ชวนมองธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมในงาน “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก”
ทันทีที่ได้อ่านงานเขียนเชิงสารคดีเรื่อง “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” ของคุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
รู้สึกถูกใจและแปลกใจกับชื่อเรื่องเป็นอย่างมาก เนื่องจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำนิยามคำว่า “ล่า” ไว้ว่า “การเที่ยวติดตามหาเพื่อจับ ฆ่า หรือเพื่อการกีฬาเป็นต้น” โดยทั่วไปเมื่อพบเห็นหรือได้ยินคำว่าล่า ผู้คนส่วนมากมักจะนึกถึงเป็นความหมายทางลบเสียมาก แต่ในผลงานชิ้นนี้ผู้เขียนได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์โดยเล่นกับความหมายของคำว่าล่า ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงการเอาชีวิตแต่กลับเป็นการตามหาเพื่อเก็บภาพและความทรงจำเกี่ยวกับวาฬบรูด้าไว้ตามที่ได้กล่าวไว้ว่า “อาวุธของเราจึงไม่ใช่ฉมวกหรือปืน แต่เป็นกล้องถ่ายรูปที่จะเก็บเพียงรูปเงาของเธอมาไว้บนแผ่นฟิล์ม” นอกจากนี้ชื่อของงานยังเก็บใจความสำคัญของเรื่องไว้ครบถ้วนว่าผู้เขียนได้ออก “ล่า” วาฬบรูด้าที่บ่อนอก
การเปิดเรื่องเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากขึ้นด้วยเรื่องราวของผู้เขียนที่มีทั้งความกังวลใจและความสงสัยจนต้องเอ่ยถามว่า “แล้วเราจะเจอมันไหม” ทำให้ผู้อ่านสงสัยและร่วมลุ้นไปกับผู้เล่าเรื่อง แต่แล้วความกังวลใจดังกล่าวก็ถูกตอกย้ำเมื่อผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เองก็ยังตอบกลับมาว่า “ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเราไม่ได้เลี้ยงมันไว้” ประโยคนี้ค่อนข้างมีนัยยะสำคัญต่อแก่นสารและรวมไปถึงจุดปิดเรื่อง เนื่องจากเหตุผลหลายประการดังนี้ ประการแรกเมื่อผู้อ่านได้อ่านไปจนถึงตอนจบของเรื่องก็จะพบคำกล่าวเช่นเดียวกันนี้ โดยการซ้ำของผู้เขียนทั้งตอนเปิดและปิดเรื่องนั้นได้แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของงานเขียนที่ถูกวางทั้งโครง จุดเน้นและแก่นมาอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการกล่าวบอกผู้อ่านอย่างเป็นนัย ๆ แล้วว่าพวกเขาจะไม่พบเจอวาฬบรูด้าอย่างที่หวังและยังมุ่งเน้นย้ำความสำคัญของแก่นสารของเรื่องซึ่งก็คือ “พลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ”
ทันทีที่เรื่องจบลง คำกล่าว “เราก็ไม่ได้เลี้ยงมันไว้” เป็นประโยคที่ยังคงก้องกังวานอยู่ในหัวอย่างไม่อาจสลัดให้หลุดออกไปได้ ประโยคนี้ทำให้ฉันในฐานะผู้อ่านได้ลองกลับมาคิดถึงความเป็นจริงในชีวิต ถึง “ธรรมชาติ” ทั้งทางด้านปรัชญาและทางด้านกายภาพอย่างสิ่งแวดล้อม ประการแรกคือการสะท้อนถึงสัจธรรมในชีวิตในเรื่องของกฎธรรมชาติที่คอยควบคุมจักรวาลนี้ ประการถัดมาคือทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยอาจมีนัยยะว่าธรรมชาตินั้นมีพลังในตนเอง มนุษย์ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง จึงพยายามที่จะควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินั้น แท้จริงแล้วก็ไม่อาจควบคุมธรรมชาติได้ ซึ่งเมื่อมองในมุมมองของสิ่งแวดล้อมเอง แก่นสารของสารคดีเรื่องนี้เองค่อนข้างที่จะตรงต่อความสนใจของคนในกระแสหลักของสังคม ถึงแม้เรื่องนี้จะเขียนในปี พ.ศ. 2545 เองก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากแม้แต่ในปี พ.