คำพิพากษา : ใคร ฆ่า ฟัก ?

คำพิพากษา

“คำพิพากษา” นวนิยายรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2525 ผลงานของ ชาติ กอบจิตติ ซึ่งพิมพ์ซ้ำมากกว่าห้าสิบครั้งและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษาได้แก่ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมัน และฝรั่งเศส รวมทั้งยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกหลายครั้ง “คำพิพากษา” จึงเป็นนวนิยายที่น่าอ่านและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวความฉาวโฉ่ว่า ฟัก ได้แม่เลี้ยงเป็นเมียนำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรมในตำบลเล็กๆ แห่งหนึ่ง ถือเป็นความเสื่อมเสียและน่ารังเกียจของคนในสังคมที่นั่น ฟักกับพ่ออาศัยอยู่ที่ดินหลังวัดโดยพ่อเป็นภารโรง ในตอนเด็กฟักบวชเป็นเณรสอบได้นักธรรมตรี โท เอก เทศนาให้คนในหมู่บ้านได้ฟัง ต่างก็พากันชื่นชมและยกย่องให้ฟักเป็นเยาวชนตัวอย่างของตำบล จนกระทั่งฟักสึกออกมาเนื่องจากทนเห็นพ่อลำบากคนเดียวไม่ได้ แม้จะถูกทัดทานจากคนรอบข้างก็ตาม

หลังจากที่ฟักไปเป็นทหารประจำการที่ภาคใต้ พ่อของฟักก็มีเมียเด็กเป็นคนสติไม่เต็มเต็งชื่อ สมทรง คนในหมู่บ้านต่างก็ครหาว่า ตาฟู พ่อของฟัก ตัณหาหลับมีเมียเด็กคราวลูก พอฟักปลดประจำการกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นานตาฟูก็ตาย

ในคืนวันงานแซยิดของหลวงพ่อที่วัด สมทรงประกาศว่าฟักเป็นผัวของนาง ทำให้เรื่องคาวคลุ้งฟุ้งไปทั้งตำบลตั้งแต่คืนนั้น คนในตำบลต่างก็หันหลังให้ฟัก โลกภายนอกของฟักหลังจากนั้นจึงมีแต่งานและงาน ความเครียดเริ่มนำพาความเสื่อมโทรมมาให้ฟักจนผ่ายผอมลงเรื่อยๆ ความดีของฟักอย่างเช่น การดูแลความเรียบร้อยของวัด การฆ่าหมาบ้าที่เป็นอันตราย (ซึ่งที่จริงอาจไม่บ้า) และอื่นๆ เหมือนกับเหรียญที่ตกลงไปในน้ำ กระเพื่อมพริบแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ก่อนที่มันจะเงียบสงบและจากไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากงานเผาศพตาฟู ฟักติดเป็นคนติดเหล้า ชีวิตในตำบลมีเพียง ลุงไข่ หรือสัปเหร่อไข่เท่านั้นที่คอยเป็นเพื่อน จนถึงวันที่ฟักจากโลกใบนี้ไปในเช้าวันหนึ่ง;

หลังจากฟักจากโลกไปแล้ว คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคงจะเป็น ครูใหญ่ ซึ่งได้รับการสรรเสริญว่าเป็นคนดี ทั้งที่ฟักกล่าวหาว่าครูใหญ่โกงเงิน แต่ครูใหญ่ก็ไม่เคยโกรธ อีกทั้งยังจัดงานศพให้ฟักอีกด้วย ส่วนนางสมทรงก็ถูกนำตัวไปรักษายังกรุงเทพมหานครที่ที่นางเคยจากมา แต่ความชั่วช้าที่สังคมตราหน้าว่าฟักก็ยังคงถูกเล่าต่อไปเรื่อยๆ แต่ฟักไม่อาจจะรับรู้ได้อีกแล้ว ฟักจากไปทิ้งเอาไว้เพียงความรู้สึกผิดให้กับคนที่มีชีวิตอยู่ นั่นคือลุงไข่ของฟัก

ตัวละครตัวหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในบางช่วง แต่กลับน่าสนใจอย่างมากคือสัปเหร่อไข่ ผมมองว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะใช้สัปเหร่อไข่เข้ามาเทียบกับชีวิตของฟัก เพื่อจะทำให้ผู้อ่านมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน หากฟักคือคนที่ต้องการการยอมรับจากสังคมทำทุกอย่างแม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนขอแค่มีที่ยืนอยู่ในสังคม ขอแค่มีคนหันมาสนทนากับตนเหมือนอย่างก่อนและให้ความสำคัญต่อสังคมมากกว่าตัวเอง แต่สัปเหร่อไข่คือคนที่วางตัวนิ่งเฉย แม้ว่าคนเหล่านั้นจะมองมาด้วยความดูถูกดูแคลน แต่สัปเหร่อไข่ก็ไม่ได้ใช้ความคิดของคนเหล่านั้นมาเป็นแก่นสารของชีวิต ซึ่งแตกต่างจากฟักโดยสิ้นเชิง

ครั้งแรกที่ตัวละครตัวนี้ก้าวเข้ามาในฉากช่วงวันสงกรานต์ ฟักมีมุมมองต่อสัปเหร่อไข่ว่าเป็นคนท้ายแถวของคนในตำบล เป็นคนสกปรก ซึ่งใช้ชีวิตเกลือกกลั้วอยู่กับศพ ผู้เขียนใช้คำพูดว่า “สัปเหร่อไข่” แล้วจึงกลายมาเป็น “ลุงไข่” ในเวลาต่อมาที่ทั้งคู่เริ่มสนิทกัน

“...วันนี้ฟักมาช่วยงานที่วัดด้วย มีสัปเหร่อไข่คอยจัดแจงทุกอย่างในงาน เป็นหน้าที่ของแกโดยตรง แต่ฟักก็เอาแรงเข้าร่วมกับสัปเหร่อ แม้ว่าส่วนลึกจะรู้สึกรังเกียจแกก็ตาม...” (หน้า ๖๙)

สัปเหร่อไข่เข้ามามีบทบาทอีกครั้ง เมื่อฟักตัดสินใจเผาศพตาฟูผู้เป็นพ่อ สายตาฟักยังคงมองว่าสัปเหร่อไข่นั้นต่ำต้อยเหมือนเดิม

“...ขณะเดินไปตามสวนมะพร้าวนั้น ฟักไม่รู้ว่าทำไมตัวเองจึงรู้สึกมั่นใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ไม่นึกประหม่าหวาดกลัวเหมือนเช่นเดินไปหาคนอื่น ๆ ซ้ำบางขณะยังคิดว่าเดินไปหาคนที่ต่ำต้อยกว่าเสียอีก และในนาทีเดียวนั้นกลับรู้สึกว่าตัวเองเขื่องขึ้นมาเหมือนเมื่อก่อน...” (หน้า ๑๑๖)

ความคิดของฟักต่อตัวละครตัวนี้เหมือนเป็นการผลักตัวเองให้สูงขึ้นอีกนิด อย่างน้อยก็มีคนที่ต่ำต้อยกว่าตนเองในความคิดของฟัก

ผู้เขียนยังสะท้อนความคิดของฟักเมื่อครั้งยังเป็นสามเณรน้อยที่คนในตำบลรักใคร่อีกว่า ตอนนั้นฟักไม่เคยอยากที่จะวิสาสะกับสัปเหร่อไข่แม้สักครั้ง ทั้งที่แกก็ไม่ได้แสดงพฤติกรรมอะไรที่น่ารังเกียจ หรือแม้แต่กับข้าวที่แกใส่บาตรมา พระ เณร และเด็กวัดก็จะไม่ยอมกิน

หลังจากที่ฟักเข้าไปคุยเรื่องงานศพพ่อแล้ว สัปเหร่อไข่ก็ถามสารทุกข์สุกดิบ และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ฟักได้ระบายความอัดอั้นตันในออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ รวมถึงเรื่องที่ว่านางสมทรงเป็นเมียของเขาด้วย ลุงไข่เชื่อว่าฟักไม่ได้เอาเมียพ่อเป็นเมียตัวเอง และเรื่องราวอัดอั้นตันใจก็ถูกระบายออกมาจนหมดสิ้นให้คนที่ฟักมองว่าต่ำต้อยได้รับฟัง มุมมองของฟักจึงแปรเปลี่ยนไป

