ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา : ความสุขที่ไม่ต้องตามหา...ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

‘ความสุข อยู่รอบตัว’ เป็นประโยคที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่บ่อยๆ เมื่อพูดถึงเรื่องความสุขและสิ่งใกล้ตัว กมลเนตร เรืองศรี คงเป็นหนึ่งในคนที่คิดและเชื่ออย่างนั้น เธอได้พิสูจน์มันด้วยการบอกเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดออกมาผ่านตัวอักษร ในหนังสือ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เป็นผลงานรวมสารคดีสั้นทั้ง 24 ตอน จากคอลัมน์มุม มอง เห็น ในนิตยสาร a day และอีก 1 ตอนพิเศษที่ผู้เขียนเพิ่มเติมลงในผลงานเล่มแรก โดยนักเขียนสาวผู้มองเห็นความงดงามของชีวิต กมลเนตร เรืองศรี ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจาก มุม ของผู้เขียนที่ มองเห็น ความงดงามและความสุขจากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว รวมไปถึงความทรงจำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวผ่านตัวอักษร

ด้วยความช่างสังเกตของผู้เขียน ทำให้เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดเล็กน้อยของชีวิตที่หลายคนอาจมองข้ามไป โดยเฉพาะเรื่องของความสุข เช่น ความสุขจากรอยยิ้มของคุณลุงผู้มีใจรักงานบริการท่ามกลางแดดร้อน จากตอนกลางแดด-กางร่ม-อมยิ้ม, ร้านขายเครื่องดนตรีเพอร์คัสชัน ที่ไม่ได้ขายเพียงเครื่องดนตรี แต่ยังขายความสุข ที่จ่ายด้วยรอยยิ้มและอาจทอนเป็นคำขอบคุณ จากตอนว่าด้วยเรื่องของความสุข ซึ่งทำให้ผู้อ่านพลอยยิ้มและอิ่มใจกับเรื่องราวเหล่านั้น เหมือนได้เติมพลังบวกให้กับชีวิต และยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านได้อีกด้วย เช่น

“…การออกเดินทางเพียงครั้งเดียว อาจได้อะไรมากกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิบเล่ม ลองปิดหนังสือ แล้วไปแพลนการเดินทางไปเที่ยวดูสิ เที่ยวตอนมีแรงสนุกกว่าเที่ยวตอนมีเงิน (มาก) เพราะตอนที่มีเงิน (มาก)แล้ว ไม่รู้ว่าเราจะยังมีแรงอยู่หรือเปล่า...” (รู้สึกมากกว่า : หน้า 140-141) ในบางเรื่องที่เขียนถึงความรัก ซึ่งเป็นมุมมองของความรักที่น่ารักและไม่ฉาบฉวย ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย ละมุนละไม และเปลี่ยนคำว่า ‘ฉัน’ เป็นคำว่า ‘ผม’ โดยให้เหตุผลว่า คำว่า ‘ผม’ ทำให้ดูละมุนขึ้นและไม่เหมือนหนังสือแปล เหมือนกับรสชาติของมอคค่าร้อนที่มีความหอมแบบขมๆของช็อกโกแลต แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนใส่ใจกับการเลือกสรรถ้อยคำสื่อความหมายออกมาได้กินใจยิ่งขึ้น สร้างความประทับใจและทำให้ผู้อ่านอดยิ้มตามไม่ได้ เช่น

“...มีคนถามผมว่า ระหว่างผมกับเธอ ใครน่ารักกว่ากัน? คำตอบของผมคงจะเป็น ‘เรา’ ถ้ามีคนถามผมว่าตอนนี้กำลังมีความรักเหรอ? ผมจะส่ายหน้าเบาๆ ยิ้มบางๆ แล้วตอบเขาไปว่า ‘ผมกำลังมีความสุข’ ผมแค่รู้สึกว่าเมื่อมีความสุขกับสิ่งใดก็ควรให้เวลากับสิ่งนั้น...” (มอคครับ มอคค่า : หน้า 160) นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่สะท้อนชีวิต ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดและใส่ใจกับรายละเอียดของชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวของคนรอบข้าง คนใกล้ตัว และการใช้ชีวิต เช่น

“...ไม่สำคัญว่าภาพถ่ายจะต้องคมชัด เพราะความรู้สึกขณะลั่นชัตเตอร์...สำคัญกว่า...” ( เสียงกระซิบของสายรุ้ง : หน้า 42 ) “...เราไม่สามารถตัดสินคนคนหนึ่งจากการพบเจอเพียงครั้งเดียว ได้ยินข่าวคราวเพียงผิวเผิน หรือแม้แต่การบอกเล่าจากใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น...โลกยังเปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งพิสูจน์ ‘ความเป็นคน’ ไปตลอดชีวิตของเขา...” ( มองเมฆเห็นหมี : หน้า 49 ) “...ความสุขกับความทุกข์เป็นของที่มาคู่กัน เป็นธรรมะ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน...” ( เรื่อง-ธรรมะ-ดา : หน้า 212)

