ผาด พาสิกรณ์ : ชีวิตผาดโผนบนถนนวรรณกรรม

ผาด พาสิกรณ์

ชื่อของ ‘ผาด พาสิกรณ์’ ถูกกล่าวขานขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ ‘พลิ้วไปในพรายเวลา’ ได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสือดีเด่น ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2558 หลังจากที่เขาเคยคว้ารางวัลนี้จากเวทีเดียวกันมาแล้วจากนวนิยายเรื่อง ‘เสือเพลินกรง เมื่อปี 2553 และยังเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรวมเรื่องสั้น จากผลงาน ‘ไปยาลใหญ่ในปัจฉิมดำริ’ ในปี 2554 เส้นทางชีวิตนักเขียนตลอด 11 ปี กับผลงาน 14 เล่มของ ‘ผาด พาสิกรณ์’ หรือนามจริง‘วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ’ ผู้มีอีกตำแหน่งคือเป็นบุตรชายของนักเขียนนามอุโฆษ ‘พนมเทียน’ จึงน่าสนใจนัก มาสัมผัสชีวิตผาดโผนบนถนนวรรณกรรมของ‘ผาด พาสิกรณ์’ ไปพร้อม ๆ กันได้เลย

all : จาก ‘คำนำ’ ใน ‘เสือเพลินกรง’ คุณบอกว่าไม่ได้อยากเป็นนักเขียน แถมยังรู้สึกว่าการเขียนหนังสือคือสิ่งที่ยาก แล้วเหตุผลที่ทำให้คุณเปลี่ยนความคิดนี้คืออะไร
ผาด พาสิกรณ์
: สำหรับผมแล้ว มันเป็นเหมือนสิ่งที่ติดอยู่ในใจ กลัวว่าพอแก่ตัวไป จะกลับมานั่งเสียดายทีหลังว่าทำไมไม่เขียนหนังสือ ผมไม่ได้เหมือนคนอื่นที่รู้ตัวตั้งแต่แรกว่าอยากเขียนหนังสือ ผมกลัวหนังสือมาตั้งแต่เด็ก แต่ขณะเดียวกัน ผมก็โตมากับการขีด ๆ เขียน ๆ อย่างตอนทำโฆษณา พอเขียนเนื้อเรื่องแล้วเอามาทำหนังโฆษณา มันก็เหมือนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง หนีไม่พ้นการเขียน ต่างกันแค่เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยเท่านั้นเอง มันเลยมีเชื้อของการอยากเล่าเรื่องอยู่ ก็เลยเริ่มอยากจะเขียน จนกลายมาเป็นนักเขียนอย่างในปัจจุบัน (ยิ้ม)

 

ผาด พาสิกรณ์

 

all : นามปากกา ‘ผาด พาสิกรณ์’ มาจากไหน
ผาด พาสิกรณ์
: มาจากบทสวดมนต์ของทิเบตครับ (om mani padme hum)คำว่า ‘ผาด’ หรือ ‘ผาดเม’ มาจากคำว่า ‘ปัทม’ (ปัด – ทะ - มะ) ที่แปลว่าดอกบัว ซึ่งดอกบัวเปรียบเสมือนปัญญา แต่ถ้าผมใช้คำว่า ‘ปัทม’ ก็จะดูเป็นชื่อผู้หญิงเกินไป ผมเลยใช้เป็น ‘ผาด’ (Pahd) ส่วน ‘พาสิกรณ์’ (Pasiigon) เป็นชื่อที่ผมใช้ที่อเมริกา มาจากไหนไม่รู้เหมือนกัน เหมือนผีเข้า (หัวเราะ) พอเขียนชื่อนี้แล้ว ชอบ ถูกชะตา คนไทยส่วนใหญ่จะเขียนคำว่า ‘กร’ เป็น korn ซึ่งจะออกเสียงว่า ‘คอน’ มากกว่า เพื่อนที่ต่างประเทศเคยถามว่า ทำไมคนไทยถึงสะกดแบบนั้น อ่านแล้วมันไม่ออก ‘กอน’ นะ ผมก็เลยบอกว่า มันมาจากคำภาษาสันสกฤตที่มีคำว่า กรณ (กอ – ระ - นะ) ก็เป็น korn แบบนี้ เพื่อนก็บอกว่า “ถ้าอยากให้ฝรั่งออกเสียงให้คล้ายน่าจะเขียนเป็น ‘gon’ ไหม” ซึ่งผมก็คิดว่าใช่ ถ้าเป็น ‘ผาด พาสิกรณ์’ ก็น่าจะเป็น gon แล้วก็ใส่ตัว i เข้าอีก 2 ตัว (หัวเราะ) ไม่รู้เหมือนกัน คือมันชอบ ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ก็มีคนพยายามแปลอยู่ มันดูแปลก ๆ อยู่นะ แต่ผมก็ชอบ (ยิ้ม)

