กว่าดอกไม้จะบาน : กว่าดอกไม้จะบาน...ชีวิตสตรีมุสลิม

กว่าดอกไม้จะบาน

ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ การกดขี่ทางเพศได้เกิดขึ้นน้อยลงจากเดิมมาก ความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงมีมากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างเปิดรับให้ผู้หญิงแทบจะทุกคนลุกขึ้นมาทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงชีพ แตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้หญิงจะเป็นเพียงแม่บ้านแม่เรือนคอยทำงานภายในบ้านเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หญิงสาวกลุ่มเล็กๆ ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือที่เรียกกันว่า หญิงมุสลิม กลับถูกกดขี่จากครอบครัวของพวกหล่อนเอง โดยการถูกบังคับให้แต่งงานกับชายชาวต่างชาติด้วยความยากจนทางฐานะ ผนวกกับความที่พวกหล่อนด้อยโอกาสทางการศึกษานั่นเอง

กว่าดอกไม้จะบาน ผลงานจากปลายปากกาของชมัยพร มาลัยทัต สะท้อนเรื่องราวชีวิตของมาเรียม หญิงสาวชาวมุสลิมที่ต้องเผชิญมรสุมชีวิตมากมาย ที่อาจจะมากเกินกว่าที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งจะรับไหว เริ่มต้นจากการที่หล่อนถูกแม่บังคับให้แต่งงานกับยูนุส ชายแก่คราวพ่อชาวซาอุดิอาระเบียที่มีรูปร่างอ้วนเผละ และหนวดเคราที่รกรุงรัง หลังจากนั้น หล่อนก็ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับชีวิตแต่งงานที่ผิดไปจากชีวิตแต่งงานที่หญิงสาวเคยวาดฝันไว้มาก จนกระทั่งวันหนึ่ง หล่อนก็เริ่มมีใจให้กับอับดุลเลาะห์ ชายหนุ่มที่แยกทางกับภรรยามานาน ในขณะนั้นเอง หล่อนก็ต้องต่อสู้กับเหตุการณ์ชีวิตมากมาย ทั้งเรื่องความถูกต้องเรื่องความรักและเรื่องต่างๆ อีกมากที่มีเพียงความกล้าหาญเท่านั้นที่จะนำพาหล่อนผ่านพ้นมรสุมชีวิตเหล่านี้ไปได้

มาเรียม ถูกผู้เขียนสร้างขึ้นให้เป็นหญิงสาวที่มีชีวิตเหมือนผู้หญิงปกติทั่วไปในตอนแรก จนกระทั่งวันหนึ่งชีวิตของหล่อนก็พลิกผัน ฝันของหญิงสาวที่จะมีชีวิตแต่งงานที่สวยงามพังทลายลงจนไม่เหลือชิ้นดี เมื่อต้องแต่งงานกับชายแก่คราวพ่อ เหตุการณ์ที่โหดร้ายนั้นทำร้ายหล่อนจนจิตใจบอบช้ำ แต่เหตุการณ์เหล่านั้นก็ทำให้หล่อนเข้าใจความซับซ้อนในชีวิตมากขึ้น มันได้ขัดเกลาให้หล่อนเป็นคนมีความกล้า เข้มแข็ง เชื่อมั่นในความรักและมีความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดด้วยตัวเอง็เริ่มมี

เรื่องราวชีวิตอันแสนทรหดนี้ สะท้อนถึงการต่อสู้ในชีวิตของผู้หญิงมุสลิมตัวเล็กๆที่ต้องฝ่าฟันชีวิตที่แสนจะลำบาก ทั้งถูกทำร้ายจากคนที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คือการที่เรื่องของหล่อนถูกนินทากล่าวต่อไปทั่ว และยังครอบครัวที่บังคับให้หล่อนแต่งงานกับผู้ชายที่หล่อนไม่ได้รัก ซ้ำร้ายยังกีดกันไม่ให้หล่อนแต่งงานกับคนที่หล่อนรักอีก แต่ถึงอย่างไรในที่สุด หล่อนก็สามารถลุกขึ้นยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเองได้

