หนังสืองานศพ : มีแค่ในไทยเท่านั้น?

หนังสืองานศพ

หนังสืองานศพ

 

เชื่อว่าหลายคนเคยไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพ และได้รับหนังสือเล่มขนาดกะทัดรัด ซึ่งภายในได้รวบรวมประวัติและคุณงามความดีของผู้วายชนม์ไว้ที่คนไทยเรียกกันง่ายๆ ว่า “หนังสืองานศพ” นั้น กล่าวกันว่า มีเพียงชาติไทยเท่านั้น ที่มีประเพณีแบบนี้

ย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมเมื่อมีงานพระบรมศพ หรือพระศพของเจ้านาย จะมีการถวายของที่ระลึก หรือที่เรียกว่า “เครื่องสังเค็ด” ได้แก่ ตาลปัตร ตู้พระธรรม และพระธรรมคัมภีร์ต่างๆ แรกเริ่มก็จะเป็นการจดจารลงบนใบลาน แต่เมื่อมีการพิมพ์เกิดขึ้น การจารลงบนใบลานก็เริ่มลดน้อยลง และเปลี่ยนมาเป็นการพิมพ์หนังสือแทน ซึ่งแหล่งความรู้ที่นำมาจัดพิมพ์ก็จะมาจาก “หอสมุดวชิรญาณ” หรือหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน ซึ่งมี‘สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯ’ ทรงรับเป็นพระธุระที่หาต้นฉบับหนังสือให้เจ้าภาพนำไปพิมพ์ หนังสือที่พิมพ์ในสมัยนั้นจะเป็นหนังสือประเภทวรรณคดีโบราณและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพระองค์ก็จะทรงประทานคำนำเพื่ออธิบายความเป็นมาของหนังสือเล่มนั้นๆไว้ด้วย

ในส่วนสำคัญคือ ประวัติของผู้วายชนม์ นั้น บางครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็จะทรงพระนิพนธ์ประทานให้ เนื่องจากผู้วายชนม์เป็นบุคคลที่พระองค์ทรงรู้จักหรือคุ้นเคยมาก่อน หรือทางเจ้าภาพอาจจะเขียนเองก็ได้ สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ให้นั้น ก็จะมาจากความทรงจำของพระองค์ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็จะได้ญาติสนิทมิตรสหายหรือบุตรหลานของผู้วายชนม์เล่าถวาย และจะทรงเพิ่มในส่วนของประวัติทางเชื้อสายหรือบรรพบุรุษและเครือญาติของผู้วายชนม์ด้วย

ความสืบเนื่องต่อมาที่น่าสนใจคือ หนังสือที่แจกงานศพจะเป็นของผู้วายชนม์ที่เป็นชายเสียส่วนใหญ่ เพราะในสมัยก่อน ผู้วายชนม์ส่วนมากที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มักเป็นชายที่ประสบความสำเร็จทางราชการ และมียศตำแหน่งพอสมควร จากนั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนจากการเน้นไปที่ประวัติผู้วายชนม์ เป็นการเขียนคำไว้อาลัยแด่ผู้วายชนม์แทน ต่อมาก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนให้หนังสือมีสีสันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งดั้งเดิมจะเป็นสีขาว-ดำ หรือสีหม่น บางรายทำเป็นภาพสีทั้งเล่มก็มี

ต่อมาหนังสืองานศพก็เริ่มเปลี่ยนเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเน้นไปในทางปฏิบัติธรรม แนะนำให้ดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ให้พร้อมตั้งรับกับความตายทุกเมื่อ เป็นต้น จากนั้นก็เริ่มมีการพิมพ์บทสวดมนต์ คาถาต่างๆ และแบบแผนใหม่ที่ขยายตัวมากที่สุดในปัจจุบันคือ หนังสือที่ให้ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อเป็นการให้แนวทางในการรักษาสุขภาพของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ให้มีชีวิตยืนยาวต่อไป

บทบาทของหนังสืองานศพมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในยุคแรกเริ่มทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านการเล่าประวัติผู้วายชนม์ที่เป็นบุคคลสำคัญ จากนั้นเปลี่ยนเป็นการบอกเล่าความเคารพนับถือ ความอาลัยที่ญาติสนิทมิตรสหายมีต่อผู้ที่เสียชีวิต หรือการบอกแนวทางการใช้ชีวิตใต้ร่มเงาพระธรรม ไปจนถึงการให้ความรู้ทางการแพทย์ที่มีประโยชน์แก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้บทบาทจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่คุณค่าของหนังสืองานศพก็ยังคงเห็นได้เป็นรูปธรรม คือนอกจากจัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่จากไปแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่ยังอยู่ต่อไปนั่นเอง

 

 

เรียบเรียงโดย : ชฎาพรรณ บุญสิงห์
ขอบคุณข้อมูลจาก http://midnightuniv.org/
facebook fanpage : เมด อิน อุษาคเนย์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