ทั้งนี้ก็ยังมีผลการวิจัยว่า โรคดังกล่าวอาจสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม เพราะอาการนี้มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในโครโมโซมตัวที่ 7 แต่ก็ยังไม่มีผลการยืนยันแน่ชัด ไม่เพียงเท่านั้น อาการของโรคดิสเล็กเซียยังสามารถเชื่อมโยงกับโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก หรือความบกพร่องทางสติปัญญา ขณะที่สิ่งแวดล้อมภายในบ้านก็อาจทำให้เด็กเกิดความผิดปกติได้อีกด้วย เช่น บ้านที่ไม่มีการส่งเสริมในเรื่องการอ่านหนังสือ หรือผู้ที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อย ก็อาจจะมีการพัฒนาของเซลล์สมองที่ไม่ดีเท่าที่ควร และทำให้การเรียนรู้บกพร่องได้
โดยในประเทศไทย ความผิดปกติของโรค Dyslexia ถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้านใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ความบกพร่องทางด้านการอ่าน (Reading Disorder)
เป็นความผิดปกติที่เกิดกับด้านทักษะการอ่าน ผู้ป่วยจะมีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าคนอายุเท่า ๆ กัน โดยอาการที่เห็นได้ชัดคือ จะไม่สามารถอ่านหนังสือได้อย่างคล่องแคล่วเช่นเดียวกับคนทั่วไป หรืออาจจะสามารถอ่านได้แต่ไม่สามารถจับใจความได้ จึงทำให้ผู้บกพร่องทางด้านนี้มีระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าคนอายุเท่า ๆ กันอยู่ประมาณ 2 ระดับชั้นเรียน โดยความบกพร่องนี้จะพบในเด็กมากที่สุด
2. ความบกพร่องทางทักษะการเขียน การสะกดคำ การสร้างคำ หรือการสร้างประโยค (Written expression disorder)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีทักษะในด้านการเขียน การสะกดคำ รวมทั้งการสร้างประโยคที่บกพร่อง โดยจะไม่สามารถสะกดคำได้ถูกต้อง รวมทั้งยังไม่สามารถสร้างประโยคที่มีความหมายเข้าใจได้ หรือเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่องเป็นต้น โดยอาการนี้สามารถพบร่วมกับความบกพร่องทางด้านการอ่านได้อีกด้วย
3. ความบกพร่องทางด้านทักษะการคำนวณ (Mathematic disorder)
ความบกพร่องนี้เป็นความบกพร่องทำให้ผู้ป่วยขาดทักษะในด้านการคำนวณ และทำให้ไม่เข้าใจถึงกระบวนการในการคำนวณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บวก ลบ คูณ หรือหาร โดยผู้ป่วยจะไม่เข้าใจว่า การบวกเลขจะต้องทำอย่างไร ลบออกจะต้องหักออกอย่างไร นอกจากนี้ยังอาจมีบางกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการทดเลข และการตีโจทย์ปัญหา กล่าวคือ สามารถแก้โจทย์เลขบวกลบได้ตามปกติ แต่หากเป็นโจทย์ปัญหาที่เป็นสถานการณ์สมมติ ผู้ป่วยก็จะไม่เข้าใจว่าจะต้องแก้โจทย์อย่างไร
อาการของโรค Dyslexia เป็นอย่างไร
อาการของโรคดังกล่าวมักจะแสดงให้เห็นได้ชัดตั้งแต่ยังเล็ก โดยอาการทั่วไปของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็คือ เด็กจะเริ่มพูดช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ และจะพูดน้อย ไม่สามารถเข้าใจคำว่าซ้าย-ขวาได้ หรือบางครั้งก็อาจจะพูดติดอ่าง
นอกจากนี้เด็กบางคนยังอาจจะมีการเขียนตัวอักษรที่กลับด้าน รวมทั้งในผู้ป่วยบางรายอาจจะมีความพิเศษที่เกินกว่าคนอื่น ๆ เช่น มีความฉลาดสูง หรือมีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปะ ด้านกีฬา หากเป็นในผู้ใหญ่ก็อาจจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการออกแบบ การสร้าง การบริหาร หรือการขายที่โดดเด่นมาก แต่ก็จะเป็นผู้ที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ขี้เกียจ สมาธิสั้น มีความนับถือตัวเองต่ำ อีกทั้งยังมีอาการไฮเปอร์ร่วมด้วย หรืออาจจะมีอาการในด้านอื่น ๆ ที่สามารถสังเกตได้ดังนี้
1. ด้านทัศนคติ การอ่าน และการสะกดคำ