นอกจากนั้น เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงการเลี้ยงลูกในทางที่ผิดของมาเรียม นั่นก็คือเลี้ยงลูกด้วยความฝันที่ครั้งหนึ่งหล่อนเคยวาดไว้ หล่อนพยายามทำให้ลูกได้ในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยได้ ทั้งการให้ลูกได้ใช้ของแพงๆ ให้ลูกอยู่สบายๆ ไม่ต้องทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตามใจลูกมากเกินไปจนลูกจะเสียคนได้ และเมื่อเหตุการณ์ชีวิตพลิกผัน ลูกของหล่อนเองก็จะปรับตัวรับสภาพได้ยาก ดังนั้น การเลี้ยงลูกจึงควรเลี้ยงแบบไม่ตามใจจนเกินไป ให้ลูกสามารถรับกับทุกอย่างได้หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

อันที่จริง เรื่องชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยทุกข์ของมาเรียมจะโทษแม่ของหล่อนฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะหากหล่อนไม่ยินยอมจริงๆ การแต่งงานก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามหลักศาสนา เป็นเพราะการคิดที่ตื้นเกินไปของหล่อน ที่คิดว่าถ้าแต่งงานกับคนรวยจะได้มีชีวิตที่สุขสบาย มีเงินใช้ไม่ขาดมือ และคงเป็นไปเพราะความเห็นแก่เงินของหล่อนด้วย หล่อนจึงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างยาวนาน เพราะฉะนั้น หากคิดที่จะทำอะไร การคิดอย่างรอบคอบเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่ควรจะมี

ในเรื่องชีวิตของหญิงสาวมุสลิมนี้ ก็ยังสอดแทรกในเรื่องของการมองคนว่าเป็นคนดีในแต่ละมุมมองด้วย โดยในเรื่อง นาซิม เพื่อนของมาเรียมมองว่าคนดีก็คือคนที่ปฏิบัติตัวเหมือนกับเธอ คือเคร่งครัดในเรื่องกฎระเบียบของศาสนาอิสลาม ละหมาดครบ 5 เวลา คลุมฮิญาบทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน หล่อนก็เป็นคนปากสว่างเก็บความลับของคนอื่นไว้ไม่อยู่ บางคนก็อาจจะมองว่าหล่อนเป็นคนไม่ดีก็ได้ สำหรับผมแล้ว คนดีก็คือคนที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นเท่านั้นเอง

สำหรับเรื่องกลวิธีการนำเสนอ ถือได้ว่าผู้เขียนเขียนได้น่าสนใจ นำเสนอเนื้อเรื่องได้เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ เป็นเรื่องที่ให้แนวคิดที่ดีทีเดียว แม้ว่าการเรียงลำดับเรื่องจะเป็นไปอย่างสับสนในบางช่วง คือเหตุการณ์ในอดีต จู่ๆ ก็ขึ้นมาคั่นกลางเหตุการณ์ในปัจจุบัน แต่โดยรวมก็ยังสามารถปะติดปะต่อเนื้อเรื่องได้

ในเรื่องของข้อผิดพลาดนั้น ผมสังเกตเห็นถึงการพูดของอับดุลเลาะห์ที่พูดกับสุไลคอ ภรรยาที่จากเขาไปแล้วกลับมาขอคืนดี เนื่องจากอับดุลเลาะห์หมดรักกับหล่อนไปแล้ว เขาจึงขอหย่า 3 ตะเลาะกับหล่อน โดยการพูดว่า “ฉันขอหย่าเธอ ฉันขอหย่าเธอ ฉันขอหย่าเธอ” ซึ่งเท่าที่ผมศึกษามา การหย่าแบบนี้ถือว่าเป็นวาระเดียว หากจะหย่า 3 ตะเลาะได้นั้น การหย่าแต่ละครั้งต้องห่างกันอย่างน้อย 100 วัน และฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงจะไม่สามารถกลับมาแต่งงานกันได้อีก

สรุปโดยรวมแล้ว นวนิยายเล่มนี้ถือว่ามีคุณค่าในด้านการสะท้อนสังคมในเรื่องของศาสนาและเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ดังในตอนหนึ่งของเรื่องที่ผู้เขียนบรรยายไว้ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในศาสนาอิสลาม นั่นก็คือ “...ผู้หญิงนั้นเป็นสมบัติของพ่อแม่เมื่อยังเล็ก และเป็นสมบัติของสามีเมื่อเป็นสาว...” แสดงให้เห็นชัดว่า ผู้หญิงมุสลิมไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งของตนเองเช่นกัน ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ชายอ่านได้ ผู้หญิงอ่านดี นับเป็นการเสนอมุมมองแปลกใหม่ที่คนปกติไม่เคยเข้าไปสัมผัสถึงได้เลย

 

 

อธิษฐ์ จารุพัฒนพรกิจ

 

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