(ต่อ)เปิดใจแง้มฝัน ‘ศุ บุญเลี้ยง’ : ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมธุรกิจกรรมร้านหนังสืออิสระ

(ต่อ)เปิดใจแง้มฝัน ‘ศุ บุญเลี้ยง’

มองจากประสบการณ์ตัวเอง อะไรคือสิ่งที่ท้าทายร้านหนังสืออิสระมากที่สุด
การจัดการความฝันของตัวเอง ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ คือมนุษย์บางทีก็ไม่ชัดเจน แล้วมันก็ละล้าละลัง แล้วเราไม่ได้อยู่คนเดียว มันมีคนอื่นอีก หากมีเงินไม่พอก็ต้องมีหุ้นส่วน มีหุ้นส่วนคุณก็ต้องแชร์ความฝันของคนอื่น เขามาอยู่ในความฝันของคุณ คุณต้องมีผลประกอบการ ถ้าคุณกำไรก็ต้องแบ่งผลกำไร ถ้าคุณขาดทุนก็ต้องมาตกลงกันว่าแค่นี้ แฮปปี้ไหม บางทีอาจจะรู้สึกเวลาแค่นี้ ขาดทุนเท่านี้ก็โอเคแล้ว แต่บางคนก็อาจจะไม่โอเค หรือแม้แต่ตัวเราเอง เรารักสันโดษจริงหรือเปล่า หรือเราแอบคิดไปเองว่าฉันรักสันโดษ เราพอเพียงจริงหรือเปล่า หรือเราพูดปลอบใจตัวเองว่า ไม่เป็นไรหรอก พอเราตกลงกับความฝันของเราไม่ได้ รูปแบบการจัดการชีวิต การจัดการกับร้านมันก็สะเปะสะปะ

เพราะฉะนั้นคุณต้องยอมตรวจสอบเข้าไปในหัวใจตัวเอง คุณอยากเป็นอะไรไม่แปลกหรอก บางคนบอกผมยังเป็นนักเขียนเล็กๆ ที่ไม่ดัง ไม่ต้องขายดีแต่ยังอยู่ได้ แต่ถามว่าขายดี คุณเอาไหมล่ะ ดีไหมล่ะหรือไม่ดี คือพอคุณตรวจสอบมันไม่แข็งแรง คุณก็จัดการมันแบบผิดๆ พลาดๆ ดังนั้นคุณต้องสืบค้นตัวเอง ยอมรับตัวเอง ต้องศรัทธาตัวเอง ไม่ใช่หลอกตัวเอง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์เลยแหละ ไม่ใช่แค่คนทำร้านหนังสืออิสระ หรือคำว่าอิสระของคุณแปลว่าอะไร คุณก็ต้องตรวจสอบ ทีนี้คุณจะกำหนดนโยบายจากความเป็นตัวคุณ ความหมายของคำว่าอิสระของคุณ แล้วคุณก็จะมีเส้นทาง มีวิธีการแก้ไขปัญหาของคุณ อ๋อ! ผมเป็นแบบนี้ ผมเลยแก้ปัญหาแบบนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะงง ช่วยก็ช่วยไม่ได้

ต้องเคลียร์ตัวเองให้ชัดเจน
ใช่ ชอบก็ชอบ อยากดังก็ไม่เห็นแปลก จะได้ช่วยกันโพสต์ไง ไม่ใช่ เฮ้ย! พี่อย่าไปเชียร์เลย ผมอยากอยู่เงียบๆ เราจะได้ช่วยกันถูก

ที่ผ่านมา เคยมีคำพูดประมาณ การจัดงานหนังสือ ทำให้พวกร้านหนังสือเล็กๆ ตายหรือไม่มีคนซื้อ คุณคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
มันไม่ได้ทำให้ร้านหนังสือตาย แต่มันทำให้ระบบการขายหนังสือเสียไป ไม่ใช่เฉพาะร้านหนังสือนะ แต่ยังรวมไปถึงกลไกในการอ่าน กลไกในการพิมพ์ ผมเขียนหนังสือเสร็จวันนี้ สำนักพิมพ์มีบรรณาธิการอยู่แล้ว มีฝ่ายศิลป์อยู่แล้ว บอกว่าเดี๋ยวค่อยพิมพ์งานสัปดาห์หนังสือคราวหน้า เฮ้ย! กูเขียนเสร็จแล้ว ผมไม่ได้เขียนหนังสือมาเพื่องานสัปดาห์หนังสือนะ แต่สำนักพิมพ์ดันไปใช้งานสัปดาห์หนังสือเป็นหมุดหมาย นักเขียนไม่ใช่นักเรียนนะมีรอปิดเทอม เปิดเทอมด้วยหรือ