all : จากชีวิตนักเรียนประจำที่โรงเรียนวชิราวุธ ถูกส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่วัยรุ่น จนแทบจะเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่พอมาเขียนหนังสือ คุณกลับใช้ภาษาได้ลื่นไหล เป็นตัวของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ
ผาด พาสิกรณ์
: ตอนไปอเมริกา ผมยังเขียนได้อยู่นะ แต่พออยู่ไปอยู่มา ภาษามันกลมกลืนเข้าไปในชีวิตผม ผมอ่านภาษาไทยได้ แต่ถ้าจะให้เขียน มันนึกตัวสะกดไม่ออก เขียนได้แต่คำง่าย ๆ พอกลับมาเมืองไทย ก็ใช้วิธีอ่านหนังสือเยอะ ๆ มีคนบอกว่า ผมชอบสร้างคำใหม่ นั่นอาจเป็นเพราะผมพบว่า โครงสร้างประโยคของในแต่ละภาษามันให้ความสำคัญในการสื่อภาพ สื่อความหมายแตกต่างกัน บางคนบอกว่าผมใช้ภาษาเหมือนฝรั่ง ผมก็ยืนยันนะว่า หลายๆ ประโยคที่แปลกตาไปนั้นมันเป็นการเรียงลำดับ (sequence) ของเหตุการณ์ที่ให้รายละเอียดต่างกัน แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่ เพราะเกิดจากความไม่คุ้นกับภาษา เวลาเรามองด้วยตา เราจึงมองด้วยตาใหม่ และบางทีก็ต้องดัดจริตเอาคำมาผสมกัน อย่าง ปรีดาอุทาน ซึ่งใช้ในเรื่องแปล เพราะต้องการสื่อให้ตรงกับต้นฉบับ เพราะนักเขียนเขาระบุมาว่า ไม่ใช่สักแต่อุทาน แต่เป็นอุทานที่เปี่ยมไปด้วยความชื่นชมยินดี

all : คุณผ่านชีวิตในช่วงที่เริ่มต้นเขียนหนังสือ ทั้ง ๆ ที่ไม่ชำนาญภาษาไทยมาได้อย่างไร
ผาด พาสิกรณ์
: เรื่องที่ผมอยากจะเล่ามันมีอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นเอง อย่าง ‘พลิ้วไปในพรายเวลา’ ก็เขียนเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาก่อน ผมเอามาแปลงและเขียนใหม่เป็นภาษาไทยในภายหลัง ช่วงแรกที่กลับมาเมืองไทย ผมสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นก็เริ่มพูดคุยเป็นภาษาไทยบ้าง ค่อย ๆ ฟื้นฟูขึ้นมา ตอนที่ลาออกจากเอเจนซี่โฆษณามาทำงานจัดการประชุมเอเปค (Apec) เมื่อปี 2546 ต้องทำงานกับราชการ ใช้ภาษาไทยสื่อสารเกือบทั้งหมด ครั้งแรกที่เห็นอีเมลภาษาไทยแบบทางการ ผมไปต่อไม่เป็นเลย (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ภาษาไทยก็อยู่ในตัวผมอยู่แล้ว พอได้ฟื้นฟู ก็เริ่มคล่องขึ้น เวลาผมเจอคำแปลก ๆ ผมจะจดเก็บไว้ มีคำที่ผมไม่เคยเห็นอยู่มากมายเรียนรู้ได้แบบไม่รู้จบ เมื่อไหร่ที่เจอก็ต้องเก็บไว้เหมือนเป็นสมบัติล้ำค่าทีเดียว

