เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้อุทิศชีวิตแก่งานจิตอาสา
เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว หญิงสาวชื่อว่า “เตือนใจ” เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อนาคตของเธอคงจะไปได้ไกล และคงจะมีอาชีพการงานในเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ แต่เธอกลับเลือกที่จะไปทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ที่ชุมชนชาวไทยภูเขาในชนบทห่างไกลและทุรกันดารบริเวณลุ่มน้ำแม่จัน ทางตอนเหนือของประเทศไทย ใกล้ชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า
ชีวิตในวัยเด็ก
คุณเตือนใจเล่าให้ฟังว่า ในช่วงวัยเด็กเติบโตในย่านตลาดพูล คุณยายได้พาไปบวชชีพราหมณ์ ทำสมาธิ เข้าถึงธรรมะได้ง่าย ตั้งแต่เด็ก และเห็นการใช้ชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย มีทั้งอาชีพที่มีที่เบียดเบียนชีวิตคนอื่น คนที่หาเช้ากินค่ำ คนที่ลำบาก และเห็นที่โรงเจคนที่มีกำลังทรัพย์ มาบริจาคทานในทุกๆปี ทำให้มีความมั่นคงในจิตใจ ว่าเติบโตขึ้นต้องเป็นผู้ที่ให้และเป็นผู้ที่เรียนรู้ ให้โดยที่คิดว่าเราไม่ได้เป็นผู้ให้ แต่การให้คือความสุขที่เป็นผู้ให้
เหตุใดจึงมีใจรักในงานจิตอาสา
จากที่เคยศึกษาเรื่องพระพุทธเจ้า ที่เคยเกิด 10 ชาติ ก่อนที่จะตรัสรู้เป้นพระพุทธเจ้า ในเรื่องทานบารมี คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำ เป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระพุทธเจ้าเคยได้ทำกับมวลมนุษย์ ในสังคมปัจจุบัน เป็นยุคของบริโภคนิยม และ วัตถุนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีคนที่มีจิตใจที่เป็นจิตอาสา จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง คนมีกับคนไม่มี คนด้อยโอกาส กับคนที่มีโอกาส บวกกับตนเองที่เกิดในยุคที่ มีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นแบบอย่างในการทำประโยชน์แก่ประชาชน และตนเองเป็นเด็กกิจกรรมตั้งชั้นมัธยมปลาย พอเข้าช่วงมหาวิทยาลัยเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสไปออกค่ายอาสา และเกิดความคิดที่ว่าการทำประโยชน์ให้ชนบทที่ห่างไกลเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เมื่อขึ้นปี 2 จึงเลือกเรียนด้านสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา เพราะเป็นวิชาที่ทำให้เคารพในความเป็นเพื่อนมนุษย์ เคารพในความหลากหลายในความคิดและวัฒนธรรม และจะไม่ตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือไม่ถูก ดีหรือไม่ดี รับฟังด้วยความเข้าใจ
ชีวิตการทำงาน
จากการทำงานในฐานะบัณฑิตอาสานี่เอง ทำให้คุณเตือนใจเกิดความประทับใจและกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งหลังจากสำเร็จการศึกษา การทำงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ในฐานะครูสอนหนังสือ นอกจากสอนให้แก่ผู้ใหญ่ในช่วงกลางคืนแล้ว คุณเตือนใจยังสอนให้กับเด็กเล็กในเวลากลางวันอีกด้วย คนในหมู่บ้านเรียกเธอว่า “ครูแดง” ไม่เพียงหน้าที่การงานเท่านั้น คุณเตือนใจยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวเขาอย่างกลมกลืน สร้างครอบครัวกับสามีผู้ร่วมอุดมการณ์และสร้างหลักปักฐานอยู่ที่นั่น
ต่อมา คุณเตือนใจได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวเขา เพิ่มทักษะอาชีพด้านเกษตรกรรมแลปศุสัตว์ ให้ชาวชุมชนมีโอกาสทำอาชีพเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้มีธนาคารสำหรับยืมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควาย เพื่อใช้สำหรับเป็นแรงงานภาคเกษตร ติดต่อกรมประมง ให้เข้ามาแนะนำความรู้วิธีเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา และในที่สุด ก็ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งมูลนิธิชุมชนและเขตภูเขา เพื่อเป็นหน่วยประสานงานระหว่างชาวเขากับภาครัฐ คุณเตือนใจทำงานในหน้าที่นี้อยู่นานถึง 10 กว่าปี เรื่องราวของเธอชี้ให้เห็นว่าคุณเตือนใจมีความเข้าใจต่อวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชนกลุ่มน้อยเพียงไร เราจะเห็นได้ว่าเธอมิได้พยายามยัดเยียดทัศนคติคนเมืองให้แก่พวกเขาเลย ตรงกันข้ามยังมีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของพวกเขาอีกด้วย
ปัจจุบัน คุณเตือนใจได้ชื่อว่าเป็นสตรีนักสู้เพื่อสิทธิของชนกลุ่มน้อยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และยังเคยได้รับรางวัล 1 ใน 25 นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่นของโลก โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment Program: UNEP) และเคยดำรงดำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผลักดันเพื่อเรียกร้องให้ชาวไทยภูเขาได้รับสัญชาติและสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วย
เรื่องราวชีวิตของคุณเตือนใจ ดีเทศน์ ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือ “แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน”
สั่งซื้อหนังสือได้ที่ http://bookonline.praphansarn.com