ความสุข คืออะไร ความสุขเกิดขึ้นเมื่อไร และเพราะอะไรจึงเกิดขึ้น ใครหลายคนคงเคยตั้งคำถามนี้ขึ้นมาในชีวิต ผมก็เช่นกัน ผมเป็นคนหนึ่งที่มักจะตั้งคำถามกับชีวิตอยู่เสมอว่า ความสุขนั้น คืออะไร และตอนนี้ผมมีความสุขอยู่หรือไม่ ผมเชื่อมาโดยตลอดว่า ความสุขนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์เราพึงจะมี และปรารถนาที่จะมีด้วยใจเปี่ยมล้น แต่แท้ที่จริงแล้ว เราจะมีความสุขได้จริง ๆ หรือไม่ และเมื่อความสุขมาถึงเราจะกอบโกยความสุขนั้นได้อย่างเต็มที่มากน้อยเพียงใด
การอ่านหนังสือ เป็นความสุขอย่างหนึ่งของผม เมื่อ ๒ ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้พบกับหนังสือเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่เปิดประตูให้ผมก้าวเข้าสู่โลกแห่งความสุขของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เด็กคนนั้นชื่อ ‘กะทิ’ และมุมมองของผมที่มีต่อความสุขก็เปลี่ยนไป เมื่อผมได้อ่าน ‘ความสุขของกะทิ’
ความสุขของกะทิ เป็นนวนิยายจากปลายปากกาของ คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ (The S.E.A. Write Award) พุทธศักราช ๒๕๔๙เนื้อหากล่าวถึง ‘กะทิ’ เด็กผู้หญิงวัย ๙ ขวบที่กำลังจะต้องสูญเสียแม่ จากอาการป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้แม่ของกะทิตัดสินใจฝากกะทิไว้กับตายายที่บ้านริมคลอง เนื่องจากรู้ดีว่าตนเองไม่สามารถเลี้ยงดูกะทิได้อย่างที่เคยเป็นมา ทว่า กะทิกลับเติบโตขึ้นมาด้วยความอบอุ่น ความรัก ความเอาใจใส่จากคนรอบข้าง ทั้ง ตา ยาย พี่ทองและคนอื่น ๆ แม้ว่ากะทิจะต้องสูญเสียแม่อันเป็นที่รัก แต่ความสุขก็ยังปรากฏชัดในใจของเธอเสมอ นวนิยายเรื่องนี้จึงทำให้ผมต้องกลับมานั่งขบคิดให้ละเอียด ถี่ถ้วนอีกครั้งเกี่ยวกับทัศนคติในเรื่องความสุขของผม บทวิจารณ์นี้มีวัตถุประสงค์ที่จะหาความหมายของความสุขในนวนิยายเรื่องความสุขของกะทิ โดยใช้หลักเกณฑ์ทางวรรณกรรมวิจารณ์มาใช้เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตีความ
“กว่าจะเป็นกะทิ ร้อนหนาวต้องก้าวผ่าน”
ครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว มีคำถามมากมายเกิดขึ้นในใจผม หนึ่งในนั้นคงจะเป็นคำถามที่คั่งค้างมานานตั้งแต่รับรู้เรื่องราวของกะทิ นั่นคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ ตั้งแต่เปิดเรื่องเธอก็แอบสงสัยมาตลอดว่าแม่ของเธอไปอยู่ที่ไหน และทำไม่จึงไม่มีใครพูดถึงแม่เลย กระทั่งเธอได้พบกับแม่ซึ่งมาพร้อมกับความจริงที่แม่ต้องจากกะทิมา เพราะแม่ของเธอป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง วันเวลาที่อยู่ด้วยกันจึงน้อยลงทุกที ในที่สุดแม่ของเธอก็จากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ พร้อมด้วยความลับที่เปรียบเสมือนปริศนาชิ้นสุดท้ายที่แม่ได้ทิ้งเอาไว้ให้กะทิได้ค้นหา กะทิได้พบเรื่องราวที่คาใจเกี่ยวกับพ่อของเธอ นำไปสู่การตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งในชีวิตของเธอ
