อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ : เจ้าของผลงาน อีกไม่นาน เราจะสูญหาย

อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์

 

Q : เริ่มชอบงานเขียนตั้งแต่เมื่อไหร่

A : เริ่มชอบตั้งแต่แบบไม่จริงจังมากก็ตั้งแต่เด็ก เขียนบันทึกประจำวันคุณพ่อแนะนำให้เขียนกลายเป็นการสะสมความชอบมาเรื่อย ๆ

ตอนที่เราเด็ก เด็ก เราก็ชอบแต่งกลอนสี่ กลอนแปด เขียนมาจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยเริ่มมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเขียน เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเขียนให้กับเว็บไซต์ของ ออเร้นจ์เฟรนด์  เป็นบทความแล้วก็มีโอกาสเขียนเล็ก ๆ น้อย ๆ

จนเริ่มมาเขียนเป็นคอลัมน์ท่องเที่ยว เป็นฟรีแลนซ์ให้กับ Image Magazine ตอนนี้มาเขียนคอลัมน์นิสต์ให้กับ Playboy Magazine และเขียนเกี่ยวกับเรื่องสั้น ท่องเที่ยว คอลัมน์ Women เกี่ยวกับความคิดเห็นทางสังคมและ ไลฟ์สไตล์ค่ะ

 

Q : ชอบอ่านหนังสือแนวไหนบ้าง

A : ตอนเด็กชอบอ่านการ์ตูนผีญี่ปุ่น แล้วก็ชอบอ่านเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับ ทางวิทยาศาสตร์บ้าง สัตว์ประหลาดบ้าง เอเลี่ยนบ้าง พอเราโตขึ้นมาชอบอ่านเป็นแนวเชิงประวัติศาสตร์หรือว่าความรู้รอบตัว และเรื่องศิลปะ จนกระทั่งมาช่วงหลังพยายามที่จะเก็บตามอ่านหนังสือของบุคคลสำคัญ เช่นนักเขียนคนสำคัญของโลก

 

Q : ทราบมาว่า คุณอ้อมแก้ว เป็นทั้งคอลัมนิสต์และเขียนงานหลายประเภท fiction เรื่องสั้น รูปแบบในการเขียนมีความยากง่ายต่างกันยังไงบ้าง

A : ถ้าเป็นแนว  fiction เราจะเป็นคนที่ชอบจินตนาการแล้วก็ชอบเขียนอะไรออกมาให้ไม่ค่อยน่าเบื่อ จะมีเรื่องของเชิงวิทยาศาสตร์ เชิงลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างบ่อยครั้งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้

     ความยากง่ายระหว่างสมมติว่าการเขียนท่องเที่ยว เราพยายามที่จะเขียนไม่ให้รู้สึกว่าเหมือนเป็นคอลัมน์ท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ใช่ว่าแค่การมารายงานว่าไปไหน ที่ไหน มีอะไรน่าสนใจ แต่พยายามที่จะสอดแทรกเรื่องของความคิด ความอ่าน เรื่องของมุมมองของเราที่มีต่อสังคม ต่อศิลปะหรือวัฒนธรรมเข้าไปด้วย แล้วก็เรื่องภาษาเราพยายามที่จะใส่เข้าไปในเนื้องานซึ่งมันทำให้มีอะไรที่รู้สึกว่าพิเศษกว่าการพาไปเที่ยวธรรมดา

     หรือว่าจะเป็นคอลัมน์ Women เราก็จะพยายามตามเหตุการณ์ของโลก สังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือสังคมโลก เราก็ต้องคอยดูว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือมีอะไรที่มันน่าจับประเด็นมาพูดถึง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายของตัวแมกกาซีนด้วยว่าเค้าจะอยากอ่านไหม  ส่วน Fiction ในแมกกาซีนก็จะคล้ายกับนวนิยายเพียงแต่ว่าเราพยายามทำให้ดูมีมิติมากขึ้นก็จะมีความยากง่ายต่างกันออกไป แต่ก็สนุกเหมือนกันค่ะ

 

