มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน หรือ "บ้านโฮมฮัก" ได้จดทะเบียนก่อตั้งในปีพ.ศ. 2542 โดย ครูติ๋ว หรือ คุณสุธาสินี น้อยอินทร์ ได้ริเริ่มโครงการ เพื่อเด็กและเยาวชนเป็นครั้งแรกที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร โดยริเริ่มงานด้านยาเสพติดในชุมชนก่อน จากนั้นก็ขยายงานออกเป็น 4 แขนงประกอบด้วย
1. งานชุมชน เป็นงานติดตามเฝ้าระวังเด็ก เยาวชน และผู้ประสบปัญหาวิกฤติชีวิต ในประเด็นปัญหาและผลกระทบที่หลากหลาย โดยการทำงานร่วมกับชุมชน ใช้กระบวนการแบบส่วน่วมในการจัดเก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อสรุปบทเรียนเป็นองค์ความรู้ นำไปสู่การผลักดันนโยบาย เป็นการเปิดทางเลือก ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชน
2. งานโรงเรียน เป็นงานเชิงรุก เข้าไปใช้ในระบบการศึกษาเพื่อลดช่องงว่าง ลดความขัดแย้ง เสริมความรู้ ความเข้าใจ โดยใช้รูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย และให้ความช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว และปัญหาอื่นๆ
3. งานเอดส์ เป็นงานที่และแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นเรื่อง "ความรักและความรับผิดชอบ" โดยรูปแบบการทำงานจะหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา ที่มา และอนาคตของแต่ละครอบครัว ชุมชน สังคม และความต้องการความช่วยเหลือของผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่ละคน จึงยึดหลัก "ความรัก ความเข้าใจ" ในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
4. งานบ้านพัก(บ้านโฮมฮัก) เปิดเป็นบ้านพักรองรับเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤติชีวิต ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต อยู่ร่วมกันในรูปแบบครอบครัวใหญ่ ที่มีการดูแลซึ่งกันและกัน โดยใช้ "ความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย และการให้โอกาส" เท่าเทียมกัน เป็นการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน
" แม่ติ๋ว " สุธาสินี น้อยอินทร์ ผู้หญิงแกร่งแห่งบ้านโฮมฮัก
แม่ติ๋ว เล่าว่าแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านโฮมฮักหลังนี้ขึ้นมา เพราะได้แรงบันดาลใจมาจาก หนังสือ ' แม่จันสายน้ำที่ผันเปลี่ยน ' ของครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์
“แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน” เรื่องเล่าผ่านจดหมายของหญิงสาว "เตือนใจ ดีเทศน์" ประสบการณ์งานอาสาสมัครบนดอยสูงยุคบุกเบิก ผู้มีจิตอาสาทำงานพัฒนาเพื่อประโยชน์แก่สังคมมาถึง 4 ทศวรรษ โดยในเล่มได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านจดหมายของเธอ ที่เขียนถึง "คุณสุจิตรา สุดเดียวไกร" ผู้เป็นยอดกัลยาณมิตรและที่ปรึกษา สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และการทำงานพัฒนาชุมชนของหนุ่มสาวอาสาสมัคร ในขณะที่เธอทำงานเป็นครูสอนหนังสือ ที่โรงเรียนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ณ ชุมชนชาวไทยภูเขา บริเวณลุ่มน้ำแม่จัน ทางตอนเหนือของประเทศไทย ใกล้ชายแดนพม่า อะไรคือสิ่งที่ชักนำให้ผู้เขียนซึ่งเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และกำลังจะมีอนาคตไกลในเมืองหลวง เลือกที่จะไปทำงานเป็นครูในชนถิ่นทุรกันดารและ ชีวิตการทำงานในชนบทให้อะไรกับเธอ เปรียบเทียบกับ ภาพ บัณฑิตรุ่นใหม่...ที่ส่วนใหญ่หันหน้าเข้าหาสื่อออนไลน์ ในกระดานชนวนคอมพิวเตอร์ ในโทรฯ มือถือ ที่เห็นเจนตา ริมถนนรนแคม ในรถไฟฟ้า พวกเขาเหล่านั้น กระทั่งการเดินทาง ก็ไม่สนใจใครอื่น ใส่ใจแต่เรื่องที่ที่ตัวเองต้องการ หนังสือ " แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน" หนังสือดีๆ อ่านแล้วให้แรงบันดาลใจงดงามอย่างนี้ นานปีจะมีให้อ่านสักเล่ม