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการของโรค Dyslexia จะมีอาการที่แสดงถึงความบกพร่อง คือ มักจะมีอาการคลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้องเวลาที่ต้องอ่านหนังสือ ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวอักษร ตัวเลข คำ วลีสั้น ๆ หรือแม้แต่การอธิบายใด ๆ อีกยังทั้งมีปัญหาในการเรื่องการตีโจทย์ ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าปัญหาคืออะไรและต้องแก้ไขอย่างไร รวมทั้งในเรื่องการสะกดคำก็จะมีปัญหาตามไปด้วย
2. การได้ยิน และการพูดจาสื่อสาร
อาการในด้านนี้ที่จะเห็นได้ชัดก็คือ จะได้ยินเสียงมากกว่าคนทั่วไป และทำให้เกิดอาการฟุ้งซ่านได้ง่าย มีปัญหาในด้านการพูด ไม่สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจความหมายได้ รวมทั้งอาจจะมีน้ำเสียงและโทนเสียงสูงต่ำที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ พูดติดอ่างหรือพูดตะกุกตะกัก ขณะที่ในการพูดจาสื่อสารนั้นก็อาจจะพูดไม่จบประโยคอีกด้วย
3. การเขียน และการเคลื่อนไหวร่างกาย
มีปัญหาในด้านการเขียน หรือการคัดลอกข้อความ มีลักษณะการจับดินสอที่ผิดปกติ ลายมือที่เขียนออกมาไม่สามารถอ่านออกได้ อีกทั้งยังอาจมีอาการซุ่มซ่ามกว่าปกติ เกิดอาการสับสนระหว่างซ้าย-ขวา และบน-ล่างอยู่เสมอ
4. ด้านการคำนวณและการจัดการเวลา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการบกพร่องทางการอ่านจะไม่สามารถบอกเวลาได้ อีกทั้งยังไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ถูกต้อง มักจะพบว่ามีปัญหาด้านการตรงต่อเวลาอีกด้วย ในเรื่องของการคำนวณ ผู้ป่วยจะสามารถคำนวณโดยการนับนิ้วหรือวิธีอื่น ๆ ได้ แต่จะไม่สามารถเขียนวิธีในการคำนวณลงในกระดาษได้เหมือนคนทั่ว ๆ ไป สามารถนับสิ่งของที่เป็นรูปธรรมได้ แต่จะไม่สามารถนับสิ่งอื่น ๆ ที่ยากกว่าปกติ เช่น การนับเงินได้ เป็นต้น
5. ด้านความจำและความรู้ความเข้าใจ
แม้จะมีความบกพร่องในการอ่านและการสื่อสาร แต่ผู้ที่มีความผิดปกตินี้มักจะมีความจำระยะยาวที่ดีเยี่ยม สามารถจดจำประสบการณ์ สถานที่ และใบหน้าคนได้อย่างแม่นยำ แต่จะมีปัญหาในเรื่องความจำระยะสั้น และมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้มักจะคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบของภาพ และความรู้สึก แต่จะไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นรูปแบบของเสียงหรือการเขียนได้
6. ด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพและสุขภาพโดยรวม
ในด้านพฤติกรรมการวางตัว บุคลิกภาพ ของผู้ที่มีความบกพร่องนี้ จะค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน เพราะผู้ป่วยจะมีปัญหาในเรื่องการวางตัวในสังคม และมักจะควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ มีพัฒนาการในการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ มีความอดทนต่ำ อารมณ์อ่อนไหว แต่ก็มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจน ทั้งนี้ในเรื่องของสุขภาพ ผู้ป่วยจะมีความไวต่ออาหาร และสารเคมีทุกชนิด และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่หูมากกว่าปกติ นอกจากนี้อาจจะยังมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงอีกด้วย
แต่คนที่มีอาการ dyslexia ก็ใช่ว่าจะเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิต
จอห์น เลนนอน หนึ่งในสมาชิก The Beatles แม้เขาจะบกพร่องด้านการอ่าน แต่กลับเขียนโน้ตดนตรีและเนื้อเพลงได้อย่างไพเราะสวยงาม
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เติบโตมาพร้อมกับโรคดิสเล็กเซียจนดูโง่ในสายตาครู แต่เขาก็ได้เป็นนักฟิสิกส์ บุคคลอัจฉริยะชื่อดังของโลก
ปิกัสโซ่ ศิลปินก้องโลก ผสมตัวอักษรไม่เป็น อ่านหนังสือแทบไม่ได้ แต่การรับรู้ที่ผิดปรกติทำให้โลกได้เห็นภาพวาดที่แตกต่างด้วยจินตนาการสุดล้ำ ยังมีอัจฉริยะและบุคคลที่ประสบความสำเร็จอีกมากที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ในวัยเรียน
