ธีรนพ หวังศิลปคุณ
“ดีไซเนอร์ที่ดีต้องบาลานซ์ระหว่างศิลปะกับการขายของให้เข้ากับ Nature ของธุรกิจลูกค้า”
หลายคนคิดว่างานกราฟิกดี ไซน์ที่เป็น Corporate Identity จะถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในส่วนท้ายๆ ไม่ต่างไปจากงานปลายท่อ แต่ความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ คุณธีรนพ หวังศิลปะคุณ ครีเอทีฟดีไซเนอร์ และผู้ก่อตั้ง บริษัท TNOP DESIGN จำกัด มีคำตอบ และทัศนะดีๆ มาฝาก ตามประสาของกราฟิกดีไซเนอร์ที่ผ่านการทำงานที่เมืองไทย และฝากผลงานไว้มากมายที่เมืองลุงแซมมานานกว่า 15 ปี
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า งาน Corporate Identity เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้นที่คิดว่าเป็นงานปลายท่อ แต่ที่อเมริกาก็ยังมีกลุ่มคนที่ยังคิดแบบนี้อยู่ แม้ว่าคนอเมริกันจะเป็นเชื้อชาติที่มีดีไซน์อยู่ในสายเลือดก็เถอะ บางทีผมไปในต่างเมือง ก็ยังเคยรู้สึกว่ามันยังดูเชยๆ อยู่ เหตุผลหลักไม่มีอะไรมาก เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่มากนั่นเอง มีเพียงเมืองใหญ่ๆ เท่านั้นมีการพัฒนาในเรื่องดีไซน์ สำหรับเมืองไทยคงต้องใช้เวลา ผมว่าพอคนเราได้เห็นสิ่งที่ดีขึ้น เขาก็จะรู้สึกเริ่ม Adopt แล้วพอดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ก็พยายามจะแก้ปัญหา พัฒนาสิ่งต่างๆ นานาที่ผ่านมาให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วพอคนที่เคยปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ได้เห็นอะไรที่มันดีขึ้น เขาก็จะเริ่มลองใช้ หลังจากนั้นงานกราฟิกดีไซน์ก็จะถูกขยับบรรทัดฐานขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่เมืองไทยอาจจะช้ากว่าที่อื่นเท่านั้นเอง” คุณธีรนพ บอกกับเราว่า เมืองไทยเพิ่งจะออกอาการกระตือรือร้นในเรื่องนี้มาไม่กี่สิบปีมานี้เอง ทว่าเมืองนอกนั้นต่างกันลิบลับ
“เนื้อ งานส่วนใหญ่ของผมตอนที่ทำงานอยู่ที่ชิคาโก ก็จะครอบคลุม Corporate Identity ทุกอย่าง เพียงแต่ลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่งานคอนเสิร์ตไปจนถึงโลโก้และแพ็กเกจจิ้งของ Toilet Plunger เขาทำถึงขนาดนั้น เพราะเขานำดีไซน์เข้ามาอยู่กับชีวิตประจำวันทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เขาเข้าใจว่ามันเป็นงานดีไซน์ทั้งนั้น ผมคิดว่าคนอเมริกันผ่านตรงนี้มาก่อนเรา ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ยุค 50 ไล่มาจนถึงยุค 60 ที่เกิดวัฒนธรรมแบบ Consumerism ซึ่งเขาให้ความสำคัญกับดีไซน์เพื่อ Encourage ให้ประชากรซื้อสินค้า แต่ละปีก็จะมีนิทรรศการการออกแบบให้เราได้อัพเดทวัสดุใหม่ๆ มากมาย เท่าที่ผมได้สัมผัส ทำให้รู้ว่าเรื่องของศิลปะ และดีไซน์ เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของเขาสนับสนุน และคิดว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ งานศิลปะถึงได้มีการพัฒนา” คุณธีรนพ ฉายภาพให้เห็นถึงความแตกต่าง พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดยุคอินเตอร์เน็ตแล้วงานกราฟิกดีไซน์ของไทยไม่ได้ตามหลังเมืองนอก เลย
เรียกได้ว่าตอนนี้งานกราฟิกดีไซน์ทั่วโลกแทบจะเป็น Scene เดียวกันแล้ว เพราะใครทำอะไรมาก็เห็นเลย แต่คนไทยบางกลุ่มอาจะ Inspire จากสไตล์ใหม่ๆ ที่บางทีใครโพสต์รูปอะไรลงไปแล้วชอบ ก็เลยเอาแต่สไตล์ เทคนิค หรือเอฟเฟกต์ต่างๆ มาใช้กับงานของตัวเอง โดยที่ไม่ทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของงานว่าคืออะไร หรือไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มว่าทำไมดีไซเนอร์ถึงทำแบบนั้น