อย่างที่สอง ถ้าคุณไปซื้อหนังสือตามร้าน รูปเล่มอะไรเหมือนกันทุกอย่างเลย วางแผงทีหลังด้วย ราคาสูงกว่า ไม่มีลายเซ็นนักเขียนอีกต่างหาก ใครจะอยากเข้ามาซื้อ มันก็เหมือนเป็นคน มีแขนขาของตัวเอง กระจายออกไปขายของ แล้ววันหนึ่ง ก็ค่อยๆ ทุบแขนขา ตัดนิ้วตัวเองบ้าง ตีแขนตัวเองบ้าง รอให้คนแห่มาซื้อที่งานหนังสือ สมมติว่าคุณได้เงินแสนหนึ่งในสัปดาห์ แต่ความจริงเงินแสนนั้น มันควรจะหมุนเข้ามาในวงจรก่อนหน้านั้นตั้งสองสามเดือนแล้วด้วยซ้ำ ถ้าคนมาที่ร้านแล้วซื้อเลย แต่พูดไปก็ไม่ได้ว่างานมีแต่ข้อเสีย เนื่องจากการกระจายของร้านมันไม่ทั่วถึงอยู่แล้ว ดังนั้นการรวมสินค้าให้คนมาคัดสรร เดินเลือกหาในที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน มันประหยัดเวลา มีอารมณ์ร่วม แล้วยังเอื้อให้มีกิจกรรมเสวนา ปัญหาก็คือ เราไม่จัดการกับระบบให้ดี ว่าจะให้งานหนังสือนำไปสู่เป้าหมายอะไร ทุกคนเลยพูดกันว่า เป็นที่หมุนเงินบ้าง เป็นที่ปล่อยของเหลือบ้าง เป็นเทศกาลตกทองก็ได้ ไม่ค่อยมีบรรยากาศทางปัญญา ลองคิดกลับกันว่า ถ้างานหนังสือมีหนังสือเล่มหนึ่งกำลังจะออก แล้วเป็นหนังสือที่คนทั่วประเทศควรอ่าน น่าซื้อ มาอธิบายให้ฟังว่านิทานเล่มนี้มันดีกลับเด็กอย่างไร แล้วโรงเรียนรู้ ครูรู้ ห้องสมุดรู้ มีเวลามานั่งฟัง พอกลับไปศรีสะเกษ อุดรธานีก็สั่งเลยว่า พอหนังสือเล่มนี้ออก โรงเรียนอยากซื้อสัก 5 เล่ม ห้องสมุด 2 เล่ม อำเภอ 4 เล่ม คนผลิตก็จะผลิตตามจำนวนเท่ากับความต้องการ ร้านค้าก็มีหน้าที่เชื่อมโยง ซื้อขายกลับไป ก็สามารถทำให้งานหนังสือช่วยหล่อเลี้ยงหนังสือได้

 

ศุ บุญเลี้ยง

 

ถ้าสมมติมีร้านหนังสือมาปรึกษาว่า ไม่มีคนเข้าร้านเลยช่วงเทศกาลหนังสือ คุณจะช่วยชี้แนะเขาอย่างไรบ้าง
ก็ขึ้นอยู่กับเป็นใคร แล้วเขาชอบสไตล์ไหน เช่น คุณชอบแนวแสดงออก คุณก็เขียนจดหมายถึงนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ส่งถึงสมาคมว่า การจัดงานหนังสือส่งผลต่อร้านคุณอย่างไร หรือถ้าคุณชอบแนวบู๊ คุณก็ลดแข่งไปเลย หรือคุณชอบแนวรักสงบคุณก็ปิดร้านไปเที่ยว หรือคุณชอบแนวประนีประนอม คุณมาซื้อหนังสือที่งานนี่แหละ แล้วไปขายในราคาแพงขึ้น มนุษย์มันก็ต่อสู้อยู่บนพื้นฐานของตัวเอง แบบที่ตัวเองเป็น

ทุกวันนี้ มองกระแสการเข้าร้านหนังสือของคนยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง
ตัวเองเป็นคนชอบเข้าร้านหนังสือ ชอบซื้อหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ แต่เท่าที่ไปกับเพื่อน ไม่ค่อยจะเห็นมันซื้อนะ ไปด้วยก็ได้ รู้สึกว่าจะซื้อสักเล่มเขาก็คิดแล้วคิดอีก มันจะดีจริงหรือเปล่า ซื้อแล้วจะได้อ่านหรือเปล่า อ่านแล้วจะสนุกไหม เดี๋ยวๆๆๆ รองานหนังสือ บางคนก็มีเหตุผลว่าที่ซื้อไปแล้วยังไม่ได้อ่านเลย ซึ่งสำหรับผมไม่ใช่เหตุผลที่ดี หนังสือซื้อไปอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง หรือเรายังไม่อ่านแต่เรามีไว้ พอจะใช้ประโยชน์เราก็กลับไปเปิดอ่านทันที อยู่ในภาวะอารมณ์นั้น สมมติกำลังมีอารมณ์กวีขึ้น จะออกมาเดินซื้อหนังสือกวี มันไม่ทัน กว่าจะหาเจอ อารมณ์หายไปแล้ว

