คุณปองพล : สวัสดีครับบรรดาญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนๆ ที่รักทุกท่าน ผมต้องขอขอบคุณทุกท่านอย่างยิ่งที่ได้สละเวลามางานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของผม หนังสือเล่มใหม่นี้ชื่อว่า"ทหารชื่อผิน จากพลทหารสู่จอมพล" ซึ่งเป็นชีวิตจริงของท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นคุณตาของผม เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นการรวมญาติเชื้อสายชุณหะวัณและเชื้อสายซอยราชครูมารวมกันอยู่ที่นี่ อยากจะเล่าถึงแรงบันดาลใจว่าทำไมผมจึงได้เขียนหนังสือเรื่องนี้ สืบเนื่องจากว่าในงานพระราชทานเพลิงศพท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้มีการนำบันทึกชีวิตและเหตุการณ์ของท่านมาจัดพิมพ์ ในขณะนั้นเราก็ได้อ่านกัน แต่พอมาตอนหลังเหมือนมีอะไรมาดลใจให้ผมหยิบบันทึกนั้นขึ้นมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการอ่านในครั้งนี้ผมอ่านตั้งแต่ต้นจนจบเลยเพราะวางไม่ลง เนื่องจากว่าคุณตาท่านก็เป็นนักเขียนเหมือนกัน ท่านได้เขียนบันทึกของท่านไว้ 120 หน้า ตอนที่ท่านเขียนบันทึกนั้นท่านมีอายุ 80 ปี ท่านได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่เยาว์วัย และทำไมท่านถึงเป็นทหารและจนกระทั่งท่านได้เป็นจอมพล ท่านจอมพลผินท่านได้สร้างประวัติศาสตร์ทางกองทัพไทยไว้คือท่านเป็นทหารคนเดียวที่ไต่เต้าจากพลทหารจนขึ้นมาเป็นถึงจอมพล
พออ่านบันทึกจบแล้วผมจึงได้ตัดสินใจว่าผมจะต้องมาเขียนหนังสือเรื่องนี้ในสไตล์นิยายไม่ใช่เป็นแบบบันทึกดังที่ท่านจอมพลผินได้เขียนไว้ เพราะว่าชีวิตท่านมีองค์ประกอบของความเป็นนวนิยายอย่างครบถ้วนมีทั้งสมหวัง ผิดหวัง ผจญภัย ตื่นเต้น ลึกลับและต่างๆ อีกมากมาย ทั้งชีวิตท่านจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาเขียนเป็นนิยาย ผมก็เลยมาเขียนเป็นสไตล์นิยาย ให้ชื่อว่าทหารชื่อผิน เพราะว่าท่านเป็นทหารจริงๆ ตั้งแต่ท่านอยู่ในวัยเด็ก เพราะปกติเราทุกคนนี้จะต้องเกณฑ์ทหารตอนอายุ 18 แต่ท่านจอมพลผินท่านไม่รอให้ถึงเกณฑ์ พออายุ 16 ท่านไปสมัครเป็นพลทหาร พอเป็นพลทหารได้ปีหนึ่งท่านก็ไปสอบเข้าโรงเรียนนายสิบ เป็นนายสิบตรีอยู่ 2 ปี เขามีสอบไปเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยทหารบกท่านก็ไปสอบและก็สอบได้ด้วย ก็เลยไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และบังเอิญได้ไปเรียนรุ่นเดียวกันกับจอมพลป. พิบูลสงคราม นักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นนั้นมีจอมพลป. อายุน้อยที่สุดอายุ 14 ปี และท่านจอมพลผินเป็นนักเรียนนายร้อยที่อายุมากที่สุดในรุ่นคือ 20 เพราะว่าต้องไปเป็นนายสิบอยู่ 2 ปี แต่ต้องมาเรียนอยู่รุ่นเดียวกันทั้งๆ ที่อายุห่างกัน 6 ปี
