บ้านศิลปิน คลองบางหลวง : ร้านหนังสือเล็กๆ ที่บ้านเกิด สร้างเสริมการอ่าน สานฝันชุมชน

บ้านศิลปิน คลองบางหลวง

บ้านศิลปิน คลองบางหลวง

ผมเชื่อว่าความฝันของนักอ่านหลาย ๆ คน คือการเป็นเจ้าของร้านหนังสือ สุขใดจะเท่ากับการได้อยู่กับหนังสือที่ชอบ มีร้านที่บ่งบอกถึงสไตล์และบุคลิกของตัวเอง ถ้าหากเป็นอย่างนั้นได้ ก็คงจะดีมากทีเดียว แต่การจะเปิดร้านหนังสือสักร้านนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ธุรกิจร้านหนังสือยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ประยุกต์ และพัฒนาอยู่อีกมากเช่นกัน จึงได้มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นมา นั่นก็คือ‘โครงการร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด’

เจ้าของกิจการทุกคนไม่อยากขาดทุนหรือปิดกิจการ การทำร้านหนังสือสักร้านย่อมต้องมีความเสี่ยง และเพื่อไม่ให้เกิดปัจจัยนี้ ’ปราย พันแสง นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ จึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจอยากจะมีร้านหนังสือเล็ก ๆ สักร้านเป็นของตัวเอง โครงการนี้มี ร้าน ‘freeform Lonely Pai’ ของ ’ปราย พันแสง เป็นต้นแบบ เพราะดำเนินธุรกิจร้านหนังสือแล้วสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และยังสร้างกระแสการอ่านหนังสือในพื้นที่ได้จริง ตอนนี้ ร้านหนังสือในโครงการ มีด้วยกันทั้งหมด 4 ร้าน ได้แก่ ร้านหนังสือ ร้านหนังสือสุนทรภู่ จ.ระยอง, ร้านหนังสือเชียงดาว จ.เชียงใหม่, ร้านหนังสือบางหลวง ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ, ร้านหนังสือบุษบา ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และยังมีร้านอื่น ๆ ที่รอเปิดดำเนินการอยู่

ผมเดินทางมาที่บ้านศิลปิน คลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ สถานที่แห่งนี้มีร้านหนังสือเล็ก ๆ ซุกซ่อนอยู่ ผมหลงใหลบรรยากาศสบาย ๆ ของที่นี่เข้าอย่างจัง แม่น้ำลำคลองที่ไหลเอื่อย ๆ กับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนที่นี่ช่างแตกต่างกับความรีบด่วนบนท้องถนนในเมืองก่อนที่ผมจะเข้ามาในย่านนี้ราวฟ้ากับดิน

‘ร้านหนังสือบางหลวง’ เป็นร้านหนังสือในโครงการ ‘ร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด’ เมื่อเข้ามาแล้วจะเห็นชั้นหนังสือสวยงามตั้งเรียงอยู่เต็มไปหมด หนังสือแทบทุกเล่มล้วนได้รับการ ‘โชว์ปก’ ทั้งสิ้น นอกจากนี้หนังสือทุกเล่มในร้านไม่มีการบรรจุหีบห่ออยู่ในซองพลาสติก ทำให้นักอ่านสามารถหยิบอ่าน และเลือกซื้อหนังสือได้อย่างเสรี ด้วยบรรยากาศสบาย ๆ กับกาแฟหอม ๆ ยิ่งทำให้อยากจะเลือกซื้อหนังสือที่นี่ไปนาน ๆ

“เราอยากให้มีพื้นที่การอ่านขึ้นในบ้านศิลปิน พอดีตอนนั้นคุณ ’ปราย มาเยี่ยมพอดี เลยได้คุยกัน และตกลงกันว่าจะเปิดร้านหนังสือขึ้นที่นี่ หนังสือในร้านเราก็จะเน้นหนังสือวรรณกรรมเป็นหลัก เพราะว่างานวรรณกรรมมันอยู่ได้นานกว่า คนยังตามหา ตามอ่านอยู่ และขายได้เรื่อย ๆ” ชุมพล อักพันธานนท์ ผู้ดูแลบ้านศิลปิน และเจ้าของร้านหนังสือบางหลวงบอกกับผมด้วยน้ำเสียงอย่างเป็นกันเอง เสียงเรือแล่นผ่าน เสียงคลื่นกระทบฝั่งช่วยเสริมบรรยากาศในการสนทนาได้ดี

