ยิ่งยศ ปัญญา : เขียนละครสะท้อนชีวิต

ยิ่งยศ ปัญญา

‘ละคร’ เป็นสื่อบันเทิงที่สามารถเสพได้ง่ายและอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน เทคโนโลยีของสื่อโทรทัศน์ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิตอลทีวี ก็ยิ่งเป็นการขยายช่องทางที่ให้ผู้ชมได้ดูละครกันมากขึ้น แน่นอนว่ามีละคร ย่อมต้องมี ‘นักเขียนบทละคร’ซึ่งเป็นผู้คอยวางแผน เสกสร้างเรื่องราวจากปลายปากกาสู่จอแก้ว เพื่อส่งต่อไปยังสายตาของผู้ชมทั่วประเทศ‘เรื่องเด่นประจำเดือน’ฉบับนี้ จึงขอนำผู้อ่านไปพูดคุยกับนักเขียนบทละครฝีมือคุณภาพ ผู้สรรค์สร้างผลงานล่าสุดที่ทุกคนต้องจดจำในเรื่อง ‘ทองเนื้อเก้า’ กับเขาคนนี้ ‘ยิ่งยศ ปัญญา’

 

ยิ่งยศ ปัญญา

 

นักเรียนการละคร ด้วยความที่เรียนภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เขามีพื้นฐานด้านวิชาการละครเป็นอย่างดี และยังได้ฝึกฝนเรียนรู้จากการทำงานจริง “ครูแต่ละท่าน เช่น ครูแอ๋ว (อรชุมา ยุทธวงศ์) ครูช่าง (ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง) สอนไปด้วย ทำงานข้างนอกไปด้วย ก็เลยชวนลูกศิษย์ไปทำงานด้วย เพราะฉะนั้น เราจึงได้เห็นและเข้าใจระบบของการทำละคร ได้ทำงานจริงตั้งแต่สมัยเรียน ช่วงประมาณปี 3 ก็เริ่มทำงานแล้ว”

ยิ่งยศทำงานทุกประเภทที่อาจารย์ขอให้ช่วย ไม่ว่าจะเป็น ไปเล่นตลกคาเฟ่, จัดไฟ, เป็นนักแสดงประกอบ, เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ เขาจึงได้โอกาสเรียนรู้งานไปในตัว ส่วนงานเขียนบทเขาบอกว่า “ตอนนั้นได้ไปช่วยพี่ตุ๊ก ญาณี (ญานี จงวิสุทธิ์) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่คณะเขียนบทละครเรื่อง ‘พับพลึงสีชมพู’ แต่ก็ช่วยเขียนแค่ 2 – 3 ตอน แล้วคุณแดง สุรางค์ (สุรางค์ เปรมปรีดิ์) ก็เลยชวนมาเขียนบทเต็มตัวเรื่องแรก ตอนนั้นเขียนให้กับทางดาราวิดีโอ ช่อง 7 เรื่อง เทพสังวาลย์ แล้วก็ทำงานเขียนบทมาเรื่อย ๆ เลย”

การที่ยิ่งยศทำงานเขียนบทละครมาตั้งแต่สมัยเรียน ทำให้ยิ่งเขาสามารถเล่าถึงความแตกต่างระหว่างการทำงานเขียนบทละครในอดีตกับปัจจุบันได้ ”การเป็นนักเขียนบทละครในตอนนั้นไม่ค่อยมีการแข่งขันมากเท่าใดนัก ส่วนมากจะเป็นการแข่งขันกับตัวเองเสียมากกว่า เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด มันไม่เหมือนยุคนี้ ที่จะต้องคิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้ละครของเราหวือหวา จะต้องโชว์ มีฉากเลิฟซีน ให้คนพูดถึงในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมันก็ต่างกันอยู่พอสมควร”

