รื่นรมย์ในโรงพิมพ์ : ว. ณ เมืองลุง ร่ำสุรากับสหาย พันจอกมิเมามาย

รื่นรมย์ในโรงพิมพ์

โดย นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

 

            ถ้าในวงการนักเขียนนักแปลเปรียบ “มาลา แย้มเอิบสิน” เป็น “หลุยส์ ลามูร์เมืองไทย” แล้ว จึงย่อมใช่เช่นเดียวกันถ้าจะบอกว่า “ว. ณ เมืองลุง” คือ “โกวเล้งเมืองไทย” เพราะนี่คือความจริงแห่งความเป็นจริงนั่นเอง

 

            ดังที่เคยบอกเอาไว้ว่าสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่อยู่บนชั้นสามของโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์ เปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยการประพันธ์ โดยมี “เฮียชิว” หรือ “สุพล เตชะธาดา” เป็นทั้งเจ้าของและอธิการบดี ซึ่งนอกจากจะผลิตหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คแล้ว ยังมีนิตยสารรายต่างๆ หลากหลายแนว ทั้งแนวสร้างสรรค์ รักโศก ตลกโปกฮา วัยรุ่นหวานแหวว และแนวบู๊สะบั้นหั่นแหลก ตลอดจนแนววาบหวามอย่างนิตยสาร “สะบัดช่อ” ก็ยังมี

                ฉะนั้นนักเขียนที่เดินเข้าออกโรงพิมพ์แห่งนี้จึงมีสารพัดแนว และคนที่ทำงานประจำตามนิตยสารต่างๆ บนชั้นสาม โดยเฉพาะระดับบรรณาธิการและบรรณาธิการบริหาร จะต้องเป็นนักเขียน “มืออเนกประสงค์” ด้วย นั่นหมายถึงต้องสามารถเขียนหนังสือได้หลายรูปแบบชนิดที่ว่าถ้านักเขียนคนไหนส่งต้นฉบับไม่ทัน หรือเกิดเหตุสุดวิสัยกับนักเขียนคนนั้นๆ บรรณาธิการจัดการเขียนแทนได้เลย หรือไม่ถ้านิตยสารเล่มใดเล่มหนึ่งขาดเรื่องและจำเป็นต้องปิดต้นฉบับให้ทันเวลา ก็สามารถตะโกนขอให้คนที่อยู่ห้องข้างเคียงที่ว่างอยู่เขียนส่งให้ได้ทันท่วงที

 

ท่ามกลางมิตรสหาย...ว. ณ เมืองลุง (สวมแว่น ใส่เสื้อสีเหลืองอ่อน) ส่วนคนยืนถือแก้วคือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ 

 

           นอกจากที่นี่จะมีนักเขียนหลากหลายแนวแล้ว งานเขียนอีกประเภทหนึ่งก็คือนิยายจีนกำลังภายใน...และผู้ที่เป็นประหนึ่งจอมยุทธ์มือหนึ่งแห่งวงการบู๊ลิ้มจะเป็นใครไปไม่ได้เลย หากไม่ใช่ “ว. ณ เมืองลุง” บุรุษร่างเล็กแต่ปราดเปรียวว่องไว ดุจมีดสั้นที่พุ่งจากมือของลี้คิมฮวงแห่ง “ฤทธิ์มีดสั้น” ที่จอมยุทธ์ในวงการต่างยกย่องทุกสำนัก

           มีหลายแง่มุมของความเป็น “ว.ณ เมืองลุง” ที่น่ารับรู้อย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของความสามารถเชิงภาษา และในแง่ของห้วงอารมณ์ที่หฤหรรษ์ ตลอดจนการสะท้อนให้เห็นภาพของระบบการพิมพ์ในช่วงเวลานั้นด้วย

           ในช่วงเวลา 30-40 กว่าปีที่ผ่านมานั้น การเรียงพิมพ์ในการพิมพ์หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คยังเป็นการเรียงพิมพ์ด้วยตัวตะกั่ว จนกระทั่งการพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามา เฮียชิว หรือสุพล เตชะธาดาก็ชื้อมาใช้งานที่โรงพิมพ์หนึ่งเครื่อง

 

 โกวเล้ง

 

            ถ้าจะบอกว่านี่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของวงการการพิมพ์ในเมืองไทยยุคนั้นก็ย่อมได้ เป็นการแย้มประตูการพิมพ์ระบบคอมแรกเริ่ม แม้ว่าระบบต่างๆ ของเครื่องพิมพ์ยุคแรกๆ จะล้าหลังและต่างกันอย่างลิบลับจากคอมพิวเตอร์ในทุกวันนี้ก็ตาม

            เครื่องพิมพ์ระบบคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ ที่เฮียชิวซื้อมาประจำการที่โรงพิมพ์นั้นเป็นเครื่องสีน้ำเงิน แม้จะไม่สูงมากนักแต่ก็ใหญ่พอๆ กับตู้เย็นนั่นแหละ ดูแล้วเป็นเครื่องที่เทอะทะมาก แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่าทันสมัยอย่างมากในตอนนั้น