ผู้เขียนมีวิธีการนำเสนอในรูปแบบของการเล่าเรื่อง โดยใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายและได้ใจความ ไม่เป็นทางการจนเกินไป การใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า เรา และแทนผู้อ่านว่า คุณผู้อ่าน ทำให้รู้สึกเป็นกันเองเหมือนผู้เขียนกำลังเขียนจดหมายถึงเพื่อน บอกเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเจอมาและมุมมองของตนเองต่อเรื่องราวเหล่านั้นให้เพื่อนฟัง ซึ่งเพื่อนในที่นี้ก็คือผู้อ่านนั่นเอง

อีกหนึ่งสิ่งที่ประทับใจหนังสือเล่มนี้คือการตั้งชื่อเรื่องได้น่าสนใจ มีการใช้ถ้อยคำที่ชวนให้สงสัยอยากจะรู้เรื่องราวทั้งหมด และเมื่ออ่านจบทำให้รู้สึกเหมือนตอบคำถามที่ชวนสงสัยแต่แรกว่าทำไมจึงตั้งชื่อเรื่องนี้ เช่น ระยะทางมีค่ามากกว่าการกระจัด, ป่าไม้เดียวกัน, ใคร (คือผู้) กำกับ?

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากเล่มอื่นๆ คือความช่างเปรียบเทียบ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ลายเซ็น’ ของผู้เขียนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายและสามารถเห็นภาพได้ชัดเจน ด้วยภาษาของผู้เขียนเอง ดังนั้นสิ่งที่มากกว่าการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริง คือการใส่จินตนาการของผู้เขียนลงไป โดยการเลือกสรรถ้อยคำและใช้ภาษาที่สละสลวยได้อย่างลงตัว ชวนให้ผู้อ่านคล้อยตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะทางมีค่ามากกว่าการกระจัด ซึ่งเปรียบเทียบการวิ่งวนกลับมาที่เดิม มีการกระจัดเป็นศูนย์ ในขณะที่ระยะทางนั้นมีค่าเท่ากับเส้นทางที่ออกวิ่ง แม้ว่าจะกลับมาที่เดิม ในสนามวิ่งเราได้ออกกำลังกาย แต่ในสนามของความรัก เราได้ออกกำลังใจ หรือการเปรียบเทียบในตอนอื่นๆ เช่น

“...ของเล่นในวัยเด็กกับรูปถ่าย มีความเหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือความรู้สึกขณะนั้น... เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจไม่ได้นึกถึงความรู้สึกนั้นๆ แต่ความทรงจำจะผุดขึ้นมาก็ต่อเมื่อเราเห็นมันอีกครั้ง...” (คิงคอง บาร์บี้ รถบังคับ และเรือกระดาษ : หน้า 181) “...เราว่าการปฏิบัติธรรมเหมือนกับการกินข้าว ใครกิน ใครอิ่ม ต่อให้คนอื่นบอกว่าจานนี้อร่อย แต่หากเราไม่ได้กินเองเราก็ไม่มีทางได้รับรู้ถึงความอร่อยนั้น...คุณจะได้รู้ด้วยตนเองว่า เมนูธรรมะนั้น อร่อยใจ...” (เรื่อง-ธรรมะ-ดา : หน้า 214) “... ‘เราไม่ใช่หมี เราไม่ใช่หมาป่า เราเป็นเมฆ’ ก้อนเมฆปุกปุยสีขาวจั๊วะปรากฏตัวอยู่บนท้องฟ้าสีสด ตะโกนลงมาบอก พร้อมฝากให้คิดก่อนจะตัดสินใจรู้สึกอะไรกับใครสักคน” ( มองเมฆเห็นหมี : หน้า 50 )

ในแต่ละบทรวมไปถึงหน้าปกมีภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ทำให้หนังสือน่าสนใจ และเล่าเรื่องราวได้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านภาพประกอบที่แทรกมาในแต่ละบท ‘ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา’ มาจึงเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่ม สำหรับผู้อ่านที่อยากจะอ่านเพื่อเป็นอาหารสมองและอาหารใจ ให้ได้มองเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง ผ่านสายตาของนักเขียนช่างสังเกต ‘ความสุข’ ผ่านตัวอักษรอย่างเป็นมิตรให้กับผู้อ่าน เพื่อเติมพลังใจให้ก้าวต่อไป เพราะโลกใบนี้ยังมีเรื่องราวดีๆอีกมากมายในมุมที่เรายังมองไม่เห็นหรืออาจะเพียงยังไม่ได้สังเกต ความสุขนั้นสร้างง่ายและใกล้ตัวกว่าที่คิด อย่างน้อยก็อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ...‘ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา’

 

บทความโดย : นางสาวธัญญารัตน์ โคตรวันทา ชั้นปีที่ 1
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

The Reader by Praphansarn