ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปูชนียบุคคลภาษาไทย ถึงแก่กรรม วันอังคาร ที่ ๑๘ ก.ค.๖๐
ศาสตราจารย์ สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ เมธีวิจัยอาวุโส สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สำนักกองทุนวิจัย(สกว.) ท่านเป็นนักวิชาการที่บุกเบิกงานศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านและคติชนวิทยาของภาคใต้ ท่านได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในรูปของเอกสาร วัตถุสิ่งของ แถบบันทึกเสียง แถบภาพ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวใต้และขนบธรรมเนียมนิยมในท้องถิ่นซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปหัตถกรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนซึ่งอาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย จนเป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการ และได้ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจงานศึกษาวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคใต้อย่างกว้างขวาง
ท่านเป็นผู้จัดตั้ง “สถาบันทักษิณคดีศึกษา”ขึ้นในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา(ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) มาตั้งแต่แรก เพื่อรวบรวมข้อมูลและแหล่งการค้นคว้าวิจัย ต่อมาได้จัดหาสถานที่เพื่อการเผยแพร่ให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ และเพื่อเป็นประโยชน์มากขึ้น จึงได้สถานที่ตั้งใหม่ ชื่อ"พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา" อยู่บนเนินเขาที่เกาะยอ หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา การเดินทางสะดวกและมีทิวทัศน์ที่สวยงามล้อมรอบด้วยทะเลสาบสงขลา จึงขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจทั้งการท่องเที่ยวและเรียนรู้คติชนวิทยาปักษ์ใต้ไปศึกษาและท่องเที่ยวให้ได้
ศ.สุธิวงศ์มีงานเขียนหนังสือและงานวิจัยทางวัฒนธรรมมากมาย ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนเกี่ยวกับคติชนวิทยาภาคใต้ งานการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ และการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ทั้งหมดนั้นเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแบบอย่างในการศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
เขียนอย่างไรให้มีค่า โดย ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
เขียนเพื่ออะไร
ความมุ่งหมายที่แท้จริงของการเขียนก็คือ เขียนเพื่อให้ผู้อื่นอ่าน ยิ่งมีผู้อ่านมากเท่าไรงานเขียนนั้นก็ยิ่งเกิดผลมากเท่านั้น แต่จะมีผลดีหรือผลเสียนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อหาและวิธีเขียน
การเขียนทุกครั้ง ผู้เขียนจึงควรคำนึงถึงผู้อ่านเป็นอันดับแรกว่า ผู้อ่านคือใคร มีมากน้อยเพียงใด มีวัยและการศึกษาเป็นอย่างไร มีพื้นฐานความรู้และความคิดเป็นอย่างไร ควรเขียนอะไรให้แก่เขาได้รู้ขึ้นมาอีกบ้าง และสิ่งที่เขียนนั้นจะอำนวยประโยชน์อะไรให้แก่ผู้อ่าน
งานเขียนบางอย่าง ผู้เขียนอาจมีเจตนาให้บุคคลเฉพาะกลุ่มได้อ่าน เช่น เขียนให้เด็กอ่าน เขียนให้นักธุรกิจอ่าน งานเขียนบางอย่างเขียนให้อ่านกันในช่วงเวลาจำกัด เช่น มีผลเฉพาะเพียงวันหรือสองวัน แต่งานเขียนบางลักษณะผู้เขียนต้องการเขียนให้คนมากกลุ่มอ่านและไม่ว่าจะอ่านเมื่อไร ก็ยังคงประโยชน์อยู่ตลอดไป
การเขียนซึ่งมีเจตนาต่างกันดังกล่าวแล้วนี้ จึงต้องเลือกเนื้อหา เลือกวิธีเขียน เลือกรูปแบบของการเขียน และเลือกใช้ภาษาที่ต่างลักษณะกัน จึงจะเกิดผลสมคามความมุ่งหมาย
เขียนอย่างไรจึงจะเรียกว่า “เขียนดี”
งานเขียนที่ดี คือ งานเขียนที่ผู้เขียนเขียนด้วยความรับผิดชอบ เขียนอย่างประณีต มีการเลือกใช้รูปแบบของการเขียน เลือกเนื้อหาและถ้อยคำภาษาได้เหมาะกับกาลเทศะและบุคคลที่อ่าน
1) ที่ว่า “เขียนด้วยความรับผิดชอบ”นั้นหมายถึง ผู้เขียนจะต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของเนื้อหา แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล มองปัญหาต่างๆ อย่างถี่ถ้วนและลึกซึ้ง มุ่งแต่เฉพาะให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกและเกิดทรรศนะที่ดีงาม อันล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งในปัจจุบันและอนาคต