            แผนกเรียงพิมพ์จะตั้งอยู่บริเวณชั้นสองของโรงพิมพ์ โดยมี “ป้าตุ๋ย” เป็นหัวหน้าช่างเรียง พนักงานช่างเรียงที่ใช้เครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์นั้นจะทำงานกันเป็นกะ มีทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วงกลางวันก็พิมพ์งานต้นฉบับนิตยสารต่างๆ ในโรงพิมพ์ แต่ในกะช่วงค่ำเป็นต้นไปจะมีพนักงานพิมพ์คนหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือพี่ “อุไรวรรณ” คนพิมพ์ต้นฉบับที่มิใช่กระดาษแต่เป็นม้วนเทปบันทึกเสียงของ “ว.ณ เมืองลุง” สำหรับทำเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คนั่นเอง

 

(จากซ้าย) อาทร เตชะธาดา, ว. ณ เมืองลุง และผู้เขียน

 

           “ว. ณ เมืองลุง” จะขับรถมาจอดริมถนนหน้าปากซอยทางเข้าโรงพิมพ์ราวๆ หนึ่งทุ่ม ในขณะที่ความมืดของราตรีกาลแผ่คลุม โดยมาพร้อมกับม้วนเทปบันทึกเสียงที่ถืออยู่ในมือ ระยะทางจากปากซอยถึงโรงพิมพ์ก็ไม่ไกลแต่อย่างใดเลย เพียงแค่เดินไม่กี่ก้าวก็ถึงแล้ว

            “ว. ณ เมืองลุง” เป็นคนร่างเล็ก แต่งตัวเรียบร้อย เสื้อผ้าไม่เคยยับให้เห็น เช่นเดียวกับทรงผมก็หวีเรียบแปล้ เหมือนติงลี่พระเอกหนังเรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ท่วงท่าการเดินกระฉับกระเฉง และทุกครั้งที่มาโรงพิมพ์ หลังจากเอาม้วนเทปให้พี่อุไรวรรณซึ่งเป็นพนักงานพิมพ์ต้นฉบับของ ว. ณ เมืองลุง เป็นการเฉพาะแล้ว พอขึ้นไปบนชั้นสาม เสียงพูดคุยหยอกเย้าก็จะคึกคักสนุกสนานทันที

 

รูปนี้ปรับโฟกัสไปที่ ว. ณ เมืองลุง ส่วนผู้เขียนอยู่ซ้ายมือ

 

            พี่อุไรวรรณคนถอดเทปต้นฉบับเสียงเพื่อพิมพ์ลงเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น เวลานั่งพิมพ์อยู่หน้าเครื่องแล้วดูสมดุลอย่างมากระหว่างเครื่องพิมพ์กับคนนั่งพิมพ์ เพราะพี่อุไรวรรณเป็นคนร่างใหญ่ จึงเหมาะกับเครื่องพิมพ์ระบบคอมพิวเตอร์ยุคแรกที่ดูใหญ่เทอะทะมากนั่นแหละ

            นี่จึงเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของ ว. ณ เมืองลุง โดยเฉพาะต้นฉบับเสียงที่บันทึกลงในตลับเทปที่แสดงถึงความเชี่ยวในเชิงภาษาอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นภาษาเฉพาะของวรรณกรรมกำลังภายในแล้ว ยังใช้ภาษาที่มีความหมายลึกล้ำ มีความกระซับ และมีการเปรียบเปรยที่ยอดเยี่ยมด้วย

 

ร่ำสุรากับสหายที่รู้ใจ พันจอกมิเมามาย...เฮียชิวกับ ว. ณ เมืองลุง

 

             การแปลหนังสือนั้น ถ้าแปลโดยเขียนต้นฉบับลงบนกระดาษหรือตอกพิมพ์ดีด หากผิดก็สามารถลบหรือแก้ไขยังงไงก็ได้ แต่สำหรับการแปลด้วยวิธีการพูดใส่เครื่องบันทึกเสียงอย่าง ว. ณ เมืองลุงนั้น จะต้องแม่นยำในเรื่องภาษาอย่างมาก และยิ่งเป็นภาษานิยายกำลังภายในซึ่งต่างจากวรรณกรรมประเภทอื่นๆ ทั้งในแง่ของความหมายและอารมณ์ของภาษานั้น...ถ้าจะบอกว่า ว. ณ เมืองลุง คือนายของภาษาก็ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก   ขณะเดียวกัน คนพิมพ์ต้นฉบับจากเสียงอย่างพี่อุไรวรรณก็ต้องมีความสามารถเฉพาะตัวเช่นกัน

              คนในโรงพิมพ์บางคนจะเรียก “ป๋า ว.” แต่บางคนก็เรียก “พี่ ว.” และเมื่อ “ว. ณ เมืองลุง” โผล่หน้าขึ้นมาบนชั้นสามของโรงพิมพ์ เมื่อเห็นหน้าพวกเราซึ่งเป็นคนรุ่นลูกรุ่นน้องที่ทำงานและกินนอนอยู่ที่นี่ เสียงทักทายของ “ป๋า ว.” หรือ “พี่ ว.” ก็จะดังขึ้นทันที

              “เฮ้ย...พวกมึงเป็นยังไงกันบ้างวะ” 

              จากนั้นบรรยากาศภายในห้องก็จะเปลี่ยนเป็นการกระเซ้าเย้าแหย่อย่างสนุกสนาน

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