“อาคันตุกะ” วรรณกรรมประเภทสารคดีที่เขียนโดยธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีอิสระที่มีคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ และเป็นวิทยากรพิเศษถ่ายทอดเทคนิคการเขียนสารคดีในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ลักษณะเด่นของสารคดี ผู้เขียนได้เขียนเล่าเรื่องราวถึงวิธีการประพฤติปฏิบัติตนของมนุษย์ในฐานะการเป็น “ผู้มาเยือน” ที่ดี ต่อสัตว์ผู้ซึ่งเป็น “เจ้าของถิ่น” โดยสร้างความตระหนักให้มนุษย์เห็นคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติ ด้วยการสะท้อนผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายในอดีตมาเป็นสิ่งเตือนใจให้มนุษย์เกิดความสำนึกต่อพฤติกรรมของตนเอง ที่ต่างก็คิดว่าตนเองนั้นได้แสดงความรักต่อสัตว์อยากถูกวิธีแล้ว หากแต่ในความเป็นจริงการแสดงความรักต่อสัตว์ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลากหลายประการ จนนำมาซึ่งการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ได้
จากชื่อเรื่อง “อาคันตุกะ” ผู้เขียนได้ใช้ศัพท์บัญญัติเพียง 1 คำมากำหนดเป็นชื่อเรื่อง ซึ่งคำดังกล่าว สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “อาคันตุกะ หมายถึง แขกผู้มาหา หรือแขกผู้มาเยือน” จากความหมายจะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นเพียงคำสั้น ๆ แต่ความหมายก็ครอบคลุมสาระสำคัญของสารคดีเรื่องนี้ที่ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวถึงวิธีการประพฤติปฏิบัติตนของผู้มาเยือนต่อสัตว์ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นนั่นเอง
“...โปรดระลึกว่า อุทยานแห่งชาติเป็นสถานรักษาพันธุ์ไม้และสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ที่นี่ ส่วนท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่ง คือเคารพสิทธิของอาคันตุกะอื่นๆ และเคารพระเบียบข้อบังคับของอุทยานและชีวิตสัตว์ที่อยู่ในที่นั้น ถ้าท่านปฏิบัติตนได้ดังนี้ ท่านจะได้รับความชื่นบาน และจะจากอุทยานฯไปด้วยความรู้ประจักษ์ว่า เขาใหญ่นี้เป็นสถานที่ดีวิเศษเสียนี่กระไร...”
เอส. อีเลียต แมคคลัวร์
ผู้เขียนกล่าวเปิดเรื่องด้วยการยกคำพูดของบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง เอส. อีเลียต แมคคลัวร์ ที่กล่าวถึงแนวทางในปฏิบัติตนของมนุษย์เมื่อเข้าไปเยือนยังอุทยานแห่งชาติ อันช่วยเร้าความสนใจให้ผู้อ่านอยากทราบว่าเหตุใดผู้เขียนจึงต้องหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาถ่ายทอด มีเหตุการณ์ใดหรือไม่ที่ทำให้ต้องมีการกล่าวถึงการปฏิบัติตนตามข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้อ่านต้องการที่จะอ่านตัวเรื่องเพื่อค้นหาความจริงต่อไป
ผู้เขียนได้ดำเนินเรื่องด้วยการบรรยายถึงภาพบรรยากาศของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อันเต็มไปด้วยเหล่าสรรพสัตว์และพันธุ์ไม้นานาชนิด จุดเด่นที่น่าสนใจในการเล่าเรื่องคือ ผู้เขียนใช้สรรพนามเรียกสัตว์ชนิดต่าง ๆ ว่า “เจ้าบ้าน” อีกทั้งยังบรรยายถึงอากัปกิริยาที่สัตว์ได้แสดงออกมาดั่งกิริยาของมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นอาคันตุกะ และสัตว์ต่าง ๆ บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นี้ ไม่ใช่แค่สัตว์ธรรมดาทั่วไป หากแต่คือเจ้าถิ่นผู้ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่อย่างแท้จริง ดังตัวอย่าง
“...แมงมุมป่าตัวน้อยที่พักพิงอยู่ริม (อดีต) สนามกอล์ฟเขาใหญ่ เป็นเจ้าบ้านรายแรกที่ให้การต้อนรับข้าพเจ้า เธออวดโชว์ผลงานสานใยไว้ดักเหยื่อ ที่ยามเมื่อมีน้ำค้างเกาะแล้วกระทบแสงแดดอุ่นยามเช้า”
“…กวางสองแม่ลูกมาชะเง้อดูข้าพเจ้าในระยะใกล้พอที่จะใช้เลนส์ 200 มิล จับภาพไว้ได้หล่อนมิได้มีทีท่าตกอกตกใจอะไรนัก หลังจากชั่งใจแล้วว่าอาคันตุกะไม่ได้มาร้าย ก็ออกเดินนวยนาดแสดงตัวเป็น ‘เจ้าบ้าน’ เต็มที่...”
เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ผู้เขียนจึงได้สร้างความตระหนักให้มนุษย์เห็นคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติด้วยการสะท้อนผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายในอดีตมาเป็นสิ่งเตือนใจให้มนุษย์เกิดความสำนึกต่อพฤติกรรมของตนเอง ที่ต่างก็คิดว่าตนเองนั้นได้แสดงความรักต่อสัตว์อยากถูกวิธีแล้ว หากแต่ในความเป็นจริงการแสดงความรักต่อสัตว์ด้วยวิธีการเหล่านั้นก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลากหลายประการ จนนำมาซึ่งการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่
“การแสดงความรักด้วยการให้อาหารแบบผิดวิธี” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้เขียนได้นำประสบการณ์ของตนเองมาเขียนถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงพฤติกรรมการแสดงออกทางความรักของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ ดังตัวอย่าง
“...ข้าพเจ้าเป็นคนหนึ่งที่เคยยื่นกล้วย ส้ม ขนมต่างๆ เพื่อจะได้ดูและถ่ายภาพธรรมชาติของลิงกังได้ถนัดถนี่ และมักเห็นนักท่องเที่ยวทั่วไปทำเช่นนี้ ที่เห็นบ่อยๆ คืออาการกล้าๆ กลัวๆ ของผู้หญิงและเด็กๆในยามหยิบยื่นอาหารให้ลิง พอลิงมารับแล้วก็รีบหดมือ พร้อมกับทิ้งถุงกระดาษหรือพลาสติกห่ออาหารไปเลย บางคนก็โยนอาหารให้ลิงทั้งถุงดื้อๆ...”
“… ความเคยชินเช่นนี้ ทำให้ลิงกังมีอัตราเสี่ยงที่จะถูกรถชนสูงมาก เพราะพวกเขามักจะกรูกันออกมาริมถนนเมื่อได้ยินเสียงรถโดยไม่ทันรู้ว่าเป็นมิตรหรือศัตรู ที่สำคัญ คือลิงบางตัวกินไม่เลือก แม้กระทั่งกระดาษหรือถุงพลาสติก บ่อยครั้งเข้าก็เกิดอาการกระเพาะอาหารอุดตันตายไปในที่สุด…”
นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้นำเรื่องราวของกระทิงป่ามีนามว่า “จุ๋มจิ๋ม” มาเป็นบทเรียนที่สะท้อนถึงการรักสัตว์อยากผิดวิธี จุ๋มจิ๋มเป็นกระทิงที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และนักท่องเที่ยวรักใคร่และเอ็นดู เพราะจุ๋มจิ๋มแสนรู้คุ้นกับคนและมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น หากแต่ความรักใคร่และเอ็นดูของนักท่องเที่ยวนี้กลับทำให้จุ๋มจิ๋มเสียชีวิตลง เพราะการให้อาหารแบบผิด ๆ จนทำให้กระเพาะอาหารอุดตัน ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองและร่างกาย จึงทำให้จุ๋มจิ๋มเสียชีวิตลงในที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการแสดงความรักต่อสัตว์ด้วยวิธีการดังกล่าวเป็นการกระทำที่มนุษย์ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
"อาคันตุกะ"...ผู้มาเยือนหรือผู้มาทำลาย
บทวิจารณ์โดย ภาณุมาศ บุญละคร
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6