รางวัลปีศาจ : รางวัลวรรณกรรมใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

รางวัลปีศาจ

นายกิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและบรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนเองว่า

มีรางวัลทางวรรณกรรมจำนวนมากกำเนิดขึ้นในช่วงตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ละรางวัลยึดโยงคุณค่ากับตัวบุคคล สถาบันผู้มอบให้ แม้แต่สนับสนุนการรักษาสถานะ การอยู่ในระบบระเบียบภายใต้ ”ความสร้างสรรค์” โดยกรรมการที่แทบจะผูกขาดโดยกลุ่มคณะผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดียวกันโดยตลอด จึงเป็นเรื่องชวนให้คิดด้วยว่า มีรางวัลใดบ้างที่ผู้มอบให้ตระหนักถึงคุณค่าในตัวของผู้รับ โดยผู้รับเองไม่ต้องถูกกดให้หมอบราบลงไปเพื่อรับรางวัลทั้งหลายเหล่านี้ เพราะในความจริงแล้ว ผู้รับไม่จำเป็นต้องรู้สึกติดค้างเป็นหนี้บุญคุณผู้มอบรางวัลแต่อย่างใดเลย ผู้มอบรางวัลหรือตัวแทนของรางวัลนั้นเสียอีกที่ควรขอบคุณ ดังนั้นถ้าจะมีรางวัลวรรณกรรมสักรางวัลหนึ่งมอบให้ผู้ประพันธ์ผลงานชิ้นยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ฯลฯ เขาก็ควรรับรางวัลนั้นอย่างภาคภูมิใจ มิใช่ต้องค้อมตัวลงแนบพื้น

“รางวัลปีศาจ” จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซึ่งมุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลง ด้วยเพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่เป็นหัวใจหรือรากฐานของความเป็น “วรรณกรรม” คือความเปลี่ยนแปลง การเขียนคือการปฏิวัติ โดยที่ผ่านมา นานนับศตวรรษ เราตระหนักถึงความหมายของความเปลี่ยนแปลงนี้น้อยเกินไป เรากำหนดเพดานของความเป็นนักเขียน งานเขียนไว้ต่ำเตี้ยเกินไป

“รางวัลปีศาจ” สมาทานชื่อมาจากนวนิยายเรื่องเยี่ยมของเสนีย์ เสาวพงศ์ ด้วยความตั้งใจจะเป็นรางวัลที่สนับสนุนผลงานที่มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปแบบ ความคิด วิธีการ เพื่อต่อต้านและช่วงชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ในสงครามวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ

“รางวัลปีศาจ” มีรากฐานมาจากประชาชน ความเป็นคนสามัญ จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเราสนับสนุนวรรณกรรม ส่งเสริมความคิดแบบประชาธิปไตย และถือหลักดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่สุด....

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