2) ที่ว่า “เขียนด้วยความประณีต”นั้น หมายถึง ผู้เขียนต้องใช้ความสุขุมรอบคอบ เอื้อต่อวัฒนธรรมทางด้านภาษา ขนบประเพณี พยายามสร้างสรรค์ค่านิยมที่ดีงาม หมั่นเสาะหาความรู้และความคิดที่เป็นคุณ ขจัดข้อบกพร่องทั้งปวงออกไปให้หมดสิ้น ทบทวนดูความถูกต้องทุกถ้อยคำทุกวรรคตอน ไม่ใช่เขียนแบบขอไปที
3) การเลือกใช้รูปแบบของการเขียนให้เหมาะสมกับเนื้อหา เป็นศิลปะอย่างหนึ่งอันจะช่วยให้ผู้อ่านและเห็นทั้งสาระของเรื่อง และเห็นเจตนาของผู้เขียนได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นผู้มีภูมิความรู้ น่าศรัทธา ไม่ใช่เป็นคนที่มีแต่ความรู้หรือความคิด แต่ขาดระบบแบบแผน
4) การเลือกใช้ถ้อยคำภาษาไทยเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล ย่อมแสดงว่า ผู้เขียนเอื้อต่อผู้อ่านมากกว่ามุ่งแต่จะสนองอารมณ์และความคิดของตนเอง
ทำอย่างไรจึงจะเขียนเป็น
การเขียนต้องอาศัยทั้งหลักวิชาและศิลปะ การหมั่นศึกษาหลักการเขียนและรู้จักสังเกตวิธีเขียนของผู้ที่มีความสันทัดจะเป็นแนวทางสำหรับผู้เริ่มหัดเขียน และการฝึกฝนอยู่เสมอ ฝึกอย่างถูกวิธีก็จะช่วยให้เกิดความชำนาญ
การอ่านมาก ฟังมาก อ่านและฟังอย่างใช้ความสังเกตจะช่วยสร้างสมความรอบรู้และความคิด ซึ่งเปรียบเสมือน “ทุน”ที่จะใช้เขียนได้สะดวก
ผู้รักการเขียนจำเป็นต้องทำตนให้เป็น “พหูสูต” ไม่ควรปล่อยให้สิ่งที่พบเห็นผ่านเลยไปโดยสังเกตใคร่ครวญและจดจำ
ในตำราอลังการศาสตร์* กล่าวว่า “ความคิดเป็นหัวใจสำคัญของงานเขียน ความรอบรู้เป็นเครื่องประดับและความใกล้ครูจะช่วยให้เขียนงานง่ายขึ้น” คำว่า ใกล้ครู หมายถึง การหมั่นศึกษาถึงวิธีการเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียง การรู้จักเลือกสรรรูปแบบการเขียนที่ดีๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสม รวมทั้งการลงมือปฏิบัติจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จะเขียนอะไร
เนื้อหาสาระของการเขียน ถ้ากล่าวโดยย่อที่สุด จำแนกได้เพียง ๓ ประการเท่านั้น คือ ความรู้ที่ควรรู้-ประการหนึ่ง ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์-ประการหนึ่ง และ การพัฒนาอารมณ์หรือความรู้สึกให้เจริญงอกงาม อีกประการหนึ่ง
1) ที่ว่าความรู้ที่ควรรู้นั้น จะต้องวิเคราะห์เอาจากผู้ที่จะอ่าน ผู้เขียนต้องอนุมานได้ว่า ผู้ที่จะอ่านเรื่องของเรา รู้สิ่งที่เราจะเขียนอยู่ก่อนแล้วเพียงใด ควรจะ “บอก”ให้เขารู้อะไรอีกบ้าง บอกอย่างไร แค่ไหน จึงจะ “รับ”ได้ และนำ “ไปใช้ให้เกิดประโยชน์”ได้ การเขียนเพียงบอกว่า “กระบือมี ๔ ขา” เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์เฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยรู้จักกระบือมาก่อนเท่านั้น หรือ การเขียนบอกว่า “งูเห่าเป็นงูพิษร้ายแรง” เป็นความรู้ที่เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้ไม่จริงของผู้เขียน เป็นความรู้ที่เป็นโทษ (งูจงอางเป็นงูพิษร้ายแรง - จขบ.)
2) ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ คือ ความคิดเห็นที่ช่วยให้ผู้อื่นเรืองปัญญา ยั่วยุให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล กระตุ้นให้คิดเป็น ให้รู้จักคิดอย่างรอบคอบลึกซึ้ง คิดอย่างไม่มีอคติ คิดแต่เฉพาะสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้ คิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เป็นคุณแก่ตนเองและสังคม
สรุปว่าความคิดนั้นๆ เป็นสิ่งเสริมสร้างให้ผู้อ่านเป็นคนมี “สัมมาทิฐิ” ไม่ใช่คิดเพ้อเจ้อ คิดวุ่นวาย คิดทำลาย ซึ่งเป็นประเภท “มิจฉาทิฐิ”
3) การพัฒนาอารมณ์ หรือความรู้สึกให้เจริญงอกงาม คือการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตาม เพื่อขจัดอารมณ์ที่บกพร่องและเป็นอุปสรรคแก่ความเจริญทั้งกาย วาจาและจิตใจ เช่น เขียนปลุกให้ละความเฉื่อยชา ความไม่กระตือรือร้น ปลอบให้ละวางความทุกข์ ความกังวล ยั่วยุให้เกิดมานะ ติงให้เกิดความกระดากอายที่จะประพฤติผิดประพฤติชั่ว เร่งเร้าให้เป็นคนกล้าเสียสละ เหล่านี้เป็นต้น
การเขียนถ้อยคำ ประโยค อนุเฉท** หรือเขียนเรื่องขนาดยาวสักเพียงใดก็ตามถ้าไม่มีทั้ง ”ความรู้ที่ควรรู้” “ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์” และ “ความรู้สึกที่เป็นพลังในการพัฒนา” การเขียนครั้งนั้นก็มีค่าเท่ากับไม่ได้เขียน และบางทีไม่เขียนยังเสียดีกว่า
cr.http://oknation.nationtv.tv/blog/nn1234/2011/07/20/entry-1
เขียนอย่างไรให้มีค่า : โดย ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
Writer
Ampaporn Borworn