ผมจะเล่าสรุปเรื่องราวชีวิตของท่านจอมพลผินให้ฟังว่า ชีวิตท่านมีทั้งสุขทั้งทุกข์ สมหวังผิดหวัง ซึ่งตัวผมเองก็เพิ่งรู้ว่าครั้งหนึ่งคุณตาก็เคยเป็นนักพนันตัวยง ในหนังสือเล่มนี้ระบุไว้ว่าท่านไปติดบิลเลียดเป็นร้อยเอก ตอนนั้นมีลูกแล้ว 5 คน ไปอยู่ที่ราชบุรี ก็ไปเล่นบิลเลียดในสโมสร ติดพนันมากจนกระทั่งเป็นหนี้เพื่อนๆ ทำให้คุณยายคือภรรยาจอมพลผินต้องไปทำปิ่นโตขาย ซึ่งตรากตรำมาก ไปจ่ายตลาดก็เป็นลมในตลาด จนชาวตลาดต้องพามาส่ง นั่นแหละครับที่เป็นจุดให้คุณตาได้คิด และเลิกเล่นการพนัน เพราะในสมัยก่อนถ้านายทหารเป็นหนี้สินล้นพ้นก็จะถูกปลดออกจากราชการ ท่านก็บอกว่า แหม นับเป็นบุญที่ท่านรู้สึกตัวได้ และท่านก็รับราชการเรื่อยมา และตัวท่านก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเหมือนกัน ซึ่งในตอนนั้นท่านได้ไปเป็นเสนาธิการทหารของผู้บัญชาการกองพลที่ 2 ที่ปราจีนบุรี แล้วก็ปรากฏว่าผู้บัญชาการกองพลท่านก็เป็นห่วงเหตุการณ์บ้านเมือง เพราะว่าหม่อมท่านเป็นชาวรัสเซีย เนื่องจากในสมัยที่ปฏิวัติรัสเซีย ครอบครัวของหม่อมท่านถูกคอมมิวนิสต์ฆ่าตาย ท่านก็เป็นห่วง เลยส่งท่านจอมพลผินเข้ามาสืบราชการในกรุงเทพฯโดยนั่งรถโยกมา ก็ไปสืบและรายงานว่าทุกอย่างเรียบร้อยไม่มีการทำร้ายกันใดๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองของท่าน
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปีเดียวก็เกิดคดีกบฏบวรเดช ยกทัพมาจากอีสาน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือคุณพหลก็แต่งตั้งจอมพลป. เป็นผู้บังคับการกองผสมขึ้นปราบกบฏ ซึ่งพวกกบฏได้ยกเข้ามาถึงดอนเมือง ถึงบางซื่อ ฝ่ายรัฐบาลก็กลัวเพลี่ยงพล้ำเลยจัดกำลังไปรบ แต่ปรากฏว่าขบวนรถที่ไป หน่วยแรกคือหน่วยระวังหน้า หลวงอำนวยสงครามผู้เป็นหัวหน้าหน่วยถูกฝ่ายกบฏยิงเสียชีวิต ก็ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสียขวัญ ตอนนั้นเขานำพวกนายทหารที่ถูกสงสัยว่าฝักใฝ่ราชวงศ์ให้มาเรียนโรงเรียนนายทหารผู้ใหญ่ มีประมาณห้าสิบกว่าคน ซึ่งจอมพลผินก็เป็นหนึ่งในห้าสิบกว่าคนนี้ด้วย ท่านจอมพลป.
จึงเสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่าให้นำนายทหารทั้งห้าสิบกว่าคนนี้อออกมารบ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงเห็นชอบตามนั้น จอมพลป. ได้เสนอแผนที่จะหากองกำลังระวังหน้าเดินเท้าไปยึดที่ว่าการอำเภอหลักสี่ ซึ่งจอมพลผินก็รับอาสานำกำลังไปยึด และท่านก็ทำได้สำเร็จ หลังจากนั้นจอมพลป. ก็บอกว่าได้ข่าวว่าทหารเพชรบุรียกทัพขึ้นมารบ จึงหาคนรับอาสาไปจัดการเรื่องนี้ จอมพลผินก็รับอาสาทำเรื่องนี้อีก จนกระทั่งเหตุการณ์สงบลง ท่านก็ได้เป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 3 ที่โคราช นั่นเป็นชีวิตที่เริ่มต้น แล้วท่านก็อยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน
นอกจากเรื่องรบแล้ว ผมยังได้นำเอาเกร็ดชีวิตครอบครัวของท่านจอมพลผินมาใส่ไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย เพราะว่าผมก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตครอบครัวนี้ด้วย ผมได้รวบรวมเอาเกร็ดชีวิตของบุตร ของจอมพลผินมารวมเอาไว้ด้วย ซึ่งท่านมีลูกสาวสี่คน ลูกชายคนหนึ่ง คือพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ผมก็มีเกร็ดชีวิตของทุกคนตั้งแต่แต่งงาน จากเขยคนโตคือพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ วันนี้ก็มีพี่แต๋ว คุณผ่องลักษณ์ก็มาร่วมงานด้วย ถ้าท่านอยากทราบว่าเกร็ดชีวิตของแต่ละคู่เป็นอย่างไรก็สามารถอ่านจากหนังสือเล่มนี้ได้นะครับ คู่ต่อมาก็คือคู่ของคุณพ่อคุณแม่ของพี่มลและคุณ
กร คือลุงอรุณและป้าพร้อม ทัพพะรังสี สำหรับคู่นี้ผมว่าเป็นฉากที่น่ารัก เพราะว่าเป็นการคลุมถุงชน เนื่องจากคุณตาเห็นว่า มีเขยคนโตเป็นทหารแล้ว เขยคนที่สองน่าจะเป็นพลเรือน จนกระทั่งทราบมาว่าคุณอรุณ ทัพพะรังสี เป็นคลังจังหวัดสตูล และครอบครัวทั้งสองก็รู้จักกัน ก็เลยตัดสินใจหมั้นหมายกัน ส่วนป้าพร้อมเองก็ไม่เคยรู้จักเลย แล้วพอมาได้เห็นรูปเจ้าบ่าวในอนาคตก็ปรากฏว่าคุณอรุณหวีผมแสกกลาง ซึ่งป้าพร้อมก็เป็นคนที่เกลียดผู้ชายหวีผมแสกกลางมาก แต่พอในวันแต่งงานป้าพร้อมก็หวีผมแสกกลางเอาใจสามี ป้าใหญ่คือคุณหญิงอุดมลักษณ์เลยแซวว่า ทำไมป้าพร้อมถึงหวีผมแสกกลาง ป้าพร้อมเลยตอบว่าไหนๆ ก็คลุมถุงชนแล้วก็ต้องทำให้สมกับเจ้าบ่าวหน่อย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคู่ มาถึงคู่ที่สามไปอ่านเองก็แล้วกัน เพราะเกี่ยวกับกำเนิดของผม ผมไม่อยากพูด ท่านไปดูรูปได้นะครับ ผมว่ารูปที่สามเด็ดกว่าคู่อื่น เพราะเจ้าบ่าวเจ้าสาวใส่มงกุฎรับน้ำสังข์ด้วย คู่ที่สี่น้าชาติกับน้าเรือน นี่คุณวาณี(ต๋อย) ก็มาด้วย คู่ที่ห้าน้าแจ๋วกับน้าเหลิม วันนี้ติ๋วกับติ๊ดก็มากันครบ คู่ที่ห้านี้ก็มีเกร็ดที่น่าสนใจเหมือนกันนะครับว่าในขณะนั้นเป็นช่วงระหว่างสงครามด้วย คุณตาก็ไปซื้อบ้านอยู่ที่เทเวศร์ซอย 1 แล้วก็สร้างสนามแบดด้วย ปรากฏว่าหนุ่มๆมาตีแบดที่บ้านเทเวศร์กันมาก น้าแจ๋วซึ่งเป็นลูกสาวคนสุดท้องของคุณตาก็มีหน้าที่ทำของว่างให้หนุ่มๆ ทั้งหลายที่มาตีแบดรับประทาน ลุงเผ่าก็เลยบอกกับน้าแจ๋วว่า