ศ. 2562 เอง เทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็ไม่อาจกำจัดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีให้หมดไปได้ สิ่งที่นักคิดนักเขียนที่ไม่ประสาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีพอที่จะทำเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเองจะทำได้ ก็คือการที่ทำให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญและเคารพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านทางงานเขียนอย่างเช่นสารคดี “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” ที่กระตุ้นให้คนที่อ่านงานเกิดความคิดและความรู้สึกที่จะเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อมองเจาะลึกไปยังการใช้ภาษาของผู้เขียนก็จะพบรายละเอียดต่าง ๆ สอดแทรกไว้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สรรพนาม “เธอ” แทนวาฬบรูด้าโดยเสี่ยงที่จะใช้คำว่า “มัน” ซึ่งเป็นการใช้คำเชิงยกย่องธรรมชาติให้เท่าเทียมกับเรา รวมไปถึงการแทรกอารมณ์ขบขันของผู้เขียนเพื่อทำให้สารคดีน่าติดตามมากยิ่งขึ้น อย่างตอนที่ผู้เขียนไม่มีวี่แววที่จะได้พบกับบรูด้าในฝันเสียที เขาจึงจะไปเป็นเหยื่อล่อบรูด้าเสียให้รู้แล้วรู้รอด และยิ่งไปกว่านั้นยังมีการใช้ภาพพจน์เพื่อบรรยายความรู้สึกของผู้เขียนอยู่เป็นระยะเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น เช่น “ผิวทะเลสงบเหมือนน้ำในทะเลสาบ แต่ในใจผมว้าวุ่นดังท้องทะเล” ที่แสดงสองภาพที่แตกต่างออกมาให้ภาพความรู้สึกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการใช้ภาพพจน์เพื่อบรรยายความรู้สึกอยู่เป็นระยะแต่ฉันกลับไม่ค่อยมีความรู้สึกร่วมไปกับงานขณะอ่าน สำหรับฉัน ผู้เขียนควรใช้จุดเด่นที่ใช้ตัวเองเป็นคนเล่าเรื่องและดำเนินเรื่องได้ดีกว่านี้ เช่น เมื่อผู้เขียนกล่าวเท้าความถึงเหตุผลในการมาดูวาฬในครั้งนี้ เขากลับกล่าวเพียงว่าวาฬชนิดนี้หาดูยากและมีข่าวว่ามาปรากฏตัวที่บ่อนอกแต่ไม่ได้กล่าวหรืออธิบายเหตุผลส่วนตัวว่าเหตุใดเขาต้องมาในครั้งนี้เป็นพิเศษ
ยิ่งไปกว่านี้สิ่งสำคัญและขาดไม่ได้เลยสำหรับงานเขียนเชิงสารคดีก็คือ “สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นจริง” ซึ่งในส่วนของการให้ข้อมูลของผู้เขียนนี้ก็เรียกได้ว่าเน้นไปด้วยข้อมูลโดยสิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับผู้เขียนเลยก็คือการที่ได้ลงพื้นที่จริงมีประสบการณ์ตรง และได้พูดคุยกับคนในพื้นที่จึงทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตามการให้ข้อมูลของผู้เขียนกลับมีข้อบกพร่องบางประการ ประการแรกผู้เขียนกล่าวถึงบ่อนอกอยู่นับครั้งไม่ถ้วน แต่กลับไม่ได้อธิบายละเอียดถึงว่าบ่อนอกนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดใดของไทย จนผู้อ่านอย่างฉันสงสัยจนต้องแอบไปค้นว่าบ่อนอกนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้เอง ทั้งนี้เพราะบ่อนอกไม่ได้มีชื่อเสียงมากจึงทำให้น้อยคนนักที่จะรู้จัก ประการต่อมาคือการที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวอ้างอิงถึงที่มาของข้อมูล การอ้างอิงนั้นสำคัญมากเพื่อให้ผู้อ่านตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล
กล่าวโดยสรุปงานเขียนเชิงสารคดีเรื่อง “ล่าบรูด้าที่บ่อนอก” ของคุณวีระศักดิ์จันทร์ส่งแสง อาจจะเป็นงานที่ขาดกลวิธีในการให้ข้อมูลรวมไปถึงความครบถ้วนของข้อมูลบ้าง แต่ก็เป็นผลงานที่สามารถทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ในการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจและให้ความสำคัญต่อธรรมชาติมากขึ้น
ชวนมองธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมในงาน ล่าบรูด้าที่บ่อนอก
บทวิจารณ์ "ล่าบรูด้าที่บ่อนอก"
โดย ปภินพิทย์ เด่นชาญชัย
โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5