แต่กระนั้นฟักเองก็ยังไม่เชื่อที่ลุงไข่บอกทั้งหมดว่าเชื่อใจฟัก ฟักคิดทบทวนหลายครั้ง หวาดระแวง จนคิดกระทั่งว่าลุงไข่พูดเพื่อเอาใจตน เพราะตนมีงานให้ทำและหวังเพียงเงินของฟัก ความคิดนั้นยิ่งตอกย้ำไปอีกเมื่อมีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความไว้วางใจของฟักเริ่มหมดจากสัปเหร่อไข่

ลุงไข่เห็นฟักมาตั้งแต่ฟักยังเด็ก ตาฟูเป็นช่างไม้ที่มากับผู้รับเหมาก่อสร้างศาลาวัด เมื่องานเสร็จก็มาขออาศัยอยู่ที่วัดต่อ ในครั้งแรกลุงไข่เองก็กล่าวทัดทานหลวงพ่อ แต่เมื่อหลวงพ่อตัดสินใจแล้วก็ได้แต่รอดูกันต่อไป ตาฟูกับลุงไข่เป็นเพื่อนกัน และลุงไข่ก็เฝ้ามองความเติบโตของฟักจนถึงตอนนี้ วันที่เผาศพตาฟูไม่มีคนเข้ามาเผาศพพ่อของฟัก ฟักเฝ้าโทษตัวเองว่าคนเกลียดตัวเองจึงไม่มาเผาศพพ่อ และวันนั้นลุงไข่ก็แนะนำให้ฟักรู้จักโลกอีกใบ “โลกของเมรัย” นั่นเอง

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ฟักก็จ่ายค่าเหนื่อยให้ลุงไข่ แต่ลุงไข่กลับไม่รับค่าเหนื่อยนั้น อีกทั้งยังร่วมทำบุญกับตาฟูพ่อฟักด้วย ฟักรู้สึกละอายแก่ใจที่เคยเข้าใจผิด จนต้องสารภาพผิดกับลุงไข่ เรื่องที่เขามองลุงไข่ผิดไป

ลุงไข่เองก็ระบายความในใจให้ฟักฟัง ไม่เคยมีใครให้ความสำคัญกับตัวเขา นอกจากเวลามีงานที่ต้องไหว้วานให้สัปเหร่ออย่างเขาทำ ไม่เคยมีเด็กคนไหนให้ลุงไข่อุ้ม ไม่เคยมีใครกินข้าวสำรับเดียวกับลุงไข่เพราะเขารังเกียจความสกปรกที่ลุงไข่คลุกคลีกับศพ แต่ถึงอย่างนั้นลุงไข่ก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราวเหล่านั้น กลับวางเฉยและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข ผิดจากฟักที่ต้องดิ้นรนเพื่อต้องการที่ยืนในสังคม

หลังจากนั้นชีวิตของฟักก็มีเหล้าและลุงไข่เข้ามาเป็นเพื่อน ฟักมักจะไปนั่งคุยและนั่งกินเหล้าที่บ้านลุงไข่แทบจะทุกวัน นานวันเข้าสิ่งที่กินเข้าไปก็กัดกินร่างกายของฟักจนย่ำแย่ ลุงไข่พยายามห้ามปรามฟักหลายครั้งเรื่องเหล้า กระทั่งช่วงหลังฟักมากินเหล้าบ้านลุงไข่ ลุงไข่ก็ไม่กินด้วย และไม่มีเหล้าติดบ้านเหมือนอย่างเมื่อก่อน

ฟักตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ฟักมักจะเดินมาหาลุงไข่เสมอยามที่มีเรื่องทุกข์ใจ ลุงไข่คอยรับฟังและคอยปลอบประโลมเตือนสติฟักทุกครั้ง