เวียนหัวเหลือเกิน หนุ่มๆ บ้านนี้ทำไมมันเยอะไปหมด พี่คิดว่าแจ๋วควรจะเลือกสักคนแล้วล่ะ น้าแจ๋วก็ถามว่าเลือกใครดีล่ะ ลุงเผ่าเลยบอกว่าพี่คิดว่าน้าเหลิมเหมาะที่สุด เพราะเป็นญาติกับน้าแจ๋วด้วย น้าแจ๋วจึงเป็นห่วงว่าเป็นญาติกันจะแต่งกันได้อย่างไร ลุงเผ่าจึงบอกว่าเป็นญาติไม่ได้เป็นพี่น้องกัน แต่งได้ ลุงเผ่าจัดการให้เสร็จเลย น้าแจ๋วก็มีปัญหาอีก พอแต่งงานกันไปแล้วจะเรียกสามีว่ายังไงดี เพราะเรียกน้าเหลิมมาตลอด จะเรียกพี่ก็ไม่ได้ ลุงเผ่าบอกว่าถ้าเรื่องมากนักก็เรียกคุณเฉลิมก็แล้วกัน น้าแจ๋วก็เลยเรียกคุณเฉลิมมาตลอด นี่ก็เป็นเกร็ดทั้งหมดของครอบครัว จากเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ ท่านจะเห็นว่าคุณตาหรือท่านจอมพลผินนี้มีความอาทรต่อครอบครัวต่อลูกต่อหลานมากเป็นที่สุดไปไหนก็จะต้องผูกพันอยู่กับครอบครัวตลอด
ในตอนที่ท่านไปรบที่อินโดจีนและได้เป็นรองแม่ทัพอีสาน คุณตาท่านได้บันทึกไว้หมดว่ามีความพร้อมไม่พร้อมอย่างไร มีฉากหนึ่งคือการรบกับฝรั่งเศสโดยยกกองพลสุรินทร์ไปตี ในขณะนั้นคุณตาที่เป็นรองแม่ทัพได้คุมกองทัพไปตีที่อุบล ส่วนที่กองพลสุรินทร์มีหลวงไกรศักดิ์พิชิตเป็นแม่ทัพควบคุมทางนี้อยู่ ผู้บัญชาการกองพลสุรินทร์ก็พาทหารบุกเข้าไปยิงต่อสู้กับข้าศึก ก็ปรากฏว่าข้าศึกเอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทหารไทยตายไปสามถึงสี่คน ทำให้ทหารเริ่มระส่ำระสาย ผู้บัญชาการกองพลสุรินทร์ก็วิทยุมาบอกแม่ทัพว่ามีทหารเสียชีวิตเดี๋ยวผมจะลงมาปลอบขวัญทหาร ไม่นานหลวงไกรศักดิ์พิชิตก็ได้ยินเสียงอื้ออึงและมีทหารวิ่งมาเป็นแถวกลับมาจากแนวหน้าท่านจึงไปถามทหารคนหนึ่งว่าถอยทำไม ทหารก็ตอบว่าไม่รู้ ก็เห็นผู้บัญชาการกองพลวิ่งลงมา แล้วก็มีเสียงตะโกนต่อๆ กันว่า ท่านผู้บัญชาการกองพลถอยแล้ว พวกเราก็เลยถอยมาหมดเลย สักครู่หนึ่งผู้บัญชาการกองพลคือหลวงวีรวัฒน์โยธินก็มาถึง หลวงไกรศักดิ์พิชิตก็เลยถามขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น หลวงวีรวัฒน์โยธินก็รายงานทั้งขำทั้งโมโหว่า ตอนที่ผมวิทยุมารายงานท่านแม่ทัพว่ามีทหารถูกระเบิดตายสามสี่คนแล้วผมก็วิ่งลงมาปลอบขวัญทหาร แต่มันดันตะโกนว่าผู้บัญชาการถอยแล้ว ก็เลยถอยกันหมดเลย จึงมารวบรวมกำลังใหม่แล้วกลับไปรบ ในการรบที่สุรินทร์ครั้งนี้ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในขณะนั้นเป็นว่าที่ร้อยตรีใหม่ๆ ไปรบด้วย ก็เกือบโดนระเบิด เนื่องจากผู้บังคับกองร้อยของน้าชาติที่ยืนอยู่ข้างๆ น้าชาติได้ถูกระเบิดตายคาที่ ส่วนน้าชาติรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด
ในเรื่องนี้ท่านจะได้เห็นความผูกพันระหว่างท่านจอมพลผินและท่านจอมพลป. นอกจากจะเป็นรุ่นเดียวกันแล้วยังได้ทำงานใกล้ชิดกันมาตลอด พอญี่ปุ่นบุกขึ้นมาท่านจอมพลป. ก็กลัวว่าญี่ปุ่นนั้นจะมายึดจะมาทำลายกองทัพไทย ท่านก็วางแผนตั้งกองทัพพายัพขึ้นมา โดยรวบรวมหน่วยกำลังทั้งหมดของกองทัพไทย และกองพลที่1 ,2 ,3 ,4 ให้ไปอยู่ทางภาคเหนือและให้ไกลจากกองทัพญี่ปุ่น