all : เหตุผลที่คุณเลิกทำงานเอเจนซี่โฆษณาที่มีรายได้สูงมาก มาเป็นนักเขียนในเมืองไทยคืออะไร
ผาด พาสิกรณ์
: มีอยู่หลายเรื่องที่ซ้อน ๆ กันอยู่ครับ อย่างแรก คือ โฆษณาในเมืองไทยน่ารักและสนุกดี แต่กฎหมายควบคุมกลับไม่เข้มพอ ที่ผมเรียนมา เขาวางไว้อย่างเข้มงวด ถ้าก้าวข้ามกรอบไป ก็อาจจะโดนฟ้องได้ง่าย ๆ ซึ่งการได้วิ่งอยู่บนขอบแห่งคุกกับรางวัลนั้นมันท้าทายมาก แต่โฆษณาในไทยไม่ใช่อย่างนั้น ผมก็เลยรู้สึกว่ามันขัดกับสิ่งที่เรียนมา แล้วจะทำไปทำไม เพราะที่นี่ทำอะไรก็ได้ ยังไงก็ไม่โดนฟ้อง อย่างที่สอง ชีวิตการทำงานที่เมืองนอกกับไทยไม่เหมือนกัน ที่โน่นพอวันศุกร์หลังเที่ยงนี่เขาก็ไม่ทำงานกันแล้ว แต่ที่นี่มันไม่ใช่อย่างนั้น ทั้งสภาพอากาศ ทั้งการจราจร กว่าจะไปถึงที่ทำงาน กว่าจะถึงบ้าน ใช้เวลาค่อนข้างมาก ผมก็เลยคิดว่า จะมาอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว เราเสียเวลาไปกับอะไรไม่รู้เยอะมาก แถมงานครีเอทีฟที่ทำ ก็ไม่เหมือนกับที่คิดเอาไว้ด้วย

all : ความเป็นนักโฆษณามาก่อน ช่วยเรื่องการเขียนหนังสือมากน้อยแค่ไหน
ผาด พาสิกรณ์
: การเรียน สายโฆษณาหรือนิเทศศาสตร์ที่อเมริกาจะต้องเขียนเยอะ นักเรียนกฎหมายที่ต้องใช้ภาษาหนัก ๆ ต้องแม่นยำเรื่องประเด็น ส่วนใหญ่ก็ต้องเรียนสายนี้ในช่วงสี่ปีแรก (กฎหมายที่นั่นเรียนหกปี) ผมเลยมีทักษะทางการเขียนอยู่บ้าง ตอนทำงานโฆษณา ต้องเดินทางไปหลาย ๆ ที่ จับสินค้าแต่ละตัวเราก็ได้เข้าไปพัวพันกับข้อมูลเชิงลึก ทำให้ได้สัมผัสกับหลาย ๆ อย่างที่คนทั่ว ๆ ไปเขาไม่ค่อยได้รู้ได้เห็นกัน เลยเมื่อมาเขียนหนังสือก็หยิบส่วนนั้นส่วนนี้มาใช้ทำงานบ้าง มากน้อยแล้วแต่กรณี

all : แล้วความเป็นลูกชายของ ‘พนมเทียน’ ล่ะ ทำให้กดดันไหมเวลาเขียนหนังสือ
ผาด พาสิกรณ์
: ถ้าจะบอกว่าไม่กดดันเลย ก็คงไม่ได้ เพราะบางทีจะทำอะไรก็เกรงใจ กลัวกระทบพ่อ กลัวพ่อจะโดนว่า จึงทำอะไรแบบง่าย ๆ ไม่ได้ แต่ผมก็พยายามไม่คิดตรงนี้ ตอนแรกที่ตั้งนามปากกา ก็พยายามไม่ให้เกี่ยวกับพนมเทียน แต่แค่ 2 เล่มแรกก็หลุดแล้ว ตอนเขียน‘ณ กาลครั้งหนึ่ง’ ยังไม่มีใครรู้ แต่หลังจากนั้นก็รู้กันหมด (หัวเราะ) เวลาทำงานผมก็ไม่ได้กดดันอะไรมาก ก็เขียนในแบบที่เป็นตัวเองไปนั่นแหละ

