นิยายแบบไหนโดนใจคนไทย : คำถามสำคัญข้อหนึ่งของนักเขียนมือใหม่ นั่นก็คือ เราจะเขียนหนังสือแนวไหนดี นี่เป็นคำถามที่ดี

นิยายแบบไหนโดนใจคนไทย

คำถามสำคัญข้อหนึ่งของนักเขียนมือใหม่ นั่นก็คือ เราจะเขียนหนังสือแนวไหนดี นี่เป็นคำถามที่ดี แต่การจะได้คำตอบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกของนิยายนั้นมีหลากหลายแนวให้เลือกมากมาย ตั้งแต่นิยายไซไฟ แฟนตาซี สยองขวัญสั่นประสาท ฆาตกรรม รักโรแมนติก ปรัชญา การเมือง ฯลฯ กล่าวได้ว่าทุกศาสตร์ที่มีบนโลกนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวเขียนนิยายได้ทั้งสิ้น และการสุ่มหยิบมาเขียนสักแนวนั้นอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเพราะมันอาจจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้อ่านเลยก็เป็นได้(ยกเว้นแต่เรามั่นใจว่าเขียนในแนวนั้นได้ดีจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรเขียนเป็นอย่างยิ่ง) ในบทความนี้เราจึงเสนอตัวเลือกที่โดนใจคนไทยมาให้เลือก

1. นิยายสยองขวัญ
พูดได้ว่านี่คือ genre ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของคนไทยตลอดกาล โดยเฉพาะเรื่องผี เรากล้าพูดเลยว่าไม่มีคนไทยคนไหนไม่กลัวผี แต่ขณะเดียวกัน คนไทยกลับชอบเรื่องผี อาจจะฟังแปลกๆ แต่คือเรื่องจริง ยิ่งใครกลัวผีมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งอยากฟังเรื่องผีมากเท่านั้น ไม่แน่ว่ากลุ่มคนที่ชมชอบนิยายผีอาจจะมีลักษณะของมาโซคิสม์ก็เป็นได้

ตำนานผีระดับขึ้นหิ้งที่คนไทยทุกคนรู้จักคือแม่นาคแห่งตำบลพระโขนง เรื่องเล่าเคล้าความจริงของหญิงท้องแก่ที่ตายทั้งกลม แต่ด้วยจิตผูกพันที่มีต่อสามี ทำให้วิญญาณของเธอยังคงวนเวียนอยู่ที่บ้านเพื่อรอคอยสามีกลับมา เสียงกล่อมลูกน้อยที่ตายไปแล้วคอยหลอกหลอนชาวบ้านจนขนหัวลุกทุกคืน แม้แต่พระสงฆ์องคเจ้ายังต้องเจอเธอหลอกหลอน ตำนานแม่นาคได้รับการรีเมคซ้ำแล้วซ้ำเล่าและก็ประสบความสำเร็จ มีคนให้ความสนใจทุกครั้ง แม้กระทั่งทำเป็นภาพยนตร์ตลกอย่างพี่มากพระโขนง ผู้คนก็ยังชมชอบอยู่นั่นเอง

ทำไมคนไทยจึงสนใจเรื่องผี คำตอบคือเราคนไทยมีความรู้สึกกลัวผีร่วมกันทั้งหมดนั่นเอง เราทุกคนรู้จักผีโดยที่ไม่ต้องแนะนำผีให้คนอ่านทำความรู้จักแม้แต่น้อย เรารู้ดีว่าผีคือวิญญาณคนตายที่ตามหลอกหลอนคนเป็น ด้วยเหตุนี้นิยาย/ภาพยนตร์ผีส่วนใหญ่จึงประสบความสำเร็จ นั่นก็เป็นเพราะคนไทยกลัวผีเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง

ปัจจุบัน นิยายผีของไทยได้รับอิทธิพลการเล่าเรื่องจากญี่ปุ่นและฝรั่งมาพอสมควร อย่างที่เราจะได้เห็นจากภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง “ชัตเตอร์” ที่หยิบเอาแนวสืบสวนสอบสวนเข้ามาผสานกันได้อย่างลงตัว ดังนั้น หากนักเขียนที่มีใจรักในเรื่องผี ก็ควรหาทางสร้างสรรค์แนวใหม่ๆ เพื่อดึงความสนใจของผู้อ่านให้มากยิ่งขึ้น