ตู้หนังสือมันก็เหมือนกับตู้กับข้าว มันก็ต้องมีไข่ไว้บ้าง ไข่ไม่หมด ทำไมถึงซื้อผักกาดมา ไม่ต้องกินไข่ให้หมด ก็กินไข่บ้าง ผักกาดบ้าง ก็กินผสมกันไป อ่านเล่มเก่าบ้าง เล่มใหม่บ้าง บางทีอ่านแล้วเราใช้ค้นคว้าก็ได้ บางทีซื้อมาอ่านแล้วเอาไปบริจาคก็ได้ คนที่ให้เหตุผลว่าเล่มที่ซื้อมา ยังไม่ได้อ่านเลย มันก็เหมือนคนที่บอกว่า เที่ยวเมืองไทยยังไม่ทั่วเลย จะไปเที่ยวต่างประเทศทำไม คือชีวิตนี้ทั้งชีวิตมันก็เที่ยวไม่ทั่วหรอกนะเมืองไทย แต่เราก็เที่ยวเมืองไทยมากแล้ว ก็ไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง ประเทศใกล้ ประเทศไกล แต่ซื้อไปก็ควรจะอ่าน ปัญหาของการที่เราซื้อหนังสืองวดเดียวพร้อมๆ กัน ที่งานหนังสือก็คือ เราจะไม่มีอารมณ์อ่าน แล้วเราไม่มีอารมณ์ร่วมกับหนังสือเล่มนั้น ในภาวะนั้นๆ แล้วบางทีถ้าจ่าย 100 คุ้ม เราก็ซื้อ 100 ไปเถอะ ไม่ต้องรอซื้อ 80 ในเวลาที่ไม่พร้อม สู้เสีย 100 แล้วใช้ประโยชน์ให้ได้ 150 ดีกว่า

ณ วันนี้มีความฝันหรืออยากเห็นภาพต่อไปของร้านหนังสืออิสระอย่างไรบ้าง
อยากให้เขาอยู่ได้ และให้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เหมือนตอนนี้ที่กาแฟเป็น แล้วก็ต้องเป็นกาแฟสดด้วยนะ ดังนั้นหนังสือก็ต้องหนังสือที่สดๆ ใหม่ๆ ไม่ใช่หนังสือที่อมตะนิรันดร์กาล ขึ้นหิ้ง คือสิ่งแบบนั้นมีอยู่ได้ไง เหมือนกาแฟโบราณ กาแฟสำเร็จรูป แต่มันต้องมีกาแฟสด ต้องมีคนที่เสพมัน เลือกมันเป็นหัวข้อในการสนทนาในชีวิต เราก็จะได้เลือกมาคุยในเรื่องนี้ เป็นต้นทุนให้เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แยกกันไปอ่าน เฮ้ย! อ่านนี้ยัง โดยมีร้านหนังสืออิสระเป็นแม่ข่ายกระจายไป เรื่องนี้กำลังมานะ กวีคนนี้แปลกดี นักเขียนคนนั้นถูกจับแล้ว ให้มันเป็นบทสนทนาในชีวิต มันก็จะยกระดับการพูดคุย เราก็ไม่ต้องคุยกันแต่เรื่องซ้ำซาก

ดีไม่ดี อาจจะมีการจัดมอบรางวัลสำหรับนักเขียนที่ถูกคัดเลือกโดยเจ้าของร้านหรือพนักงานขาย ไม่ใช่คัดจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้พนักงานขายหนังสืออ่านหนังสือ แนะนำหนังสือกับคนที่มาซื้อ แลกเปลี่ยนกัน เล่มนั้นดีไหม แล้วเขาก็ลองอ่าน ส่งคะแนนคัดสรร แล้วนักเขียนที่ได้รับรางวัลจากพนักงานขายหรือเจ้าของร้าน ผมเชื่อว่าจะต้องเป็นรางวัลที่มีเกียรติ น่ามอง และอาจจะขายดีเพราะมันถูกรับรองจากคนที่คลุกคลีอยู่กับมันจริงๆ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