“จนกว่าชีวิตจะนิทรา” ผลงานกลอนสุภาพของคุณปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ มีจุดเด่นในการสร้างสรรค์คำที่สละสลวยมาร้อยเรียงเป็นบทกลอนที่ไพเราะและสอดแทรกข้อคิดให้แก่ผู้อ่าน เนื้อหาของกลอนบทนี้กวีมีจุดประสงค์ที่จะสอนให้ผู้อ่านเข้าใจชีวิตในโลกความเป็นจริง วัยเด็กเราทุกคนย่อมได้รับการดูแลเอาใจใส่ ได้รับความรักจากพ่อแม่และคนรอบข้าง แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นชีวิตในวัยเด็กได้จบลง เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชีวิตผ่านเรื่องราวมากมาย และได้รู้ว่าชีวิตในวัยเด็กกับตอนเติบใหญ่นั้นแตกต่างกัน การใช้ชีวิตในโลกของความจริงไม่ได้สวยงามและสร้างรอยยิ้มได้ตลอดเหมือนในวัยเด็ก บทกลอนเรื่องนี้จึงมุ่งสอนให้เห็นสัจธรรมของชีวิต ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา มีสุขย่อมมีทุกข์ มีเกิดย่อมมีดับ มิจีรังยั่งยืน และมุ่งสอนให้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง แม้จะอ่อนล้าเหน็ดเหนื่อยจนแทบจะสิ้นเรี่ยวแรง แต่ “เจ้าจงเอาความหวังเป็นหลังพิง” ความหวังที่จะสร้างเรื่องราวที่ดีให้เกิดขึ้น เมื่อหายอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย จงหยัดยืนและใช้ชีวิตด้วยความหวังที่มีในหัวใจ
กวีได้สร้างแง่คิดให้ผู้อ่านผ่านบทกลอนที่ทำให้เห็นความจริงของชีวิต ว่าชีวิตของคนเราหากจะเปรียบก็เป็นดั่งผ้าผืนหนึ่ง เมื่อแรกเกิดก็เป็นผ้าผืนใหม่ ดังที่กวีได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ผ้าผวยผืนใหม่ห่มให้เจ้า”
ทำให้เห็นว่าการมีชีวิตใหม่ย่อมได้รับสิ่งใหม่ที่สร้างรอยยิ้มและความสุขได้เสมอ แต่เมื่อเวลาล่วงผ่านไป
“ผ้าผวยผืนบางก็ด่างเปื้อน”
ผ้าที่เคยสวยงามกลับมีรอยด่างเปื้อนบนผืนผ้า รอยด่างนี้ไม่ใช่รอยด่างขาวหรือรอยโคลน แต่เป็นรอยแห่งความเจ็บปวด ความทุกข์ที่สร้างรอยเปื้อนไว้ในความรู้สึกของเรา จนเป็นรอยแผลในจิตใจจนอาจทำให้เรา
“ลั่นกุญแจคุมขังความหวังใด”
ปิดกั้นตนเองจากความหวัง ความสุขที่จะเกิดในวันข้างหน้า การใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังรังแต่จะสร้างความอ่อนแอในจิตใจของเราไม่ส่งผลดีใด ๆ เลย กวีจึงสอดแทรกข้อคิดให้ผู้อ่านเห็นสัจธรรมที่เป็นความจริงของชีวิต ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงตามเวลา แต่จิตใจเราควรหนักแน่นด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยมในหัวใจ
เสน่ห์ของกลอนบทนี้นอกจากข้อคิดที่สอดแทรกอยู่ในบทกลอนแล้ว ยังมีความงดงามอลังการ อุดมไปด้วยภาษาที่สร้างให้เกิดจินตภาพแก่ผู้อ่านได้อย่างลึกซึ้ง กลมกลืน ดังเช่น
“เจ้าจงยืมหัวใจทารก
มาเต้นในหัวอกที่หมกไหม้”
อกที่ไหม้จะยังมีสิ่งใดมา ‘เต้น’ อยู่ได้ จึงสามารถตีความได้ว่ากวีต้องการสร้างความหวังให้ผู้อ่านเพื่อสอดแทรกข้อคิดว่า แม้ชีวิตจะทุกข์โศกจนอกไหม้เพียงใด แต่ยังมีหัวใจที่เต้นอยู่ข้างในเสมอ เพียงแค่เราต้องมีความหวังสร้างกำลังใจให้กับตนเอง ให้ชีวิตได้ก้าวเดินต่อไปในวันข้างหน้า