แต่ตัวละครอย่างลุงไข่ที่วางตัวเฉยกับสังคมมาตลอด ก็ชี้ให้เห็นในอีกแง่มุมของสังคมนั่นคือ ลุงไข่วางตัวเฉย แต่ก็ไม่ได้เดินสวนทางกับคนในสังคม แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ควรกระทำมากที่สุดก็ตาม ดังข้อความที่ผู้เขียนบอกถึงความคิดของลุงไข่ว่า

“...ฟักติดคุกวันนี้ไม่มีใครมาเยี่ยมเขาเลย แม้แต่ลุงไข่ที่รู้เรื่องดีและเข้าใจเขามาตลอด สัปเหร่อไข่ได้แต่แอบสงสารและสมเพชอยู่ในใจ แกไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือฟักได้ แม้แต่การไปเยี่ยมก็ไม่สามารถทำได้เพราะถ้าแกไปก็ไม่ต่างจากเดินผ่าพายุร้ายไปอย่างเดียวดาย มีแต่อันตรายเท่านั้นที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า…” (หน้า ๒๘๘)

พายุร้ายและอันตราย คือกระแสของสังคมที่ต่อต้านฟักอย่างรุนแรง แต่คนอย่างลุงไข่คือคนที่นิ่งเฉยต่อสังคมทว่าไม่สวนกระแส ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนโดยการสวนทางกับคนในตำบล

จนกระทั่งฟักจากโลกนี้ไป ลุงไข่จึงค่อยจัดการทุกอย่างให้ผ่านไป ทุกครั้งที่ลุงไข่กินเหล้ามักจะเทอีกแก้วไว้เสมอเพื่อให้ฟักได้กินด้วย ลุงไข่พร่ำโทษตัวเองเรื่องที่พาฟักกินเหล้าจนฟักเสียผู้เสียคน อีกทั้งเรื่องที่ขอร้องให้ครูใหญ่จัดการงานศพฟัก เป็นอีกเรื่องที่ตัวละครตัวนี้ทำผิดต่อฟัก งานศพฟักเป็นงานที่คนในตำบลมากันมากมาย แต่ไม่ได้มาเพื่อร่วมไว้อาลัยฟัก แต่มาเพื่อที่จะดูความเจริญทางด้านวัตถุมากกว่า และมันเป็นความผิดพลาดครั้งสุดท้าย ที่ตัวละครอย่างลุงไข่พึงกระทำให้แก่คนที่เขารักเหมือนลูกหลานคนหนึ่ง

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมา ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนพยายามสื่อเรื่องราวของคนในสังคม แม้กระทั่งคนที่ไม่ทุกข์ร้อนต่อสายตาหยามเหยียดอย่างลุงไข่ ไม่คิดที่จะสวนกระแสต่อสังคม เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ตัวละครตัวนี้เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมาก ในการนำพาฟักไปในทิศทางที่ตกต่ำลง

ผมไม่ได้จะโทษลุงไข่ทั้งหมด แต่เขาก็มีส่วนที่ทำให้ฟักเป็นไปอย่างนั้น และคนในตำบลก็เช่นกัน ผมยังคงเชื่ออย่างสนิทใจ ว่าตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นสัตว์สังคม และดำรงตนเองอยู่ในสังคมแล้วนั้น คนในสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำพาเราไปในทิศทางที่สังคมต้องการ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม

ลุงไข่คือตัวอย่างของคนในสังคมที่ดูเหมือนกับว่าจะหวังดี มีความเห็นอกเห็นใจในตัวฟัก แต่ตัวลุงไข่เองก็เกรงอำนาจสังคมไม่น้อยในการช่วยเหลือฟัก อีกทั้งยังเป็นคนที่นำพาฟักมาพบกับจุดเปลี่ยนเรื่องของสุราเมรัย

สุดท้ายลุงไข่ที่ฟักไว้ใจก็เป็นส่วนเล็กๆ ในสังคม ที่ทำให้ฟักต้องตายอย่างทรมาน และมีตราบาปติดตัวไปชั่วชีวิต.

 

 

นายอนุภาพ วงค์แปลก

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