ความเป็นชายที่เปลี่ยนไปเมื่อต้องตกอยู่ในสถานะพ่อและผัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องสั้น ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์มีลักษณะที่แสดงออกตลอดทั้งเรื่องว่าชายเป็นใหญ่ ด้วยตัวละครที่ปรากฏในเรื่องนั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด ทั้งเจ้านาย ลูกน้อง นายช่าง กรรมกร พ่อค้า ฝรั่ง ไทย จีน มลายูและแม้แต่มุมมองผู้เล่าเรื่องต่างเป็นเพศชาย ที่มีความเกี่ยวข้อง วนเวียนอยู่ในระบบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ซึ่งจากยุคสมัยที่เขียนเรื่องสั้นนี้เราทราบกันดีว่าอาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้เผชิญจริง ด้วยยุคสมัยที่ใฝ่หาการพัฒนานั้น กำลังของเพศชายในการทำงาน หนักถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความต้องการมาก สังเกตได้จากหลายจุดในตัวบท แต่ตัวบทเองกลับชี้ให้เห็น ความสำคัญและอานุภาพของเพศหญิง ด้วยตัวละครหญิงเพียงหนึ่งเดียวของเรื่อง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนแปลงสถานภาพอุดมการณ์ ความคิดของตัวละครชายในเรื่อง และทำให้กฎเกณฑ์บางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นเพศหญิงกลายเป็นเหตุผลที่น่าเชื่อถือและสมควรแก่การรับฟัง
บ่วงของชายผู้พ่ายแพ้
ประเด็นปัญหาสำคัญของเรื่องสั้นในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม คือการได้ทำงานในเหมืองแร่ของชายผู้มาเยือน อันจะมีผลไปยังปากท้องของเขาและภรรยาที่กำลังตั้งท้อง โชคชะตาและประสบการณ์ในการทำเหมือง ทางเหนืออาจเข้าข้างเขา ที่ฝนตกหนักและเข้ามาหางานในวันเปลี่ยนกะเข้าทำงาน “ผมเคยทำงานในเหมือง เหนือมาแล้ว แล้วก็รู้ว่างานกรรมกรนั้นนายงานจะรับเข้าท่าได้ทันที ยิ่งกรรมกรกำลังขาดนายงานเสียอีก อยาก ได้คนแทน ผมดีใจที่วันนี้ฝนตก เวลาฝนตกนายงานต้องการคนเพิ่มเสมอ” แต่เมื่อได้เริ่มทำงานแล้ว ขณะที่จะลงทะเบียนกรรมกรกลับพบปัญหาใหม่ว่า เขามีรายชื่อติดแบล็กลิสเป็นสไตรเกอร์แกนนำก่อหวอด หยุดงานประท้วงในเหมืองเหนือ ในบทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างสไตรเกอร์ตกงานกับนายฝรั่งผู้จัดการเหมือง จึงเปิดเผยรอยแผลแห่งความพ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของลูกผู้ชายคนหนึ่ง อันนำไปสู่ความเป็นชายที่เปลี่ยนไป
“คำถาม - ท่านยอมรับไหมว่า ท่านเป็นคนชนหัวหน้าในการสไตรก์ที่เหมืองเหนือ
คำตอบ - ยอมรับ
คำถาม – ท่านสไตรก์ เพื่ออะไร
คำตอบ - เพื่อกรรมกร มิใช่เพื่อคณะก่อการ ซึ่งทุกคนมีตำแหน่งงานดีและเงินเดือนเหมาะสมอยู่แล้ว”