แล้วก็ตกลงกับญี่ปุ่นว่าจะร่วมกันทำสงคราม ญี่ปุ่นก็มอบให้กองทัพพายัพเข้าไปยึดเชียงตุง ก็มีกองพลที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จอมพลผินซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 3ได้นำทหารจากโคราชนั่งรถไฟมา เปลี่ยนสับรางที่ภาชี แล้วขึ้นเหนือไปตั้งค่ายที่พะเยา และในที่สุดก็บุกเข้าไปในเชียงตุง ปรากฏว่าเส้นทางที่เข้าไปในเชียงตุงลำบากยากแค้นมากเลย แต่ในที่สุดก็สามารถยึดเชียงตุงได้
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ทหารไทยป่วยเป็นโรคมาลาเรียกันมากเรียกได้ว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของกองทัพเลยทีเดียว แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดในขณะนั้นก็คือเรื่องเครื่องแบบ เพราะทหารที่ไปยึดเชียงตุงตั้งแต่ออกเดินทางก็มีเครื่องแบบไปชุดเดียว พอไปถึงเชียงตุงก็เริ่มมีการขาดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ก็ต้องใช้วิธีเอาทหารที่ตัวเท่ากันผลัดกันใส่เครื่องแบบ ท่านจอมพลผินบันทึกไว้ในหนังสือว่าบางวันไปเยี่ยม ทหารโมโหเดินแก้ผ้าโทงๆ ให้ดูเลย บอกว่าทนไม่ไหวแล้วเพราะไม่มีเครื่องแบบให้เลย แล้วท่านก็หาวิธีแก้ปัญหา เพราะในตอนนั้นเส้นทางตัดขาดหมด เนื่องจากเป็นช่วงหน้าฝน เพราะท่านไปยึดได้ตอนพฤษภา และเข้าเชียงตุงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2485 พอยึดได้ก็ติดในเชียงตุงนั้นแหละครับ ติดต่อไม่ได้ การเดินทางระหว่างแม่สายไปเชียงตุงลำบากมากเลยทำให้การส่งเสบียง ส่งยาลำบาก ใช้ม้าก็ไม่ได้ ใช้ช้างช้างก็ตกเหว ในที่สุดจึงติดต่อทางวิทยุว่าให้ใช้ร่มชูชีพมาทิ้งยาที่เชียงตุง ปรากฏว่าพอนักบินมาก็ทิ้งผิด คือที่เชียงตุงจะมีบึงใหญ่อยู่กลางเมืองชื่อว่าหนองกรุง เพราะสมัยก่อนทัศนวิสัยไม่ค่อยดี นักบินมองมาก็นึกว่าเป็นสนามหญ้าจึงทิ้งชูชีพลงมาตกหมด ท่านจอมพลผินจึงปรึกษากับฝ่ายเสนาธิการว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรดี ฝ่ายเสนาธิการจึงเสนอว่าให้เอายาบรรจุใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วทิ้งลงมาจากเครื่องบิน พอเครื่องบินมาทิ้งกระบอกไม้ไผ่บรรจุลงมาให้ ชาวเมืองเชียงตุงก็คิดว่าเครื่องบินไทยมาทิ้งระเบิดจึงวิ่งหนีกันอลหม่าน ซึ่งกระบอกไม้ไผ่ที่ทิ้งลงมาก็โดนหัวคนบาดเจ็บกันไปจำนวนไม่น้อยก็เลยเลิกทำ จึงแสดงให้เห็นว่าการไปรบในสมัยก่อนนั้นมันลำบากมาก มีปัญหาให้แก้ตลอด ซึ่งพอเข้าเมืองเชียงตุงได้ก็ประสบปัญหาไม่มีข้าว เนื่องจากเชียงตุงนี้โดนทหารจีนยึดอยู่นาน พอจะถอยทหารจีนได้เผาทำลายหมด ข้าวสาร 4,000 กระสอบที่มีอยู่ในคลังถูกเผาเรียบหมด ไม่มีเหลืออยู่เลย จอมพลผินบอกว่าไม่เป็นไร ปลูกข้าว ทำนาเอาก็ได้ แต่ก็มีปัญหาอีกคือไม่มีครก เพราะทหารจีนทำลายครกหมด จอมพลผินจึงให้สร้างครกกันขึ้นมา แล้วก็มีปัญหาเรื่องแบบ พอจะไปซื้อก็ปรากฏว่าไม่มีเงิน จึงต้องพิมพ์ธนบัตรกันขึ้นมา โดยจอมพลผินในฐานะข้าหลวงใหญ่ทหารประจำเชียงตุง เป็นคนลงนาม ท่านจะเห็นได้ว่าทหารรุ่นนั้นลำบากมาก