ฉะนั้นงานที่เรา เห็นในเมืองไทยส่วนหนึ่งจะเป็นงานที่ฉาบฉวย มองผ่านๆ เหมือนงานเมืองนอกเลย แต่ว่าไม่มีความลงตัวในดีเทล และไอเดีย ผมเสียดายตรงนี้ เพราะถ้าเราได้ศึกษาแล้วมันจะทำให้เราทำงานได้สนุกมากขึ้น และมีมิติมากขึ้น มันจะฝึกให้เรามีเหตุผลในการออกแบบในงานของเราด้วย เพราะเวลาที่เราใส่ทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในงานจะต้องตอบลูกค้าได้ว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงวางแบบนี้ ทำไมสัดส่วนถึงเป็นแบบนี้” ในฐานะ นักออกแบบที่ผ่านการทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองชิคาโกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางธุรกิจโฆษณาใน สหรัฐอเมริกามีเคล็ดลับดีๆ มาฝาก
“ผมเคยสอนลูกศิษย์ว่า การเปิดดูหนังสือดีไซน์เยอะๆ บ่อยๆ มันจะซึมเข้าไปในงานโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นควรซื้อหนังสือเกี่ยวกับ Case Study มาอ่าน เพราะเราจะได้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของดีไซเนอร์ หรืองานที่เป็น Monograph ของดีไซเนอร์มาศึกษา ผมว่าจะได้อะไรที่เยอะมากขึ้น เพราะเป็นการศึกษากระบวนการความคิดของคนๆ หนึ่งเลย”
วิธีการทำงานโดยส่วน ตัวของคุณธีรนพ นั้นมักจะมี Questionnaire ส่งให้ลูกค้าเขียนตอบกลับมา จากนั้นจะโทรคุยถามข้อมูลสินค้า เพราะอยากจะเข้าใจธุรกิจของเขา อีกอย่างตอนคุยกันจะทำให้เข้าใจ Attitude ของลูกค้าว่าความชอบเขาอยู่ตรงไหน จะสามารถ Inspire จากตัวลูกค้าได้เลย
“เท่าที่ผมได้สัมผัสกับลูกค้า โชคดีที่ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับงานดีไซน์อยู่แล้ว เขาคิดว่ามันไม่ใช่แค่งานกระดาษหัวจดหมายนะ เลยให้ความสำคัญกับงานดีไซน์ทุกขั้นตอน และเริ่มฟังดีไซเนอร์มากขึ้น แต่ตัวดีไซเนอร์ที่ดีต้องบาลานซ์ระหว่างศิลปะกับการขายของให้เข้ากับ Nature ของธุรกิจลูกค้าด้วย เพราะที่สุดแล้วลูกค้าเป็นคนที่รู้เรื่องสินค้ามากกว่าเราแน่นอน แต่ในส่วนที่ดีไซเนอร์รู้ดีที่สุด เราจะต้องสามารถ Convince ให้เขาเชื่อใจเราได้ ความเชื่อใจของลูกค้ามาจากหลายๆ อย่าง อาจจะมาจากสิ่งที่เขา Respect ในตัวของเรา หรือมาจากการให้ข้อคิดเห็น ข้อแนะนำด้วยความเป็นมืออาชีพ ด้วยการอธิบายอย่างมีเหตุผลมีหลักการ” คุณธีรนพ กล่าวทิ้งท้าย Profile
หนุ่มที่ลงลึก ในรายละเอียด และมีศิลปิน Bruno Munari เป็นขวัญใจคนนี้ ทันทีที่จบคณะศิลปกรรม สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เข้ามาอยู่ในแวดวงกราฟิกดีไซน์ครั้งแรกที่ JWT จากนั้นข้ามค่ายไปเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์บริษัท Next ตามคำชักชวนของต่อ สันติศิริ แต่ชอบงานประเภท Individual มากกว่า ปี 2000 จึงเหินฟ้าไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา แล้วเริ่มงานกราฟิกดีไซน์อีกครั้งที่ Graphic Design Firm แห่งหนึ่งในมลรัฐชิคาโก ภายหลังเปิดบริษัทเองในนาม TNOP Design ในที่สุดปีที่แล้วตัดสินใจกลับมาทำงานบนผืนแผ่นดินเกิด พร้อมกับลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศมากมาย อาทิ OOKLA,Copperwired และสูทอลงกรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงานการออกแบบหนังสือของคุณ ธีรนพ
ขอบคุณที่มา : รายการไทยเท่ , http://www.brandage.com/