ความพ่ายแพ้แรก คือการพ่ายแพ้ด้านอุดมการณ์ชายผู้นี้เคยต่อสู้เพื่อสิทธิของกรรมกรเหมืองมาก่อน เขามีความเชื่อเรื่องการต่อสู้เพื่อผู้ที่ถูกกดขี่ ถึงขั้นเป็นแกนนำในการประท้วงหยุดงาน เมื่อถูกไล่ออกจากการ ทำงานเหมืองเหนือยังสู้อดทนอยู่นาน กระทั่งต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์และสถานะของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป การบากหน้ากลับมาทำงานเหมืองอีกครั้ง จึงเป็นความพ่ายแพ้อย่างใหญ่หลวง ในแง่ของความเชื่อและ อุดมการณ์ของตนเอง แต่ในบทสนทนานี้ก็ยังแสดงให้เห็นความเป็นชายที่ทระนงในศักดิ์ศรีกล้าทำกล้ารับ และ ยังปรากกฎในตอนต้นถึงลักษณะนิสัยความเป็นชายที่หยิ่งในศักดิ์ศรี แต่ต้องพ่ายแพ้ลงเพราะสงสารภรรยาของเขา
“ข้าพเจ้าเรียกเข้าไปข้างในให้เจ้าของร้านออกมา บอกว่ามีคนจะมาซื้อของกิน ฝ่ายชายโบกมือ ห้ามข้าพเจ้า เราไม่กินอะไรหรอกครับเพียงแต่ขอหลบฝนสักครู่....ผู้หญิงมองตาสามีอย่างวิงวอน สามีดู เหมือนจะถอนใจอย่างเงียบ ๆ จนเสียงหายเข้าไปในอกของเขาหมด ข้าพเจ้าเรียกเจ้าของร้านออกมา ส่ง ชาร้อนให้คนคู่นี้คนละถ้วย และให้เจ้าของร้านเปิดขนมจำพวกแป้งในขวดโหลใส่จานมาด้วย ข้าพเจ้าบอก หญิงชายคู่นี้ว่า ข้าพเจ้าขอเป็นเจ้ามือ เขาก็กล่าวขอบใจ และทั้งคู่กินด้วยความกระหาย แต่มีมารยาท”
หลายครั้งที่ได้ยินคำกล่าวว่า “ผู้ชายจะเปลี่ยนไปเมื่อมีเมียหรือมีลูก” สถานะพ่อและผัวนี่เองที่ บังคับคับให้ชายผู้นี้ต้องเปลี่ยนแปลงความเชื่ออุดมการณ์และความเป็นตัวเอง แต่ในบทความนี้จะไม่ตัดสินว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการดีหรือชั่วถูกหรือผิด เพราะขึ้นอยู่กับสถานะและมุมมองของผู้ที่รับรู้เรื่องราว แต่อีกความ พ่ายแพ้ที่บทสนทนาได้เปิดเผย คือเขายอมตอบคำถามแม้กระทั่งที่แสดงถึงการเสียศักดิ์ศรีคือยอมรับว่าตนนั้น เกาะเมียกิน อาจินต์ ปัญจพรรค์ใช้บทสนทนานี้เล่าความพ่ายแพ้ของลูกผู้ชายคนหนึ่งโดยค่อย ๆ ไล่ระดับ ความเข้มข้นขึ้นไปเรื่อย ๆ กระทั่งความภาคภูมิในความเป็นชายของเขาแห้งเหือดหายไป และคำถามเกี่ยวกับ อาชีพภรรยาของเขานั่นเอง ที่ผู้เขียนใช้ขับบทสนทนาให้เนื้อเรื่องถึงจุดสูงสุด และเป็นการขมวดปมเพื่อนำไปสู่ บทสรุป คำถามที่ไร้คำตอบเป็นการส่งสารจากลูกผู้ชายคนหนึ่งไปถึงลูกผู้ชายอีกคนได้อย่างชัดเจน ทำให้นาย ฝรั่งยอมฝ่าฝืนกฎระเบียบของสมาคมเหมือง และคำทัดทานของเสมียนชาวมลายูรับเขาเข้าทำงาน
“คำถาม – ตามรายงานที่เหมืองเหนือส่งแจก ปรากฏว่าท่านเป็นคนโสดไม่ใช่หรือ