จนในที่สุดท่านก็มาเกี่ยวข้องกับการเมืองจนได้ หลังจากที่ท่านกลับมาที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างสงคราม ในสมัยนั้นจอมพล ป พิบูลสงครามยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลป. ได้ยื่นพระราชกำหนดต่อสภาฯ ไปสองฉบับคือ ฉบับหนึ่งคือจะจัดตั้งเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง ฉบับหนึ่งคือจะเอาพระพุทธบาทเป็นเขตศาสนาเพื่อป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นเข้าไปยึด ผลปรากฏว่ารัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ทำให้จอมพล ป ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุณควง อภัยวงศ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาลแทน ทำให้จอมพลผินเป็นห่วงจอมพลป. จึงเดินทางจากเชียงตุงลงมาเยี่ยมท่านที่ลพบุรีแล้วลงมากรุงเทพฯ ก็ปรากฏว่าตอนนั้นพวกทหารไม่พอใจมาก เพราะในสมัยนั้นทหารมีอำนาจและไม่พอใจที่นายกฯ พลเรือนมาปลดจอมพลป. ออกจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เลยประชุมกันวางแผนเพื่อจะยึดอำนาจ แต่ทางจอมพลผินท่านบอกว่าอย่าไปทำอะไรเลยเพราะอยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งเราทำอะไรลงไปไม่รู้ว่าญี่ปุ่นจะยอมไหม เพราะทหารญี่ปุ่นเต็มเมืองเลย และถ้าเกิดมีปัญหาเดี๋ยวทหารไทยมารบกันเอง สู้เก็บกำลังไว้ดีกว่า
หลังจากนั้นท่านก็เดินทางกลับเชียงตุง แล้วทางกองทัพได้มีคำสั่งให้ท่านกลับมาประจำกรมเสนาธิการทหารที่กรุงเทพฯ วันหนึ่งคุณควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีก็เรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ทำเนียบ แล้วบอกว่า ได้ข่าวมาว่าทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่ค่อยทำงานกัน เอาแต่คุยกัน จอมพลผินซึ่งในขณะนั้นยศพลโทจึงยกมือขึ้นพูดว่า นายทหารที่นั่งอยู่นี้ไปรบมาแล้วทั้งนั้น ถ้ามีงานให้ทำก็บอกมาสิจะให้ทำอะไร และคนอยู่ด้วยกันถ้าไม่คุยก็เป็นบ้าตายน่ะสิ พอหลังจากนั้น 7 วันท่านก็ถูกปลดออกจากราชการ ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร ไปทำนาทำสวนดีกว่า ท่านก็ไปอยู่ที่บางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วพวกเราทั้งครอบครัวก็ไปทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นผมอายุเกือบ 2 ขวบ ผมก็มารู้ทีหลังว่าผมไปสร้างวีรกรรมไว้ที่ตลาดบางน้ำเปรี้ยว ผมก็ถามคุณพ่อคุณแม่ว่าวีรกรรมอะไร ก็ได้ทราบว่าเวลาผมไปตัดผมที่ตลาด ตลาดจะแตกตื่น เพราะผมแหกปากร้องจนกว่าจะตัดผมเสร็จ ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมตอนนั้นไม่ยอมตัดผม ก็เป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งที่ไปอยู่บางน้ำเปรี้ยว พอไปอยู่ได้ระยะหนึ่งก็คิดว่าเป็นชีวิตที่สงบ แต่พอวันหนึ่งกำนันได้มาบอกว่าได้มีโจรผู้ร้ายอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีอาวุธที่ทันสมัยรู้ว่าท่านไปรบมาจากเชียงตุง และท่านก็เป็นถึงแม่ทัพ คงจะร่ำรวยจึงคิดที่จะยกพวกมาปล้น ซึ่งในขณะนั้นบรรดาเขยต่างๆ นั้นยังอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัยคุณตาจึงย้ายครอบครัวกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ และหลังจากนั้นไม่เท่าไหร่สงครามก็ยุติ