เรื่องราวที่กะทิได้พบเจอมา เป็นเรื่องราวที่หนักหนา ตัวละคร ‘กะทิ’ จึงทำให้ผมนึกไปถึงน้ำกะทิที่ใช้ประกอบในอาหารคาวหวานของไทย กว่าจะได้มาซึ่งน้ำกะทิก็ต้องผ่านกรรมวิธีมากมาย ทั้งการขูดมะพร้าว การบีบ การคั้น หลายขั้นตอน เสมือนกับตัวละครกะทิที่จำต้องผ่านปัญหา อุปสรรคนานาประการ แต่กะทิก็ยังมีความสุขอยู่ในหัวใจได้เสมอ นอกจากเป็นพรข้อที่แม่ของกะทิของไว้ตั้งแต่แรกเกิด ก็คงจะเป็นเพราะกะทิ เรียนรู้และเข้าใจโลกในสิ่งที่ยอมรับได้ หลายครั้งที่กะทิอยากรู้บางเรื่องราว แม้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะทำให้ตนเองเจ็บปวดก็ตาม แต่เธอก็ไม่เคยหวั่น ไม่ว่าจะถูกบีบ ถูกคั้นจากปัญหามากมาย แต่กะทิคนนี้ ก็ยังคงเป็นกะทิที่ขาวข้นพร้อมปรุงอาหารในทุก ๆ จาน
…กะทิชอบลงเล่นน้ำ ทะเลตอนเย็น ๆ มากกว่า เพราะ คลื่นจะถาโถมลูกแล้วลูกเล่า
ซัดเข้าหน้าเข้าตา ท้าทายและมีรสชาติกว่าการแหวกว่ายในน้ำที่แทบจะไม่ต่างจากน้ำนิ่ง ๆ ในคลอง…
(งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๔๙)
จากเนื้อความข้างต้น เห็นถึงบุคลิกอันสะท้อนผ่านแนวคิดของกะทิที่แม้ตนเองจะรู้ดีว่า เมื่อพบแม่เธอจะมีความสุข แต่ก็อาจจะมีเรื่องราวน่าเศร้าเกิดตามมา เช่นเดียวกันกับการที่กะทิชอบเล่นน้ำทะเลตอนเย็น ๆ ถึงคลื่นจะแรง แต่ชีวิตก็แบบนี้ ยิ่งถูกคลื่นซัดถาโถมมามากเท่าไร คนเราก็ยิ่งแกร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนที่ผู้เป็นแม่ของกะทิเคยบอกกับเธอเอาไว้ว่า
…ครั้งหนึ่งแม่บอกว่าคนเราก็ไม่ต่างจากตัวละครในหนังสือที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต
และเมื่อผ่านพ้นมาได้ก็จะมีความลุ่มลึกในเนื้ออารมณ์ เป็นคนเต็มคนมากขึ้นและมองทุกอย่างเปลี่ยนไป…
(งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๑๐๕)
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เปรียบดังคลื่นลุกใหญ่ที่ซัดเข้ามาแล้วก็ซาไป ช่วงชีวิตหนึ่งที่กะทิต้องพบเจอกับเรื่องราวที่เด็กในวัยเดียวกันคงทำใจได้ยาก แต่กะทิเลือกแล้วที่จะเข้าใจและผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้ ความสุขของกะทิจึงเกิดจากการเรียนรู้ว่าความทุกข์หน้าตาเป็นเช่นไร และก้าวข้ามผ่านมันมาด้วยพลังแห่งความสุขเพียงแค่เธอเข้าใจมัน
“ใครนิยาม ความสุขของครอบครัว”
ภาพแห่งความสุข ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ของตา ยาย และผู้คนรอบตัวกะทิ อาจทำให้เราลืมคำนิยามเกี่ยวกับครอบครัวแบบเดิม ๆ ที่จำเป็นจะต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ แม่ ลูก จึงจะมีความสุข แต่กะทิก็เลือกที่จะมีความสุขในแบบที่เป็นอยู่ บางครั้งเธออาจสงสัยอะไรบางอย่างเกี่ยวกับพ่อ ดังความตอนหนึ่งว่า
…ดูจะเป็นวันคืนแห่งความสุขของทุกคน
แม้ว่าในสายตาของคนทั่วไปใครคนหนึ่งขาดหายไปอย่างไม่มีการพูดถึง…
(งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๕๕)