คำตอบ – ตอนนั้นฉันยังไม่ได้มีเมีย
คำถาม - เมื่อถูกปลดแล้ว ท่านมีอาชีพอะไร
คำตอบ - ไม่มี
คำถาม – เมื่อท่านไม่มีอาชีพ ทำไมท่านถึงมีเมียได้
คำตอบ - (อึกอัก) ฉันอาศัยเมียกิน
คำถาม – แล้วทำไมจึงไม่อาศัยเมียกินต่อไป
คำตอบ – เมื่อเมียฉันท้อง เขาก็เลิกอาชีพของเขา เราจึงไม่มีรายได้ แล้วฉันก็ต้องหางานทำ
คำถาม – เมียท่านมีอาชีพอะไร
คำตอบ - ...(ไม่ตอบ)
คำถาม - ท่านจดทะเบียนสมรสกับเมียหรือเปล่า
คำตอบ - จด ใบสมรสฉันก็มี”
แต่ผู้เขียนเองก็มิได้ปิดตายให้ตัวละครชายผู้นี้พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ยังคงให้เขาเหลือตัวตนของตัวเอง เอาไว้โดยการแสดงออกมาผ่านบทสนทนา การที่เขาเลือกสมัครงานในตำแหน่งกรรมกร จึงเป็นทางออก สำหรับเขาที่จะคงความเชื่อและอุดมการณ์ของตัวเองเอาไว้ โดยการเข้าไปอยู่ร่วมเป็นกรรมกร ไม่สมัครงานใน ตำแหน่งเดิม อาจเป็นทางที่ปลุกปลอบใจตัวเอง ว่าเขาไม่ได้กระทำผิดกับความเชื่ออุดมการณ์ของตน
“คำถาม – ท่านทำหน้าที่อะไรที่นั่น
คำตอบ – ผู้ช่วยนายช่างใหญ่ฝ่ายพลังไฟฟ้า
คำถาม - ทำไมท่านจึงไม่หางานตามวุฒิ ทำไมจึงมาเป็นกรรมกร ท่านหวังจะมาช่วยกรรมกรที่นี่ ก่อการสไตรก์หรือไม่
คำตอบ – ฉันเข็ดแล้วเรื่องการสไตรก์ ที่ฉันต้องยอมทำงานกรรมกรก็เพราะฉันหมดตัวและเมีย กำลังท้อง”
และคำตอบที่ว่า “ฉันเข็ดแล้วเรื่องการสไตรก์...ฉันหมดตัวละเมียกำลังท้อง” เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเขา ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ด้วยสถานะผัวและคนที่กำลังจะเป็นพ่อ ตัวละครหญิงท้องในเรื่องได้แสดงให้เห็นว่าเพศ หญิงมีอำนาจต่อเพศชายมากเพียงใด ทั้งการเว้าวอนกระทั่งข้าพเจ้าที่เป็นน้ำเสียงผู้เล่าต้องเห็นใจเลี้ยงอาหาร ทั้งให้เธอขึ้นนั่งด้านหน้ารถ นายฝรั่งเห็นใจในเรื่องมีภรรยาท้องเป็นสำคัญกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์ และที่สำคัญคือชายผู้นี้ยอมละทิ้งสิ่งที่สำคัญสำหรับชายคือศักดิ์ศรี แต่สิ่งที่แลกมาก็อาจเป็นความภาคภูมิของชายใน อีกรูปแบบหนึ่ง คือการได้ปกป้องดูแลคนที่รักและอยู่ในปกครอง ความเห็นใจที่เขาเปลี่ยนแปลงตนเป็นคนละ คนนี้เอง เขาจึงได้รับผลตอบแทนเป็นรางวัลปลอบใจในรูปแบบมนุษยธรรมในเหมืองแร่
****(อาชีพเมียเขานั้นอาจเป็นโสเภณีก็เป็นได้แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนพอเป็นความคาใจต่อไป---นายเถื่อน)
ความเป็นชายที่เปลี่ยนไปเมื่อต้องตกอยู่ในสถานะพ่อและผัว
บทวิจารณ์โดย ประณต พลประสิทธิ์
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6