หนังสือที่เลือกมาขายส่วนมากจะเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม เนื่องด้วยมีจำนวนปกเยอะ มีสไตล์การออกแบบที่เข้ากับบ้านศิลปิน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของงานศิลปะ และอยู่ในบรรยากาศของความเก่าแต่ไม่แก่ เมื่อนำหนังสือมาวางที่ร้านแล้ว ยิ่งขับเน้นให้บ้านศิลปินมีเสน่ห์มากขึ้นอีกด้วย

ในด้านการดำเนินธุรกิจร้านหนังสือ เขาบอกว่า “เราคิดเองแบบง่าย ๆ สบาย ๆ เราขอจากสำนักพิมพ์เลย 40% ถ้าหากลูกค้ามาซื้อ เราลดให้ 10% จากปก เท่ากับเราได้จริง ๆ 30% แต่ก็เป็นอัตราที่เราอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้ เชื่อไหมว่า ยอดขายหนังสืออย่างเดียว เราได้เดือนละหมื่นกว่าบาท ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควรสำหรับร้านหนังสือเล็ก ๆ แบบนี้”

ผมประหลาดใจในยอดขายที่ร้านหนังสือบางหลวงทำได้ เพราะการขายหนังสือวรรณกรรมแล้วอยู่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แสดงว่าการเลือกหนังสือแนวนี้ ค่อนข้างตอบโจทย์ลูกค้าที่แวะเวียนกันมาชื่นชมบรรยากาศของบ้านศิลปินมากทีเดียว แต่การเปิดร้านหนังสือเล็ก ๆ จะขายแค่หนังสืออย่างเดียวไม่ได้ ต้องขายอย่างอื่นประกอบไปด้วย ร้านหนังสือบางหลวงก็เช่นกัน ต้องขายกาแฟ ขายโปสต์การ์ด ขายสมุดบันทึกคู่กันไปด้วย เพื่อประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

แน่นอนว่าการเปิดร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด ย่อมต้องการให้เกิดกระแสการอ่าน หรือวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในชุมชน เจ้าของร้านหนังสือบางหลวงให้ความเห็นว่า “มันดีแค่เฉพาะจุด คนในชุมชน หรือว่านักท่องเที่ยวก็ได้อ่านหนังสือเยอะมากขึ้น ร้านของเราก็มีมุมหนังสือให้อ่านกันฟรี ๆ มีคนบริจาคหนังสือกันเข้ามาเยอะมาก ตอนแรกมากกว่านี้ แต่ขนออกไปบ้างแล้วเพราะว่าเยอะเกิน แล้วก็มีนิตยสารบางรายที่ส่งมาให้ประจำ ก็พยายามทำไว้ให้คนได้อ่านหนังสือกันมากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากให้มีแค่ในบ้านเกิดเรา เราอยากให้มันมีทุกที่ ซึ่งการจะทำให้เกิดการอ่านจริง ๆ ในประเทศของเรา ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ส่วนด้วย”

น้ำเสียงของเขายังคงมีความหวังว่า วัฒนธรรมการอ่านของประเทศไทยจะดีขึ้น คนไทยเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น มีร้านหนังสือให้เลือกซื้อ มีห้องสมุดให้เลือกอ่าน มีกิจกรรมดี ๆ ให้เกิดแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือ อย่างน้อย โครงการ ‘ร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่บ้านเกิด’ ก็ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย

แม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่ผมเชื่อว่า จุดเหล่านี้จะเชื่อมโยงกันก่อเกิดเป็นเครือข่ายที่ยิ่งใหญ่ และทำให้เกิดเสียงสะท้อนออกไปในวงกว้างได้อย่างแน่นอน

บ้านศิลปิน คลองบางหลวง

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com/ColumnDetail/allColumDetail/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/3987/---.aspx

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