แม้ว่าในตอนท้ายของเรื่องกะทิจะได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับพ่อ แต่กะทิกลับเลือกที่จะไม่ส่งจดหมายที่แม่ทิ้งไว้ให้เพื่อติดต่อกับพ่อ คงเพราะ กะทิเป็นสุข และเต็มอิ่มกับความอบอุ่นในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างเต็มเปี่ยม ถึงแม้ว่าวันนี้ปริศนาเรื่องสุดท้ายที่เธอสงสัยจะถูกเติมเต็มแล้ว นั่นก็คงเพียงพอสำหรับเธอแล้วจริง ๆ โดยไม่ต้องเริ่มใหม่ อดีตจึงเป็นเพียงเงา เพียงเท่านี้เธอก็สุขดีแล้ว เหมือนกับที่ตาบอกว่า มองไปข้างหน้าดูจะดีที่สุด (งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๑๐๘)
…กะทินึกแปลกใจเหมือนกันที่ในใจของตัวเองไร้เมฆหมอกใด ๆ …
(งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๙๗)
ไม่ว่าจะเป็นตา ยาย หรือตัวละครอื่น ๆ ภายในเรื่องไม่เคยทำให้กะทิรู้สึกขาดสิ่งใด ๆ เหมือนกับตัวละครของ ‘แม่’ ช่วยเสริมภาพของกะทิให้เด่นชัดขึ้น แสดงให้เห็นความเด็ดเดี่ยวทางความคิดของแม่ ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีครอบครัวแบบที่คนทั่วไปนิยาม เรื่องราวของแม่ที่ลุงตองเล่าให้กะทิฟังว่า …ผู้หญิงแบบแม่ ผู้ชายไม่ชอบหรอก ยืนยันว่าผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต… (งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๘๗) และคำตอบของน้าฎาเมื่อกะทิถามว่าแม่เกลียดพ่อไหม …น้าก็ไม่เคยถาม เพราะมารู้จักแม่ทีหลังแล้ว แต่น้าไม่คิดว่าแม่จะเกลียดใครนะ โดยเฉพาะคนที่ทำให้แม่ได้หนูมา แม่รักหนูมากจริง ๆ เลย พูดตลอดเวลาว่า หนูคือทุกอย่างในชีวิตของแม่… (งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๙๗) อาจตีความได้ว่า แม่ของกะทิตั้งใจและมีเป้าหมายชัดเจนที่อยากจะมีลูก ถึงแม้จะไม่ได้อยู่กับคู่ชีวิต แต่แม่ของกะทิก็ไม่เคยคิดและเก็บมาเป็นปัญหา กะทิจึงไม่ใช่เด็กที่ขาดและต้องการสิ่งใดมาเติมเต็ม หัวใจของเธอจึงไม่มีเมฆหมอกใด เพราะ เธอได้รับสิ่งเหล่านั้นจากทุก ๆ คนรอบตัวอย่างเต็มที่ ความสุขจึงอยู่กับกะทิ
น้าฎา น้ากันต์ ลุงตอง และตัวละครอื่น ๆ มีส่วนช่วยเสริมความอบอุ่นให้กับกะทิ เป็นดังครอบครัวของกะทิ แม้ว่ากะทิจะสูญเสียแม่ไป แต่กะทิก็ไม่เคยต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง ดังความตอนหนึ่งว่า
…นี่ถ้าลำพังกะทิคนเดียวย่อมไม่มีวันออกมานั่งมืด ๆ ตรงนี้แน่ ๆ …
(งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๗๐)
จากข้อความข้างต้น ยิ่งช่วยเสริมเติมความเป็นครอบครัว ความห่วงใย ความรักที่กะทิได้รับจากทุกคน เสมือนภูมิคุ้มกันที่ทำให้กะทิแข็งแกร่ง และมีความสุขได้อยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กะทิไม่ต้องต่อสู้กับปัญหาเหล่านั้นเพียงลำพังอย่างแน่นอน ความสุขของกะทิจึงเกิดจากความอบอุ่นภายในครอบครัวที่แม้จะไม่เหมือนกับครอบครัวตามนิยามแต่สิ่งสำคัญ คือ ความรักที่มีให้กันเสียมากกว่า
“ความสุข คือ ปัจจุบันกาล”
หนังสือที่อธิบายวิธีการที่เราจะพบกับความสุขหลายเล่มในท้องตลาด ต่างมีวิธีแนะนำ การปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดและนับเป็นแนวความคิดร่วมเกี่ยวกับความสุข นั่นคือ ความสุขคือปัจจุบัน ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่เรารู้สึกว่าตนเองเป็นสุข เหมือนกับกะทิที่ขอเพียงใจเธอเป็นสุขในวันนี้