all : พอมาเป็นนักเขียนจริง ๆ ชีวิตเปลี่ยนไปแค่ไหน
ผาด พาสิกรณ์
: เปลี่ยนในแง่ของการไม่ต้องออกไปผจญภัยกับชีวิตนอกบ้านมากเหมือนแต่ก่อน และท้าทายมากขึ้นในแง่ของการที่เราไม่มีรายได้ประจำ อาชีพนักเขียนต้องเขียนให้ออก วันไหนเขียนไม่ออก วันนั้นไม่ใช่นักเขียนและไม่มีรายได้

all : วันที่เขียนหนังสือไม่ออก คุณทำอย่างไร
ผาด พาสิกรณ์
: นักเขียนที่เขียนหนังสือไม่ออก ผมว่ามันนรกมากเลยนะ สำหรับผม ถ้าเขียนแล้วติด ไปต่อไม่ได้ ผมจะปล่อยไปก่อน แล้วค่อยกลับมาเขียนใหม่ เพราะถ้าฝืนเขียน พอกลับมาอ่านก็ต้องรื้อทิ้งอยู่ดี พอเรื่องติด ผมจะไปหาอย่างอื่นทำ บางทีก็ไปรดน้ำต้นไม้ ไปวิ่ง แล้วถ้าขณะวิ่ง มีเรื่องลอยเข้ามา ผมจะรีบบันทึกเสียงไว้ ไม่งั้นเดี๋ยวลืม เล่าไปว่ามันเป็นยังไง พอนึกเรื่องออกแล้วต้องหยุดทุกอย่าง ผมไม่เคยนึกเรื่องออกบนโต๊ะทำงานเลยนะ นึกออกที่อื่นตลอด (ยิ้ม)

all : เห็นคุณแม่ (สุมิตรา วิเศษสุวรรณภูมิ) บอกว่า เคยเตือนผาดแล้วว่า การเป็นนักเขียนมันไส้แห้งนะ
ผาด พาสิกรณ์
: เท่าที่เห็นคุณพ่อเป็นนักเขียนก็ไส้ไม่แห้งนะ (หัวเราะ) ผมกับพี่ ๆ ก็จบการศึกษาจากต่างประเทศกันทุกคน ใช้ชีวิตสุขสบายมาตั้งแต่เล็ก ๆ แต่อย่างว่า นักเขียนอย่าง ‘พนมเทียน’ มีแค่คนเดียวใน ประเทศไทย เรื่องยาวของเขามี 48 เล่ม เรื่องสั้นๆ มี 4 เล่ม งานหนังสือที คนอ่านยืนต่อแถวยาวเหยียด เซ็นหนังสือแกร็กหนึ่ง ถ้าเรื่องสั้น ๆ เรื่องหนึ่ง หลักเฉียดพัน ถ้าเรื่องยาว เฉียดหมื่น ผมเซ็นหนังสือให้แฟนเล่มหนึ่ง อย่างเก่งก็สามร้อยกว่าบาท ตอนเด็ก ๆ เราไม่ได้คำนึงถึงตรรกะข้อนี้หรอก พอมาเขียนหนังสือจริง ๆ สิ ถึงได้รู้ว่าโดนพ่อหลอก (หัวเราะ) แต่การเขียนมันก็สนุกดี ต้องอดทน ดิ้นรนกันไป (all : เคยคิดจะเขียนเรื่องยาวอย่างคุณพ่อบ้างไหม) ไม่เคยคิดเลย ผมก็เขียนแบบของผมไปเรื่อย ๆ ผมชอบแบบสนุก ๆ ของผมมากกว่า (ยิ้ม)