ในหนังสือได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งได้ทำการสำเร็จ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีกบฏขึ้นอีกสามครั้ง คือกบฏเสนาธิการ กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน แต่ก็ถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามได้หมด โดยเฉพาะกบฏเสนาธิการ ซึ่งฝ่ายปฏิวัติก็วางแผนที่จะปฏิวัติคือเลือกเอาวันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 แต่งงาน เป็นวันปฏิวัติ เพราะว่าบรรดาบุคคลสำคัญจะต้องไปงานนี้หมด และจะเข้าไปจับตัวบุคคลสำคัญในวันนั้น แต่ปรากฏว่าคิดผิด เพราะฝ่ายรัฐบาลรู้ตัว และฝ่ายที่เตรียมจะปฏิวัติได้เข้าไปยึดกระทรวงกลาโหม ฝ่ายรัฐบาลจึงได้นำกำลังมาล้อมไว้ ซึ่งในตอนนั้นลุงเผ่าเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้นำกำลังตำรวจมาล้อมกระทรวงกลาโหมไว้หมด
ในขณะเดียวกันจอมพลผินท่านได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกถึงหกปี ซึ่งในตอนนั้นท่านอายุ 63 ปี และในขณะนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย อยู่มาวันหนึ่งท่านได้เรียนกับจอมพล ป. พิบูลสงครามซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีว่าจะขอลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และได้เสนอให้จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นพลเอกและเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกขึ้นดำรงตำแหน่งแทนพอในปี 2500 ก็เกิดการปฏิวัติ ซึ่งผลพวงจากครั้งนั้นทำให้ผู้ใหญ่ในซอยราชครูของผมสองท่านต้องไปอยู่ต่างประเทศ คือ พลตำรวจเอกเผ่า และพลจัตวาชาติชายซึ่งเป็นยศในขณะนั้น ส่วนคุณตาได้ใช้ชีวิตหลังหมดอำนาจอย่างสงบสุข พอท่านอายุ 80 ท่านได้เขียนบันทึก และท่านได้เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 82 ปี และนี่ก็คือเสี้ยวหนึ่งของชีวิต หนังสือเล่มนี้จะทำให้ท่านได้เห็นภาพของกองทัพไทยเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้ท่านเข้าใจถึงสัจธรรมของการเมืองไทย ผู้เคยร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกันมีปัญหาทุกคณะ ร่วมยึดอำนาจมาด้วยกันมีปัญหากันทุกคณะ จอมพลผินท่านก็ได้พูดไว้ว่านี่คือสัจธรรมการเมืองไทย และหนังสือเล่มนี้จะทำให้ท่านได้เห็นกำเนิดของซอยราชครู
ขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่สละเวลามางานของผม และส่วนใหญ่ก็เป็นแฟนพันธุ์แท้ ที่พอจัดงานหนังสือทีไรท่านก็มากัน เพราะว่าผมมีเป้าหมายในการผลิตหนังสือออกมาทุกหกเดือนเพื่อให้ทันงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งมีในเดือนมีนาคมและเดือนตุลาคม สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง อีก หกเดือนพบกันสำหรับหนังสือเล่มใหม่ของผม สวัสดีครับ