“ชอบอาจหลับใหลอยู่ในชัง”
คำว่า ‘ชอบ’ กับ ‘ชัง’ มีความหมายที่ตรงข้ามกัน แต่กวีสามารถนำสองคำนี้มาประดิษฐ์ร้อยเรียงไว้ด้วยกัน จนบทกวีมีความไพเราะและสอดแทรกอันลึกซึ้งไว้อีกด้วย ความชอบของคนเรามักสร้างความสุขให้กับตัวเราเสมอ และความชังก็มักเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงอีกเช่นกัน การที่เราลองทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ เราอาจค้นพบตัวตนที่แท้จริงของเราจากสิ่งนั้นก็เป็นได้ เพราะตัวตนของเราอาจจะยังหลับใหลอยู่ในสิ่งที่เราคิดว่าชัง การลองทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความชอบ ก็เป็นการปลุกตัวตนของเราให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น
เสน่ห์ของภาษาในบทกลอนนี้อีกข้อหนึ่ง คือการใช้ธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ เพื่อสร้างจินตภาพ
“ดูดอกบัวสีหวานเพิ่งออกฝัก”
กับ
“อาจพบบัวดอกด่างและร้างสี”
ดอกบัวสีหวานและดอกบัวที่แตกต่างและร้างสีสัน เป็นการสื่อความหมายให้ผู้อ่านเห็นว่า เราเติบโตขึ้นได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้สร้างประสบการณ์ ความรู้ ความคิดมากขึ้น อาจทำให้เราพบเห็นหรือมีความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม จากเมื่อเรายังเป็นเด็ก บัวที่เคยสวยหวานก็มีดอกเหี่ยวเฉาไร้สีสัน เมฆที่สดใสก็ทึมเทาดั่งมีความทุกข์ และดอกไม้บางดอกก็ไม่ได้มีเกสรให้ผีเสื้อเสมอไป ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินี้ ทำให้เราตระหนักได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เราต้องยอมรับและปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ชีวิตติดอยู่ในอดีตที่อาจสร้างรอยแผลในจิตใจของเรา
“จนกว่าชีวิตจะนิทรา” แก่นสารของกลอนบทนี้ คือการมีชีวิตด้วยหัวใจที่มีความหวัง ความทุกข์โศก ความสุข เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ และชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไปในทุกวัน
“เจ้าจงเอาความหวังเป็นหลังพิง”
ความรู้สึกของเราที่ต้องพบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมายในแต่ละวัน หากวันใดท้อ จงพักพิง ให้จิตใจหายเหนื่อยด้วยความหวังว่าวันข้างหน้าชีวิตจะดีขึ้น วันใดสุขเกษมเปรมอุรา ก็จงพักพิงเก็บความสุขไว้ให้ชื่นฉ่ำเต็มหัวใจ เพื่อเติมพลังให้ชีวิตมีวันที่ดีเช่นนี้ไปในทุกวัน หัวใจที่ถูกเติมเต็มด้วยความหวัง จะเป็นพลังให้ชีวิตสร้างความสุข ลบความทุกข์ ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความสุข “จนกว่าชีวิตจะนิทรา”
เจ้าจงเอาความหวังเป็นหลังพิง ให้ชีวิตได้พักพิงจนนิทรา
บทวิจารณ์บทกวี "จนกว่าชีวิตจะนิทรา"
โดยเสาวลักษณ์ บุญหลัง
โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5