all : ได้รางวัลชนะเลิศจาก ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ถึง 2 ปี คุณคิดว่า ‘รางวัล’ จำเป็นแค่ไหนสำหรับนักเขียน
ผาด พาสิกรณ์
: เรื่องจำเป็นคงไม่จำเป็นหรอกครับ แต่ช่วยได้มาก รางวัลเป็นเพียงการต่อยอดให้กับการทำงานเท่านั้นเอง นักเขียนได้รางวัลมาก็ย่อมดีใจเป็นธรรมดา มันหมายความว่างานของเราได้ถูกพูดในวงที่อาจจะกว้างขึ้นมาหน่อย และถ้ามีความศรัทธาในคณะกรรมการอยู่ด้วยก็จะรู้สึกปลาบปลื้มที่บุคคลเหล่า นี้ได้อ่านงานของเราอย่างถี่ถ้วน และแน่นอนเงินรางวัลสำหรับนักเขียนในประเทศนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะขณะทำงานนั้น มันมีแต่ค่าใช้จ่าย เราไม่มีรายได้กันหรอก เรื่องบางเรื่อง นักเขียนต้องเดินทางไกลไปอยู่ไปกินไปเรียนรู้ เงินทั้งนั้น กว่าหนังสือจะออกมาเป็นเล่ม จากนั้นก็ต้องมาเจอกลไกทางการตลาด เจอคู่แข่งบนแผง หนังสือดี ๆ เล่มหนึ่งถูกกลืนหายในความสับสน ดังนั้น การได้รางวัลมันก็มาช่วยแก้ปัญหาหลัก ๆ ตรงนี้ คือเรื่องเงิน กับการถูกพูดถึง อย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง

all : กลยุทธ์ในการเขียนหนังสือของ ‘ผาด พาสิกรณ์’ คืออะไร
ผาด พาสิกรณ์
: ผมยึด ความสนุกในการเขียนเป็นหลัก ผมชอบอะไรที่สนุก ท้าทาย เพราะตัวเองเป็นคนที่สมาธิสั้นมาก ถ้าอ่านแล้วเฉื่อย งง หรือสับสน ผมจะไม่อ่านต่อ ตอนผมอ่าน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เขาเปิดย่อหน้าแรกด้วยความคิดของนายพลคนหนึ่งขณะที่ยืนอยู่หน้าแท่นประหาร แค่นี้ก็เอาผมอยู่แล้ว หนังสือรางวัลแท้ ๆ แต่ดราม่าสูงปรี๊ด น่าติดตามจะตาย พี่ชาติ กอบจิตติ ก็เป็นอีกคนที่เปิดเรื่องมานี่เอาอยู่ทุกที ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง ลีลา ประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาเล่า ดูเขาเปิดเรื่อง ‘คำพิพากษา’ สิ ฉากในตลาด ไอ้ฟักมีอะไรกับแม่เลี้ยงรึเปล่า เป็นปริศนาชวนให้สงสัย ดึงความสนใจได้ทันที ฉะนั้น เวลาเขียน ผมจะให้ความสำคัญกับการดำเนินเรื่อง แต่เหนือกว่านั้นคือการเปิดเรื่องยังไงให้จับคนอ่านอยู่

all : นักเขียนที่คุณชื่นชอบมีใครบ้าง
ผาด พาสิกรณ์
: ขอไม่เอ่ยถึง ‘พนมเทียน’ แล้วกัน ละไว้ในฐานที่เข้าใจ (หัวเราะ) ตอนที่ผมรู้ว่าภาษาของตัวเองแย่มาก ๆ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ก็กรุณาส่งหนังสือไปให้อ่าน ผมสนุกมากกับการอ่านเพชรพระอุมา อ่านแล้วรู้สึกว่าหลงเข้าไปอยู่ในป่าจริง ๆ (all : ได้อ่านเพชรพระอุมาตอนอยู่เมืองนอก แสดงว่าตอนเด็ก ๆ ไม่เคยอ่านงานของคุณพ่อเลย) ไม่ เคยอ่านเลย (หัวเราะ) ผมเป็นเด็กที่สมาธิไม่ดี พอเห็นตัวหนังสือเยอะๆ แล้วกลัว ไม่ชอบ เท่าที่รู้ คนที่เป็นนักเขียนส่วนใหญ่ เขาเป็นหนอนหนังสือกันทั้งนั้น ซึ่งต่างจากผมที่เพิ่งมาเริ่มอ่านเมื่อไม่นานมานี้ ลูกชายผมก็ดูท่าทางจะออกมาคล้าย ๆ ผมเหมือนกันนะ (หัวเราะ) นักเขียนคนอื่น ๆ ที่ผมชื่นชอบก็มีคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์, พี่ชาติ กอบจิตติ, ’รงค์ วงษ์สวรรค์ งานรุ่นท้าย ๆ ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์นี่ก็ชอบมาก เดือนวาด พิมวนา จากเรื่อง ‘ช่างสำราญ’ นี่ก็ชอบครับ