การเขียนบทไม่มีเทคนิค
หากมีโอกาสได้พูดคุยกับบุคคลที่เรายึดเป็น ‘ไอดอล’ หลาย ๆ คนอาจต้องการทราบเทคนิค วิธีการ หรือ ‘สูตรลัด’ ที่ทำให้คนคนนั้นประสบความสำเร็จ แต่ถ้าถามคำถามนี้กับ ยิ่งยศ ปัญญา เขาตอบกลับมาว่า “การเขียนบทละครไม่มีเทคนิค เด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานเขียนบทในตอนนี้ พยายามแสวงหาเทคนิค กฎเกณฑ์ สูตรสำเร็จในการเขียนบท ซึ่งบอกเลยว่ามันไม่มี เพราะละครเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง มีหลักการ และทฤษฎีของมันอยู่ประมาณหนึ่ง คุณจะต้องเอาทฤษฎีเหล่านี้ไปย่อยสลาย จึงจะมีลายเซ็นของตัวเอง มันไม่ใช่แค่ 1 + 1 = 2 เท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น ละครทุกเรื่องก็ต้องออกมาเหมือนกันหมดเลยสิ แค่เปลี่ยนชื่อตัวละคร แค่สลับอาชีพพระเอกนางเอกก็ได้ละครเรื่องใหม่แล้ว

นักเขียนบทละครเปรียบเสมือนทัพหน้า ที่จะคอยกำหนดทิศทาง ว่าละครควรจะไปทางไหน สิ่งสำคัญคือแก่นของเรื่องนั้นชัดเจนหรือยัง ก่อนที่จะไปวางกลยุทธ์การเล่าเรื่องให้ชัดเจน คมคาย พอที่จะทำให้คนดูสนใจเรื่องเล่าของเราแล้วหรือยังต่างหาก”

ละครในมุมมองของยิ่งยศ ปัญญา
ในปัจจุบัน มีการให้นิยามคำว่า ‘ละคร’ กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากนักวิชาการ จากผู้กำกับ จากนักแสดง แล้วนิยามว่า ‘ละคร’ จากมุมมองของนักเขียนบทเป็นอย่างไร ยิ่งยศตอบว่า “ละครก็คือเรื่องราวของคน จะใช้คำว่ามนุษย์ก็ไม่ได้ ต้องใช้คำว่าคน คนกับมนุษย์ต่างกันด้วยระดับของสติปัญญา การพัฒนาทางด้านจิตใจ สิ่งสำคัญคือการดึงความเป็นคนออกมาให้ได้ก่อน การที่ละครไม่ดี ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าไม่สามารถดึงความเป็นคนออกมาได้ ถือเป็นอีกลักษณะของละครแย่ ๆ ในทุกวันนี้ มันเป็นลักษณะหนึ่งของ typecast คือตัวละครที่แบน มีรูปแบบอย่างเดียว เลวก็เลวระยำตำบอน เลวไม่มีที่สิ้นสุด เลวตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เหมือนตัวละครกลมที่มีทั้งด้านดีและด้านเลว ในความเป็นคนมันมีสองด้านเสมอ”

การดัดแปลง – แต่งใหม่ และความยากง่าย
การเขียนบทละครนั้น มีทั้งการเขียนขึ้นมาใหม่กับการดัดแปลงจากบทประพันธ์ของนักเขียน จึงย่อมมีความยากง่ายแตกต่างกัน ในเรื่องนี้เขาให้คำตอบว่า “เรื่องความยากง่ายถือว่าพอกันนะ บางทีได้บทประพันธ์เรื่องหนึ่งมา ไม่มีแก่นสารอะไรเลย เราต้องสร้างขึ้นมาใหม่อยู่ดี หรือถ้าให้เราทำตามหนังสือ เขียนออกมาก็ได้แค่ 3 ตอนจบ แต่บทละครหนึ่งเรื่องต้องมีความยาวอย่างน้อย 24 ตอนเป็นมาตรฐาน แค่นี้มันก็ไม่ได้แล้ว หนังสือบางเรื่อง นอกจากจะไม่มีแก่นของเรื่องแล้ว คุณกำลังมอบทัศนคติบางอย่างกับคนดู ซึ่งเป็นทัศคติที่ไม่ถูกต้อง เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องเล่าเรื่องให้ครบอย่างน้อย 24 ตอนที่มีแก่นสารสาระ แล้วก็มอบทัศนคติที่ถูกต้องให้กับคนดู” แต่อย่างไรก็ตามการเขียนบทขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องสร้างตัวละคร คิดพล็อตเรื่องขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ถือว่าทั้งสองแบบมีความยากง่ายที่แตกต่างกันไป