Q : งานเขียนแต่ละเล่ม ใช้เวลานานแค่ไหน

A : แล้วแต่เลยค่ะ อย่างเล่มล่าสุดนี้เราใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ว่าประเด็นคือเราไม่ได้เขียนมาตลอดเพราะว่าเราทำงานอื่นด้วยเหมือนกับพอมีเวลาว่างมากก็มาเขียน พอถึงเวลาที่จะต้องพิมพ์แล้วเราก็ใช้เวลาขัดเกลา Edit ต้นฉบับก็ใช้เวลาประมาณก็หลายเดือนเหมือนกันหลายสิบครั้งเลยนะเราอยากให้งานมันออกมาดี

บางเล่มก็ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็มีเหมือนกัน คือเราไม่ได้เจาะจงไม่ได้กำหนดเวลามันไว้ว่าจะต้องเสร็จนะ พอถ้าเกิดเราว่างจากงานเราก็จะลงมือเขียน เขียนไปเรื่อย ๆ อย่างเล่มล่าสุดเราเขียนไว้พอมีงานอื่นเข้ามาแทรกเราก็ต้องหยุดทำไปก่อนเราก็เลยจะเป็นแบบฟรีสไตล์ ไม่เร่งรีบทำได้เรื่อย ๆ เลยค่ะ

 

นักเขียนซีไรต์,นักเขียน, คุยนอกรอบ, อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, อีกไม่นานเราจะสูญหาย, พ่ออังคารผู้มาจากดาวโลก, เงาลับจากปลายป่า

 

Q : หนังสือเล่มแรกที่คุณอ้อมแก้วลงทุนทำเอง ตีพิมพ์เอง คือ เรื่อง “พ่ออังคาร ผู้มาจากดาวโลก” ทำไมถึงนำเรื่องราวประวัติของคุณพ่อมาเขียนละทำไมถึงใช้ชื่อหนังสือนี้

A : เพราะเรารู้สึกว่าข้อมูลของคุณพ่อกระจัดกระจายและไม่ได้มีคนที่รู้ในเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องชื่อเล่นของท่านในสมัยนั้นความเป็นอยู่ในปัจจุบันในช่วงสุดท้ายของชีวิต ช่วงป่วยเกิดอะไรขึ้น บรรยากาศของที่บ้านเป็นอย่างไร บรรยากาศระหว่างพ่อกับลูกสาวเป็นอย่างไร เราก็รู้สึกว่าตรงนี้ยังไม่เคยมีใครพูดถึง เนื่องจากว่าคนจะมองว่าท่านเป็นคนขึงขัง จริงจัง ดูดุ คนก็จะไม่ค่อยกล้าเข้ามา บางคนก็จะไม่เห็นมุมมองทั้งหมด

     ซึ่งลูกสาวจะเป็นคนที่เห็นอีกมุมมองหนึ่งของท่านก็เลยนำมาเล่าให้ฟังในบรรยากาศอบอุ่น สบาย สบาย แต่นั่นก็คือเป็นตัวเราอีกนั่นแหละเราพยายามใส่ภาษา ใส่กลิ่นอายของตัวหนังสือที่เป็นในแบบของตัวเรา ส่วนชื่อหนังสือ ตอนเด็ก ๆ เราจะชอบล้อชื่อพ่อ ชื่อแม่กัน อังคาร อะไรแบบนี้รวมถึงคุณพ่อก็ชื่ออังคารด้วย

     คือในสมัยนั้นท่านจะชื่ออีกชื่อหนึ่งแล้วพอท่านมาเปลี่ยนชื่ออีกชื่อก็รู้สึกว่ามันสัมพันธ์กับดาวอังคารซึ่งเป็นดาวที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปสำรวจ เราก็รู้สึกว่าเป็นคนที่มีมิติอีกมิติหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เปิดเผยหรือเป็นสิ่งที่คนอยากค้นหา เราเลยคิดว่ามันสัมพันธ์กันแล้วมันก็เป็นการล้อกับชื่อของคุณพ่อด้วย ดูชื่อน่าสนใจดีนะไม่น่าเบื่อดีค่ะ

 

Q : คุณอ้อมแก้วตีพิมพ์หนังสือมาแล้ว 2 เล่ม และเล่มล่าสุดก็คือ “อีกไม่นาน เราจะสูญหาย” ทำไมถึงนำเรื่องนี้ส่งเข้าประกวดซีไรต์

