่เหมือนเรื่องเก่า คือเรื่องเก่าที่เราคิดว่าเราคล่อง เราลื่นไหล จะไม่ใช่แล้ว จะเริ่มไม่รู้จักตัวละครอีกแล้ว เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเหมือนกับค่อยๆ นับหนึ่ง สอง สาม สี่ ด้วยความอดทน เพื่อว่าเราจะได้สานเรื่องราวที่เราอยากนำเสนอให้ผู้อ่านได้ทราบ ได้รู้จักตัวละครตัวนี้ ว่าตัวละครมีนิสัยอย่างไร เป็นคนที่สำคัญยังไงของเรื่อง แต่ละคนก็มีอุปนิสัย ที่เรียกว่าคาแร็กเตอร์ต่างๆ กันไป ดิฉันก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร แต่จะพูดไม่ให้ท้อ ต้องปลุกเร้ากัน ถ้าอยากเขียนหนังสือต้องปลุกเร้ากันตลอด ต้องเพียรเขียนไป เพราะไม่มีทางอื่นเลยนอกจากเขียน แล้วก็พากเพียร และด้วยการที่เราสังเกต เราควรจะต้อง หนึ่งอ่านมาก ที่ดิฉันไล่เลียงให้ฟังแล้วว่าที่ดิฉันมาเขียนหนังสือได้ เพราะหนึ่ง อ่านมาก สองฟังมาก สามคิดมาก แม้จะไม่ได้ถามมากก็ตาม แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วก็สามารถที่จะตอบคำถามหลายอย่างที่เราสงสัยด้วยตัวของเราเอง คือการที่เราฝึกฟัง ฝึกอ่าน ฝึกคิด เป็นประโยชน์มากเลย สุ จิ ปุ ลิ การได้ยินมาก ได้ฟังมาก ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก เพื่อจะนำเราไปสู่การรู้จักผิดชอบชั่วดี และบาปบุญคุณโทษ และเพื่อจะเป็นบรรทัดของความประพฤตินั้น เราได้นำมาใช้สำหรับตัวเราและตัวละครด้วย บางครั้งเราสอนตัวละคร แต่ตัวละครก็สอนเรา คือดิฉันมีน้องอยู่คนหนึ่งก็เป็น นักเขียนเหมือนกัน ก็คุยกันเสมอ เขาก็จะพูดว่า พี่สุ บางทีฉันก็ได้รับบทเรียนจากตัวละครมากเหมือนกัน ทีจริงบางอย่างเราไม่รู้ สมมุติเราผูกตัวละครขึ้นมาเป็นคนแปลกๆ เราก็ต้องไปเสาะหาข้อมูลว่าตัวละครแปลกๆ เขามีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อให้ สมเหตุสมผลสอดคล้องกับการดำเนินเรื่องของเรา เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไปหาข้อมูลว่าคนๆ นี้ที่มีลักษณะอย่างนี้ อุปนิสัยอย่างนี้ จะมีพฤติกรรมยังไง ก็เท่ากับว่าเราไปหาข้อมูลที่จะทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก เข้าใจบุคคล เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจเหตุการณ์มากขึ้น เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าที่ดิฉันเป็นนักเขียนนวนิยาย ไม่เสียชาติเกิด คือได้คล้องแขนไปกับตัวละคร มีความรู้สึกว่าเค้าเป็นใครหลายๆ คน เป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นพี่น้อง เป็นลูกหลานอยู่ในชีวิตของดิฉัน คือจริงๆ แล้วคนเหล่านี้ไม่มีตัวตน แต่เสมือนว่ามีตัวตน สำหรับดิฉัน เราคล้องแขนไปกับเขา เดินไปพร้อมกัน ดิฉันมีความรู้สึกว่ารู้คุณตัวละครว่า ตัวละครได้พาสิ่งที่เป็นประโยชน์หลายอย่างมาให้ดิฉัน คือได้พาความไม่รู้ บางอย่างดิฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยในชีวิต เพราะฉะนั้นดิฉันก็ต้องไปหาข้อมูลมาเพื่อประกอบให้เป็นข้อมูลที่แน่นเพื่อจะพาตัวละครไป นี่ก็คือประโยชน์ของ นักเขียนนวนิยายเหมือนกัน

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