“ชาร์ลส์ ดิกเกนส์” นักประพันธ์ชาวอังกฤษ เขาเป็นคนทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ผลิตงานวรรณกรรมรวมทั้งงานเขียนเพื่อณรงค์ต่อต้านความชั่วร้ายในสังคมสมัยนั้นออกมาอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมาก และไม่เคยส่งเรื่องช้ากว่ากำหนดเลย ดิกคินส์เริ่มงานวรรณกรรมด้วยการเขียนลงหนังสือพิมพ์รายเดือน งานประพันธ์ต่าง ๆ ของ ดิกเกนส์ ถูกนำมาดัดแปลงเป็นทั้งละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์นับครั้งไม่ถ้วน
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ดิกเกนส์มีชีวิตที่ค่อนข้างยากลำบาก เขาเป็นลูกคนที่สองในครอบครัวที่มีพี่น้องแปดคน พ่อทำงานเป็นเสมียนฝ่ายเงินเดือนของกองทัพเรือ เขายังโชคดีอยู่บ้างที่พ่อแม่สามารถส่งเสียให้เรียนหนังสือได้ 4 ปี แต่พออายุได้ 12 ขวบ ครอบครัวของดิกเกนส์ประสบปัญหาทางการเงินทำให้พ่อต้องติดคุก เขาเองก็ต้องลาออกจากโรงเรียนมาทำงานในโรงงานยาขัดรองเท้า โดยต้องทำงานถึงวันละ 10 ชั่วโมงเพื่อแลกกับเงิน 6 ชิลลิ่งต่ออาทิตย์
ถึงแม้พ่อของเขาจะสามารถล้างหนี้ได้ในเวลาไม่นาน และดิกเกนส์ก็มีโอกาสกลับไปเรียนต่อ แต่ประสบการณ์ที่แร้นแค้นครั้งนั้น ทั้งสภาพที่พบเห็นในคุกตอนไปเยี่ยมพ่อ แรงงานเด็ก ความลำบากของชนชั้นแรงงาน และบุคคลต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ล้วนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครและฉากในนวนิยายของเขาในภายหลัง สังเกตได้ว่าผลงานประพันธ์ของดิกเกนส์มีเสน่ห์ที่เรื่องราวที่จับต้องได้ มีเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์และตีแผ่ปัญหาสังคมในสมัยนั้น ทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาคอรัปชั่น และการกดขี่ใช้แรงงานเด็ก
ในเรื่อง เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์ (David Copperfield) นับเป็นนวนิยายเล่มโปรดของเขาเองอีกด้วย โดยเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นชีวิตจริงของตัวเขาเอง เรื่องราวการต่อสู้ชีวิตและความเด็ดเดี่ยวของเด็กชายผู้กำพร้าพ่อ ทว่าอบอุ่นด้วยความรักจากแม่และสาวใช้ที่แสนจงรักภักดี ชีวิตของเขาต้องผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านทุกข์ และ (กว่าจะได้พบ) เจอความสุขในบั้นปลาย
นอกจากเนื้อหาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตัวละครที่ดิกเกนส์สร้างสรรค์ขึ้นก็มีลักษณะนิสัยที่น่าสนใจมาก เช่นหนูน้อย “โอลิเวอร์ ทวิสต์” เด็กกำพร้าแสนซื่อที่ไม่ว่าจะเผชิญกับความโหดร้ายของสังคมมากแค่ไหนก็ยังเป็นคนดีและมีคุณธรรมในจิตใจ หรือ “เอเบนีเซอร์ สกรูจ” จากเรื่อง A Christmas Carol ที่ทั้งขี้เหนียวและเกลียดคริสต์มาสเข้าไส้ ความโดดเด่นของตัวละครของดิกเกนส์นี้ชัดเจนจนกระทั่งมีการนำชื่อของตัวละครไปใช้แทนคำศัพท์ที่หมายถึงบุคคลที่มีลักษณะนิสัยต่าง ๆ เช่นคำว่า scrooge จาก “เอเบนีเซอร์ สกรูจ” หมายถึงคนตระหนี่ขี้เหนียว
จากเรื่องราวที่กล่าวมาจะเห็นว่า นวนิยายของดิกเกนส์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและมีอิทธิพลต่อแวดวงวรรณกรรมอังกฤษอย่างยิ่ง