A : จริง ๆ เรื่องนี้เราตั้งใจว่าแค่อยากจะพิมพ์หนังสือแล้วก็เสนอให้กับทางสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะนำมาประกวดอะไรจนกระทั่งใกล้ช่วงวันประกวดเพื่อนกับพี่ปอเค้าก็แนะนำเราและเค้าก็เป็นคนส่งหนังสือเล่มนี้เข้าประกวดให้ค่ะ

 

Q : ชื่อหนังสือ “อีกไม่นาน เราจะสูญหาย” มีที่มาจากอะไรและอะไรคือสิ่งที่ทำให้สูญหาย 

A : ในเรื่องจะค่อนข้างมีความซับซ้อนทางอารมณ์เยอะและรวม ๆ แล้วมันก็พูดถึงว่า “สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นใคร มนุษย์ หรือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน เรื่องของความเป็นสังคม โลกในปัจจุบันมันไม่มีอะไรที่อยู่นิ่ง ตายตัวอยู่กับที่

สุดท้ายมันก็ต้องเป็น วัฏจักรที่หมุนเวียน เปลี่ยนผ่าน และดับสลายไป แม้กระทั่งสังคมก็ตายได้เหมือนกันและมีสิ่งใหม่ ๆ ผุดขึ้นเหมือนกับชีวิตของมนุษย์

มันจะโยงกับชีวิตของตัวละครที่ว่าเขาก็มีความเชื่อว่า “ไม่ว่าจะยังไง สุดท้ายก็ต้องล้มหาย ตายจาก มีการสูญสลายของตัวตนของตัวเอง ทั้งในขณะเป็น หรือ ขณะตาย

 

อีกไม่นาน เราจะ สูญหาย, รางวัลซีไรต์, คุยนอกรอบ

 

Q : รู้สึกยังไงบ้างที่ผลงานของคุณผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์

A : ดีใจค่ะ ก็ทั้งแปลกใจและก็ดีใจมาก ตื่นเต้นค่ะ

 

Q : จะมีผลงานชิ้นต่อไปให้ได้ติดตามกันอีกเมื่อไหร่

A: มีค่ะ ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงทำต้นฉบับอยู่ เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นที่เคยเขียนไว้ในแมกกาซีนแล้วก็จะเขียนใหม่ขึ้นมาด้วย ต้องใช้เวลาทำต้นฉบับสักนิดค่ะเราอยากให้มันออกมาดีอาจจะเป็นปลายปีนี้ไม่ก็คงจะเป็นต้นปีหน้าเลยต้องขอเวลาทำอีกหน่อยค่ะ

 

Q: ในฐานะที่คุณอ้อมแก้วเป็นนักเขียนหญิง อยากให้ฝากอะไรกับนักเขียนหน้าใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่วงการนี้หรือฝากถึงคนที่อ่านงานเราแล้วเกิดแรงบัลดาลใจในการเขียน

A: การเขียนเป็นเรื่องที่ดีค่ะ มันเป็นเหมือนการทบทวนตัวเอง ทบทวนความคิดและได้ใช้เวลาขัดเกลาตัวเองหรือคนรอบข้างแม้กระทั่งสังคมไปด้วย เพราะบางทีเราไม่รู้หรอกว่าใครบ้างที่มาอ่านผลงานของเราอาจจะมีประเด็นที่สะกิดใจผู้อ่านเล็กน้อย รวมถึงว่าการทำงานเขียนมันก็เป็นเรื่องที่ดีนะคะเพราะว่าพื้นฐานของการศึกษาก็เริ่มมาจาก การอ่าน การเขียน

    ประเทศไหนที่มีเรื่องสนับสนุนเรื่องของการอ่าน การเขียน รวมถึงเรื่องของศิลปวัฒนธรรมมันก็เป็นเรื่องที่จรรโลงความเป็นมนุษย์ให้มันดีขึ้น ตัวเราก็สนับสนุนเพราะนักเขียนในไทยเรามีไม่มากนักโดยเฉพาะมีหน้าใหม่ในวงการงานเขียนก็ยิ่งดีมันจะได้มีความหลากหลายมากขึ้น มีผลงานหลากหลายชิ้นให้เราได้อ่านกันถือว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ

 

บทความโดย :สุกัญญา สุวิธานโธ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