บทละครคือลูกของนักเขียนบท
“การเขียนบทละครมันเหมือนเวลาเราคลอดลูก แล้วส่งไปให้คนอื่นเลี้ยง ลูกของเราจะโตไปอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว เราไม่ยุ่ง จะเอาไปคิด เอาไปตีความอย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ของผู้กำกับ เมื่อเราเขียนงาน เราจะคิดอย่างดีที่สุด ทำออกมาให้ดีที่สุด เราจะใส่หัวใจและคอนเซ็ปต์ลงไปทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ผิดพลาดไปมากมายหรอก ยกเว้นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยที่ผิดเพี้ยนไป เช่น การตีความตัวละคร ซึ่งเราคิดว่าตัวละครนั้นไม่ใช่คนแบบที่ผู้กำกับทำออกมา มันต้องคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าแก่นเรื่องก็ยังคงอยู่ เราต้องเคารพในรสนิยมของคนอื่นเหมือนกันนะ เพราะว่าเมื่อเราทำงานเสร็จ เราใช้สติปัญญาเราเต็มที่แล้ว เวลาไปสู่มือของผู้ผลิต ที่เขาต้องเผชิญหน้ากับนักแสดง เขาต้องฟาดฟันกับสร้างฉากนั้น ๆ ในตัวหนังสือให้มันออกมาเป็นภาพจริง เราก็ต้องปล่อย เพราะยังไงมันก็ต้องไปพ้องกับรสนิยมของคนที่นำไปทำต่ออยู่ดีแหละ” ละครกับสังคม

นอกจากสร้างความบันเทิง เรียกเสียงหัวเราะและความสุขจากผู้ชมแล้ว ละครยังสามารถสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคม รวมไปถึงการยกระดับจิตใจของมนุษย์ได้อีกด้วย “จริง ๆ คนทำละครตระหนักในสิ่งนั้นนะ นักเขียนบทละครควรจะมี ‘แรงขับ’ ที่อยากจะบอกเล่าอะไรกับสังคม ข้อใหญ่ใจความสำคัญคือการสร้างแรงจูงใจต่อมนุษย์ให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วย กัน เข้าใจความเป็นจริงของมนุษย์ เข้าใจสัจธรรมของชีวิต และนำมาสู่ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นอกจากสนุก มีสาระแล้ว ต้องนำมาซึ่งหนทางที่จะทำให้มนุษย์ยกระดับจิตใจ และนำพามาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในโลกในทางที่ดีขึ้น เช่น เราจะตะเกียกตะกายหาเงินไปถึงไหน สุดท้ายก็ต้องตายอยู่ดี ชีวิตเราก็เท่านั้น ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง”

หลายคนมักจะบอกกันว่า ต้นเหตุของข่าวอาชญากรรม ฆาตกรรม ส่วนหนึ่งมาจากละคร ละครบางเรื่องทำให้คนดูเข้าใจว่าการข่มขืนเป็นเรื่องที่ถูก เพราะพระเอกยังข่มขืนนางเอกได้เลย ไม่เห็นผิด เรื่องนี้เขาไม่เห็นด้วยอย่างมาก “เราไม่เชื่อว่าพฤติกรรมของคน การฆาตกรรม หรือการข่มขืนนั้น จะมาจากละคร เราทำละครเพื่อให้คนดูเกิดวุฒิภาวะ มีสติปัญญาในการหาทางออกและแก้ปัญหา ทำให้ชีวิตดีขึ้น อย่างเรื่องฉากข่มขืน นักเขียนบทละครก็คิดทบทวน และไตร่ตรองดีแล้ว จึงเขียนฉากเหล่านี้ออกมา เพราะการที่พระเอกข่มขืนนางเอก ไม่ใช่แค่การตอบสนองอารมณ์ทางเพศเพียงอย่างเดียว ต้องมีแรงจูงใจที่เข้มข้นมากพอ แต่อย่างน้อยที่สุด พระเอกก็จะรับผิดชอบในสิ่งที่ทำไป และจบลงด้วยความรักเสมอ”

‘ทองเนื้อเก้า’ ปรากฎการณ์สะท้อนสังคม
ผลงานละคร ‘ทองเนื้อเก้า’ กวาด รางวัลมามากมาย เนื่องจากการกำกับที่ยอดเยี่ยม รวมไปถึงการแสดงที่เข้าถึงอารมณ์คนดู รวมไปถึงตัวบทละครที่ยังเข้ากับยุคสมัย วิพากษ์วิจารณ์สังคมได้อย่างเจ็บแสบ ทำให้ละครเรื่องนี้เข้าไปในนั่งในจิตใจของผู้ชมได้ไม่ยาก “เราต้องการให้มันสมจริง ให้เรื่องปะทะกับคนดู ให้ระวังตัวว่า คุณสอนลูกสอนหลานอย่างไร เลี้ยงลูกแบบไหน”