…จักรวาลนี้กว้างใหญ่นัก มนุษย์ตัวจ้อยจะมีอำนาจอะไร
เพียงแหงนมองท้องฟ้าก็ดูจะปลดศักดาและความมุ่งหวังเกินตัวให้หมดสิ้นไปได้ในบัดดล
เหลือเพียงหัวใจดวงเล็ก ๆ ในอกที่เต้นอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวและใฝ่หาความสุขตามอัตภาพ
ไม่ต้องการสิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ต้องการสิ่งใดที่อยู่ไกลตัว…
(งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๑๐๔)
จากเนื้อความข้างต้น ทำให้เข้าใจได้เลยว่าเมื่อกะทิก้าวผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา กะทิมีความแข็งแรงทางความคิด และเข้าใจโลกในแบบของตัวเองมากขึ้น กะทิเลือกตัดสินใจที่จะไม่ติดต่อไปยังพ่อ เพราะเธอไม่ได้ต้องการสิ่งใดแล้ว ความสุขที่เกิดขึ้นกับเธอมันเกิดขึ้นแล้ว ณ ตอนนั้น โดยไม่ต้องเสาะแสวงหาให้เหนื่อยเปล่า ไม่ต้องวิ่งตามหาสิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป แม้ว่าอายุของกะทิจะค่อนข้างน้อยและนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่กะทิก็ได้ใช้ความเป็นเด็กนั้นตัดสินไปอย่างรอบคอบ นั่นคือ การเลือกที่จะมีชีวิตตามเดิม การอยู่บ้านริมคลองกับตา ยาย และคนอื่น ๆ ที่รักเธอ รวมทั้งแม่ของเธอที่แม้จะจากไปแล้ว แต่เธอรู้ได้ว่าแม่จะคอยอยู่เคียงข้างเธอเสมอ
…กะทิกราบพระก่อนนอน พรุ่งนี้ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน ทุกอย่างเหมือนเดิม
ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แล้วเสียงตะหลิวของยายก็จะปลุกให้กะทิตื่นขึ้นพบกับโลกใบนี้อีกครั้ง…
(งามพรรณ เวชชาชีวะ , ๒๕๖๐ น. ๑๑๒)
ความสุขของกะทิ จึงเกิดขึ้นเมื่อกะทิอยู่กับปัจจุบัน ไม่อาลัยกับอดีตที่เธอต้องเสียแม่ไป และไม่โหยหาอนาคตเพื่อตามหาพ่อ แต่เธอกลับเลือกชีวิตที่เป็นสุขอย่างที่เคยเป็นมา ดังตัวอย่างข้างต้นเป็นประโยคเดียวกับที่ผู้เขียนเปิดเรื่องมาด้วยเนื้อความนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นความเรียบง่ายและเป็นสุขในชีวิตของกะทิ แม้กะทิจะผ่านเรื่องราวมาอย่างหนักหนา แต่เธอก็เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ครอบครัวที่นิยามขึ้นมาจากความอบอุ่น ความรักที่ทุก ๆ คน รอบตัวมีให้กะทิ และการเลือกอยู่กับปัจจุบันไม่ต้องไขว่คว้าให้เกินแรง คงจะเป็นความสุขในแบบที่กะทิเลือกแล้ว
มาถึงวันนี้ ความหมายของคำว่าความสุขที่ผมเฝ้าโหยหามาตลอด เริ่มประจักษ์ชัดจากการเรียนรู้เรื่องราวของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่าง ‘กะทิ’ ทำให้มุมมองที่มีต่อความสุขของผมเปลี่ยนไป ความหมายของความสุขที่ผมได้รู้ในวันนี้อาจไม่ใช่สมการสูตรสำเร็จ แต่เป็นมุมมองที่ทำให้เข้าใจคำว่า ‘ความสุข’ ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
งามพรรณ เวชชาชีวะ. (๒๕๖๐). ความสุขของกะทิ. กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์
บทวิจารณ์โดย นายปัญญา สุภาจารย์