2. นิยายสืบสวนสอบสวน ฆาตกรรม
นิยายแนวนี้เราได้รับอิทธิพลมาจากนิยายฝรั่งอย่างเชอร์ล็อค โฮล์ม หรือนิยายสืบสวนของอกาธา คริสตี้ นิยายสืบสวนนั้นประสบความสำเร็จในฐานะตัวกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่าน โดยเน้นการเล่าเรื่องอาชญากรรมเป็นหลัก แต่ปัจจุบันก็แตกแขนงออกมาเป็นนิยายแนวไขรหัส อย่างเช่น Demons&Angels หรือ Davinci’s Code ของแดน บราวน์ ที่ได้รับความนิยมจนสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้งสองภาค(เหลือแต่ Inferno ที่ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะสร้างต่อหรือไม่) แต่ถึงอย่างไร นิยายแนวสืบสวนสอบสวนส่วนใหญ่ก็ยังคงอิงอยู่บนพื้นฐานของคดีอาชญากรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง

3. นิยายคอเมดี้
นิยายคอเมดี้เวอชั่นสแตนอโลนของไทยในปัจจุบันหาคนเขียนแทบไม่ได้แล้ว โดยมากมักจะเข้าไปร่วมกับแนวอื่นๆมากกว่า อย่างเช่น นิยายรักคอเมดี้ของวัยรุ่น หรือนิยายแฟนตาซีคอเมดี้ หรือไม่ก็เป็นขำขันสั้นๆ รวมเล่มเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ แต่ก่อนนั้นไทยเราเคยมีนิยายคอเมดี้ระดับตำนานอย่างสามเกลอ “พล นิกร กิมหงวน” มาแล้ว ซึ่งประพันธ์โดย ป.อินทรปาลิต เริ่มเขียนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2482 รวมเนื้อหาทั้งหมดมีมากเกินกว่าพันตอนเลยทีเดียว

เหตุผลที่ไม่มีใครนิยมเขียนนิยายคอเมดี้นั่นคือมันเป็นนิยายที่เขียนยาก มุกตลกที่เคยเล่ามาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อฟังซ้ำก็จะไม่ตลกอีก การคิดมุกตลกใหม่ๆให้มากพอจะเขียนเป็นหนังสือได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอุปสรรคสำคัญอีกข้อคือมุกตลกของคนกลุ่มหนึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องตลกของคนอีกกลุ่ม กล่าวคือเซ้นส์ความตลกของทุกคนมีไม่เท่ากันนั่นเอง ดังนั้นการสร้างสรรค์นิยายคอเมดี้นับพันตอนของ ป.อินทรปาลิต จึงเป็นพรสวรรค์ล้วนๆของผู้เขียนโดยแท้

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม แนวคอเมดี้ก็ยังเป็นแนวที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจมาก สังเกตได้จากวงการภาพยนตร์ ภาพยนตร์ตลกมักได้รับความสนใจจากผู้ชมก่อนเสมอ ไม่ว่าภาพยนตร์ตลกเรื่องนั้นจะได้ชื่อว่าปัญญาอ่อนมากแค่ไหนก็ตาม

4. นิยายรักโรแมนติก
นิยายที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ และนักเขียนนิยายแนวนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง นิยายแนวนี้จึงเป็นนิยายผู้หญิง เพื่อผู้หญิง เขียนโดยผู้หญิงอย่างแท้จริง แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ชายบางส่วนให้ความสนใจกับนิยายแนวนี้ด้วยเช่นกัน

นิยายรักส่วนใหญ่นั้นมักจะถูกจัดให้เป็นนิยายประโลมโลก กล่าวคือกล่อมให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเคลิ้มไปกับความเพ้อฝัน แต่ก็มีนิยายรักจำนวนหนึ่ง ที่หยิบยกเอาความโหดร้ายของชีวิตที่เรียกว่าโศกนาฏกรรมเข้ามาผสานกับนิยายแนวนี้ให้กลายเป็นนิยายสะเทือนอารมณ์ ยกตัวอย่างเช่น โรมิโอกับจูเลียต เพราะรักที่ไม่สมหวังจึงต้องจบลงด้วยความตายของหนุ่มสาว กลายเป็นนิยายรักบันลือโลกที่ผู้คนกล่าวถึง

เหตุที่นิยายรักโรแมนติกเป็นที่นิยมสำหรับผู้หญิงนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าชีวิตจริงนั้น ผู้ชายส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่อมโรแมนติกตายด้านก็เป็นได้ นิยายแนวนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นโอเอซิสของหญิงสาวทั้งหลายปรารถนานั่นเอง

 

บทความโดย : โชติรวี โสภณศิริ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