แต่นอกจากบทที่ดีแล้ว ความสำเร็จต้องเกิดจากผู้จัดและผู้กำกับที่ดีด้วย “จากที่เคยร่วมงานกับพี่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) คิดว่าพี่อ๊อฟสามารถสร้างละครได้ตรงกับภาพในหัวของเราได้ดี บางทีก็เกินที่คิดไว้ด้วยซ้ำ คือมันก็ต้องรู้ใจกันตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่า โจทย์นี้คืออะไร พูดคุยกัน เราเห็นอย่างนี้ เรามองมุมนี้ เราคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แล้วก็มีการจูนเข้าหากัน พี่อ๊อฟเป็นคนละคร เกิดมาก็เหมือนมีละครอยู่ในเลือด เลยคุยกันง่าย ติดต่อสื่อสารอะไรไปก็เข้าใจกันหมด เราเขียนไปฉากที่หนึ่ง เขาก็จะรู้ว่าแล้วว่าฉากต่อไปควรจะเป็นอย่างไร มันต้องรู้ทาง รู้เชิงกัน การที่นักเขียนบทกับผู้กำกับรู้ใจกันก็ทำให้ออกมามีคุณภาพมากขึ้น”

นักเขียนบทกำลังขาดแคลน
การที่มีดิจิตอลทีวี ทำให้มีช่องละครเกิดขึ้นมากมาย นักเขียนบทละครจึงเป็นอีกอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด และมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ใฝ่ฝันอยากจะทำงานในด้านนี้ “มีคนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาเยอะเลยนะ แต่สุดท้าย จะมีคนที่เราใช้งานได้จริง ๆ น้อยมาก มีเด็กใหม่เข้ามาเป็นร้อย มีแต่ความใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน อยากจะเป็นนักเขียนบทมืออาชีพ แต่ความคิดยังใช้ไม่ได้ ยังไม่ตกผลึก คิดวิเคราะห์ยังไม่ดี มีทัศนคติต่อโลกนี้แคบเกินไป เราเชื่อว่าทัศนคติสำคัญกว่าฝีมือนะ เพราะว่าฝีมือมันสามารถฝึกกันได้ เราสามารถให้คำแนะนำเขาได้ ให้ไปอ่านงานวรรณกรรมเยอะ ๆ ไปฝึกเรื่องการใช้ภาษา มันก็เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนากันได้ ปรับปรุงแก้ไขกันได้”

อนาคตของวงการละคร
เมื่อชวนพูดถึงอนาคตของวงการละคร เขาเชื่อว่าอนาคตของวงการละครกำลังไปได้ดี ละครจะมีคุณภาพมากขึ้น เพราะมีการนำเอา CG มาใช้ ทำให้ละครหลาย ๆ เรื่องสมบูรณ์และมีมิติมากขึ้น “ยิ่งมีดิจิตอลทีวี หลาย ๆ ช่องมีการผลิตละคร ก็ทำให้เกิดการแข่งขันกันด้วยคุณภาพ แต่ถ้าเกิดการแข่งขันด้วยความหวือหวา ทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่งความฮือฮาและเรียก เรตติ้ง ถ้าเป็นอย่างนั้น วงการละครจบสิ้นแน่นอน สุดท้ายละครก็คือเรื่องของคน ถ้าหากจับประเด็นไม่ได้ หรือทำได้แค่ผิวเผิน ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ละครถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับจิตใจและพัฒนามนุษย์ เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในศิลปะแขนงนี้เลย”

การเขียนบทละครของ ‘ยิ่งยศ ปัญญา’คือ การเขียนให้ตัวละครมีความสมจริงมีชีวิต มีความเป็นมนุษย์ออกมาเป็นเรื่องราวในแต่ละฉาก มีคติคำสอนที่ช่วยยกระดับจิตใจของคนดู ทำให้คนเป็น ‘คน’ โดยสมบูรณ์ และบอกเล่าปัญหาที่เกิดในสังคมขึ้นผ่านการเขียน สมกับคำว่า “เขียนละคร... สะท้อนชีวิต” จริง ๆ

 

ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