Thomas Edison ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้า และเครื่องบันทึกเสียง เป็นอัจฉริยะที่มีอาการ dyslexia มาตั้งแต่เด็ก เพราะเรียนหนังสือไม่ได้ สอบได้ที่โหล่บ่อย จนพ่อคิดว่าลูกโง่ จึงต้องสอนให้เองที่บ้าน และบอกให้ลูกลาออกจากโรงเรียน เพราะ Edison สะกดคำผิดๆ ถูกๆ ทั้งๆ ที่มีอายุ 19 ปีแล้ว
ปฏิมากร Auguste Rodin ก็มีปัญหาเรื่องการอ่าน และเขียนเช่นกัน จนบิดาและลุงลงความเห็นว่า คงเรียนอะไรไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเติบใหญ่ เขาจึงไม่มีอาชีพเป็นนักเขียน แต่ทำงานปฏิมากรรมจนเป็นปฏิมากรเอกของโลก ผู้รังสรรค์รูปปั้นบรรลือโลกชื่อ The Kiss
ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ Woodrow Wilson ก็อ่านหนังสือไม่ออกจนกระทั่งอายุ 9 ขวบ ด้านนายพล George Patton ก็มีเสียงเล่าลือว่า สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัย West Point โดยใช้วิธีจำคำบรรยายของอาจารย์ เพราะอ่านหนังสือไม่ออกเช่นกัน
นอกจากนี้โลกก็มีบุคคลสำคัญอีกหลายคน เช่น มหาเศรษฐี Nelson Rockfeller, ดาราภาพยนตร์ Whoopi Goldberg, อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ Lee Kuan Yew, จิตรกร Leonardo da Vinci, นักเขียน Agatha Christie และนักเขียนเทพนิยาย Hans Christian Andersen ที่มีอาการ dyslexia ไม่มากก็น้อยในวัยเด็ก แต่ประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเฉพาะ Christie นั้นได้กลายเป็นนักประพันธ์นวนิยายสืบสวนชื่อก้องโลก ผู้เขียนหนังสือได้มากกว่า 100 เล่ม และขายได้กว่า 2,000 ล้านเล่ม
สำหรับ Tom Cruise น้องสาวทั้ง 3 คนล้วนเป็นโรค dyslexia และ Cruise ได้พยายามลบปมด้อยด้านนี้ด้วยการเล่นกีฬา และเป็นนักแสดงภาพยนตร์ เมื่อถึงวันนี้เขาได้พยายามช่วยเด็กอื่นๆ ที่เป็นโรคเดียวกับตน
หากเอ่ยชื่อออกมา อาจไม่เชื่อว่านี่หรือคือคนที่มีความบกพร่องด้านการอ่านเขียน!
วิธีการรักษา Dyslexia ทำอย่างไร
โรคดิสเล็กเซียแม้จะเป็นอาการบกพร่องที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางพันธุกรรม แต่ก็สามารถรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ได้ ด้วยวิธี Phonological Intervention ซึ่งวิธีนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายสักเท่าไรนัก จึงทำให้วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นก็คือ การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง โดยเฉพาะต้องเปลี่ยนทัศนคติไม่ว่าจะผู้ป่วยหรือคนรอบข้างว่า ภาวะความบกพร่องนี้ไม่ได้เกิดจากระดับสติปัญญาหรือปัญหาเรื่องความรับผิดชอบ แต่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม อีกทั้งหากเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในวัยเรียน
ทางที่ดีไม่ควรนำเด็กไปเรียนรวมกับเด็กปกติ เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดความกดดันได้ แต่ควรนำเด็กไปเรียนในสถาบันที่มีการเรียนการสอนสำหรับที่บกพร่องโดยเฉพาะ หรืออาจจะจัดการเรียนการสอนด้วยตัวเองที่บ้านตาม พ.ร.บ การศึกษา เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้โดยไม่ต้องรับแรงกดดันจากคนรอบข้าง
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการบกพร่องโดยส่วนใหญ่จะมีความถนัดหรือความสามารถพิเศษที่เหนือกว่าเด็กโดยทั่วไป ดังนั้นครอบครัวควรสนับสนุนในเรื่องของความถนัดนั้น ๆ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น อีกทั้งยังควรหมั่นพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และจิตแพทย์เพื่อติดตามอาการและตรวจหาความผิดปกติทางจิตที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย และที่สำคัญที่สุด ควรพาผู้ป่วยไปขึ้นทะเบียนเพื่อรับหนังสือรับรองความพิการ เพราะปัญหาความบกพร่องทางการอ่านหนังสือ ถือเป็นความพิการอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการฟื้นฟูและช่วยเหลือตามกฎหมายค่ะ
อ้างอิงจาก ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย , http://www.dyslexialma.com/famous