all : รู้สึกยังไงที่นักอ่านเขาเอาผลงานของคุณไปแนะนำกันแบบ ‘ปากต่อปาก’ ว่าเรื่องของคุณสนุกและน่าอ่าน
ผาด พาสิกรณ์
: ก็ดีใจนะ เพราะคำของนักอ่านนั้นตรงที่สุดแล้ว สำหรับผมไม่มีอะไรดีใจเท่ากับการที่เขาบอกว่างานของเราดีและสนุก นี่ถือเป็นสิ่งประเสริฐที่สุด ในแง่ของจิตใจนักเขียน ผมว่าคำชื่นชมสำคัญกว่ายอดขายนะครับ

all : อยากฝากอะไรถึงนักอ่านที่ชื่นชอบ ‘ผาด พาสิกรณ์’ บ้างไหม
ผาด พาสิกรณ์
: ขอบคุณมาก ที่ติดตาม ขอบคุณจริง ๆ ถ้าไม่มีนักอ่าน ก็ไม่มีผมในวันนี้ ตอนนี้ก็มีเรื่องที่กำลังเขียน เปิดเรื่องไว้เยอะเลย เขียนสามเรื่องควบกันอยู่ ยังไม่ได้ลงที่ไหนนะ ยังคิดอยู่ กำลังดูจังหวะอยู่ (ยิ้ม) แม้บทสนทนานี้ต้องจบลงด้วยความจำกัดของพื้นที่ แต่เราก็เชื่อว่า เส้นทางชีวิตที่พลิ้วไปในตัวอักษรของ ‘ผาด พาสิกรณ์’ ยังก้าวเดินต่อไปไม่รู้จบ และเราก็มั่นใจว่า ผลงานแต่ละเล่ม งานเขียนแต่ละตอนที่กลั่นจากสมองและสองมือของผู้ชายคนนี้ จะมีอะไรสนุก ๆ ให้นักอ่านคอยติดตาม (ด้วยความเซอร์ไพรส์) เสมอ

ผลงานของ ‘ผาด พาสิกรณ์’ 11 ปี 14 เรื่อง (2547 – ปัจจุบัน) นวนิยาย : ณ กาลครั้งหนึ่ง, ฝัน...ที่แยกราชประสงค์, กรอบอารมณ์ของคนบางกอก, เสือเพลินกรง, พลิ้วไปในพรายเวลา, นางแมวยาง ถอดความ : The Kite Runner เด็กเก็บว่าว, เย้ยมัจจุราช LONE SURVIVOR, SEAL TARGET GIRONIMO เหยียบพญายม, ไวท์แฟง, เสียงแห่งสัญชาตญาณ รวมเรื่องสั้น : รวมเรื่องสั้นชุด ‘ไปยาลใหญ่ในปัจฉิมดำริ’, รวมเรื่องสั้นชุด ‘สำเนียงของเวลา’ รวมบทความ : ใช่เกลียดตะวัน มันแสบตา (นักอ่านสามารถพูดคุยส่งต่อความคิดเห็นกับ ‘ผาด พาสิกรณ์’ ได้ที่ https://www.facebook.com/pahd.pasiigon)

 

 

นัดพบนักเขียน : รินคำ, ภาพ : ภาณุวัชร สุเมธี
All magazine ตุลาคม 2558
ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